xs
xsm
sm
md
lg

เวรกรรมชาวกรุง (ภาคที่เท่าไรแล้วก็ไม่รู้)

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

เช่นเดียวกับฤดูกาลครับ ในทุกปี เราจะต้องมีคอลัมน์สักตอนหนึ่งอุทิศให้แก่ทุกข์ของชาวกรุงเทพฯ เท่าที่จำได้ก็น่าจะ 3-4 ครั้งแล้วที่เขียนเรื่องนี้

จากเหตุวินาศสันตะโรมหกรรมรถติดทั่วกรุงเมื่อเช้าวันอังคารที่ผ่านมานี้ แทบทุกคนคงจะประสบเหตุกันไป มากบ้างน้อยบ้างตามแต่บุญกรรม

ที่รถติดก็เนื่องมาจากน้ำท่วมในถนนเส้นหลักถึง 36 จุด และหลายจุดเป็นระดับ “เส้นเลือดใหญ่” ของการจราจร ทั้งปากทางลาดพร้าวและรัชดาภิเษกช่วงหน้าศาลอาญา โดยเฉพาะจุดหลังนี่เรียกว่ากลายเป็นคลอง รถผ่านไม่ได้เลย

ส่วนที่หนักหนาไม่แพ้กันก็แถวรามอินทราน้ำท่วมหนักในหมู่บ้าน บางแห่งท่วมไปร่วมเมตรกว่า จนป่านนี้ก็ยังลดไม่หมด

เมื่อเกิดเหตุน้ำท่วมรถติด ผู้คนก็เรียกร้องหา “ผู้รับผิดชอบ”

ซึ่งผู้รับผิดชอบ คือท่านผู้ว่าฯ กทม.ก็ตื่นออกมาตอนสายๆ ครับ แต่งตัวเอี้ยมเฟี้ยมมาลุยน้ำให้เห็น และขอโทษประชาชนที่ระบายน้ำไม่ทัน

คำขอโทษเราก็รับไว้ครับ ถึงแม้จะเป็นการขอโทษครั้งที่เท่าไรแล้วก็ไม่รู้ สำหรับผู้ว่าฯ กทม.ท่านนี้ กับสถานการณ์เช่นนี้ การขอโทษบ่อยๆ ก็ทำให้เข้าใจยาก

เข้าใจยากว่า ทำไมทุกครั้งที่ฝนตกหนัก ก็แทบจะเดาสถานการณ์ได้ เห็นว่าบางบริษัทเห็นท่าไม่ดีก็กระจายข่าวให้พนักงานทำงานที่บ้านได้เลย เรียกว่าเตรียมแผนไว้รองรับสภาพน้ำท่วมรถติดแบบภัยพิบัตินี้แล้ว

แต่ กทม.เล่าครับ เราพอจะยอมรับได้อยู่ว่า ฤดูฝนมาอย่างไรฝนก็ต้องตก เมื่อตกแล้วก็อาจจะมีน้ำขังรอการระบาย (ท่านไม่อยากให้เรียกว่าน้ำท่วม ไม่เรียกก็ได้) แต่ที่เราไม่เข้าใจเลยก็คือ เหตุใดเวลาผ่านไปไม่รู้กี่ปี ทาง กทม.จึงไม่มีทางรับมือภัยพิบัติตามฤดูกาลนี้ได้เลย

อุโมงค์ยักษ์อะไรที่เป็นราคาคุย ที่ท่านเคยไปแอคท่าถ่ายรูปเอาไว้ ก็ไม่เห็นปรากฏว่าจะช่วยแก้ไขสถานการณ์ได้เป็นมรรคผลอะไร นอกจากให้ข่าวว่า รออุโมงค์ยักษ์อีกแห่งสร้างเสร็จก่อน สถานการณ์จะดีขึ้นแน่ๆ

ครับ ก็ทนไปตามประสาชาว กทม.ก็แล้วกัน

เชื่อว่าเราทุกคนคงจำได้ว่า “ผู้ว่าฯ กทม.” ท่านนี้เข้ามาดำรงตำแหน่งได้อย่างไร

ชาว กทม.ที่เลือกท่านมาเป็นผู้ว่าฯ กทม.นั้น จะเรียกว่าเป็นการเลือกตั้งในมุมกลับ คือไม่ได้เลือกเพื่อที่จะ “ได้คนที่รัก” แต่เป็นการออกเสียงเลือกตั้งแบบ “ไม่เลือกพรรคที่ชัง”

นั่นคือ ในสมัยแรกที่ท่านชนะการเลือกตั้งนั้น ท่านแข่งกับผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ในปี 2552 เป็นพรรคเพื่อไทยที่เพิ่งคืนชีพใหม่มาจากพรรคพลังประชาชนที่ถูกยุบไปในวิกฤตการเมืองปี 2551

ชัยชนะของท่านมาจากการที่ชาว กทม.ปฏิเสธพรรคเพื่อไทย ไม่ให้มามีอำนาจเหนือ กทม.และประวัติศาสตร์ก็ซ้ำรอยอีกในปี 2556 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากที่พรรคเพื่อไทยคว้าที่นั่ง ส.ส.ทั่วประเทศไทยแบบฟ้าถล่มดินทลาย ยกเว้นภาคใต้และ กทม.

