เป็นปรากฏการณ์ที่เห็นไม่ค่อยบ่อยนัก ที่พรรคประชาธิปัตย์จะออกมาสำแดงการ “ตัดหางปล่อยวัด” ทางการเมืองแบบออกสื่อ
ด้วยจารีตของพรรคนี้นั้น เน้นความเป็นเอกภาพ แม้จะมีความขัดแย้งภายใน แต่ท่าทีสู่ภายนอก “อย่างเป็นทางการ” ก็จะต้องไม่มีความขัดแย้ง เข้าทำนองน้ำขุ่นไว้ข้างใน น้ำใสไว้ข้างนอก
ดังนั้น การออกมาประกาศ “ตัดขาด” การทำงานของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร แนวทางการบริหารแตกต่างกันระหว่างพรรคกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เนื่องจากทางพรรคไม่สามารถใช้ระบบและกลไกในการสนับสนุนติดตามตรวจสอบการทำงานได้ จากนี้ไปการบริหารของ กทม.ถือเป็นการดำเนินการโดยเอกเทศของ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์เอง ที่ทางพรรคจะไม่รับผิดชอบด้วย
ดูคล้ายๆ เวลาบริษัทเอกชนเขาเชิญพนักงานออก และถ้าพนักงานคนนั้นมีหน้าที่ในการหาลูกค้าหรือติดต่อกับสาธารณะประชาชน เขาก็จะออกประกาศลงหน้าแจ้งความในหนังสือพิมพ์ว่า บัดนี้ นาย... นางสาว... ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับบริษัทอีกแล้ว ประมาณนั้นเลย
สาเหตุที่ทางพรรคประชาธิปัตย์ออกมาแสดงท่าทีเด็ดขาดขนาดนี้ ก็คาดว่าด้วยสาเหตุใหญ่สองประการ คือ ความรู้สึกว่าคุณชายหมูนั้น แม้จะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคนเดียวของพรรคที่ยังอยู่ในตำแหน่ง แต่ก็มีทีท่า “กระด้างกระเดื่อง” ต่อทางพรรค ถึงขนาดหัวหน้าพรรคอย่าง “มาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โทร.ไปก็ไม่รับสาย
นอกจากนี้ยังเป็นปัญหาว่า กระแสความนิยมของคน กทม.ต่อตัวคุณชายนั้นตกต่ำลงเรื่อยๆ นับแต่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาก็ไม่ได้ทำอะไรให้ชาว กทม.ที่เป็นผู้ลงคะแนนเสียงให้คุณชาย และเป็นฐานเสียงหลักของพรรคประชาธิปัตย์นั้นรู้สึกชื่นชมได้เลย
ทั้งๆ ที่การได้รับการเลือกตั้งมานั้น ใช่ว่าจะเป็นความนิยมส่วนตัวที่คน กทม.มีต่อท่านก็เปล่า แต่เป็นเพราะคน กทม.กัดฟัน “เลือกใครก็ได้” จากพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อกันไม่ให้ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยที่คนกรุงชิงชังรังเกียจในขณะนั้นได้ครอง กทม.ที่ถือเป็นที่มั่นสุดท้ายทางการเมืองของฝ่ายไม่เอาด้วยกับเสื้อแดง
เรื่องที่ทำให้ชาวกรุงเอือมระอาคุณชาย ก็นับตั้งแต่การแก้ปัญหาเรื่องน้ำขังน้ำท่วมเมื่อฝนตกหนักไม่ได้ แถมยังหลุดวาจาพาปวดใจว่า ไม่อยากเจอน้ำท่วมให้หนีขึ้นบนดอยบ้าง
