xs
xsm
sm
md
lg

ดีเอสไอส่งสำนวนให้อัยการฟ้อง “ธัมมชโย” รวมพวก 5 คน ร่วมกันฟอกเงิน-รับของโจร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ดีเอสไอส่งสำนวนคดีให้อัยการสั่งฟ้อง “ธัมมชโย - ศุภชัย” รวมพวก 5 ราย คดีสมคบคิดฟอกเงิน - ร่วมฟอกเงิน - รับของโจร คดียักยอกเงินสหกรณ์ยูเนี่ยนคลองจั่นฯ นัดสั่งคดี 19 ก.ค. นี้

ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 14.45 น. วันนี้ (13 มิ.ย.) ร.ท.สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด , นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และนายชาติพงษ์ จีระพันธุ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ร่วมแถลงข่าวคดีที่นายธรรมนูญ อัตโชติ กับพวกรวม 49 คน ได้กล่าวหา นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น , พระเทพญาณมหามุนี หรือ นายไชยบูรณ์ สุทธิผล หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย , น.ส.ศรัณยา มานหมัด , นางทองพิน กันล้อม และนางศศิธร โชคประสิทธิ์ ซึ่งเป็นผู้ต้องหาที่ 1- 5 ตามลำดับคดีร่วมกันฟอกเงิน

ร.ท.สมนึก โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า เมื่อเวลา 14.00 น. พนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้นำสำนวนการสอบสวนและเอกสารหลักฐาน จำนวน 32 แฟ้ม 10,672 หน้า พร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้องนายศุภชัย ผู้ต้องหาที่ 1 , น.ส.ศรัณยา ผู้ต้องหาที่ 3 และนางทองพิน ผู้ต้องหาที่ 4 ในข้อหาร่วมกันสมคบการฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงิน และสมควรสั่งฟ้องพระธัมมชโย ผู้ต้องหาที่ 2 กับนางศศิธร ผู้ต้องหาที่ 5 ฐานสมคบกันฟอกเงิน , ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร มาส่งให้นายภาณุพงษ์ โชติสิน อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ

โดยพนักงานสอบสวนดีเอสไอ แจ้งว่า นายศุภชัย ผู้ต้องหาที่ 1 ถูกควบคุมตามคำสั่งศาลในคดีแดงที่ อ. 706/2559 ส่วนน.ส.ศรัณยา และนางทองพิน ผู้ต้องหาที่ 3-4 วันนี้เดินทางมาพบพนักงานอัยการและได้ปล่อยตัวไป พร้อมนัดมาฟังการสั่งคดี ในวันที่ 13 ก.ค.นี้ เวลา 10.00 น.

ส่วนพระธัมมชโย และนางศศิธร ผู้ต้องหาที่ 2 และ 5 อยู่ระหว่างถูกศาลอาญาออกหมายจับ ซึ่งพนักงานสอบสวนอ้างว่า เชื่อว่าคงได้ตัวมา จึงไม่ได้นำตัวมาพร้อมกับสำนวนและความเห็นสมควรฟ้องในวันนี้ เบื้องต้นพนักงานอัยการจึงรับสำนวนไว้และนัดฟังคำสั่งในวันเดียวกัน

“ เรื่องนี้ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภันฑ์บริภาร อัยการสูงสุด ทราบถึงการส่งสำนวนคดีแล้ว มอบหมายให้ นายภาณุพงษ์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เร่งดำเนินการ และได้กำชับให้พนักงานอัยการทำงานโดยเร็ว โปร่งใส และให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายโดยยึดข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเป็นสำคัญ ” ร.ท.สมนึก กล่าวและว่า คดีนี้อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษได้มีคำสั่งตั้ง นายชาติพงษ์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน โดยมีนายนภดล บุญศร อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 และพนักงานอัยการอีก 3 คนเป็นคณะทำงานรวม 5 คน

ด้านนายชาติพงษ์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ กล่าวว่าสำหรับมูลค่าทรัพย์สินคดีฟอกเงินนี้ยังไม่ทราบว่าแยกสำนวนในกลุ่มของวัดพระธรรมกายเป็นจำนวนเงินเท่าใด เพราะคดีนี้เป็นส่วนต่อเนื่องมาจากคดีลักทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งคดีหลักดังกล่าวอัยการได้ยื่นฟ้องนายศุภชัย อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนียนฯ ไปแล้ว โดยนายศุภชัยมีพฤติการณ์ลักเอาเงินจากสหกรณ์ออกมาแล้วไป แจกจ่ายให้บุคคลรวม 7 กลุ่มและสำนวนคดีฟอกเงินวันนี้ก็เป็น 1 ใน 7 คดีดังกล่าว โดยการพิจารณาสำนวนอัยการต้องดูว่าพฤติการณ์เป็นการรับของโจร ฟอกเงินหรือรับไว้โดยอำพรางแหล่งที่มา เพื่อจะช่วยเหลือนายศุภชัยหรือปกปิดการกระทำหรือไม่

