ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
หลังจากเฝ้ามอง “ระบบประกันคุณภาพการศึกษา” สารพัดชื่อ สารพัดรูปแบบ รวมทั้งต้องอยู่กับมันด้วยความจำเป็น เพราะโครงสร้างอำนาจและความเชื่อของผู้มีอำนาจทางการศึกษาที่ศรัทธาในระบบประกันคุณภาพการศึกษาประดุจเป็นสาวกของลัทธิทางศาสนาได้นำระบบเหล่านั้นมาบังคับใช้เพื่อกำกับการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย ในฐานะอาจารย์จึงต้องอยู่กับมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หลายปีผ่านมา ผมยังไม่เห็นถึงสมรรถนะของระบบประกันคุณภาพทั้งหลายที่บรรดามหาวิทยาลัยไทยและสถาบันการศึกษาใช้อยู่ ว่าสามารถแก้ปัญหาการศึกษา และพัฒนาระบบการศึกษาของไทยให้ดีขึ้นแต่อย่างใด ไม่ว่าจะใช้ระบบใดก็ตาม
ยิ่งนานวันผมมีความรู้สึกว่า ระบบประกันคุณภาพการศึกษาในปัจจุบันมีสภาพไม่ต่างจากลัทธิความเชื่อทางศาสนาอย่างหนึ่ง แต่ที่ขำไม่ออกคือ ลัทธิความเชื่อนี้มีบรรดาผู้กำหนดนโยบายการศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ครูและอาจารย์จำนวนมากเป็นสาวกและปกป้องระบบนี้ประดุจปกป้องคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์เสมือนหนึ่งเป็นวจนะของพระเจ้าหรือศาสดาทางศาสนา
เท่าที่ผมมีส่วนร่วมในการพูดคุยประชุมของแวดวงการศึกษา ผมแทบไม่เคยได้ยินการตั้งคำถามเกี่ยวกับรากฐานทางปรัชญาของระบบประกันคุณภาพแม้แต่ครั้งเดียว ดูเหมือนทุกคนเชื่อไปแล้วว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งดี ยิ่งกว่านั้นก็แทบไม่เคยได้ยินใครตั้งข้อสงสัย หรือศึกษาอย่างเป็นระบอย่างมีเหตุมีผลถึงสมรรถนะของเครื่องมือและกลไกที่อยู่ภายใต้ระบบนี้ว่าสามารถนำไปสู่การพัฒนาการศึกษามีคุณภาพมากขึ้นแต่อย่างใด ที่มีบ้างก็คือการตั้งคำถามเกี่ยวกับรายละเอียดของตัวชี้วัดต่างๆว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ แต่ก็น้อยมาก ส่วนใหญ่คือรับฟัง และพยายามนำไปปฏิบัติตามนั้น
เท่าที่เคยสัมผัสมาข้อสรุปอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ระบบประกันคุณภาพมักมีบุคคลที่สถาปนาตนเองเป็นเจ้าพ่อหรือศาสดา ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของระบบ เป็นผู้เขียนเนื้อหาซึ่งกลายเป็นคัมภีร์ของระบบ ออกแบบฟอร์ม กำหนดแนวทางการเขียน และการใช้คำศัพท์ขึ้นมาชุดหนึ่ง และพวกเขาก็ทำให้สิ่งเหล่านั้นกลายเป็นสิ่งศักดิ์ ยามมีคนออกมาวิจารณ์ก็จะออกมาปกป้องอย่างแข็งขัน เรียกว่าคัมภีร์ข้าใครอย่าแตะ
ศาสดาเจ้าของระบบประกันคุณภาพ ดำเนินการเผยแพร่คำสอนตามลัทธิของตนเอง และชักชวนให้องค์การหรือมหาวิทยาลัยสมาทานระบบของตนเองและนำไปใช้ โดยอวดโอ้ว่าระบบของตนเองดีเลิศกว่าของผู้อื่น และมักวิจารณ์ระบบอื่นๆว่าใช้ไม่ได้
