ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การประชาสัมพันธ์เพื่อขับเคลื่อน“นโยบายประชารัฐ”ในการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและยั่งยืนของรัฐบาลชุดนี้ เดินหน้ากันแบบเงียบๆ ส่วนใหญ่เป็นหน้าที่สื่อของรัฐ ในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ ที่เห็นชัดคือผ่านสื่อโทรทัศน์ เห็นได้จากเทปแรกของรายการ “เดินหน้าประชารัฐ”(STRONGER TOGETHER) ที่ออกอากาศผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ช่อง 11 (เอ็นบีที) ที่เริ่มมีการเผยแพร่ วันที่ 15 ธ.ค.58 จนถึงล่าสุด ออกอากาศมาแล้วกว่า 95 ตอน มีผู้ประกาศของเอ็นบีที เป็นผู้ดำเนินรายการ เชิญคนของภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน พูดคุยถึงนโยบายของรัฐบางชุดนี้ หลากหลายเรื่อง
นอกจากนั้น ยังมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสังคมออนไลน์ Facebook : เครือข่ายประชารัฐ Twitter : เครือข่ายประชารัฐ (@pracharaththai) YouTube : Pracharath Network และ Line ID : @pracharaththai
แต่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีหนังสือจาก“สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี”ลงนามโดย เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่งถึง ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สรุปคร่าวๆได้ว่า
“จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อเร็วๆนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ได้มีข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดให้มี“ช่องโทรทัศน์ดิจิตอลของประชารัฐ”โดยให้มีแนวทางพิจารณาการอนุญาตช่องสาธารณะ เพื่อประชาสัมพันธ์การขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดินโดยใช้กลไกลประชารัฐ เพื่อเป็นการต่อยอดและขยายผลการดำเนินการลงสู่ระดับพื้นที่ให้มากขึ้น”
อาจจะให้ขึ้นตรงกับ“บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด”
ประเด็นนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) นำเข้าหารือ 2 ครั้ง ครั้งแรก เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. เป็นการประชุมครั้งที่ 18/2559 มีการให้ข่าวว่า ที่ประชุมบอร์ด กสท.ไม่มีข้อสรุป แต่บอร์ดได้มีการนำเรื่องดังกล่าวมาพูดคุยกันแต่ยังไม่มีข้อสรุปเป็นมติว่าจะจัดตั้งช่องประชารัฐหรือไม่
“ทั้งนี้ บอร์ดได้พิจารณาว่าจะมีช่องทางใดบ้างที่จะสนับสนุนการสื่อสารนโยบายของภาครัฐไปยังประชาชน และเรื่องนี้ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนจะทำข้อสรุปส่งกลับไปชี้แจง สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ภายใน 30 วัน ขอย้ำว่า บอร์ด กสท.มีนโยบายสนับสนุนโครงการที่ภาครัฐต้องกรสื่อสารไปยังประชาชนโดยผ่านทีวีสาธารณะ”
ขณะที่น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสท. ทวีตผ่าน @ supinya ตอนนั้นว่า กสท.มีมติให้ตอบปฏิเสธไปอย่างนิ่มนวล ลักษณะว่าข้อมูลยังไม่พร้อมพอจะพิจารณา และต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกตามประกาศฯ จากนี้ให้ สนง. มาปรึกษา กสท.แต่ละท่านถึงตัวเนื้อหาที่จะตอบไปในจดหมาย # คหสต. เสนอให้ตอบไปให้ชัดๆไม่ควรคลุมเครือ