โฆษณาหาเสียงที่ชูสโลแกนว่า “ทั้งชีวิตเราดูแล” แต่เมื่อเกิดเหตุอาชญากรรมหรือมีปัญหาจริงๆ กลับพบว่ากล้องวงจรปิดของทาง กทม.นั้นกลับไม่สามารถใช้งานได้จริง บางกล้องเป็นกล่องเปล่าๆ หรือที่แก้ตัวกันว่าเป็น “กล้องดัมมี่” ซึ่งนอกจากจะเสียเครดิตแล้วยังถูกตั้งคำถามเรื่องความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างด้วย
นอกจากนี้ ก็ยังมีเรื่องให้ชาว กทม.ไม่พอใจปูดขึ้นมาไม่เว้นแต่ละวัน นับตั้งแต่ความหย่อนยานในการดูแลสาธารณูปโภคที่อยู่ในความรับผิดชอบ มีคนตกลงไปในท่อของ กทม.ถูกโลหะบาดเย็บเป็นร้อยๆ เข็ม แต่ทาง กทม.อ้างว่าไม่มีระเบียบเยียวยานอกจากบอกให้ไปฟ้องศาลเอาเอง หรืออย่างไฟฟ้าในเสากล้องวงจรปิดช็อตคนตาย ทั้งๆ ที่ชาวบ้านก็แจ้งกับทาง กทม.ไปแล้วให้มาตรวจสอบก็อ้างว่าไม่พบ ทั้งพอมีเหตุเกิดขึ้นก็เล่น “ตลกร้าย” ว่าให้เจ้าหน้าที่ลองจับดูแล้วก็ไม่ถูกไฟดูด
แต่พวกเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่นนี้ก็ยังไม่ร้ายแรงเท่าเรื่องความไม่โปร่งใสในการบริหารกิจการ กทม.ซึ่งความโปร่งใสนี้ เป็นจุดขายที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ดูดี (หรือหากจะกล่าวตามตรงคือดูแย่น้อยกว่า) พรรคคู่แข่ง
เพราะอาวุธสำคัญของทางพรรคที่ใช้ชี้หน้าด่าฝ่ายตรงข้าม คือฝ่ายตรงข้ามนั้น “โกง” เมื่อเป็นเช่นนี้ อย่างน้อยตัวเองก็ไม่ควรจะ “เสียชื่อ” ด้วยเรื่องโกงนี้
หากปัญหาความโปร่งใสในการใช้เงินเรื่องต่างๆ ของการจัดซื้อเปียโน ตามโครงการส่งเสริมทักษะของดนตรีในโรงเรียนสังกัด กทม.ที่มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่าส่อจะเป็นการทุจริต กล่าวคือซื้อมาทั้งๆ ที่ไม่ได้ใช้ และยังต้องตั้งงบอบรมครูดนตรีอีกรวมๆ หลายร้อยล้านบาท ซึ่งเท่ากับว่า กทม.ไม่มีความพร้อม ไม่มีครูสอนดนตรี และห้องสอนดนตรี แต่กลับซื้ออุปกรณ์ดนตรีล่วงหน้าไปเก็บแล้วมีการอนุมัติเบิกจ่ายให้ซ่อมบำรุงทุกปี ซึ่งเรื่องนี้คนออกมาแฉนั้น คือ อดีต ส.ส.ของ กทม.จากพรรคประชาธิปัตย์เองคือนายวิลาศ จันทร์พิทักษ์
ความเปียโนยังไม่ทันหาย ก็ปรากฏว่าทาง กทม.โดยผู้ว่าฯ กทม.ก็มีการใช้เงินที่ประชาชนตั้งข้อสังเกตเรื่องความคุ้มค่าขึ้นมาอีก คือโครงการจัดประดับไฟปีใหม่ที่ลานคนเมือง ที่ใช้งบประมาณกว่า 39 ล้านบาท