ในการสร้างความเป็นสถาบันแก่ระบบประกันคุณภาพ เจ้าลัทธิมักดำเนินการจัดหลักสูตรอบรมที่แสนแพง และล่อผู้คนด้วยผลประโยชน์เพื่อให้คนสมัครเข้าไปอบรมมาก วิธีการล่อคือการยกให้คนที่ผ่านการอบรมเป็นผู้ประเมินประจำลัทธิ ซึ่งเปรียบเสมือน “นักบวช” ในศาสนาต่างๆ นั่นเอง นักบวชเหล่านี้จะทำหน้าที่ประเมินองค์การและมหาวิทยาลัยที่ผู้บริหารหลงเชื่อและยอมเข้าไปเป็นสมาชิกหรือสาวกของระบบ
เมื่อองค์การหรือสถาบันการศึกษาใดสมัครเข้าไปเป็นสาวกของระบบหรือหลายแห่งถูกบังคับยัดเยียดให้เข้าไปสู่ระบบ ผู้บริหารของสถาบันเหล่านั้นก็บังคับให้คณะ สำนักกอง ภาควิชา ฝ่าย และบุคลากรต่างต้องเขียนแนวทางการการดำเนินงานตามแบบฟอร์มที่ลัทธินั้นๆกำหนดสร้างความอิดหนาระอาใจแก่บรรดาครูอาจารย์และบุคลากรต่างๆที่เกี่ยวข้องไปตามๆกัน
ส่วนบรรดานักบวชหรือผู้ประเมินทั้งหลายก็มักได้รับเชิญให้ไปบรรยายหรือแนะนำการเขียนตามคัมภีร์ของลัทธิ เท่าที่สัมผัสมาพวกนักบวชหรือผู้ประเมินจำนวนมากมักอหังการ หลงตัวเองว่าเก่งกาจเหนือผู้คนทั้งปวง และเท่าที่ฟังจากเพื่อนๆอาจารย์บางท่าน ซึ่งเล่าให้ฟังถึงบรรยากาศของการนำเสนอการเขียนตามแนวทางในคัมภีร์ของลัทธิความเชื่อนี้บางระบบให้แก่ผู้ประเมินของระบบเหล่านั้นฟัง แต่ละคนถูกวิจารณ์อย่างหนักหน่วงเพราะเขียนได้ไม่ตรงตามแนวทางของคัมภีร์ แต่ละคนหน้าซีดและบางคนมีสีหน้าอับอาย ก็นึกสงสารคนเหล่านั้นอยู่พอควรในสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญ
เพื่อนอาจารย์บางคนที่เข้าอบรมเป็นผู้ประเมิน หรือกำลังจะยกระดับตัวเองให้เป็น “นักบวชของลัทธิ” เล่าให้ฟังถึงบรรยากาศการอบรมของบางระบบว่า เสมือนเป็นการปลูกฝังลัทธิความเชื่อ ที่ผู้เข้ารับการอบรมต้องยึดตามคัมภีร์ทุกอย่าง เขียนแตกต่างจากแนวทางที่กำหนดไม่ได้ หากใช้ความคิดของตนเองมากๆก็จะถูกตอบโต้จากเจ้าของลัทธิ และนักบวชก็จะมาพูดสำทับตีตราว่า “เป็นอาจารย์ก็ดื้ออย่างนี้แหละ” ไม่มีบรรยากาศของการใช้ปัญญาและการวิพากษ์วิจารณ์ในการอบรมแต่อย่างใด ก็ชวนให้ย้อนกลับมาคิดว่า หากสภาพเป็นเช่นนี้แล้วความงอกงามทางปัญญาของมหาวิทยาลัยต่างๆ จะเกิดขึ้นได้อย่างไรภายใต้ระบบประเมินที่ทำตัวเสมือนลัทธิความเชื่อเช่นนี้
คำถามคือแล้วทำไมองค์การต่างๆจำนวนไม่น้อยจึงอยากเข้าไปเป็นสมาชิกหรือสาวกของระบบประกันคุณภาพนั้น ได้คำตอบมาว่า องค์การใดโดยเฉพาะองค์การทางธุรกิจในต่างประเทศ หากผ่านการรับรองจากระบบดังกล่าว จะทำให้ภาพลักษณ์ดูดีขึ้น และส่งผลต่อราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์พอสมควร อันนี้เรียกว่ายอมเป็นสาวกเพื่อผลประโยชน์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
แต่คำถามคือ หากสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรองจากระบบประกันคุณภาพดังกล่าวแล้ว จะทำให้นักเรียนเก่งๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาเรียนเพิ่มขึ้นหรือไม่ จะทำให้บัณฑิตที่จบออกไปมีคุณภาพและคุณธรรมสูงขึ้นจริงหรือไม่ จะทำให้งานวิจัยของอาจารย์มีคุณภาพสูงขึ้นสามารถตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติมากขึ้นหรือไม่ และจะทำให้งานวิจัยสามารถนำมาใช้ประโยชน์และแก้ปัญหาสังคมได้อย่างมีประสิทธิผลจริงหรือไม่
