ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ไม่ใช่ “ปริศนาธรรม” หากแต่เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนยิ่งใน “แนวทางการต่อสู้” ของ “พระเทพญาณมหามุนี” หรือ “พระธัมมชโย” เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เมื่อ “นายสัมพันธ์ คงชีพ” ผู้เป็นทนายความออกมาป่าวประกาศต่อสาธารณชนถึงอาการเจ็บป่วยของลูกความว่า “หลวงพ่อธัมมชโยบอกว่า ท่านไม่ขอไปไหน ขอตายที่วัด” หลังถึงกำหนดวันที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ออกหมายเรียกครั้งที่ 3 ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา “ฟอกเงินและรับของโจร” ในคดีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ “การทุจริตสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น” ซึ่งมีศิษย์เอกคือ “นายศุภชัย ศรีศุภอักษร” เป็นตัวการใหญ่
สัญญาณและแนวทางที่ว่านั้นบ่งชี้ให้เห็นว่า การเจ็บป่วยคือยุทธวิธีในการต่อสู้คดีของพระธัมมชโย และไม่ว่าจะเป็นตายร้ายดีประการใด พระธัมมชโยก็ไม่ขอเดินทางออกจากวัด ใช่หรือไม่
ดังนั้น แม้การส่งสัญญาณขอตายที่วัดของพระธัมมชโยจะเกิดก่อนที่ “ศาลอาญาจะอนุมัติออกหมายจับเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559” แต่ก็เชื่อได้ว่า เจตนารมณ์ที่ประกาศเอาไว้ก่อนหน้านี้จะเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างแน่นอน
คำถามก็คือ ดีเอสไอจะทำอย่างไร จะกล้าฝ่ามวลชนที่พร้อมเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กปกป้องต้นธาตุต้นธรรมของตนเองหรือไม่ เพราะในเมื่อศาลอาญาอนุมัติหมายจับแล้ว หนทางของทั้งดีเอสไอและพระธัมมชโยก็มีอยู่ไม่มากนัก
ทางแรกก็คือ พระธัมมชโยเดินทางมามอบตัวตามสถานที่ที่ดีเอสไอกำหนด และต้องเสี่ยงว่าจะได้ “ประกันตัว” หรือไม่ แม้ดีเอสไอจะเปิดช่องหนีตายเอาไว้เด่นชัดแล้วว่า ถ้ามารับทราบข้อกล่าวหาจะไม่คัดค้านการประกันตัวก็ตาม
ทางที่สอง ถ้าพระธัมมชโยยังคงอ้างเรื่องอาการอาพาธ ดีเอสไอจะทำอย่างไร จะกล้าบุกเข้าไปจับพระธัมมชโยถึงยานแม่หรือไม่ เพราะถ้าบุกเข้าไปจับกุมจริงๆ ก็ย่อมต้องคัดค้านการประกันตัว เพราะผู้ต้องหามีเจตนามีพฤติการณ์หลบเลี่ยงคดีชัดเจน เว้นเสียแต่ว่าจะอาพาธจริงๆ ถึงขั้น “เจียนตาย”
ที่สำคัญคือถ้าพระธัมมชโยไม่ได้ประกันตัว ก็จำเป็นต้อง “จับสึก” เพื่อคุมขังในฐานะผู้ต้องหา
นี่คือปมปัญหาที่ไม่ง่ายนักในการบริหารจัดการแม้ทุกอย่างจะดำเนินไปตามครรลองของกระบวนการยุติธรรมก็ตาม
ทั้งนี้ ถ้าตรวจสอบการเคลื่อนไหวของวัดพระธรรมกายและพระธัมมชโยนับตั้งแต่ดีเอสไอมีหมายเรียกเนื่องจากตรวจสอบพบแล้วว่ามีส่วนร่วมในคดีทุจริตสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ก็จะเห็นว่า มียุทธวิธีและปฏิบัติการในการต่อสู้จากเบาไปหาหนัก โดยมีพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า หลีกเลี่ยงที่จะเดินทางเข้าพบดีเอสไอเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาด้วยข้ออ้างสารพัด
