xs
xsm
sm
md
lg

การประหารชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต


ในยุคที่การใช้สื่อสังคมออนไลน์แพร่หลายในวิถีชีวิตของผู้คน เมื่อเกิดคดีสะเทือนขวัญอย่างข่มขืนและฆ่าเกิดขึ้นมา กระแสรณรงค์เรียกร้องให้ลงโทษประหารชีวิตฆาตกรในก็มักกระหึ่มขึ้นเช่นเดียวกัน สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกของคนจำนวนไม่น้อยที่อยากให้รัฐลงโทษโดยการแก้แค้นผู้กระทำผิดให้สาสม และผู้คนเหล่านั้นคาดหวังว่าการลงโทษอย่างรุนแรงจะทำให้คนที่คิดก่ออาชญากรรมลักษณะเดียวกันในอนาคตเกิดความหวาดกลัวและไม่กล้าลงมือกระทำ

อันที่จริงโทษประหารชีวิตในประเทศไทยยังดำรงอยู่ไม่ได้มีการยกเลิกแต่อย่างใด ปัจจุบันวิธีการการประหารชีวิตของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงจากการใช้ปืนยิงให้ตายมาเป็นการฉีดยาโดยใช้สารพิษ การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นเมื่อพ.ศ. 2546 เท่าที่ทราบหลังจากการเปลี่ยนแปลงมีการประหารชีวิตโดยวิธีการนี้ 2 ครั้งๆแรกเมื่อปลายปี 2546 ประหารไป 4 ราย และครั้งที่สองเมื่อปี 2552 ประหารไป 2 ราย คนที่ถูกประหาร 5 คน เป็นคดีค้ายาเสพติด ส่วนอีกคนเป็นคดีฆ่าคนตาย

ข้อมูลจากองค์การนิรโทษกรรมสากล ซึ่งอ้างจากกรมราชทัณฑ์ระบุว่า จนถึงปลายปี 2556 มีนักโทษที่ถูกตัดสินประหาร678 ราย แต่การประหารชีวิตจริงๆ เกิดขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2552 จำนวน 2 รายโดยการฉีดยาพิษ นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้เป็นเวลาประมาณ 7 ปี ยังไม่มีนักโทษประหารคนใดถูกประหารชีวิตจริงๆ

สำหรับการลงโทษประหารชีวิตของประเทศต่างๆทั่วโลก ข้อมูลจากองค์การนิรโทษสากลในพ.ศ.2558 ระบุว่ามีประมาณ 140 ประเทศที่ยกเลิกโทษนี้ไปแล้วรวมทั้งกัมพูชา ส่วนที่เหลือประมาณ 50 กว่าประเทศ ยังคงใช้โทษนี้อยู่รวมทั้งประเทศไทยด้วย ส่วนประเทศที่มีการนำโทษนี้มาปฏิบัติอย่างเข้มข้นและจริงจังมี 5 ประเทศหลักๆ (ตัดสินประหารแล้ว ประหารให้เห็นกันทันที) คือ ประเทศจีน อิหร่าน ปากีสถาน ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอเมริกา

จะเห็นได้ว่าสี่ประเทศแรกใช้ระบอบการปกครองที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบตะวันตก ในนั้นสามประเทศเป็นประเทศที่ใช้ศาสนาอิสลามเป็นหลักปกครอง ส่วนประเทศที่ใช้รูปแบบประชาธิปไตยปกครองและเที่ยวเรียกร้องให้ประเทศอื่นๆในโลกใช้รูปแบบประชาธิปไตยด้วยอย่างสหรัฐอเมริกากลับติดหนึ่งในห้าของประเทศที่ประหารชีวิตคนมากที่สุดของโลก

และหากมองเฉพาะกลุ่มประเทศที่ใช้รูปแบบประชาธิปไตยในการปกครองประเทศ สหรัฐอเมริกาน่าจะเป็นประเทศที่ประหารชีวิตคนมากที่สุดในกลุ่มนี้ ข้อมูลนี้จึงน่าสนใจมาก