จนป่านนี้ยังไม่มีใครให้คำตอบที่พร้อมด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจน และมีงานวิจัยที่หนักแน่นสนับสนุนแต่อย่างใด ตรงกันข้ามคำตอบมักได้ยินมักเป็นไปในลักษณะการใช้โวหารโฆษณาชวนเชื่อเป็นหลัก หรือไม่ก็ใช้ตรรกะอย่างวิปริตว่า ที่อื่นๆ ในต่างประเทศเขาทำกัน เราเลยทำบ้าง
ในทางกลับกัน มีงานวิจัยของบางประเทศที่เคยใช้ระบบประกันคุณภาพการศึกษามาก่อน ระบุว่าระบบประกันคุณภาพทั้งหลายไร้ประสิทธิภาพและขาดสมรรถนะในการทำให้การศึกษาดีขึ้น ทั้งยังสร้างความสิ้นเปลืองทรัพยากรอย่างมหาศาล ปราศจากความคุ้มค่าอย่างสิ้นเชิง
และสำหรับในประเทศไทยหลักฐานก็เห็นประจักษ์ชัดอยู่ทนโท่ว่า นับแต่ระบบการศึกษาไทยใช้ระบบประกันคุณภาพมากว่าสิบปี กลับมิได้ส่งผลให้คุณภาพการศึกษาไทยดีขึ้นทั้งในระดับประถม มัธยม และอุดมศึกษา ดังเห็นได้จากที่นักเรียนไทยได้คะแนนทดสอบระดับชาติและนานาชาติต่ำอย่างต่อเนื่อง และบัณฑิตไทยที่จบออกไปก็ถูกบ่นเรื่องทำงานไม่เป็นจากผู้จ้างงานเสมอ จนบริษัทเอกชนไทยบางแห่งต้องจัดตั้งสถาบันการศึกษาขึ้นมาเพื่อผลิตคนด้วยตนเอง
คำถามคือทำไมผู้บริหารการศึกษาและมหาวิทยาลัยไทยยังดื้อรั้นและชมชอบใช้ระบบแบบนี้อยู่ คำตอบคือระบบแบบนี้มันเพิ่มอำนาจแก่ผู้บริหารในควบคุมอาจารย์แบบเนียนๆนั่นเอง เรียกว่าคุณภาพการศึกษาไม่เพิ่มไม่เป็นไร แต่ขอควบคุมพวกอาจารย์ให้อยู่หมัดได้เป็นพอ
ภายใต้เปลือกนอกดูดีเสมือนมีเหตุผล แต่เนื้อในระบบประกันคุณภาพกลับเป็นลัทธิความเชื่อที่งมงาย ไม่มีหลักฐานทางวิจัย และวิทยาศาสตร์พิสูจน์ให้เห็นถึงประสิทธิผลอย่างแท้จริง ทั้งยังแฝงด้วยอำนาจการควบคุม และผลประโยชน์เชิงธุรกิจของเจ้าของระบบและนักบวชอย่างมหาศาล
ระบบประกันคุณภาพจึงกลายเป็นสิ่งสมประโยชน์ของสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือเจ้าของระบบและบริวารที่ได้รับประโยชน์ทางธุรกิจและการได้แสดงอัตตาความอหังการเหนือครูอาจารย์ และกลุ่มที่สองคือผู้บริหารสถาบันการศึกษาที่ได้เครื่องมือและกลไกอันทรงประสิทธิภาพในการควบคุมครูอาจารย์ให้อยู่ภายใต้อำนาจของตนเอง
ผมคิดว่าหากผู้มีอำนาจทางการศึกษา ผู้บริหารมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาไทยยังลุ่มหลงกับสิ่งปลอมๆ และฉาบด้วยยาพิษของระบบประกันคุณภาพอย่างงมงายและยอมเป็นสาวกที่ภักดีต่อลัทธิความเชื่อนี้แล้ว ก็จะส่งผลให้คุณภาพทางวิชาการ การสอน การวิจัยเสื่อมถอยลง และการพัฒนาปัญญาของคนไทยก็ถดถอยลงไปอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน เช่นนี้แล้วอนาคตการศึกษาไทยก็คงยังอยู่อันดับสุดท้ายภายในกลุ่มประเทศ ASEAN ไปอีกยาวนาน