เริ่มจากเหตุผลเรื่อง “ติดกิจนิมนต์และการปฏิบัติศาสนกิจ” เมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ออกมา “ออกหมายเรียก” ให้พระธัมมชโยมารับทราบข้อกล่าวในครั้งแรก จากนั้น เมื่อดีเอสไอออกหมายเรียกครั้งที่ 2 ทีมทนายความตลอดรวมถึงทางวัดพระธรรมกายได้ออกมาเผยแพร่ภาพ “เท้า” ของพระธัมมชโยเพื่อประกอบการขอเลื่อนพบพนักงานสอบสวนเป็นครั้งที่ 2 โดยระบุเอาไว้ชัดเจนว่า “ปวดขาซ้าย เนื่องจากกล้ามเนื้ออักเสบรุนแรง ประกอบกับมีอาการเจ็บป่วยเรื้อรังและรุนแรงจากโรคเบาหวาน ภูมิแพ้ เส้นเลือดอุดตันที่โคนขาซ้าย มีแผลติดเชื้อที่เท้าเรื้อรัง”
เป็นการอาพาธที่ดำเนินไปอย่างปัจจุบันทันด่วนเลยก็ว่าได้ เพราะถ้าพระธัมมชโยอาพาธและอาการหนักจริงก็สมควรแจ้งเหตุผลมาตั้งแต่ถูกออกหมายเรียกครั้งแรกใช่หรือไม่ มิใช่เกิดขึ้นเมื่อถูกออกหมายเรียกครั้งที่สอง รวมทั้งสิ่งที่สังคมตั้งข้อสังเกตกันอย่างมากก็คือ แม้จะการเผยแพร่ภาพเท้าอันน่าสะพรึงกลัวออกมา แต่ก็มิได้มีใครเคยเห็นภาพเท้าในลักษณะที่สามารถเห็นหน้าค่าตาพระธัมมชโยไปพร้อมๆ กันเลยแม้แต่เพียงภาพเดียว
จากนั้นก่อนหน้าที่ถึงกำหนดวันและเวลาซึ่งดีเอสไอออกหมายเรียกครั้งที่ 3 ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2559บรรดา “ลูกศิษย์ผู้ศรัทธา” ก็ขยับมาใช้ “เกมมวลชน” เข้ามาเป็นแรงบวกกับอาการอาพาธกดดันการทำงานของ ดีเอสไอ โดยเคลื่อนไหวสอดประสานกันทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
เรียกว่า เคลื่อนไหวให้กำลังใจผู้เป็นต้นธาตุต้นธรรมของตัวเองกันอย่างพรึ่บพรั่บเลยทีเดียว ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วก็มิได้ต่างไปจากแนวทางในการต่อสู้ของ “นักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตร” เลยแม้แต่น้อย
สาวกของพระธัมมชโยในหลายจังหวัดเดินทางไปยื่นหนังสือผ่าน “ศูนย์ดำรงธรรม” พร้อมทั้งรวบรวมสมัครพรรคพวกประมาณ 500 คน เดินทางไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษพนักงานสอบสวนคดีพิเศษว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายประกอบด้วย พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล ผู้บัญชาการสำนักคดีการเงินการธนาคาร กรมสอบสวนคดีพิเศษ, ร.ต.อ.ชาญณรงค์ ทับสาร พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ, และนายธรรมนูญ อัตโชติ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559
ขณะที่วัดพระธรรมกายเองได้ส่งข่าวการเคลื่อนไหวของคณะลูกศิษย์วัดพระธรรมกายในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งในต่างประเทศ แจ้งไปยังสื่อมวลชน เช่น กลุ่มชาวพุทธและคณะลูกศิษย์วัดพระธรรมกาย ในกรุงสตอกโฮล์ม โกเธนเบิร์ก อุพซอล่า และแยฟเลอ ได้ไปเรียกร้องขอความเป็นธรรมที่สถานเอกอัครราชทูต ในกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน และที่องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศสวีเดน หรือ องค์การนิรโทษกรรมสากลด้วย
