มติ สพม. มองร่างแรก รธน. บกพร่องแยะไม่เหมาะใช้ แนะ แก้หมวดสิทธิเสรีภาพให้ชัด ติงเลือกตั้งใบเดียว ขัดเจตนารมณ์หลักสากล หนุน ส.ว. เลือกตั้งตรง ค้านเพิ่มอำนาจศาล รธน. จี้ คสช. รับผิดชอบหาก รธน. ไม่ผ่านซ้ำ ขอแก้ รธน. ชั่วคราวให้เพิ่มอย่างน้อยต้องใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งผู้มีสิทธิ อย่าปิดกั้น ปชช. แนะดูแนวโน้มประชามติไม่ผ่านให้เร่งเลือกตั้ง
วันนี้ (14 ก.พ.) สภาพัฒนาการเมือง (สพม.) โดย นายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ ประธาน สพม. แถลงถึงมติของ สพม. ต่อร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับเบื้องต้นของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยังมีข้อบกพร่องหลายประการและไม่เหมาะสมที่จะนำไปใช้เป็นรัฐธรรมนูญปกครองประเทศ เป็นปัญหาเชิงหลักการ หากยังนำเอาหลักการตามร่างนี้ ก็อาจทำให้เกิดปัญหาการเมืองและการปกครองในอนาคต สพม. จึงมีความเห็นดังนี้ ประเด็นสิทธิและเสรีภาพ ที่ยังมีความคลุมเครือขาดความชัดเจน จึงอยากให้ปรับปรุงแก้ไขหมวดว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพให้ชัดเจน และต้องไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าตามที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 ส่วนการที่ กรธ. กำหนดใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเลือก ส.ส. เขต และนำคะแนนไปคำนวณหา ส.ส. บัญชีรายชื่อ ถือเป็นการบังคับให้ผู้มีสิทธิออกเสียงต้องลงคะแนนให้กับ ส.ส. บัญชีรายชื่อซึ่งสังกัดพรรคเดียวกับที่ลงคะแนนให้กับ ส.ส. เขต ขัดต่อทฤษฎีเลือกตั้ง ขัดเจตนารมณ์และขัดหลักสากล วิธีการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่กำหนดให้มาจากผู้แทนสาขาอาชีพเป็นการนำหลักการตัวแทนกลุ่มอาชีพมาทำหน้าที่พิทักษ์ผลประโยชน์ของกลุ่มอาชีพไม่เป็นไปตามหลักการที่เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย โดยเห็นควรให้ ส.ว. เลือกตั้งโดยตรง
ประธาน สพม. กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังเห็นว่า การที่ย้ายมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 มาบัญญัติให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเป็นการให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญกำหนดเจตนารมณ์ใหม่ของรัฐธรรมนูญได้ บิดเบือนไปจากประเพณีการปกครอง เจตจำนงตามหลักสัญญาประชาคม และยังเป็นการช่วงชิงพระราชอำนาจของกษัตริย์มาเป็นของศาลรัฐธรรมนูญด้วย ขณะเดียวกัน ยังไม่เห็นด้วยกับ กรธ. ที่กำหนดหลักการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแบบปิดตาย โดยเฉพาะการกำหนดให้ ส.ส. จากทุกพรรคการเมืองจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของแต่ละพรรคต้องให้ความเห็นชอบโดยข้อเสนอทั้งหมดจะนำส่งให้ กรธ. ในวันที่ 15 ก.พ.
นายธีรภัทร์ ยังกล่าวอีกว่า ในฐานะส่วนตัวอยากเสนอความเห็นเพิ่มเติมว่า 1. หากร่างรัฐธรรมนูญที่กรธ. ได้ปรับปรุงแก้ไขแล้ว พบว่ายังไม่เป็นที่พอใจของประชาชน ถ้าประชาชนลงประชามติแล้วไม่ผ่านความเห็นชอบ ผมคิดว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องแสดงความรับผิดชอบในฐานะเป็นผู้แต่งตั้ง กรธ. ชุดนี้เข้ามาทำหน้าที่ และขอตั้งคำถามว่าเมื่อถึงจุดนั้น คสช. จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร 2. หากจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามตินั้นไม่ขัดข้อง แต่ขอเสนอให้ระบุเพิ่มเติมไปด้วยว่า “อย่างน้อยต้องมีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกมาใช้สิทธิประชามติมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดด้วย” พราะถ้าประชาชนออกมาใช้สิทธิไม่ถึงกึ่งหนึ่งต่อให้เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็ถือว่าผ่านไม่ได้ ยกตัวอย่าง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 48 ล้านคน กึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มาใช้สิทธิต้องมากกว่า 24 ล้านคน ถ้ามาแค่ 10 ล้านคน แล้ว 8 ล้านคน เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ก็ถือว่าไม่ผ่านการทำประชามติ เพราะต้องมีประชาชนออกมาใช้สิทธิมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด จึงขอฝากผู้มีอำนาจได้พิจารณาเพราะหากจะปรับแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ก็อย่าคิดแก้ไขแค่เพียงประเด็นเดียว
นายธีรภัทร์ กล่าวอีกว่า 3. การที่รัฐบาลบอกว่าจะแก้ไขจำนวนการแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญกับประชาชนมาเป็นอย่างกว้างขวางทั่วถึงทุกช่องทางจากเดิมกำหนดไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของครัวเรือนนั้น โดยอ้างว่าประชาชนไม่อ่าน ทำให้เกิดความสิ้นเปลืองนั้น ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะแก้ไขประเด็นนี้ เมื่อรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) กำหนดไว้อย่างไรก็ต้องดำเนินการเช่นนั้น จะไปคิดล่วงหน้าว่าประชาชนอ่านหรือไม่อ่านไม่ได้ 4. รัฐบาลไม่ควรปิดกั้นหรือขัดขวางการแสดงความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ควรเปิดเวทีจัดเสวนาได้อย่างอิสระ เพราะหากขัดขวางก็จะเป็นอันตรายทำให้ประชาชนออกมาต่อต้าน และ 5. ทางออกที่ดีที่สุดของเวลานี้ ถ้า คสช. เห็นว่า รางรัฐธรรมนูญมีแนวโน้มไม่ผ่านประชามติ อย่าไปเสียเวลาเลย ควรเร่งจัดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด หากถามว่าจะจัดการเลือกตั้งโดยเร็วได้ด้วยวิธีการอย่างไรนั้น ขอให้มาถามตนได้ พร้อมยินดีบอก ไม่ใช่เรื่องยากเลย วิธีการนี้จะเป็นการลงจากอำนาจที่สวยงาม เป็นการลงจากหางเสือโดยที่ไม่บาดเจ็บ ประชาชนก็จะให้การยกย่องและชมเชย และขอย้ำว่า ตนไม่ได้กลัวการสืบทอดอำนาจแต่ให้ความสำคัญกับวิกฤติทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ควรเร่งหาทางออกโดยไม่ต้องรอถึงปี 2560 ปีนี้ ก็สามารถจัดการเลือกตั้งได้