xs
xsm
sm
md
lg

วิษณุปัดม.44คุมโหวตรธน. จับตาผลตีความกม.ประชามติพรุ่งนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 27มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากศาลรัฐธรรมนูญถึงการพิจารณาลงมติ กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอความเห็นขอให้ศาลรธน. วินิจฉัย มาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรธน. ขัดต่อรธน.ชั่วคราว มาตรา 4 หรือไม่ ในวันที่ 29 มิ.ย.นี้ ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการแถลงข่าวด้วยหรือไม่ โดยต้องรอมติในที่ประชุมวันดังกล่าวว่าจะให้โฆษกแถลงหรือไม่ แต่ปกติจะมีเอกสารข่าวแจกให้สื่อมวลชนอยู่แล้ว
ส่วนที่มีข้อสงสัยว่า หากศาลรธน.วินิจฉัยว่า มาตรา 61 วรรคสอง ของพ.ร.บ.ดังกล่าวขัดรธน.ชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 4 จะส่งผลให้กฎหมายทั้งฉบับ ใช้ไม่ได้ด้วยหรือไม่นั้น โดยหลักการแล้วกรณีที่จะทำให้กฎหมายทั้งฉบับต้องเสียไป หากศาลรธน. มีคำวินิจฉัยว่ามีเนื้อหาในมาตราใดมาตราหนึ่งขัดรธน. จะเป็นกรณีที่กฎหมายฉบับนั้นอยู่ในระหว่างการยกร่าง ยังไม่ประกาศใช้ แต่กรณีของพ.ร.บ.การออกเสียงประชามตินั้น เป็นกฎหมายที่ประกาศใช้แล้ว
ดังนั้น การวินิจฉัยเฉพาะวรรคของมาตรา ว่าขัดรธน. จะไม่มีผลกระทบต่อกฎหมายทั้งฉบับ แต่มีผลเฉพาะวรรคของมาตราที่ศาลฯ วินิจฉัยว่าขัดรธน.เท่านั้น ที่จะไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้ เช่นเดียวกับกรณีพ.ร.บ.ฮั้ว ที่ศาลรธน. มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 59 ด้วยคะแนนเสียง 8:1 ว่า มาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ฮั้ว ขัดหรือแย้งต่อรธน.ชั่วคราวปี 2557 มาตรา 4 เนื่องจากเป็นการนำการกระทำความผิดของบุคคลอื่น มาเป็นเงื่อนไขของการสันนิษฐานให้จำเลย ซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคลและต้องรับโทษทางอาญาด้วย อันเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรม และจึงขัดหรือแย้งต่อรธน.ฉบับชั่วคราวปี 2557 มาตรา 4 ซึ่งในปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวก็ยังคงมีสภาพบังคับใช้อยู่ ส่วนการจะแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหลังศาลรธน. มีคำวินิจฉัยนั้น เป็นหน้าที่ของผู้รักษาการตามกฎหมาย จะต้องดำเนินการต่อไป
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช. คนที่สอง เห็นด้วยกับแนวทางการใช้ มาตรา 44 ดูแลความเรียบร้อย การทำประชามติ หากศาลรธน. วินิจฉัย พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรธน. มาตรา 61 วรรคสอง ขัดรธน.ชั่วคราวว่า เป็นการพูดตามสิ่งที่ตนเคยพูดไว้ว่า หากมาตรา 61 วรรคสอง ใช้ไม่ได้ ก็ยังมี พ.ร.บ.ประชามติอยู่ และหาก พ.ร.บ.ประชามติใช้ไม่ได้ ก็ยังมีคำสั่ง มาตรา 44 ที่เคยออกไว้ก่อนหน้านี้
"ผมคิดว่า เพียงพอ แต่ถ้ายังไม่พอ เพราะมีเหตุความวุ่นวาย ตะลุมบอลกัน รัฐบาลก็ยังมี มาตรา 44 ในมือเอาไว้จัดการปัญหาได้ แต่ไม่ใช่ว่าเตรียมจะใช้เพื่ออุดช่องว่าง หลังจากศาลรธน.สั่ง ทั้งหมดเป็นการอธิบายคำถามของประชาชนในเวทีชี้แจงร่างรธน. ของกกต. ที่เขากังวลว่า หาก ม.61 วรรคสอง ใช้ไม่ได้ จะทำอย่างไร ซึ่งการที่ นายพีระศักดิ์ ออกมาพูด ก็เพื่อยืนยันสิ่งที่ผมพูดเท่านั้น แต่วันนี้ยังไม่มีสัญญาณใดๆ ว่าจะมีความวุ่นวายไปถึงขั้นนั้น กฎหมายที่มีอยู่ขณะนี้ ถือว่าเอาอยู่ และไม่ว่าศาลรธน. จะมีคำวินิจฉัย ม.61 วรรคสอง ออกมาเช่นไร พ.ร.บ.ที่เหลืออยู่ ก็สามารถเดินหน้าประชามติได้ อย่าไปทุกข์ร้อนอะไรเลย" นายวิษณุ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น