xs
xsm
sm
md
lg

รวยแล้วไปไหน

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

ในช่วงหลายปีมานี้ คนมีทรัพย์สินจำนวนมากลำบากใจเพิ่มขึ้น บางส่วนไม่รู้จะนำไปไว้ที่ไหนจึงจะได้ผลตอบแทนสูงในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังซบเซาและดอกเบี้ยยังต่ำมาก บางส่วนกลัวรัฐเก็บภาษีจึงแสวงหาแหล่งซุกซ่อนที่ลึกลับและซับซ่อนยิ่งขึ้นท่ามกลางความลำบากใจนี้ มีเศรษฐีบางส่วนที่ไม่ลำบากใจเพราะพวกเขาไม่ต้องการจะหอบเอาทรัพย์สินติดตัวไปยังโลกหน้า

เรื่องการซุกซ่อนเงินมีมานานและทำกันทั่วโลก ย้อนไปในสมัยเมืองไทยยังบริหารโดยบรรดาคนนุ่งผ้าขาวม้าแดงและอัศวิน สวิตเซอร์แลนด์เป็นดินแดนที่พวกเศรษฐีนิยมนำเงินไปซุกซ่อนแต่ในปัจจุบันนี้ นอกจากจะมีคู่แข่งจำนวนมากแล้ว สวิตเซอร์แลนด์ยังถูกกดดันจากรัฐบาลของมหาอำนาจเช่นสหรัฐอเมริกาให้เปิดเผยข้อมูลอีกด้วย บทบาทของสวิตเซอร์แลนด์จึงลดลงบ้าง

ข้อมูลที่ถูกลักลอบนำมาเปิดเผยใน “เอกสารปานามา” (Panama Papers) เมื่อเร็ว ๆ นี้ชี้ให้เห็นว่าชาวไทยไม่ต่างกับชาวโลกโดยทั่วไปที่ใช้บริการหาแหล่งฝากทรัพย์สินในต่างแดนนอกจากสวิตเซอร์แลนด์ เป็นที่น่าสังเกตว่าหลังจากตีข่าวกันอยู่ไม่กี่วัน เรื่องนี้ดูจะไม่มีใครสนใจอีกต่อไปแล้ว ฝ่ายรัฐก็ดูเงียบหาย หลังข้าราชการบางรายเร่งแถลงออกมาว่ามีชื่อคนไทยไม่มาก ทั้งที่หากเข้าไปดูให้ถ้วนถี่จะพบว่ามีชื่อคนไทยอยู่ถึงกว่า 20 หน้ากระดาษ ส่วนจะมีใครบ้างอาจค้นดูได้ในระบบอินเทอร์เน็ต แน่ละ เอกสารปานามาเป็นเพียงแหล่งเดียวเท่านั้น ยังมีเอกสารที่เราไม่สามารถเข้าถึงได้อีกมาก

นอกจากสวิตเซอร์แลนด์แล้ว คนไทยมักได้ข่าวว่าเศรษฐีไทยนิยมไปฝากทรัพย์สินไว้ที่หมู่เกาะในแถบทะเลคาริบเบียนรวมทั้งบาฮามาสและเคย์แมน แต่ไม่มีข่าวว่าไปใช้บริการในเกาะไซปรัส อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐีไทยไม่นิยมไซปรัสไม่เป็นที่ประจักษ์ อาจเป็นเพราะเศรษฐีไทยฉลาดกว่าเศรษฐีอื่นก็ได้ ผู้ติดตามข่าวด้านเศรษฐกิจอยู่บ้างคงทราบแล้วว่า เศรษฐีที่นำเงินไปซุกซ่อนไว้ในไซปรัสสูญเงินจำนวนมากเนื่องจากไซปรัสล้มละลายเมื่อกรีซประสบวิกฤตหลังเศรษฐกิจโลกถดถอยอย่างหนักเริ่มจากปี 2551 จะเพราะความฉลาดหรือเพราะอะไรเราคงไม่มีทางหยั่งรู้ แต่เศรษฐีพวกนี้และพวกที่สูญเงินถูกประณามและสมน้ำหน้าจากสังคมออนไลน์อย่างกว้างขว้างเพราะถูกมองว่าแสวงหาที่ซ่อนเงิน เนื่องจากได้เงินมาแบบไม่โปร่งใสบ้าง พยายามเอาเปรียบสังคมโดยเลี่ยงภาษีบ้าง และขี้เหนียวเข้ากระดูกดำบ้าง