ประเด็นนี้ “น.ส.สุภิญญา”ให้ข้อมูลใน “Blog : www.supinya.com”ว่า กสท. ได้วิเคราะห์เพิ่มเติมว่า การประชาสัมพันธ์นโยบายรัฐจัดอยู่ในกลุ่มผู้รับใบอนุญาตใหม่ กิจการสาธารณะประเภทที่สาม ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชน และรัฐสภากับประชาชน ลำดับหมายเลขช่อง 10 ซึ่งเป็นช่องเดียวกับช่องรายการสถานีวิทยุรัฐสภาในปัจจุบัน รวมทั้งหากการประชาสัมพันธ์เรื่องกลไกประชารัฐ โดยจัดตั้งช่องโทรทัศน์ขึ้นใหม่ จะมีภาระการลงทุนทั้งเครื่องมือและบุคลากร ซึ่งน่าจะสามารถทำการผลิตรายการ หรือร่วมผลิตรายการ หรือขอแบ่งเวลาให้ดำเนินรายการ ผ่านทางช่องรายการของหน่วยงานภาครัฐ เช่น ช่อง 5 ช่อง 11 ไทยพีบีเอส ช่อง 10 รัฐสภา รวมทั้งยังสามารถขอความร่วมมือจากช่องเอกชน เพื่อประชาสัมพันธ์การขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งสามารถตอบสนองนโยบายภาครัฐได้อย่างเร่งด่วน และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
แม้คลื่นความถี่ฟรีทีวีดิจิตอลประเภทบริการสาธารณะ จะว่างอยู่ถึง 8 ช่อง แต่ใช่ว่ารัฐบาล หรือหน่วยงานใดขอมาแล้ว กสทช. จะให้ได้เลย เพราะการให้ใบอนุญาต ต้องผ่านกระบวนการจัดสรรคลื่นความถี่ตามกฎกติกาที่วางไว้ สำคัญคือ ต้องมีการกำหนดและประกวดคุณสมบัติที่ครบถ้วนในการต้องเป็นทีวีบริการสาธารณะจริงๆ ไม่ใช่ใช้ในฐานะเป็นกระบอกเสียงของรัฐ ทุกวันนี้รัฐก็คุมสื่อของรัฐได้อยู่แล้ว และใช้เวลาของสื่อเอกชนด้วย การขอโทรทัศน์ฟรีทีวีช่องใหม่ ไม่ใช่เรื่องเล็ก
“ส่วนตัวจึงเห็นสอดคล้องกับสำนักงานว่า รัฐบาลสามารถใช้ช่อง 5 ช่อง 11 ได้แทนการมาขอช่องใหม่ในการประชาสัมพันธ์โครงการประชารัฐเป็นการเฉพาะ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มีหลายหน่วยงานสนใจจะขอใบอนุญาตทีวีบริการสาธารณะหลายองค์กร ทั้งช่องด้านการศึกษา ด้านความปลอดภัยสาธารณะ และอื่นๆ ซึ่งเห็นว่า กสทช. เปิดให้มีการมายื่นขอได้ตามกฎหมาย แต่ต้องมีกติกาการกำหนด และประกวดแข่งขันคุณสมบัติ (Beauty Contest)อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ได้มาเป็นโทรทัศน์บริการสาธารณะอย่างแท้จริง ตามเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อ ไม่ใช่การเพิ่มจำนวนสื่อของรัฐ ในลักษณะการโฆษณาประชาสัมพันธ์”
น.ส.สุภิญญาระบุว่า กสท. มีมติให้มีจดหมายทางการตอบกลับไปยังทางรัฐบาลว่า ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะอนุมัติหรือไม่ เพราะทางรัฐบาลยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน อีกทั้งการจัดสรรคลื่นทีวีดิจิตอล ช่องสาธารณะของ กสทช. ต้องเป็นไปตามกฎหมาย และทำให้ชัดเจนตามกระบวนการ อย่างน้อยต้องมีคุณสมบัติพื้นฐาน ความพร้อมของนิติบุคคล ผังรายการ เพื่อเห็นความเป็นไปได้ในการบริหารสถานี และจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับที่มีอยู่ ซึ่งถ้าจะเปิดเพื่อการประชาสัมพันธ์ของรัฐนั้น ได้มีช่อง 10 รัฐสภา และ ช่อง 11 อยู่แล้ว
ฉะนั้นช่องโทรทัศน์ของประชารัฐอาจไม่เข้าประเภทที่ กสทช. กำหนดไว้ตามกฎหมาย เช่น เพื่อการศึกษา เพื่อคนพิการ เพื่อการท่องเที่ยว เป็นต้น และถ้ามีการเพิ่มช่องทีวีดิจิตอลสาธารณะเพื่อการประชาสัมพันธ์ของรัฐอีก ก็จะทำให้ช่องทีวีดิจิตอลสาธารณะอื่นน้อยลง
“ที่ยังไม่ได้เปิดให้มีการจัดสรรคลื่นทีวีสาธารณะเพราะส่วนหนึ่งอยากให้ทีวีธุรกิจอยู่ตัวก่อน และโครงข่ายของกรมประชาสัมพันธ์ที่จะมารองรับยังไม่พร้อม” สุภิญญา กล่าว และว่า กสทช. ต้องรอดูท่าทีของทางรัฐบาลต่อไป ว่าเอาจริงเอาแค่ไหน หากมีการขอให้มีช่องโทรทัศน์ของประชารัฐอีกครั้ง ก็คงจะต้องตอบกลับไปว่า ให้ได้ หรือไม่ได้ อย่างไรก็ตามตอนนี้ กสทช. ยังมีอำนาจในการพิจารณาข้อคิดเห็นของรัฐบาลเต็มที่ และยึดกฎเกณฑ์เดิมในการตัดสินใจ ตราบใดที่รัฐยังไม่ได้ใช้อำนาจพิเศษ หรือ มาตรา 44