บางประเทศอย่างประเทศไทย แม้จะมีโทษประหารชีวิตและมีคนถูกตัดสินประหารชีวิต แต่การประหารจริงกลับดำเนินการไม่เข้มข้นเท่าใดนัก เรียกว่าในทางกฎหมายยังมีโทษอยู่ แต่ในทางปฏิบัติมีแนวโน้มค่อยๆชะลอหรืออาจยกเลิกโทษนี้ไป ประเทศที่มีแนวนโยบายในลักษณะเดียวกับประไทยมีอีกหลายประเทศเช่น บรูไน ลาว และพม่า เป็นต้น

ในโลกนี้การฆ่าคนเกิดขึ้นทุกวัน ทั้งการฆ่าโดยปัจเจกบุคคลด้วยกันเอง การฆ่าระหว่างกลุ่มที่มีชาติพันธุ์และศาสนาต่างกัน การฆ่าโดยกลุ่มก่อการร้าย การฆ่าโดยทหารระหว่างทำสงคราม และการฆ่าโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นๆระหว่างปฏิบัติหน้าที่ การฆ่าเหล่านั้นมีทั้งเกิดขึ้นจากอารมณ์ส่วนบุคคลโดยไม่มีการวางแผนเอาไว้ก่อน กับการฆ่าโดยมีเจตจำนงทางการเมืองและมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ

การฆ่าทั้งหมดที่กล่าวมาในหลายประเทศดูเหมือนจะไม่ได้ลดลงตามการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองแต่อย่างใด กลับเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและในบางประเทศมีเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ

แต่ที่น่าสนใจคือการฆ่าที่กระทำโดยรัฐ ซึ่งผ่านกระบวนการตรวจสอบและไตร่ตรองอย่างมีเหตุมีผล ผ่านกระบวนการยุติธรรมต่ออาชญากรรมร้ายแรงประเภทต่างๆ กลับมีแนวโน้มถูกยกเลิกและลดลงในหลายประเทศ แต่ไม่แน่ใจว่าการฆ่าประชาชนอย่างลับๆโดยเจ้าหน้าที่รัฐจะลดลงหรือไม่ เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ ในปัจจุบันยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว แต่การฆ่าอย่างลับๆโดยเจ้าหน้าที่รัฐต่อผู้ที่ค้ายาเสพติดกลับเพิ่มขึ้น ส่วนกรณีประเทศไทยก็เช่นเดียวกันในช่วงต้นของรัฐบาลทักษิณมีการฆ่าตัดตอนเกิดขึ้นเกือบสามพันราย

ทำไมรัฐบาลของประเทศจำนวนมากในโลกมีแนวโน้มยกเลิกโทษประหารชีวิต ผมคิดว่าเหตุผลของกระทำแบบนี้มีหลายประการ ประการแรก รัฐบาลเหล่านั้นคงยึดหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มข้นว่ารัฐไม่มีสิทธิและอำนาจทำลายชีวิตของประชาชนได้ แม้ว่าประชาชนผู้นั้นจะก่ออาชญากรรมแบบใดก็ตาม เพราะแต่ละคนย่อมมีสิทธิในชีวิตเป็นของตนเอง หากรัฐใช้วิธีการทำลายชีวิต รัฐก็จะมีระดับคุณธรรมไม่ต่างกับฆาตกรแต่อย่างใด

ประการที่สอง รัฐบาลของประเทศนั้นอาจมีความเชื่อว่าคนสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเองได้ จึงให้โอกาสแก่ผู้ก่ออาชญากรรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง มาตรการลงโทษผู้กระทำผิดนั้นจึงเน้นการกักขังเพื่อปรับปรุงพฤติกรรม และไม่เน้นการทำลายล้างชีวิตเพื่อการแก้แค้น

