xs
xsm
sm
md
lg

วิษณุถกหน่วยตรวจสอบGT200สูญงบเกิน700ล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"วิษณุ" เรียกคุยหน่วยตรวจสอบ GT200 คาดความเสียหายเกิน 700 ล้าน ขณะที่อธิบดีดีเอสไอ เผยอยู่ระหว่างรอเอกสาร พยานหลักฐานจากอังกฤษเพื่อดำเนินคดีกับผู้นำเข้าและจำหน่าย จีที 200 เผยร้องขอไปตั้งแต่ปี 57 แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ

วานนี้ (27มิ.ย.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้เรียกหน่วยงานต่างๆที่เป็นหน่วยงานกลางในการตรวจสอบเครื่องตรวจวัตถุระเบิดปลอม (GT200 )ทุกหน่วย เช่น ป.ป.ช. - ป.ป.ง. - สตง. สำนักงบประมาณ สำนักงานอัยการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และกองทัพ เพื่อพิจารณาข้อมูลในเบื้องต้นว่ารายละเอียดการจัดซื้อเป็นอย่างไร ซึ่งผลการประชุมจะเป็นอย่างไร ยังไม่รู้ รอผลหลังการประชุม

เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้เคยบอกว่าจะให้ทางอัยการ เป็นตัวแทนดำเนินการเรื่องนี้ นายวิษณุ กล่าวว่า บอกอัยการไปแล้ว ให้ช่วยไปคิดเป็นการบ้าน และตอบมาด้วยว่าจะสะดวกหรือไม่ หากจะเป็นผู้ดำเนินการเรื่องนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตัวเลขความเสียหาย จะทราบหลังการประชุมครั้งนี้เลยหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ แต่คาดว่าน่าจะมากกว่า 700 ล้านบาท

เลขาปปท.อุบผลหารือ จีที 200

ต่อมาเวลา 15.00 น. นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขาธิการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) กล่าวภายหลังการหารือกับ นายวิษณุ ถึงความคืบหน้าการเรียกความเสียหายจากการซื้อเครื่อง จีที 200 ว่า ตนมาร่วมประชุมในฐานะหน่วยสังเกตการณ์ เพื่อรับฟังในรายละเอียด เนื่องจากไม่ได้เป็นหน่วยปฏิบัติตั้งแต่ต้น และหลังจากนี้ ทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะส่งเรื่องมาให้กับศอตช. เพื่อพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ที่ประชุมยังไม่มีการกำหนดว่าจะมีการหารือในครั้งต่อไปอีกเมื่อใด

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หลังการประชุม นายวิษณุ รวมทั้งตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุม ไม่ได้แถลงถึงความคืบหน้าของผลการประชุมแต่อย่างใด

DSIอ้างรอหลักฐานจากอังกฤษ

ด้าน พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า ดีเอสไอ ได้ตรวจสอบใน 3 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนของเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนร่วมทุจริต ซื้อเกินราคา เพื่อส่งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาดำเนินการต่อไป ส่วนกรณีบริษัทผู้จัดจำหน่ายหลอกลวงให้บริษัทตัวแทนซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง ได้ส่งสำนวนคดีให้อัยการพิจารณาแล้วเช่นกัน

ส่วนการดำเนินคดีกับบริษัทผู้นำเข้า ดีเอสไอได้ประสานให้อัยการฝ่ายคดีต่างประเทศ ขอเอกสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศอังกฤษไปตั้งแต่ปลายปี 2557 แต่จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ คาดว่าการดำเนินการระหว่างประเทศอาจต้องใช้เวลานาน

รายงานข่าวจากดีเอสไอ ระบุว่า สำหรับการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐนั้น สำนักคดีความมั่นคงฯได้สืบสวนกรณีการทุจริตการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัยของส่วนราชการ รวม 11 หน่วยงาน โดยมีความเห็นว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงานอาจเป็นการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 และดีเอสไอ ส่งเรื่องดังกล่าวไปให้ ป.ป.ช. ตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.54

สำหรับการดำเนินคดีอาญากับบริษัทเอกชนที่เป็นตัวแทนผู้ผลิต ผู้จำหน่าย หรือตัวแทนจำหน่วยเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัย จีที 200 และ อัลฟ่า 6 นั้น คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) มีมติ ให้รับกรณีบริษัทเอกชนซึ่งเป็นผู้ผลิตผู้จำหน่าย หรือตัวแทนจำหน่าย ซึ่งมีพฤตการณ์ฉ้อโกง หรือหลอกลวง ขายเครื่องตรวจวัตถุระเบิดต้องสงสัยที่ไม่มีคุณภาพตามที่กล่าวอ้างกับหน่วยงานของรัฐเป็นคดีพิเศษ จำนวนทั้งหมด 16 คดี โดยมีหน่วยงานรัฐที่เป็นผู้เสียหาย ได้จัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัย จีที 200 และ อัลฟ่า 6 จำนวน ประมาณ 1,398 เครื่อง มูลค่าความเสียหาย ประมาณ 1,134 ล้านบาท ซึ่ง ดีเอสไอ ได้สรุปสำนวน และสั่งฟ้องผู้ต้องหาฐานหลอกลวงฯ ตามมาตรา 271 และส่งสำนวนให้พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษตั้งแต่เดือน ธ.ค.57

สำหรับกรณีบริษัทผู้ผลิต และผู้จำหน่ายเครื่อง จีที 200 และ อัลฟ่า 6 ในประเทศอังกฤษ และเป็นผู้แต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยนั้น ดีเอสไอได้ประสานขอหลักฐานจากทางการประเทศอังกฤษ ผ่านช่องทางการขอความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางอาญา ตั้งแต่เดือน เม.ย. 57 โดยสำนักอัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานงานกลาง ได้ส่งคำร้องขออย่างเป็นทางการไปยังทางการสหราชอาณาจักร ผ่านช่องทางสนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรแห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ ว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญา
กำลังโหลดความคิดเห็น