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
หลังจากเฝ้ามอง “ระบบประกันคุณภาพการศึกษา” สารพัดชื่อ สารพัดรูปแบบ รวมทั้งต้องอยู่กับมันด้วยความจำเป็น เพราะโครงสร้างอำนาจและความเชื่อของผู้มีอำนาจทางการศึกษาที่ศรัทธาในระบบประกันคุณภาพการศึกษาประดุจเป็นสาวกของลัทธิทางศาสนาได้นำระบบเหล่านั้นมาบังคับใช้เพื่อกำกับการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย ในฐานะอาจารย์จึงต้องอยู่กับมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หลายปีผ่านมา ผมยังไม่เห็นถึงสมรรถนะของระบบประกันคุณภาพทั้งหลายที่บรรดามหาวิทยาลัยไทยและสถาบันการศึกษาใช้อยู่ ว่าสามารถแก้ปัญหาการศึกษา และพัฒนาระบบการศึกษาของไทยให้ดีขึ้นแต่อย่างใด ไม่ว่าจะใช้ระบบใดก็ตาม
ยิ่งนานวันผมมีความรู้สึกว่า ระบบประกันคุณภาพการศึกษาในปัจจุบันมีสภาพไม่ต่างจากลัทธิความเชื่อทางศาสนาอย่างหนึ่ง แต่ที่ขำไม่ออกคือ ลัทธิความเชื่อนี้มีบรรดาผู้กำหนดนโยบายการศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ครูและอาจารย์จำนวนมากเป็นสาวกและปกป้องระบบนี้ประดุจปกป้องคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์เสมือนหนึ่งเป็นวจนะของพระเจ้าหรือศาสดาทางศาสนา
เท่าที่ผมมีส่วนร่วมในการพูดคุยประชุมของแวดวงการศึกษา ผมแทบไม่เคยได้ยินการตั้งคำถามเกี่ยวกับรากฐานทางปรัชญาของระบบประกันคุณภาพแม้แต่ครั้งเดียว ดูเหมือนทุกคนเชื่อไปแล้วว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งดี ยิ่งกว่านั้นก็แทบไม่เคยได้ยินใครตั้งข้อสงสัย หรือศึกษาอย่างเป็นระบอย่างมีเหตุมีผลถึงสมรรถนะของเครื่องมือและกลไกที่อยู่ภายใต้ระบบนี้ว่าสามารถนำไปสู่การพัฒนาการศึกษามีคุณภาพมากขึ้นแต่อย่างใด ที่มีบ้างก็คือการตั้งคำถามเกี่ยวกับรายละเอียดของตัวชี้วัดต่างๆว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ แต่ก็น้อยมาก ส่วนใหญ่คือรับฟัง และพยายามนำไปปฏิบัติตามนั้น
เท่าที่เคยสัมผัสมาข้อสรุปอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ระบบประกันคุณภาพมักมีบุคคลที่สถาปนาตนเองเป็นเจ้าพ่อหรือศาสดา ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของระบบ เป็นผู้เขียนเนื้อหาซึ่งกลายเป็นคัมภีร์ของระบบ ออกแบบฟอร์ม กำหนดแนวทางการเขียน และการใช้คำศัพท์ขึ้นมาชุดหนึ่ง และพวกเขาก็ทำให้สิ่งเหล่านั้นกลายเป็นสิ่งศักดิ์ ยามมีคนออกมาวิจารณ์ก็จะออกมาปกป้องอย่างแข็งขัน เรียกว่าคัมภีร์ข้าใครอย่าแตะ
ศาสดาเจ้าของระบบประกันคุณภาพ ดำเนินการเผยแพร่คำสอนตามลัทธิของตนเอง และชักชวนให้องค์การหรือมหาวิทยาลัยสมาทานระบบของตนเองและนำไปใช้ โดยอวดโอ้ว่าระบบของตนเองดีเลิศกว่าของผู้อื่น และมักวิจารณ์ระบบอื่นๆว่าใช้ไม่ได้
