xs
xsm
sm
md
lg

โพลบี้"ธัมมี่"มอบตัว ยันกม.สำคัญกว่าความเชื่อ วัดจานบินดิ้นเจอแจ้งหมิ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360-"นิด้าโพล"เผยประชาชนเห็นว่า "ธัมมชโย" ควรมอบตัวพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ชี้กฎหมายสำคัญกว่าความเชื่อ "พระพุทธะอิสระ" ขึ้นโรงพัก แจ้งความเอาผิดเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ผิดพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฐานละเว้นการใช้อำนาจจัดการพวกลูกหาบขัดขวางจับกุม "บิ๊กต๊อก"ย้ำกฎหมู่อยู่เหนือกฎหมายไม่ได้ ด้านกระบอกเสียงชี้แจงวุ่น หลังเจอดีเอสไอแจ้งหมิ่นประมาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "กรณีวัดพระธรรมกาย และพระธัมมชโย” ระหว่างวันที่ 27-28 มิ.ย.2559 จากประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 ตัวอย่าง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 51.44% เห็นว่า พระธัมมชโย ควรมอบตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ 20.80% เห็นว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ควรรีบดำเนินการตามกฎหมายโดยเร็ว เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม และ 9.36% เห็นว่า มีการเมืองอยู่เบื้องหลังกรณีวัดพระธรรมกาย และพระธัมมชโย

ทั้งนี้ เมื่อถามว่า “ความเชื่อความศรัทธา” กับ “การปฏิบัติตามกฎหมาย” สิ่งใดสำคัญกว่ากัน ประชาชนส่วนใหญ่ถึง 77.52% เห็นว่า การปฏิบัติตามกฎหมายสำคัญกว่า ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย เพราะกฎหมายสำคัญ มีความยุติธรรม สามารถพิสูจน์ได้ ถ้าไม่มีกฎหมาย บ้านเมืองจะวุ่นวาย แต่ความเชื่อและความศรัทธาเป็นเรื่องส่วนบุคคล และรองลงมา 10.08% เห็นว่า ความเชื่อความศรัทธา สำคัญกว่า โดยให้เหตุผลว่า ประเทศไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และศาสนาพุทธมีคำสอนไม่ให้กระทำความผิดเบียดเบียนซึ่งกันและกัน แต่กฎหมายทุกวันนี้ขาดความน่าเชื่อถือ

วันเดียวกันนี้ พระพุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ได้เดินทางมายังสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง เพื่อแจ้งความเอาผิดพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ฐานละเว้นใช้อำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ที่ไม่สั่งห้ามพระภิกษุ ฆราวาส คฤหัสถ์ คณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย และนายองอาจ ธรรมนิทา โฆษกคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย มิให้กระทำการใดอันเป็นการขัดขวางการดำเนินการของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2559 และละเว้นการใช้อำนาจขับไล่พระภิกษุและคณะศิษยานุศิษย์ รวมทั้งนายองอาจ ที่ยังที่มีพฤติการณ์กระด้างกระเดื่องต่อการปกครองประเทศและขัดขวางกระบวนการยุติธรรมให้ออกไปเสียจากวัดพระธรรมกาย ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 37 (2) และ มาตรา 38 (1) และ (2) จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ ป.วิ.อาญา มาตรา 15

พระพุทธอิสระ กล่าวว่า ในวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา ดีเอสไอได้นำหมายจับและหมายค้นที่ออกโดยศาลอาญาเข้าไปในวัดพระธรรมกาย เพื่อจับกุมตัวพระธัมมชโย แต่เจ้าหน้าที่ดีเอสไอกลับต้องเจอขบวนการขัดขวางสารพัดนับตั้งแต่รถขุด รถตัก รั้วเหล็ก โล่มนุษย์ ที่มีทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ออกมาตั้งแถวสมาธิขวางอยู่บนถนน ท่ามกลางแสงแดดและสายฝน รวมถึงยังมีการเจรจาต่อรองกันเป็นระยะๆ จนดีเอสไอไม่สามารถเข้าไปจับกุมพระธัมมชโยที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร ของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นได้

ทั้งนี้ พระพุทธอิสระยังได้ขอให้เจ้าพนักงานสอบสวน เรียกตัวเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายเข้ามาสอบสวน และดำเนินคดีให้ถึงที่สุด ตามบทกำหนดโทษทางกฎหมายทั้งของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ และประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าวทุกมาตรา

ที่กระทรวงยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่คณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย มายื่นหนังสือที่ดีเอสไอ เพื่อทวงถามการดำเนินคดีกับนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และพระพุทธะอิสระ หลังตกเป็นผู้ต้องหาในคดีกบฎว่า ไม่เป็นไร ไม่อยากไปโต้เถียงกับใคร ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งดีเอสไอก็พร้อมจะชี้แจง แต่ถ้าไม่รับฟัง แล้วจะไปรับรู้อะไร เพราะถ้าไม่ฟังแล้วเอาเรื่องนี้เรื่องนั้นมาผสมกันไปหมด มันไม่ถูกต้อง สังคมต้องช่วยกันไม่ให้ใช้กฎหมู่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงหลังจากถูกดีเอสไอแจ้งความดำเนินคดีพระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา จากการกล่าวพาดพิงดีเอสไอ เกี่ยวกับกรณีการพิจารณาดำเนินคดีและติดตามจับกุม พระธัมมชโย ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชนทั่วไป โดยระบุว่า 1.เป็นการเทศนาธรรมะแก่สาธุชนที่มาปฏิบัติธรรมเป็นประจำตามปกติ โดยสุจริตใจ 2.กรณีนำข้อมูลไปเผยแพร่ในระบบอินเทอร์เน็ตนั้น พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่ประการใด 3.พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ ยินดีให้ความร่วมมือ และพร้อมให้ตรวจสอบด้วยกระบวนการยุติธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น