ต่อมา เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. มีการประชุมบอร์ด กสท. ครั้งที่ 20/2559 ภายหลัง สำนักงานกสทช.ได้ปรึกษา บอร์ด กสท. ถึงตัวเนื้อหาที่จะตอบไปในจดหมาย ประเด็นนี้ มีการให้ข่าวว่า กสท. เห็นชอบหนังสือแจ้งตอบสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับการจัดให้มีช่องโทรทัศน์ประชารัฐ
“กสท. เห็นว่า การจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ใหม่ จำเป็นต้องมีข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสถานี บุคลากร และงบประมาณในการดำเนินการ ดังนั้นเพื่อให้การพิจารณาเป็นไปอย่างรอบคอบ จึงขอข้อมูลที่เกี่ยวข้องดังกล่าว เพื่อประกอบการพิจารณาให้ความเห็น หรือข้อเสนอแนะ ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลประชาสัมพันธ์ในการขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดินในระยะสั้น อาจดำเนินการเผยแพร่ผ่านทางช่องรายการของภาครัฐ อาทิ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และสถานีวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา หรือ ขอความร่วมมือจากหน่วยงานภาคเอกชน ซึ่งสามารถตอบสนองนโยบายภาครัฐได้ทันที”
สรุปก็คือ “ไม่อนุมัติให้รัฐบาลเปิดทีวีดิจิตอลช่องประชารัฐ”
เห็นข่าว ทีวีดิจิตอลประชารัฐ นึกถึงสถานีโทรทัศน์ของรัฐอีกช่องหนึ่ง ที่ชื่อว่า“สถานีโทรทัศนฺผ่านดาวเทียมมหาดไทย”หรือ “มหาดไทยชาแนล”ที่ก่อตั้ง เมื่อ 14 มิ.ย. 53 ในรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”จากแนวคิดของ อดีต รมว.มหาดไทย จากพรรคภูมิใจไทย สมัยนั้น ผ่านช่องสัญญาณดาวเทียมระบบ C-band (จานตะแกรงโปร่ง) ดาวเทียมไทคม 5 Frequency 4036 Vertical Symbol Raaaate 2025
ตอนเปิดแรกๆ "โทรทัศน์มหาดไทย" รับชมได้ผ่าน ระบบอินเตอร์เน็ตทางเว็บไซต์ และ www.moi.go.th ที่เว็บแบนเนอร์ "TV มหาดไทย" ถึงกับรัฐมนตรีในขณะนั้น เคยสั่งการให้ผู้ว่าฯ และนายอำเภอ ช่วยกันประชาสัมพันธ์ “มหาดไทยชาแนล”โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้มีการเปิดในอาคารสำนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ให้ติดตั้งในจุดที่มีประชาชนไปรอรับบริการ”
ผ่านมาหลายปี “มหาดไทยชาแนล”ยังมีภารกิจอยู่ โดยครั้งแรกใช้งบประมาณปกติของ“กรมและรัฐวิสาหกิจ”สังกัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในปี 2553 ใช้งบประมาณ 35 ล้านบาท และได้รับการจัดสรรงบต่อเนื่องในปีต่อๆ มา แต่หนักไปทางเผยแพร่ผ่านเว็บไซด์ www.moi.go.th
ภารกิจ โทรทัศน์มหาดไทย ดำเนินการโดย ส่วนเทคโนโลยีสื่อสาร ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์และเผยแพร่องค์ความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร "การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข" การเตือนภัย การเตรียมความพร้อมหากเกิดภัย ผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP เพื่อทำให้ประชาชนมีรายได้ ลดรายจ่าย ชุมชนเข้มแข็ง เป็นการกระตุ้นเศรษฐิจในระดับชุมชนส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเสถียรภาพเจริญเติบโตแบบยั่งยืน
ภารกิจปัจจุบัน คือ“บริหารจัดการด้านเทคนิคการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม (Mahadthai Channel)เชื่อมโยงและวางเครือข่ายการออกอากาศสัญญาณโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมความถี่ C-Band และงานภายนอกสถานที่”
แต่ในเว็บไซด์ www.moi.go.th กลับไม่พบว่า มีเว็บแบนเนอร์ "TV มหาดไทย" อยู่และลิงก์ ก็ไม่สามารถเข้าชมได้ หลายคนคง เชื่อว่า “มหาดไทยชาแนล” คงปิดตัวไปเงียบๆ แล้ว
ดูเผินๆ ภารกิจ“ทีวีประชารัฐ”คงไม่แตกต่างจาก “มหาดไทยชาแนล”ในอดีตมากนัก