แถมผู้สมัครพรรคเพื่อไทยในขณะนั้นก็ “มาแรง” และดูมีความหวังจนน่ากลัว คือ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ซึ่งในตอนนั้นโพลหลายสำนักก็ชี้ว่า ถ้าไม่มีรายการพลิกล็อกอะไร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยได้ปักธงลงกลางกรุงเทพมหานครได้แน่นอน

เกิดสภาวะ “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” และทางพรรคต้นสังกัดก็ได้ใช้กลยุทธ์ดังกล่าวในการหาเสียง จนหมิ่นเหม่จะผิดกฎหมายเลือกตั้งไป แต่ในที่สุด ท่านผู้ว่าฯ กทม.ก็ชนะและเป็นผู้ว่าฯ กทม.ต่ออีกสมัย

นั่นแหละครับ เพราะอย่างนี้ ทำให้คนมองท่านว่าเป็น “ไม้กันตัวอะไรสักอย่าง”

คือไม่ได้เลือกท่านเพราะอยากได้ท่าน แต่เลือกท่านเพราะไม่อยากได้อีกคน

แต่เมื่อท่านได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.สมัยที่สองแล้ว ท่านก็สร้างความผิดหวังให้ชาว กทม.ในหลายเรื่องจนจาระไนกันไม่หมด

นอกจากเรื่องฝนตกทีไรท่วมทุกที ก็ยังมีเรื่องครหาเรื่องการใช้งบประมาณต่างๆ เช่น การติดตั้งกล้องวงจรปิดทั่ว กทม.ก็มีการตรวจพบว่าเป็น “กล้องดัมมี่” มีแต่กล่องไม่มีกล้อง

และยิ่งในช่วงท้ายๆ นี้ ก็เหมือนกับท่านรู้ตัวว่ายังไงคงไม่ได้มานั่งเก้าอี้เสาชิงช้านี้แล้ว อยากทำอะไรก็รีบๆ ทำ

โครงการใช้เงินหลวงจากภาษีประชาชนมากมายถูกสังคมตั้งข้อกังขา เช่น การจัดติดตั้งไฟปีใหม่ กทม.ซึ่งใช้งบประมาณไป 39 ล้าน โดยไม่ได้อะไรนอกจากเป็นที่ให้ไปถ่ายเซลฟี่เล่น พร้อมคำคุยโวว่า ไปดูเป็นบุญตาก็คุ้มแล้ว - ครับ คุ้มใครก็ไม่รู้ ถูก สตง.เรียกตรวจสอบไปตามๆ กัน

และตามด้วยการประมูลสร้างห้องทำงานใหม่มูลค่า 16 ล้านกว่า เฉพาะสิ่งอำนวยความสะดวกก็ล่อเข้าไป 2 ล้านกว่า ประกอบด้วยโต๊ะ เก้าอี้ ทีวี เครื่องเสียง ตู้เย็น

ระบบทีวีเครื่องเสียงนี่เขาลือกันว่าโฮมเธียเตอร์ตามบ้านเศรษฐีต้องอาย แค่ทีวีก็เป็นแบบ 75 นิ้ว จอโค้งแล้ว ราคาสามแสนกว่าบาท

ครับ ภาษีของพวกเราทั้งนั้น

อันที่จริง การทำงานของท่านผู้ว่าฯ กทม.ก็เหมือนพรรคอดีตต้นสังกัดท่านนั่นแหละ คือเป็นเหมือนผู้คอยกำกับดูแลการทำงานของข้าราชการประจำ แต่ไม่มีนโยบายอะไรในเชิงรุก เหมือนที่เขาล้อๆ กันว่าเป็นการบริหารแบบ “ปลัดประเทศ”

แม้ว่าตัวท่านผู้ว่าฯ กทม.จะถูก “อัปเปหิ” ออกจากพรรคต้นสังกัดแล้ว และสมัยหน้าท่านก็คงไม่มาลงสมัครแล้ว

แต่ตราบใดที่การเมืองยังมีสภาพแบบนี้ คือมีสองขั้วให้เลือก แต่ขั้วพรรคประชาธิปัตย์กับขั้วพรรคเพื่อไทยตัวแทนของระบอบทักษิณ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คราวหน้า ผลก็คงไม่แปลกแตกต่างอะไร ทางเพื่อไทยคงจะส่งใครสักคนที่มีชื่อเสียงโด่งดังเข้ามาลงสมัครรับเลือกตั้ง ส่วนอีกพรรคจะส่งใครมาก็ไม่แปลก เพราะถ้าคนจะเลือกก็ไม่ได้เลือกคนอยู่แล้ว เป็นการเลือกเพื่อปฏิเสธพรรคเพื่อไทยอยู่นั่นแหละ

จริงๆ สภาพนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงสภาพการเมืองในสนามใหญ่ของไทย ซึ่งถ้ามีเลือกตั้งจริงในปี 2560 ไม่ว่าจะโดยรัฐธรรมนูญฉบับไหน การเลือกตั้งก็คงจะเป็นเช่นนี้ คือการ “เลือก” ระบอบทักษิณ ด้วยการกาให้พรรคเพื่อไทย (หรืออาจจะชื่ออื่นถ้ารอบนี้ถูกยุบอีก) กับการ “ไม่เอา” ระบอบทักษิณ แล้วกาเลือกพรรคประชาธิปัตย์ เพราะว่าเป็นหนทางเดียวที่จะสกัดกั้นพลังของระบอบทักษิณได้

ประชาชนต้องถูกมัดมือชกกลายๆ เหลือตัวเลือกเอาแค่นี้เอง

ตราบใดที่ไม่มีพรรค หรือ “ใคร” มาเป็นทางเลือก เราก็เหลือตัวเลือกแค่ระบอบทักษิณกินรวบ กับระบอบปลัดเฝ้าประเทศนี่แหละครับ.
กำลังโหลดความคิดเห็น