ส่งเสียงระงมต่อชาว กทม.ว่า การประดับไฟราคาแพงขนาดนั้นมีความจำเป็นและสวยงามขนาดนั้นเชียวหรือ เมื่อเทียบกับผลงานที่ควรเป็นงานหลักของ กทม.อย่างเช่นการดูแลสาธารณูปโภค เช่น ท่อระบายน้ำ ถนนหนทางที่ดูจำกัดจำเขี่ยจนเกิดอุบัติเหตุต่อชาวบ้าน ซึ่งไฟประดับราคา 39 ล้าน เอามาติดไว้ไม่กี่วันก็เอาออก ซึ่งผู้ที่ได้ไปเข้าชมนั้นต่างบ่นกันพึมว่า การบริหารจัดการไม่ดี ไฟดูไม่สมราคา เมื่อเทียบกับนิทรรศการประดับไฟในลักษณะเดียวกันของต่างประเทศ แถมหลายคนยังรู้สึกว่า เหมือนไปเหมาไฟที่จัดในงานอื่นมายำใหม่หรือเปล่า เพราะรูปลักษณ์ของการจัดไฟนั้นดูไม่ “ไทย” อย่างที่อ้าง
แถมเมื่อมีผู้สาวลึกลงไปอีกก็พบว่ามีความไม่ชอบมาพากลหลายเรื่อง เช่น การจัดประมูล และประกาศเชิญชวนอย่างกระชั้นชิด แต่ผู้รับจ้างเข้าทำงานก่อนที่จะลงนามเซ็นสัญญาจ้างราวกับมั่นใจว่าได้ทำงานแน่ๆ และก็ได้ทำงานจริงๆ ทั้งเมื่อสอบสวนทวนความไปก็พบว่าบริษัทผู้รับจ้างนั้นเดิมเป็นบริษัทนำเที่ยว เคยรับงานจาก กทม.มาแล้วหลายปีเป็นเงินกว่า 30 ล้านบาท แต่เพิ่งมาจดแจ้งเพิ่มวัตถุประสงค์ทำธุรกิจไฟฟ้า ก่อนเข้าร่วมประกวดราคาซื้อซองกทม. 3 เดือน และเมื่อผู้สื่อข่าวไปตรวจสอบยังที่ทำการของบริษัทที่แจ้งไว้ก็ปรากฏว่ามีการปิดปรับปรุง ถามใครที่อยู่ในบ้านก็อ้างว่าไม่รู้ไม่เห็น ฯลฯ
ข้อไม่ปกติต่างๆ นานานี้เอง ที่ทำให้สาธารณชนตั้งข้อสงสัยกับทางผู้บริหารของ กทม.ซึ่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ในฐานะของผู้รับผิดชอบสูงสุดคงจะปฏิเสธความรับผิดชอบเสียไม่ได้ และหากพรรคประชาธิปัตย์ยังคงนับท่านผู้ว่าฯ กทม.อยู่ใน “ทีม” ก็เห็นจะหนีข้อครหานี้ไม่พ้น และยิ่งหากมีการดำเนินการตรวจสอบตามกระบวนการตรวจสอบการทุจริตหรือดำเนินคดีต่อศาลแล้ว ยิ่งจะทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคนั้น “พัง” กันไปใหญ่
เมื่อทางพรรคประชาธิปัตย์ประกาศ “ตัดขาด” จากผู้ว่าฯ กทม.ต่อไปก็คอยดูว่า ทางพรรคนั้นจะเป็นคนที่ลงดาบ “เชือด” อดีตคนของตัวเองเพื่อ “โชว์” ความโปร่งใสไร้มลทินของพรรคตัวเองหรือไม่ หรือจะถือว่าที่แล้วก็แล้วไปให้เป็นไปตามกฎหมาย
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ทางพรรคอดีตต้นสังกัดประกาศตัดขาดและไม่ขอรับผิดชอบในการบริหารงานของผู้ว่าฯ กทม.อีกต่อไปแล้ว ก็เหมือนกับการ “ขายขาดทุน” หรือ Cut Loss ซึ่งสุดท้ายจะได้กำไรไหมไม่รู้ แต่หยุดการขาดทุนได้แน่นอน ไม่ต้องคิดอะไรมากอีกต่อไป รอลุ้นหน้าตาของรัฐธรรมนูญใหม่ และปรับแผนเพื่อการเลือกตั้งหลังจากนี้ที่ทาง คสช. ประกาศว่าจะมีแน่ๆ กลางปีหน้าดีกว่า
ส่วนคนที่ถูก “Cut” และกำลังจะ “Loss” ต่างหากที่จะต้องไปคิดต่อว่าจะเอาตัวให้รอดจากบ่วงหนามนี้ต่อไปอย่างไรที่จะไม่เจ็บตัวหรือประสบชะตากรรมร้ายแรงกว่านั้น.
