xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ร่าง พ.ร.บ.คอมพ์ฯ ฉลุย! เพิ่มโทษหนักสุดคุก 20 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในที่สุด ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ก็ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระแรก เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา โดยใช้เวลาเพียง 9 วัน หลังจากผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 เมษายน

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ นับเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่ออกมาตั้งแต่ช่วงที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลโดยคณะรัฐประหารในนามคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.)ในช่วงปี 2549-2550 และถูกวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมากว่าเป็นกฎหมายที่มีปัญหาในทางปฏิบัติ ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดจากเจตนารมณ์ของการร่างกฎหมายแต่แรก รวมทั้งมีบางมาตราถูกมองว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

อย่างไรก็ตาม ในความพยายามที่จะแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.นี้ในแต่ละครั้ง ล้วนแต่มีท่าทีที่จะเพิ่มฐานความผิดและกำหนดโทษให้แรงกว่าเดิม การแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งได้มีการเพิ่มฐานความผิดที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น รวมทั้งมีการเพิ่มโทษจำคุก และโทษปรับในบางฐานความผิดให้มากขึ้นกว่าเดิม

เนื้อหาสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ที่ สนช.ได้พิจารณาเมื่อวันที่ 28 เมษายน มีอาทิ

มาตรา 4 ให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้เป็นวรรคสอง และวรรคสาม ของมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

“ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่น โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์สามารถบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้ อันเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท”

มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 12 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 8 หรือมาตรา 11 เป็นการกระทำต่
อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

มาตรา 6 ให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้เป็นมาตรา 12/1 มาตรา 12/2 และ มาตรา 12/3 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

“มาตรา 12/1 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 9 หรือ มาตรา 10 เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นในทันทีหรือในภายหลังและไม่ว่าจะเกิดขึ้นพร้อมกันหรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

มาตรา 12/2 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 9 หรือ มาตรา 10 เป็นการกระทำต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท

มาตรา 12/3 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง มาตรา 12/1 หรือ มาตรา 12/2 โดยมิได้มีเจตนาฆ่า แต่เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท

มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน

(2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

(3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง(1) มิได้กระทำต่อประชาชน แต่เป็นการกระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้กระทำ ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้”

มาตรา 9 ให้ยกเลิกความในมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใด ให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14

ให้รัฐมนตรีออกประกาศกำหนดขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลนั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์

ถ้าผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่าตนได้ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามวรรคสอง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ”

มาตรา 10 ให้ยกเลิกความในมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 16 ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำต่อภาพของผู้ตาย และการกระทำนั้นน่าจะทำให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ผู้กระทำต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง

ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง เป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยสุจริต อันเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งอื่นใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ผู้กระทำไม่มีความผิด

ความผิดตามวรรคหนึ่งและวรรคสองเป็นความผิดอันยอมความได้

ถ้าผู้เสียหายในความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย”

มาตรา 12 ให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้เป็นมาตรา 17/1 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

“มาตรา 17/1 บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียว หรือมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปี ให้คณะกรรมการเปรียบเทียบที่รัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจเปรียบเทียบได้

คณะกรรมการเปรียบเทียบที่รัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งให้มี่จำนวนสามคนซึ่งคนหนึ่งต้องเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

เมื่อคณะกรรมการเปรียบเทียบได้ทำการเปรียบเทียบกรณีใดและผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการเปรียบเทียบกำหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีนั้นเป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ในกรณีที่ผู้ต้องหาไม่ชำระค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้เริ่มนับอายุความในการฟ้องคดีใหม่นับตั้งแต่วันที่ครบกำหนดตามระยะเวลาดังกล่าว”

ในที่ประชุม สนช.เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา สมาชิกบางส่วนได้อภิปรายแสดงความกังวลกรณีการส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ในลักษณะสร้างความน่ารำคาญตามมาตรา 4 ของร่างฯ ว่าจะกำหนดเกณฑ์อย่างไร เพราะระดับความรำคาญของแต่ละคนไม่เหมือนกัน อีกทั้งการส่งข้อมูลในลักษณะสร้างความรำคาญ ไม่น่าจะทำให้เกิดผลเสียหายถึงขั้นมีโทษถูกปรับเงินถึง 2 แสนบาท รวมทั้งข้อห้ามเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ถือเป็นความหมายกว้างมาก และมีความเปราะบาง อาจถูกตีความไปในลักษณะละเมิดสิทธิมนุษยชนได้

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่สมาชิก สนช.อภิปรายจนครบทุกคนแล้ว ที่ประชุมก็มีมติเอกฉันท์รับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าวด้วยคะแนน 160 ต่อ 0 เพื่อพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ต่อไป

และเชื่อขนมกินได้เลยว่า จะผ่านออกมามีผลบังคับใช้อย่างง่ายดาย ตามโรดแมปที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศวางเอาไว้ว่าต้่องให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2559 นี้



กำลังโหลดความคิดเห็น