xs
xsm
sm
md
lg

ดีเอสไอร่อนแถลงการณ์แจงค้นวัดธรรมกายทำตามขั้นตอนกฎหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - “ดีเอสไอ” แถลงการณ์ชี้แจงเจ้าหน้าที่ทำตามขั้นตอนกฎหมายนำหมายค้นบุกวัดพระธรรมกาย หวั่นข้อมูลบิดเบือนทำสังคมเข้าใจผิด

วันนี้ (20 มิ.ย.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ ออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีที่ปรากฏข่าวทางสื่อสารมวลชนหลายช่องทาง กรณีมีบุคคลวิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่ของดีเอสไอในการขออนุมัติศาลอาญาเข้าตรวจค้นบริเวณวัดพระธรรมกาย เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่าเป็นการดำเนินการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากคดีดังกล่าวมีการสอบสวนเสร็จสิ้นและส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการก่อนที่จะยื่นศาลเพื่อขอหมายค้นนั้น เพื่อเป็นการอธิบายขั้นตอนการปฏิบัติงานให้สาธารณชนได้ทราบและเข้าใจ รวมทั้งป้องกันการสร้างกระแสข่าวเพื่อบิดเบือนกฎหมายและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงขอชี้แจง ดังนี้

(1) กรมสอบสวนคดีพิเศษได้สอบสวนดำเนินคดีต่อกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร อันสืบเนื่องมาจากคดีการทุจริตภายในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่เป็นคดีพิเศษไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยคดีนี้เป็นคดีพิเศษที่ 27/2559 (2) ทางการสอบสวนมีการดำเนินคดีต่อพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย พร้อมกับผู้ต้องหารายอื่น รวม 5 คน และพระเทพญาณมหามุนีไม่มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา โดยศาลอาญาได้ออกหมายจับไว้ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจรเพื่อให้เจ้าพนักงานจับตัวมาดำเนินคดี ต่อมาพนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องพระเทพญาณมหามุนี กับพวก รวม 5 คน ในข้อหาดังกล่าว และส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2559

(3) พนักงานสอบสวนคดีพิเศษมีฐานะเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 โดยยังมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามหมายหรือคำสั่งศาลในการติดตามจับกุมตัวบุคคลตามหมายจับในคดีพิเศษมาดำเนินคดีตามกฎหมาย และ (4) มีข้อมูลว่าพระเทพญาณมหามุนี ซึ่งเป็นบุคคลมีหมายจับ อยู่ในบริเวณวัดพระธรรมกาย ซึ่งเป็นที่ส่วนบุคคล (ที่รโหฐาน) ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 81 กำหนดว่าไม่ว่าจะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม ห้ามมิให้จับในที่รโหฐาน เว้นแต่จะได้ทำตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้ อันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน จึงได้ยื่นคำร้องขอหมายค้นต่อศาลเพื่อจับบุคคลดังกล่าวและศาลอาญาได้ใช้ดุลพินิจซักถามเหตุผลความจำเป็นแล้วจึงออกหมายค้นให้

กรณีดังกล่าวจึงเป็นกระบวนการตามกฎหมายทุกประการ และมิใช่กรณีไปทำการสอบสวนดังที่มีผู้วิจารณ์ อันเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็มีการปฏิบัติทำนองเดียวกันนี้ สำหรับการติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับค้างเก่า จึงประชาสัมพันธ์มาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

ด้านนายขจรศักดิ์ พุทธานุภาพ อัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 3 สำนักงานอัยการสูงสุด 1 ในคณะพนักงานสอบสวนคดีที่ 27/2559 เปิดเผยว่า ภายหลังนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เดินทางยื่นหนังสือร้องเรียนขอให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ขอหมายค้นเข้าไปในวัดพระธรรมกายเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ว่า การเข้าตรวจค้นของดีเอสไอในวันนั้นเป็นไปตามคำสั่งศาลทั้งหมด อย่างหมายค้นในการเข้าไปวัดพระธรรมกายศาลก็เป็นผู้อนุมัติให้ อีกทั้งยังออกตามมาตรา 69 (4) ป.วิอาญา และมาตรา 70 ทุกขั้นตอนเป็นไปตามกฎหมายทั้งหมด โดยหมายค้น คือ การเข้าค้นเพื่อจับกุมตามหมายจับ วันนั้นพนักงานสอบสวนไม่ได้เข้าไปสอบสวนแต่จะเข้าไปจับกุม แต่สิ่งที่นายเรืองไกรออกมายื่นร้องเรียนนั้นคนละประเด็นกัน

นายขจรศักดิ์ระบุอีกว่า ส่วนรูปแบบการเข้าตรวจค้นจับกุมครั้งต่อไปคงต้องมีการปรับเปลี่ยนแน่นอน เพราะได้เห็นภาพจากการเข้าตรวจค้นครั้งแรกแล้ว ทั้งนี้ยังได้ส่งข้อมูลหลักฐานภาพถ่ายต่างเสนอให้แก่ศาลนำไปพิจารณาเป็นหลักฐานเพิ่มเติมแล้ว โดยส่งข้อมูลต่างๆ ไปตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา ในการประกอบพิจารณาคดีแล้ว อย่างไรก็ตาม การเข้าตรวจค้นครั้งที่ 2 คงต้องมีการประชุมกันอีกครั้ง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น