ด้วยจารีตของพรรคนี้นั้น เน้นความเป็นเอกภาพ แม้จะมีความขัดแย้งภายใน แต่ท่าทีสู่ภายนอก “อย่างเป็นทางการ” ก็จะต้องไม่มีความขัดแย้ง เข้าทำนองน้ำขุ่นไว้ข้างใน น้ำใสไว้ข้างนอก
ดังนั้น การออกมาประกาศ “ตัดขาด” การทำงานของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร แนวทางการบริหารแตกต่างกันระหว่างพรรคกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เนื่องจากทางพรรคไม่สามารถใช้ระบบและกลไกในการสนับสนุนติดตามตรวจสอบการทำงานได้ จากนี้ไปการบริหารของ กทม.ถือเป็นการดำเนินการโดยเอกเทศของ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์เอง ที่ทางพรรคจะไม่รับผิดชอบด้วย
ดูคล้ายๆ เวลาบริษัทเอกชนเขาเชิญพนักงานออก และถ้าพนักงานคนนั้นมีหน้าที่ในการหาลูกค้าหรือติดต่อกับสาธารณะประชาชน เขาก็จะออกประกาศลงหน้าแจ้งความในหนังสือพิมพ์ว่า บัดนี้ นาย... นางสาว... ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับบริษัทอีกแล้ว ประมาณนั้นเลย
สาเหตุที่ทางพรรคประชาธิปัตย์ออกมาแสดงท่าทีเด็ดขาดขนาดนี้ ก็คาดว่าด้วยสาเหตุใหญ่สองประการ คือ ความรู้สึกว่าคุณชายหมูนั้น แม้จะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคนเดียวของพรรคที่ยังอยู่ในตำแหน่ง แต่ก็มีทีท่า “กระด้างกระเดื่อง” ต่อทางพรรค ถึงขนาดหัวหน้าพรรคอย่าง “มาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โทร.ไปก็ไม่รับสาย
นอกจากนี้ยังเป็นปัญหาว่า กระแสความนิยมของคน กทม.ต่อตัวคุณชายนั้นตกต่ำลงเรื่อยๆ นับแต่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาก็ไม่ได้ทำอะไรให้ชาว กทม.ที่เป็นผู้ลงคะแนนเสียงให้คุณชาย และเป็นฐานเสียงหลักของพรรคประชาธิปัตย์นั้นรู้สึกชื่นชมได้เลย
ทั้งๆ ที่การได้รับการเลือกตั้งมานั้น ใช่ว่าจะเป็นความนิยมส่วนตัวที่คน กทม.มีต่อท่านก็เปล่า แต่เป็นเพราะคน กทม.กัดฟัน “เลือกใครก็ได้” จากพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อกันไม่ให้ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยที่คนกรุงชิงชังรังเกียจในขณะนั้นได้ครอง กทม.ที่ถือเป็นที่มั่นสุดท้ายทางการเมืองของฝ่ายไม่เอาด้วยกับเสื้อแดง
เรื่องที่ทำให้ชาวกรุงเอือมระอาคุณชาย ก็นับตั้งแต่การแก้ปัญหาเรื่องน้ำขังน้ำท่วมเมื่อฝนตกหนักไม่ได้ แถมยังหลุดวาจาพาปวดใจว่า ไม่อยากเจอน้ำท่วมให้หนีขึ้นบนดอยบ้าง
