xs
xsm
sm
md
lg

สพม.ชี้ร่างรธน.ช่องโหว่เพียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาพัฒนาการเมือง (สพม.) โดยนายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ ประธาน สพม. แถลงถึงมติของสพม. ต่อร่างรัฐธรรมนูญว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับเบื้องต้นของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยังมีข้อบกพร่องหลายประการ และไม่เหมาะสมที่จะนำไปใช้เป็นรัฐธรรมนูญปกครองประเทศ เป็นปัญหาเชิงหลักการ หากยังนำเอาหลักการตามร่างนี้ ก็อาจทำให้เกิดปัญหาการเมืองและการปกครองในอนาคต สพม.จึงมีความเห็นดังนี้
ประเด็นสิทธิและเสรีภาพ ที่ยังมีความคลุมเครือ ขาดความชัดเจน จึงอยากให้ปรับปรุงแก้ไขหมวดว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ ให้ชัดเจน และต้องไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าตามที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 40 และปี 50
ส่วนการที่กรธ.กำหนดใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเลือกส.ส.เขต และนำคะแนนไปคำนวณหาส.ส.บัญชีรายชื่อ ถือเป็นการบังคับให้ผู้มีสิทธิออกเสียงต้องลงคะแนนให้กับส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งสังกัดพรรคเดียวกับที่ลงคะแนนให้กับส.ส.เขต ขัดต่อทฤษฎีเลือกตั้ง ขัดเจตนารมณ์และขัดหลักสากล วิธีการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่กำหนดให้มาจากผู้แทนสาขาอาชีพ เป็นการนำหลักการตัวแทนกลุ่มอาชีพมาทำหน้าที่พิทักษ์ผลประโยชน์ของกลุ่มอาชีพ ไม่เป็นไปตามหลักการที่เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย โดยเห็นควรให้ ส.ว.เลือกตั้งโดยตรง
นอกจากนี้ยังเห็นว่า การที่ย้ายมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญปี50 มาบัญญัติให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดเจตนารมณ์ใหม่ของรัฐธรรมนูญได้ บิดเบือนไปจากประเพณีการปกครอง เจตจำนงตามหลักสัญญาประชาคม และยังเป็นการช่วงชิงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ มาเป็นของศาลรัฐธรรมนูญด้วย
ขณะเดียวกัน ยังไม่เห็นด้วยกับ กรธ.ที่กำหนดหลักการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแบบปิดตาย โดยเฉพาะการกำหนดให้ ส.ส.จากทุกพรรคการเมืองจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ10 ของแต่ละพรรคต้องให้ความเห็นชอบโดยข้อเสนอทั้งหมดจะนำส่งให้กรธ.ในวันที่ 15 ก.พ.นี้
นายธีรภัทร์ ยังกล่าวอีกว่า ในฐานะส่วนตัวอยากเสนอความเห็นเพิ่มเติมว่า 1. หากร่างรัฐธรรมนูญที่ กรธ.ได้ปรับปรุงแก้ไขแล้ว พบว่ายังไม่เป็นที่พอใจของประชาชน ถ้าประชาชนลงประชามติแล้วไม่ผ่าน ตนคิดว่าคสช. ต้องแสดงความรับผิดชอบ ในฐานะเป็นผู้แต่งตั้งกรธ.ชุดนี้เข้ามาทำหน้าที่ และขอตั้งคำถามว่าเมื่อถึงจุดนั้น คสช. จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร
2. หากจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามตินั้น ไม่ขัดข้อง แต่ขอเสนอให้ระบุเพิ่มเติมไปด้วยว่า "อย่างน้อยต้องมีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกมาใช้สิทธิ ประชามติมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดด้วย" เพราะถ้าประชาชนออกมาใช้สิทธิไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ต่อให้เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ก็ถือว่าผ่านไม่ได้
3. การที่รัฐบาลบอกว่า จะแก้ไขจำนวนการแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญกับประชาชนมาเป็นอย่างกว้างขวางทั่วถึงทุกช่องทาง จากเดิมกำหนดไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของครัวเรือนนั้น โดยอ้างว่าประชาชนไม่อ่าน ทำให้เกิดความสิ้นเปลืองนั้น ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ที่จะแก้ไขประเด็นนี้ เมื่อรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) กำหนดไว้อย่างไรก็ต้องดำเนินการเช่นนั้น จะไปคิดล่วงหน้าว่าประชาชนอ่าน หรือไม่อ่านไม่ได้
4. รัฐบาลไม่ควรปิดกั้นหรือขัดขวางการแสดงความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ควรเปิดเวทีจัดเสวนาได้อย่างอิสระ เพราะหากขัดขวางก็จะเป็นอันตรายทำให้ประชาชนออกมาต่อต้าน
5. ทางออกที่ดีที่สุดของเวลานี้ ถ้า คสช.เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญมีแนวโน้มไม่ผ่านประชามติ อย่าไปเสียเวลาเลย ควรเร่งจัดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด หากถามว่าจะจัดการเลือกตั้งโดยเร็วได้ด้วยวิธีการอย่างไรนั้น ขอให้มาถามตนได้ พร้อมยินดีบอก ไม่ใช่เรื่องยากเลย วิธีการนี้จะเป็นการลงจากอำนาจที่สวยงาม เป็นการลงจากหางเสือโดยที่ไม่บาดเจ็บ ประชาชนก็จะให้การยกย่องและชมเชย และขอย้ำว่า ตนไม่ได้กลัวการสืบทอดอำนาจ แต่ให้ความสำคัญกับวิกฤติทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ควรเร่งหาทางออกโดยไม่ต้องรอถึงปี 2560 ปีนี้ก็สามารถจัดการเลือกตั้งได้
กำลังโหลดความคิดเห็น