ในการสร้างความเป็นสถาบันแก่ระบบประกันคุณภาพ เจ้าลัทธิมักดำเนินการจัดหลักสูตรอบรมที่แสนแพง และล่อผู้คนด้วยผลประโยชน์เพื่อให้คนสมัครเข้าไปอบรมมาก วิธีการล่อคือการยกให้คนที่ผ่านการอบรมเป็นผู้ประเมินประจำลัทธิ ซึ่งเปรียบเสมือน “นักบวช” ในศาสนาต่างๆ นั่นเอง นักบวชเหล่านี้จะทำหน้าที่ประเมินองค์การและมหาวิทยาลัยที่ผู้บริหารหลงเชื่อและยอมเข้าไปเป็นสมาชิกหรือสาวกของระบบ
เมื่อองค์การหรือสถาบันการศึกษาใดสมัครเข้าไปเป็นสาวกของระบบหรือหลายแห่งถูกบังคับยัดเยียดให้เข้าไปสู่ระบบ ผู้บริหารของสถาบันเหล่านั้นก็บังคับให้คณะ สำนักกอง ภาควิชา ฝ่าย และบุคลากรต่างต้องเขียนแนวทางการการดำเนินงานตามแบบฟอร์มที่ลัทธินั้นๆกำหนดสร้างความอิดหนาระอาใจแก่บรรดาครูอาจารย์และบุคลากรต่างๆที่เกี่ยวข้องไปตามๆกัน
ส่วนบรรดานักบวชหรือผู้ประเมินทั้งหลายก็มักได้รับเชิญให้ไปบรรยายหรือแนะนำการเขียนตามคัมภีร์ของลัทธิ เท่าที่สัมผัสมาพวกนักบวชหรือผู้ประเมินจำนวนมากมักอหังการ หลงตัวเองว่าเก่งกาจเหนือผู้คนทั้งปวง และเท่าที่ฟังจากเพื่อนๆอาจารย์บางท่าน ซึ่งเล่าให้ฟังถึงบรรยากาศของการนำเสนอการเขียนตามแนวทางในคัมภีร์ของลัทธิความเชื่อนี้บางระบบให้แก่ผู้ประเมินของระบบเหล่านั้นฟัง แต่ละคนถูกวิจารณ์อย่างหนักหน่วงเพราะเขียนได้ไม่ตรงตามแนวทางของคัมภีร์ แต่ละคนหน้าซีดและบางคนมีสีหน้าอับอาย ก็นึกสงสารคนเหล่านั้นอยู่พอควรในสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญ
เพื่อนอาจารย์บางคนที่เข้าอบรมเป็นผู้ประเมิน หรือกำลังจะยกระดับตัวเองให้เป็น “นักบวชของลัทธิ” เล่าให้ฟังถึงบรรยากาศการอบรมของบางระบบว่า เสมือนเป็นการปลูกฝังลัทธิความเชื่อ ที่ผู้เข้ารับการอบรมต้องยึดตามคัมภีร์ทุกอย่าง เขียนแตกต่างจากแนวทางที่กำหนดไม่ได้ หากใช้ความคิดของตนเองมากๆก็จะถูกตอบโต้จากเจ้าของลัทธิ และนักบวชก็จะมาพูดสำทับตีตราว่า “เป็นอาจารย์ก็ดื้ออย่างนี้แหละ” ไม่มีบรรยากาศของการใช้ปัญญาและการวิพากษ์วิจารณ์ในการอบรมแต่อย่างใด ก็ชวนให้ย้อนกลับมาคิดว่า หากสภาพเป็นเช่นนี้แล้วความงอกงามทางปัญญาของมหาวิทยาลัยต่างๆ จะเกิดขึ้นได้อย่างไรภายใต้ระบบประเมินที่ทำตัวเสมือนลัทธิความเชื่อเช่นนี้
คำถามคือแล้วทำไมองค์การต่างๆจำนวนไม่น้อยจึงอยากเข้าไปเป็นสมาชิกหรือสาวกของระบบประกันคุณภาพนั้น ได้คำตอบมาว่า องค์การใดโดยเฉพาะองค์การทางธุรกิจในต่างประเทศ หากผ่านการรับรองจากระบบดังกล่าว จะทำให้ภาพลักษณ์ดูดีขึ้น และส่งผลต่อราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์พอสมควร อันนี้เรียกว่ายอมเป็นสาวกเพื่อผลประโยชน์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
แต่คำถามคือ หากสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรองจากระบบประกันคุณภาพดังกล่าวแล้ว จะทำให้นักเรียนเก่งๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาเรียนเพิ่มขึ้นหรือไม่ จะทำให้บัณฑิตที่จบออกไปมีคุณภาพและคุณธรรมสูงขึ้นจริงหรือไม่ จะทำให้งานวิจัยของอาจารย์มีคุณภาพสูงขึ้นสามารถตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติมากขึ้นหรือไม่ และจะทำให้งานวิจัยสามารถนำมาใช้ประโยชน์และแก้ปัญหาสังคมได้อย่างมีประสิทธิผลจริงหรือไม่