โฆษณาหาเสียงที่ชูสโลแกนว่า “ทั้งชีวิตเราดูแล” แต่เมื่อเกิดเหตุอาชญากรรมหรือมีปัญหาจริงๆ กลับพบว่ากล้องวงจรปิดของทาง กทม.นั้นกลับไม่สามารถใช้งานได้จริง บางกล้องเป็นกล่องเปล่าๆ หรือที่แก้ตัวกันว่าเป็น “กล้องดัมมี่” ซึ่งนอกจากจะเสียเครดิตแล้วยังถูกตั้งคำถามเรื่องความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างด้วย
นอกจากนี้ ก็ยังมีเรื่องให้ชาว กทม.ไม่พอใจปูดขึ้นมาไม่เว้นแต่ละวัน นับตั้งแต่ความหย่อนยานในการดูแลสาธารณูปโภคที่อยู่ในความรับผิดชอบ มีคนตกลงไปในท่อของ กทม.ถูกโลหะบาดเย็บเป็นร้อยๆ เข็ม แต่ทาง กทม.อ้างว่าไม่มีระเบียบเยียวยานอกจากบอกให้ไปฟ้องศาลเอาเอง หรืออย่างไฟฟ้าในเสากล้องวงจรปิดช็อตคนตาย ทั้งๆ ที่ชาวบ้านก็แจ้งกับทาง กทม.ไปแล้วให้มาตรวจสอบก็อ้างว่าไม่พบ ทั้งพอมีเหตุเกิดขึ้นก็เล่น “ตลกร้าย” ว่าให้เจ้าหน้าที่ลองจับดูแล้วก็ไม่ถูกไฟดูด
แต่พวกเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่นนี้ก็ยังไม่ร้ายแรงเท่าเรื่องความไม่โปร่งใสในการบริหารกิจการ กทม.ซึ่งความโปร่งใสนี้ เป็นจุดขายที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ดูดี (หรือหากจะกล่าวตามตรงคือดูแย่น้อยกว่า) พรรคคู่แข่ง
เพราะอาวุธสำคัญของทางพรรคที่ใช้ชี้หน้าด่าฝ่ายตรงข้าม คือฝ่ายตรงข้ามนั้น “โกง” เมื่อเป็นเช่นนี้ อย่างน้อยตัวเองก็ไม่ควรจะ “เสียชื่อ” ด้วยเรื่องโกงนี้
หากปัญหาความโปร่งใสในการใช้เงินเรื่องต่างๆ ของการจัดซื้อเปียโน ตามโครงการส่งเสริมทักษะของดนตรีในโรงเรียนสังกัด กทม.ที่มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่าส่อจะเป็นการทุจริต กล่าวคือซื้อมาทั้งๆ ที่ไม่ได้ใช้ และยังต้องตั้งงบอบรมครูดนตรีอีกรวมๆ หลายร้อยล้านบาท ซึ่งเท่ากับว่า กทม.ไม่มีความพร้อม ไม่มีครูสอนดนตรี และห้องสอนดนตรี แต่กลับซื้ออุปกรณ์ดนตรีล่วงหน้าไปเก็บแล้วมีการอนุมัติเบิกจ่ายให้ซ่อมบำรุงทุกปี ซึ่งเรื่องนี้คนออกมาแฉนั้น คือ อดีต ส.ส.ของ กทม.จากพรรคประชาธิปัตย์เองคือนายวิลาศ จันทร์พิทักษ์
ความเปียโนยังไม่ทันหาย ก็ปรากฏว่าทาง กทม.โดยผู้ว่าฯ กทม.ก็มีการใช้เงินที่ประชาชนตั้งข้อสังเกตเรื่องความคุ้มค่าขึ้นมาอีก คือโครงการจัดประดับไฟปีใหม่ที่ลานคนเมือง ที่ใช้งบประมาณกว่า 39 ล้านบาท