ประการที่สาม รัฐบาลของประเทศเหล่านั้นอาจยึดถือหลักการที่ว่าปล่อยคนผิดไปสิบคน ดีกว่าฆ่าคนบริสุทธิ์เพียงคนเดียวอย่างเหนียวแน่น เพราะว่าระบบและกระบวนการยุติธรรมอาจมีความบกพร่องจึงมีโอกาสที่จะทำให้เกิดการตัดสินคดีผิดพลาดได้ หากตัดสินประหารชีวิตไปแล้ว ก็จะทำให้คนผู้นั้นเสียโอกาสในชีวิตอย่างสิ้นเชิง และภายหลังเมื่อมีการพบหลักฐานใหม่ที่บ่งบอกว่าผู้ที่ถูกประหารไปแล้วเป็นผู้บริสุทธิ์ ก็ไม่อาจเอาชีวิตเขากลับคืนมาได้ และกลายเป็นตราบาปของสังคมไป ยิ่งประเทศใดที่มีระบบและกระบวนการยุติธรรมที่ไร้ประสิทธิภาพและฉ้อฉล โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ก็มีสูงยิ่ง นั่นหมายความว่าผู้บริสุทธิ์จำนวนไม่น้อยก็มีโอกาสกลายเป็น “แพะ” ที่ถูกสังเวยอย่างไม่เป็นธรรม

ประการที่สี่ รัฐบาลของประเทศเหล่านั้นอาจมีการศึกษาวิจัยอย่างเข้มข้นและมีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่หนักแน่นว่า การลงโทษประหารชีวิตไม่มีส่วนในการช่วยลดอาชญากรรมร้ายแรงลงแต่อย่างใด ในทางกลับกันอาจเป็นสิ่งกระตุ้นความรุนแรงในสังคมมีมากขึ้น เพราะประชาชนคุ้นชินกับการใช้ความรุนแรงและซึมซับความชอบธรรมของการใช้ความรุนแรงเข้าไปอยู่ในจิตใจ ดังนั้นก็จะยิ่งกระตุ้นให้ผู้คนใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหามากขึ้นก็ได้ และยิ่งทำให้ผู้ก่ออาชญากรรมเพิ่มความรุนแรงต่อเหยื่อมากขึ้น เพราะคนร้ายอาจคิดว่าการฆ่าเหยื่อเป็นวิธีการกลบเกลื่อนและปกปิดอาชญากรรมของตนเองที่ดีที่สุดก็ได้

ในแง่นี้รัฐในฐานะที่เป็นองค์รวมและเป็นตัวแทนของสังคม จึงมีแนวโน้มที่แสดงออกในวิถีการยกระดับความมีอารยธรรมของประเทศให้เพิ่มมากขึ้น และยิ่งรัฐใดที่รัฐบาลถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความชอบธรรมของการครองอำนาจ หรืออาจจะถูกรัฐอื่นๆอ้างเอาวิธีการเข้าสู่อำนาจที่ไม่สอดคล้องกับพวกเขามาวิจารณ์หรือโจมตี รัฐบาลของประเทศนั้นก็อาจมีแนวโน้มที่จะแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการทำให้รัฐของตนเองมีความเป็นอารยะด้านอื่นๆ เพื่อชดเชยจุดอ่อนของวิธีการเข้าสู่อำนาจก็ได้

โดยส่วนตัวผมเห็นว่า การลงโทษประหารชีวิตไร้ประสิทธิผลในการป้องกันอาชญากรรม และไม่สามารถแก้ปัญหาอาชญากรรมได้อย่างยั่งยืน อย่างดีก็ทำให้สถานการณ์สงบลงชั่วคราวเท่านั้น แต่อย่างร้ายก็คือจะยิ่งทำให้สังคมเสพติดกับความรุนแรงและกระตุ้นให้เกิดการใช้ความรุนแรงมากขึ้น

สำหรับวิธีการลงโทษผู้ก่ออาชญากรรมในลักษณะใดให้เหมาะสม เป็นเรื่องที่สังคมควรมาพุดคุยอย่างจริงจัง และหาหนทางปรับปรุงหรือคิดค้นแนวทางใหม่ๆให้มากขึ้น เพราะแนวทางต่างๆที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นดูเหมือนมีข้อบกพร่องและไม่ค่อยมีประสิทธิผลมากนัก


กำลังโหลดความคิดเห็น