xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อโลกโซเชียล ไล่ล่า ดลฤดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตอนที่ ดลฤดี จำลองราษฎร์ อาจารย์คณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เรียนจบปริญญาเอก ที่ฮาร์วาร์ด เมื่อ พ.ศ.2547 และตัดสินใจว่า จะไม่กลับมาทำงานใช้ทุนที่ประเทศไทย สื่อสังคมออนไลน์ หรือ โซเชียล มีเดีย เพิ่งจะเกิด แต่ยังไม่แพร่หลาย กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันอย่างทุกวันนี้

เฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นนวตกรรมโดยนักศึกษาปี 2 มหาวิทยาลัยเดียวกับ ดลฤดี คือ มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก เกิดเมื่อปี 2546 แต่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าใช้งานได้เมื่อปี 2549

ไอโฟนรุ่นแรก ออกสู่ตลาดครั้งแรก ประมาณ พ.ศ.2550

ทั้งเฟซบุ๊ก และไอโฟน รวมทั้งสมาร์ทโฟนที่ตามหลังไอโฟนออกมา เชื่อมต่อทุกคนบนโลก ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เวลาใด ให้เป็นชุมชนเดียวกัน เรื่องอะไรเกิดขึ้น ที่ไหน เมื่อไร จะถูกโพสต์ และแชร์ให้ทุกคนในเครือข่ายรับรู้ ในฉับพลันทันที

โลกวันนี้ เป็นโลกคนละใบกับวันที่ดลฤดีตัดสินใจว่า จะไม่กลับมาทำงานใช้ทุนที่ประเทศไทย

ดลฤดี ไปเรียนต่อ ในระดับปริญญาโท-เอก สาขาทันตกรรมสำหรับเด็ก ที่สหรัฐอเมริกา มีกำหนด 3 ปี ด้วยทุนรัฐบาล เมื่อเดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2537

อีก 2 ปีต่อมา เธอขอเปลี่ยนสาขาวิชาในระดับปริญญาเอก และขอขยายระยะเวลาเรียน ออกไปจากเดิมอีก 7 ปี ซึ่งได้รับอนุติจากต้นสังกัด

ดลฤดีเรียนจบปริญญาเอกประมาณต้นปี 2547 เธอยื่นหนังสือขอลาออกจากราชการทันที โดยขอให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่เดือพฤศจิกายน พ.ศ. 2546 การลาออกทันทีที่เรียนจบ แปลว่า เธอจะเบี้ยว ไม่ยอมกลับมาทำงานใช้ทุนตามที่สัญญาไว้ตอนขอทุน แต่มหาวิทยาลัยมหิดลก็ยินยอมให้เธอลาออก

ดลฤดี ใช้เวลาเรียนปริญญาโท และปริญญาเอก 10 ปี โดยได้รับเงินเดือนจากมหาวิทยาลัยมหิดล ตลอดระยะเวลา 10 ปี นอกเหนือจากทุนการศึกษา ที่เป็นเงินของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา

เมื่อดลฤดีไม่ยอมกลับมาทำงานใช้ทุนตามสัญญาเธอจะต้องชดใช้เงินเดือนที่รับไป รวมทั้งทุนการศึกษา พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 15 ต่อปี และค่าปรับอีก 2 เท่า

ดลฤดี รับเงินเดือนไป 1,847,000 บาท ส่วนที่เป็นทุนการศึกษา คิดเป็นเงินไทย 116,431.05 บาท และเงินดอลลาร์อีก 666,131.73 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ ดลฤดียังต้องชดใช้เงินอีก 230,000 บาท เป็นค่าเรียนทันตแพทย์ระดับปริญญาตรี ซึ่งจะต้องทำงานใช้ทุน 3 ปี แต่ ดลฤดีทำงานเพียงปีเดียว ก็ลาไปเรียนต่อ แล้วไม่กลับมาอีกเลย

แต่ดลฤดีไม่ยอมชดใช้เงิน มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา จึงฟ้องเธอและผู้ค้ำประกัน ต่อศาลปกครอง ซึ่งศาลปกครองตัดสินให้ดลฤดีและผู้ค้ำประกัน ชดใช้เงินตามสัญญา ภายใน 60 วัน เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2549

ผู้ค้ำประกันในกรณีไม่ชดใช้ทุนเรียนปริญญาตรี 230,000 บาท น่าจะเป็นพ่อ หรือญาติ เพราะนามสกุลเดียวกัน คือ นายประสิทธิ์ จำลองราษฎร์ ชดใช้เงินคืนไปหมดแล้ว เพราะเป็นเงินแค่ 2 แสนกว่าบาทเท่านั้น

ผู้ค้ำประกัน ในกรณีเงินเดือน 1 ล้านแปดแสนบาท คือ นางอารยา พงษ์หาญยุทธ อาจารย์ของดลฤดี นางภัทรวดี ผลฉาย ลีลาทวีวุฒิ และ นายเผด็จ พูลวิทยกิจ เพื่อร่วมงานของดลฤดี ที่คณะทันตแพทย์ มหิดล

ผู้ค้ำประกันในกรณีทุนการศึกษา ซึ่งคิดเป็นเงินประมาณ 8 ล้านบาท คือ นางอารยา นางภัทรวดี นายเผด็จ และ น.ส.พัชนีย์ พงศ์พียะ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของดลฤดี

นับจากวันที่ศาลปกครองตัดสินให้ดลฤดีและผู้ค้ำประกันทั้ง 5 รายชดใช้เงินให้กับมหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา จนถึงวันนี้ เกือบจะครบ 10 ปีแล้ว ผู้ค้ำประกันชดใช้เงินแทนดลฤดีไปครบแล้ว

หาก ผู้ค้ำประกันคนหนึ่งคือ นายเผด็จ ซึ่งเป็นทันตแพทย์ ไม่โพสต์ลงในเฟซบุ๊ก หลังจ่ายเงินงวดสุดท้ายให้ ม. มหิดล เมื่อวันที่ 19 มกราคมปีนี้ ว่า ได้ชดใช้กรรมเก่าแล้ว และเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับโดยสังเขป ดลฤดีก็คงลอยนวล ใช้ชีวิตเป็นหมอฟัน และนักวิจัย ของฮาร์วาร์ด อย่างมีความสุขที่อเมริกา

แต่สิ่งที่ดลฤดีทำเอาไว้ และถูกเก็บเงียบ ไม่มีใครรู้นอกจากผู้ค้ำประกันที่ต้องรับเคราะห์แทน นานถึง 10 ปี ถูกเปิดโปงให้รับรู้กันอย่างกว้างขวาง และรวดเร็ว ภายในเวลาไม่ถึง 10 วัน หลังจากทันตแพทน์เผด็จ โพสต์ขึ้นเฟซบุ๊ก พฤติกรรมของดลฤดีถูกโพสต์และแชร์ผ่านโซเชียลมีเดีย ใม่เฉพาะในหมู่คนไทย แต่ยังไปถึงชุมชนในฮาร์วาร์ด ดินแดนต้นกำเนิดเฟซบุ๊กด้วย

โลกวันนี้ เป็นโลกคนละใบกับวันที่ดลฤดีตัดสินใจว่า จะไม่กลับมาทำงานใช้ทุนที่ประเทศไทย ถ้าดลฤดีรู้ว่า โลกวันนี้ มีอีกโลกหนึ่งซ่อนอยู่ เธออาจจะไม่ตัดสินใจแบบนี้ก็ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น