นายชาติพงษ์ ยังกล่าวย้ำถึงการนัดผู้ต้องหามาสั่งคดีในวันที่ 13 ก.ค.นี้ว่า คดีนี้มีผู้ต้องหา 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีตัว ประกอบด้วยนายศุภชัย ผู้ต้องหาที่ 1 ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ น.ส.ศรัณยา และนางทองพิน ผู้ต้องหาที่ 3 และ 4 ซึ่งวันนี้ดีเอสไอนำตัวมาส่งให้อัยการด้วย ส่วนกลุ่มที่สอง ดีเอสไอยังไม่ได้ส่งตัวมา ประกอบด้วย พระธัมมชโย ผู้ต้องหาที่ 2 และนางศศิธร ผู้ต้องที่ 5 แต่มีหมายจับส่งมาให้อัยการ การส่งสำนวนจึงเป็นการส่งแบบไม่มีตัวผู้ต้องหา โดยผู้ต้องหามีความเห็นสมควรสั่งฟ้อง ซึ่งการที่มีหมายจับส่งมาให้แสดงให้เห็นว่ามีทางที่จะติดตามตัวผู้ต้องหาทั้งสองนั้นมาได้ อัยการจึงสำนวนไว้ได้ ดังนั้นในวันที่ 13 ก.ค.นี้อัยการก็จะมีความเห็นสั่งคดีในส่วนของผู้ต้องหาทั้งหมดว่าจะต้องสอบสวนเพิ่มเติม หรือสั่งฟ้องเลย หรือ สั่งไม่ฟ้อง โดยถ้าสั่งฟ้องในส่วนของผู้ต้องหาที่มีตัว ซึ่งอัยการนัดให้มารายงานตัวก็จะยื่นฟ้องศาลได้ทันที แต่ในส่วนของพระธัมมชโย และนางศศิธรที่ยังไม่มีตัว ถ้าเห็นว่าพอฟ้องได้อัยการก็จะมีความเห็นว่าสมควรสั่งฟ้องไว้ก่อน และแจ้งให้พนักงานสอบสวนดีเอสไอแจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาทั้งสองตามขั้นตอน ส่วนอายุความของคดีรับของโจรและฟอกเงินนั้นมีอายุความ 15 ปี โทษจำคุก 10 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท แต่พฤติการณ์รับของโจรและฟอกเงินนั้นจะเริ่มเมื่อใด ต้องดูข้อเท็จจริงจากวันและเวลาในการรับเช็ค ที่ได้มาจากการกระทำผิด อย่างไรก็ดีหากพระธัมมชโยหรือนางศศิธรจะยื่นร้องขอความเป็นธรรมกับอัยการก็สามารถทำได้เพราะเป็นสิทธิของผู้ต้องหา

“ 13 ก.ค.นี้อัยการจะมีคำสั่งแน่นอนว่า สอบสวนเพิ่มเติมหรือสั่งฟ้อง คดีนี้จะฟ้องไม่ได้จะต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหาก่อน ทราบใดที่ยังไม่การแจ้งข้อกล่าวหา ก็ยังฟ้องไม่ได้ ดังนั้นถ้าสั่งฟ้องก็จะต้องแจ้งเป็นคำสั่งไว้ว่าสมควรสั่งฟ้อง และสั่งให้แจ้งข้อกล่าวหา ส่วนขั้นตอนการแจ้งข้อกล่าวหาและขั้นตอนการได้ตัวมาก็เป็นเรื่องของพนักงานสอบสวนดีเอสไอที่จะหาวิธีการนำตัวมาเพื่อแจ้งข้อกล่าวหา” นายชาติพงษ์กล่าว

เมื่อถามว่า หากพระธัมมชโย ผู้ต้องหาเดินทางมามอบตัว อำนาจในการปล่อยชั่วคราวจะต้องไปขอในชั้นศาลหรือไม่

นายประยุทธ กล่าวว่า จะเป็นอำนาจของคณะทำงานอัยการเจ้าของสำนวนใช้ดุลยพินิจว่า จะให้ปล่อยชั่วคราวหรือไม่ โดยมี 2 แนวทาง คือให้ปล่อย หรือไม่ให้ปล่อยชั้นพนักงานอัยการได้เลย หรือนำตัวมาฝากขังที่ศาลอาญาและให้ศาลเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในการปล่อยชั่วคราว แต่โดยปกติแล้วสิทธิในการปล่อยชั่วคราว ถือเป็นสิทธิพื้นฐานของผู้ต้องหา ซึ่งหากไม่มีพฤติการณ์หลบหนีหรือยุ่งเหยิงพยานหลักฐานก็ย่อมสามารถให้ปล่อยชั่วคราวได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะทำงานอัยการเจ้าของสำนวนซึ่งไม่อาจก้าวล่วงได้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น