ท่ามกลางความลำบากใจและการถูกประณามนี้ มีเศรษฐีอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่แสดงว่าลำบากใจและไม่ถูกประณาม ตรงข้ามพวกเขามักได้รับการยกย่อง กลุ่มนี้มีมหาเศรษฐีหมายเลข 1 และหมายเลข 2 สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำได้แก่ บิล เกตส์ และวอร์เรน บัฟเฟตต์ ย้อนไป 10 ปี สองคนนี้ร่วมกันก่อตั้งองค์กรชื่อ Giving Pledge หรือ “การให้คำมั่นสัญญา” ขึ้นมา เป้าหมายขององค์กรนี้คือการชักชวนมหาเศรษฐีระดับพันล้านดอลลาร์ให้เข้ามาเขียนคำมั่นสัญญาว่าจะบริจาคทรัพย์สินอย่างน้อยกึ่งหนึ่งเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

ณ วันนี้ คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า บิล เกตส์ และภรรยาได้ก่อตั้งมูลนิธิการกุศลเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว มูลนิธิของเขาได้รับทรัพย์สินส่วนใหญ่ในรูปของหุ้นในบริษัทไมโครซอฟท์ซึ่งเขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่คิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ และจะรับต่อไปเรื่อยๆ เนื่องจากในขณะนี้เขามีทรัพย์สินอยู่อีกกว่า 8 หมื่นล้านดอลลาร์ที่เขาให้คำมั่นสัญญาว่าจะบริจาคมากกว่า 90% เพื่อการกุศล แต่ละปีมูลนิธินี้สนับสนุนโครงการเพื่อการกุศลทั่วโลกเป็นเงินหลายพันล้านดอลลาร์ การสนับสนุนในปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่โครงการทางด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล และความมั่นคงทางอาหารของประชากรทั่วโลก

ทางด้านวอร์เรน บัฟเฟตต์ ซึ่งตอนนี้มีทรัพย์สินราว 7.4 หมื่นล้านดอลลาร์ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะบริจาคทรัพย์สิน 99% เพื่อการกุศลโดยส่วนใหญ่จะมอบให้มูลนิธิของบิล เกตส์ บริหารจัดการ เขาเริ่มบริจาคจำนวนมากแล้วทุกปี

เมื่อพูดถึงการบริจาคทรัพย์สินจำนวนมากของสองอภิมหาเศรษฐีนี้ มักมีผู้สงสัยว่าพวกเขาทำไปเพื่อเลี่ยงภาษีหรือไม่ เรื่องนี้ไม่น่าจะใช่เพราะพวกเขาไม่เคยมีประวัติในด้านการโยกย้ายสมบัติไปซุกซ่อนไว้ตามแหล่งต่างๆ ดังที่อ้างถึงข้างต้น นอกจากนั้น พวกเขายังสนับสนุนระบบภาษีที่เก็บเศรษฐีในอัตราสูงรวมทั้งภาษีมรดกอีกด้วย

ข้อมูลเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บ่งว่าในขณะนี้มีมหาเศรษฐีเข้าร่วมโครงการนี้แล้ว 154 คนซึ่งมาจาก 16 ประเทศ บางคนบริจาคเป็นครอบครัว หลายคนไม่มีทรัพย์สินถึงพันล้านดอลลาร์ตามที่บิล เกตส์ และวอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยตั้งเป้าไว้ แต่องค์กรก็ยอมรับ ในปัจจุบัน พวกเขามีทรัพย์สินรวมกันกว่า 7 แสนล้านดอลลาร์ นั่นหมายความว่าถ้าพวกเขาบริจาคครึ่งหนึ่ง ชาวโลกก็จะได้รับประโยชน์กว่า 3.5 แสนล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ดี การบริจาคนี้อาจเกิดขึ้นทันทีเป็นบางส่วนเท่านั้น ทั้งนี้เพราะในคำมั่นสัญญาการบริจาคอาจรอไว้จนเมื่อผู้บริจาคตายก็ได้ นั่นหมายความว่าอาจเป็นเวลาหลายทศวรรษเพราะผู้บริจาคเช่นมาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กอายุยังเพียง 32 ปีเท่านั้น

ในบรรดามหาเศรษฐี 154 คน หรือครอบครัวจาก 16 ประเทศที่ร่วมให้คำมั่นสัญญาว่าบริจาคอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์นั้น ไม่มีรายชื่อมหาเศรษฐีจากเมืองไทยรวมอยู่ด้วยแม้แต่คนเดียว ดังเป็นที่ทราบกันดี เมืองไทยมีคำพังเพยสะท้อนสัจธรรมที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางมานมนานว่า “ตายแล้วเอาไปไม่ได้” และในขณะนี้มีมหาเศรษฐีระดับพันล้านดอลลาร์กว่า 20 คน พวกเขาจะเอาทรัพย์สินมหาศาลนั้นไปทำอะไรก่อนตาย หรือไม่เชื่อในสัจธรรมที่ว่าตายแล้วเอาไปไม่ได้ไม่เป็นที่ประจักษ์
กำลังโหลดความคิดเห็น