xs
xsm
sm
md
lg

รัฐเก็บสายไฟลงดิน หลังเจอดราม่า"บิลเกตส์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360-กฟน.จับมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเซ็น MOU เก็บสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน เผยมูลค่าโครงการรวม 4.8 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี เผย "บิ๊กตู่"สั่งเร่งให้เสร็จภายใน 5 ปี หลังเกิดดราม่า "บิลล์ เกตส์" เจ้าพ่อไมโครซอฟต์โพสเฟซสายไฟในเมืองไทยระโยงระยาง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (29 มิ.ย ) หลายหน่วยงาน เช่น การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กรุงเทพมหานคร และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือการดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าและสายสื่อสารโทรคมนาคมแบบสายอากาศเป็นระบบสายใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน

นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย และประธานบอร์ด กฟน. กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ได้มอบนโยบายให้เร่งดำเนินการนำระบบสายไฟฟ้าและสายสื่อสารโทรคมนาคมแบบสายอากาศเป็นระบบสายใต้ดิน (นำสายไฟฟ้า-สายสื่อสาร ลงใต้ดิน) โดยจะมีการเร่งรัดโครงการจาก 10 ปี ให้เสร็จภายใน 5 ปีให้ได้

นายสมชาย โรจน์รุ่งวศินกุล ผู้ว่า กฟน. กล่าวว่า กฟน. ได้เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2530 แต่การทำ MOU ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการประสานงานกับกรุงเทพมหานคร เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้พื้นที่ดำเนินโครงการ การประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่ก่อสร้าง ตลอดจนการแก้ไขปัญหาสายสื่อสาร ที่มีหน่วยงานอย่างสำนักงาน กสทช. และบริษัท ทีโอที เป็นผู้รับผิดชอบ

สำหรับขอบเขตความร่วมมือในครั้งนี้ ประกอบด้วย โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินที่ กฟน. กำลังดำเนินการอยู่ ได้แก่ จิตรลดา ปทุมวัน และพญาไท (เพิ่มเติม) นนทรี พระราม 3 รัชดาภิเษก-พระราม 9 รวมถึงโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นระบบสายไฟฟ้าใต้ดินของ กฟน. ระยะที่ 1 รวม 127.3 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 48,717 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นโครงการระยะยาว 10 ปี (2559-2568)

รายงานข่าว แจ้งว่า โครงการปทุมวัน จิตรลดา และพญาไท ระยะทาง 6.2 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการดำเนินการเปลี่ยนสายไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2559 ส่วนโครงการนนทรี ระยะทาง 8.3 กิโลเมตร กฟน.กำหนดราคากลางที่ 2,500 ล้านบาท ได้กำหนดยื่นเสนอราคาในวันที่ 19 เม.ย.2559 ที่ผ่านมา และคาดว่า จะเคาะราคาได้ประมาณเดือนมิ.ย.2559 พร้อมกับดำเนินการเซ็นสัญญาในเดือนก.ย.2559 หลังจากนั้น สามารถดำเนินการก่อสร้างได้และกำหนดแล้วเสร็จในปี 2563 และในช่วงปลายปี 2559 กฟน. ยังได้เตรียมที่จะเปิดประมูลเปลี่ยนสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินโครงการพระราม 3 ระยะทาง 6.2 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำราคา กลางคาดว่ากรอบราคาจะอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท

สำหรับโครงการรัชดาภิเษก-อโศก และโครงการรัชดาภิเษก-พระราม 9 ระยะทางรวม 22.5 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการออกแบบ โดยแบ่งโครงการเป็น 2 เฟส เฟสแรกคาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ประมาณต้นปี 2560 ส่วนเฟส 2 ประมูลช่วงปลายปี 2560 และกรอบวงเงินราคากลางอยู่ที่ประมาณ 7,000 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การออกมาระบุถึงความคืบหน้าการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน เกิดขึ้นหลังจากที่นายบิลล์ เกตส์ เจ้าพ่อไมโครซอฟท์ ได้โพสต์ภาพ สายไฟระโยงระยาง บนเฟซบุ๊ก พร้อมระบุว่า "เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานที่มีข้อบกพร่อง ทำให้หลายเมืองประสบปัญหาไฟดับอยู่บ่อยๆ สายไฟฟ้าและหม้อแปลงไม่มีการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้เลย ผมมีโอกาสได้เดินทางไปเยือนในหลายๆ เมืองที่มีสายไฟฟ้ายุ่งเหยิง และอย่างในรูปที่เห็น คือ ประเทศไทย ประชาชนมักจะลักลอบเอาอุปกรณ์บางอย่างเชื่อมกับกระแสไฟฟ้าหลัก เพื่อนำเข้าไปใช้ในบ้านของตัวเอง โดยที่ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยเลยสักนิด”

ทั้งนี้ หลังจากที่นายบิลล์ เกตส์ ได้โพสต์ภาพ ได้มีสื่อทีวีและข่าวออนไลน์นำไปเผยแพร่ และเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนัก โดยมีคนไทยเข้าไปเขียนท้วงติงในสเตตัสของเจ้าพ่อไมโครซอฟท์ว่า ที่เห็นสายระโยงระยางพันกันยุ่งเหยิงนั้น เป็นพวกสายโทรศัพท์ สายเคเบิ้ล สายอินเทอร์เน็ต และสายไฟฟ้าแรงต่ำที่ไว้จ่ายไฟเข้าบ้านเรือนประชาชน ไม่ใช่สายไฟฟ้าแรงสูงซึ่งอยู่ด้านบนของต้นเสาไฟฟ้า และยังมีช่างไฟจากหลายประเทศตบเท้าเข้ามาสนับสนุน แสดงความคิดเห็นทำนองเดียวกันว่า เสาไฟฟ้าในประเทศแถบแอฟริกา ตะวันออกกลาง รกระเกะระกะพันกันยุ่งเหยิงเหมือนกัน ขณะที่อีกฝ่ายบอกในหลายประเทศ อย่างอเมริกา ญี่ปุ่น ตามเมืองเล็กต่างจังหวัดที่ไม่ได้นำสายไฟลงดิน แต่ใช้วิธีตั้งเสาไฟฟ้า ก็ไม่เห็นมีพาดสายรุงรังน่ากลัวเยี่ยงนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น