xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ สั่งสายลงดินต้องเสร็จภายใน 5 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กฟน.จับมือ 4 หน่วยงาน นำสายไฟฟ้า-โทรคมนาคมลงดินภายใน 10 ปี ภายใต้งบประมาณกว่า 4 หมื่นล้าน ระยะทาง 127.3 กม. ด้านนายกฯ ขอให้เสร็จภายใน 5 ปี ขณะที่ทีโอที ลงทุน 3,000 ล้านบาท ทำโครงการพร้อม กฟน.หวัง กสทช.กำกับโอเปอเรเตอร์ให้ใช้ท่อร้อยสายทีโอที คาดรายได้ ปีละพันล้านบาท

เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2559 นายกฤษฎา บุญราช ประธานคณะกรรมการ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เป็นประธานในพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าและสายสื่อสารโทรคมนาคมแบบสายอากาศเป็นระบบสายใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน โดยมี นายสมชาย โรจน์รุ่งวศินกุล ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) พร้อมด้วย นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) รองปลัดกรุงเทพมหานคร และ พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา ที่ปรึกษา (สบ.10) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมลงนาม ที่ห้องบอลรูม โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ

นายกฤษฎา กล่าวว่า จากกระแสข่าวที่มี นายบิล เกตส์ โพสต์ข้อความลงโซเชียลมีเดียถึงสายไฟฟ้าที่ระโยงระยาง ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการให้โครงการเสร็จภายใน 5 ปี

โดยภายใต้ความร่วมมือทุกหน่วยงานจะร่วมกันนำสายไฟฟ้าอากาศ และเสาสัญญาณโทรคมนาคมลงใต้ดิน ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2558 ประกอบด้วย โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินที่ กฟน.กำลังดำเนินการอยู่ โดยจะดำเนินการใน 39 เส้นทาง ระยะทางรวม 127.3 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 48,717 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯชั้นใน 12.6 กิโลเมตร กลุ่มระบบเชื่อมโยงระบบสายส่ง 7.4 กิโลเมตร และพื้นที่ส่วนอื่น 107.3 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นโครงการระยะยาว 10 ปี (2559-2568) ประกอบด้วย พื้นที่ นนทบุรี พระราม 9 กาญจนาภิเษก-อโศก รัชดาภิเษก-พระราม 9 ส่วนที่ดำเนินงานเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย สีลม พญาไท พหลโยธิน ลุมพินี สุขุมวิท และปทุมวัน

ทั้งนี้ การได้รับความร่วมมือ และการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้การดำเนินงานต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีการบูรณาการแผนพัฒนาสาธารณูปโภคต่างๆ ในภาพรวม เพื่อให้การดำเนินการเป็นเอกภาพไม่เกิดความซ้ำซ้อน และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

นายกฤษฎา กล่าวเสริมว่า กฟน.มีความจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการประสานงานกับกรุงเทพมหานคร เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้พื้นที่ดำเนินโครงการฯ การประสานงานกับตำรวจเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่ก่อสร้าง ตลอดจนการแก้ไขปัญหาสายสื่อสารที่มีหน่วยงานร่วมกันดำเนินการ ทั้งการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน และนำสายสื่อสารโทรคมนาคมที่อยู่ในพื้นที่โครงการฯ ลงใต้ดินทั้งหมด เพื่อให้กรุงเทพมหานครมีภาพลักษณ์ที่ดี สวยงาม และเหมาะสมกับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน

ขณะที่นายมนต์ชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอที กล่าวเสริมว่า ในส่วนของระบบสายโทรคมนาคมนั้น ทีโอทีมีโครงการท่อร้อยสาย ซึ่งก็จะดำเนินการควบคู่กันไปกับโครงการเอาสายไฟลงดินของ กฟน. ซึ่งทีโอทีจะใช้งบดำเนินการของตัวเอง โดยคาดว่าต้องใช้งบลงทุนรวมทั้งหมดราว 3,000 ล้านบาท ซึ่งในอนาคต คาดว่าจะมีค่าเช่าจากโครงการท่อร้อยสายที่ให้เอกชนมาเช่าใช้ราว 1,000 ล้านบาทต่อปี

ด้านนายก่อกิจ รองเลขาธิการ กสทช. เสริมว่า โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน รองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียนนั้น สำนักงาน กสทช.จะประสานงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ ที่ให้บริการท่อร้อยสาย และสร้างท่อร้อยสาย เพื่อหาทางออกในการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่ กทม. จังหวัดเชียงใหม่ และภูเก็ต เนื่องจากเป็นจังหวัดใหญ่ มีประชากรอาศัยอยู่จำนวนมาก และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ โดยการดำเนินการที่ผ่านมา ได้มีการนำสายสื่อสารโทรคมนาคมลงใต้ดินในพื้นที่ห้าแยกลาดพร้าว ถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญ รองรับการบริการต่างๆ ทั้งสายโทรศัพท์ และสายใยแก้วนำแสง
กำลังโหลดความคิดเห็น