จนป่านนี้ยังไม่มีใครให้คำตอบที่พร้อมด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจน และมีงานวิจัยที่หนักแน่นสนับสนุนแต่อย่างใด ตรงกันข้ามคำตอบมักได้ยินมักเป็นไปในลักษณะการใช้โวหารโฆษณาชวนเชื่อเป็นหลัก หรือไม่ก็ใช้ตรรกะอย่างวิปริตว่า ที่อื่นๆ ในต่างประเทศเขาทำกัน เราเลยทำบ้าง
ในทางกลับกัน มีงานวิจัยของบางประเทศที่เคยใช้ระบบประกันคุณภาพการศึกษามาก่อน ระบุว่าระบบประกันคุณภาพทั้งหลายไร้ประสิทธิภาพและขาดสมรรถนะในการทำให้การศึกษาดีขึ้น ทั้งยังสร้างความสิ้นเปลืองทรัพยากรอย่างมหาศาล ปราศจากความคุ้มค่าอย่างสิ้นเชิง
และสำหรับในประเทศไทยหลักฐานก็เห็นประจักษ์ชัดอยู่ทนโท่ว่า นับแต่ระบบการศึกษาไทยใช้ระบบประกันคุณภาพมากว่าสิบปี กลับมิได้ส่งผลให้คุณภาพการศึกษาไทยดีขึ้นทั้งในระดับประถม มัธยม และอุดมศึกษา ดังเห็นได้จากที่นักเรียนไทยได้คะแนนทดสอบระดับชาติและนานาชาติต่ำอย่างต่อเนื่อง และบัณฑิตไทยที่จบออกไปก็ถูกบ่นเรื่องทำงานไม่เป็นจากผู้จ้างงานเสมอ จนบริษัทเอกชนไทยบางแห่งต้องจัดตั้งสถาบันการศึกษาขึ้นมาเพื่อผลิตคนด้วยตนเอง
คำถามคือทำไมผู้บริหารการศึกษาและมหาวิทยาลัยไทยยังดื้อรั้นและชมชอบใช้ระบบแบบนี้อยู่ คำตอบคือระบบแบบนี้มันเพิ่มอำนาจแก่ผู้บริหารในควบคุมอาจารย์แบบเนียนๆนั่นเอง เรียกว่าคุณภาพการศึกษาไม่เพิ่มไม่เป็นไร แต่ขอควบคุมพวกอาจารย์ให้อยู่หมัดได้เป็นพอ
ภายใต้เปลือกนอกดูดีเสมือนมีเหตุผล แต่เนื้อในระบบประกันคุณภาพกลับเป็นลัทธิความเชื่อที่งมงาย ไม่มีหลักฐานทางวิจัย และวิทยาศาสตร์พิสูจน์ให้เห็นถึงประสิทธิผลอย่างแท้จริง ทั้งยังแฝงด้วยอำนาจการควบคุม และผลประโยชน์เชิงธุรกิจของเจ้าของระบบและนักบวชอย่างมหาศาล
ระบบประกันคุณภาพจึงกลายเป็นสิ่งสมประโยชน์ของสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือเจ้าของระบบและบริวารที่ได้รับประโยชน์ทางธุรกิจและการได้แสดงอัตตาความอหังการเหนือครูอาจารย์ และกลุ่มที่สองคือผู้บริหารสถาบันการศึกษาที่ได้เครื่องมือและกลไกอันทรงประสิทธิภาพในการควบคุมครูอาจารย์ให้อยู่ภายใต้อำนาจของตนเอง
ผมคิดว่าหากผู้มีอำนาจทางการศึกษา ผู้บริหารมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาไทยยังลุ่มหลงกับสิ่งปลอมๆ และฉาบด้วยยาพิษของระบบประกันคุณภาพอย่างงมงายและยอมเป็นสาวกที่ภักดีต่อลัทธิความเชื่อนี้แล้ว ก็จะส่งผลให้คุณภาพทางวิชาการ การสอน การวิจัยเสื่อมถอยลง และการพัฒนาปัญญาของคนไทยก็ถดถอยลงไปอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน เช่นนี้แล้วอนาคตการศึกษาไทยก็คงยังอยู่อันดับสุดท้ายภายในกลุ่มประเทศ ASEAN ไปอีกยาวนาน