ส่งเสียงระงมต่อชาว กทม.ว่า การประดับไฟราคาแพงขนาดนั้นมีความจำเป็นและสวยงามขนาดนั้นเชียวหรือ เมื่อเทียบกับผลงานที่ควรเป็นงานหลักของ กทม.อย่างเช่นการดูแลสาธารณูปโภค เช่น ท่อระบายน้ำ ถนนหนทางที่ดูจำกัดจำเขี่ยจนเกิดอุบัติเหตุต่อชาวบ้าน ซึ่งไฟประดับราคา 39 ล้าน เอามาติดไว้ไม่กี่วันก็เอาออก ซึ่งผู้ที่ได้ไปเข้าชมนั้นต่างบ่นกันพึมว่า การบริหารจัดการไม่ดี ไฟดูไม่สมราคา เมื่อเทียบกับนิทรรศการประดับไฟในลักษณะเดียวกันของต่างประเทศ แถมหลายคนยังรู้สึกว่า เหมือนไปเหมาไฟที่จัดในงานอื่นมายำใหม่หรือเปล่า เพราะรูปลักษณ์ของการจัดไฟนั้นดูไม่ “ไทย” อย่างที่อ้าง
แถมเมื่อมีผู้สาวลึกลงไปอีกก็พบว่ามีความไม่ชอบมาพากลหลายเรื่อง เช่น การจัดประมูล และประกาศเชิญชวนอย่างกระชั้นชิด แต่ผู้รับจ้างเข้าทำงานก่อนที่จะลงนามเซ็นสัญญาจ้างราวกับมั่นใจว่าได้ทำงานแน่ๆ และก็ได้ทำงานจริงๆ ทั้งเมื่อสอบสวนทวนความไปก็พบว่าบริษัทผู้รับจ้างนั้นเดิมเป็นบริษัทนำเที่ยว เคยรับงานจาก กทม.มาแล้วหลายปีเป็นเงินกว่า 30 ล้านบาท แต่เพิ่งมาจดแจ้งเพิ่มวัตถุประสงค์ทำธุรกิจไฟฟ้า ก่อนเข้าร่วมประกวดราคาซื้อซองกทม. 3 เดือน และเมื่อผู้สื่อข่าวไปตรวจสอบยังที่ทำการของบริษัทที่แจ้งไว้ก็ปรากฏว่ามีการปิดปรับปรุง ถามใครที่อยู่ในบ้านก็อ้างว่าไม่รู้ไม่เห็น ฯลฯ
ข้อไม่ปกติต่างๆ นานานี้เอง ที่ทำให้สาธารณชนตั้งข้อสงสัยกับทางผู้บริหารของ กทม.ซึ่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ในฐานะของผู้รับผิดชอบสูงสุดคงจะปฏิเสธความรับผิดชอบเสียไม่ได้ และหากพรรคประชาธิปัตย์ยังคงนับท่านผู้ว่าฯ กทม.อยู่ใน “ทีม” ก็เห็นจะหนีข้อครหานี้ไม่พ้น และยิ่งหากมีการดำเนินการตรวจสอบตามกระบวนการตรวจสอบการทุจริตหรือดำเนินคดีต่อศาลแล้ว ยิ่งจะทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคนั้น “พัง” กันไปใหญ่
เมื่อทางพรรคประชาธิปัตย์ประกาศ “ตัดขาด” จากผู้ว่าฯ กทม.ต่อไปก็คอยดูว่า ทางพรรคนั้นจะเป็นคนที่ลงดาบ “เชือด” อดีตคนของตัวเองเพื่อ “โชว์” ความโปร่งใสไร้มลทินของพรรคตัวเองหรือไม่ หรือจะถือว่าที่แล้วก็แล้วไปให้เป็นไปตามกฎหมาย
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ทางพรรคอดีตต้นสังกัดประกาศตัดขาดและไม่ขอรับผิดชอบในการบริหารงานของผู้ว่าฯ กทม.อีกต่อไปแล้ว ก็เหมือนกับการ “ขายขาดทุน” หรือ Cut Loss ซึ่งสุดท้ายจะได้กำไรไหมไม่รู้ แต่หยุดการขาดทุนได้แน่นอน ไม่ต้องคิดอะไรมากอีกต่อไป รอลุ้นหน้าตาของรัฐธรรมนูญใหม่ และปรับแผนเพื่อการเลือกตั้งหลังจากนี้ที่ทาง คสช. ประกาศว่าจะมีแน่ๆ กลางปีหน้าดีกว่า
ส่วนคนที่ถูก “Cut” และกำลังจะ “Loss” ต่างหากที่จะต้องไปคิดต่อว่าจะเอาตัวให้รอดจากบ่วงหนามนี้ต่อไปอย่างไรที่จะไม่เจ็บตัวหรือประสบชะตากรรมร้ายแรงกว่านั้น.