หรือตัวแทนกลุ่มชาวพุทธ ยูเอสเอ ปกป้องพระพุทธศาสนา สาขา นอร์เทิร์น แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ได้เดินทางไปยื่นหนังสือเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง และเรียกร้องขอความเป็นธรรม ที่สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแองเจลิส เป็นต้น
นี่คือการใช้เกมมวลชนเพื่อสำแดงพลังกดดันอย่างชัดแจ้ง
กล่าวสำหรับเรื่องการอาพาธนั้น นายสัมพันธ์ เสริมชีพ ทนายความวัดพระธรรมกายพร้อมกับคณะแพทย์ผู้ทำการรักษาอาการอาพาธของพระธัมมชโย เดินทางมายื่นเอกสารเพิ่มเติมต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อยืนยันว่าพระธัมมชโยอาพาธจริง พร้อมทั้งระบุว่า ขณะนี้พระธัมมชโยนอนรักษาตัวอยู่ในห้องปลอดเชื้อภายในวัด มีแพทย์คอยดูแลอย่างใกล้ชิด เสมือนนอนอยู่ที่โรงพยาบาล ไม่ได้คิดหลบหนีไปต่างประเทศตามที่ปรากฏเป็นข่าวก่อนหน้านี้ พร้อมขอให้ทางดีเอสไอยอมรับผลการวินิจฉัยของแพทย์ที่ทำการรักษาพระธัมมชโย โดยอ้างว่าแพทย์ทุกคนมีจรรยาบรรณ คงไม่มีแพทย์ที่ไหน เอาอนาคตมาเสี่ยงกับการถูกเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพ หากดีเอสไอไม่เชื่อผลการวินิจฉัยของแพทย์ที่ทำการรักษาพระธัมชโย อาจจะประสานแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลภายนอกมาตรวจสอบอาการอาพาธของพระธัมมชโยได้
ส่วนเรื่องการที่ไม่เปิดเผยใบหน้าพระธัมมชโยหลังมีกระแสเรียกร้องเพื่อยืนยันอาการอาพาธเป็นเพราะทางคณะแพทย์ผู้ทำการรักษาหลวงพ่อธัมมชโยสั่งห้ามเอาไว้และเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคลของผู้ป่วย และโดยจรรยาบรรณของแพทย์ก็ไม่ควรนำภาพผู้ป่วยขณะที่ทำการรักษาออกเผยแพร่
และในวันเดียวกันนั้นเอง นายสัมพันธ์ได้กล่าวอ้างถึงสาเหตุที่พระธัมมชโยไม่ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลทั้งๆ ที่แถลงการณ์ของวัดพระธรรมกายได้สื่อสารออกมาว่าป่วยหนัก รวมถึงข่าวลือเรื่องพระธัมมชโยเดินทางออกนอกประเทศไปแล้วว่า “เพราะวัดพระธรรมกายมีลูกศิษย์ที่เป็นหมอจำนวนมาก หลวงพ่อธัมมชโยบอกว่า ท่านไม่ขอไปไหน ขอตายที่วัด”
กระนั้นก็ดีดูเหมือนว่าพนักงานสอบสวนของดีเอสไอจะไม่เชื่อหลักฐานที่ทางทนายความวัดพระธรรมกายนำมายื่นให้เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 ดังที่ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษดีเอสไอเปิดเผยว่า เบื้องต้นพบเอกสารยังไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะเวชระเบียนซึ่งตามหลักการควรต้องเป็นเวชระเบียนที่ออกจากโรงพยาบาล และหนังสือมอบอำนาจของพระธัมมชโยที่ไม่ถูกต้อง
17 พฤษภาคม 2559 นายสัมพันธ์ เสริมชีพ เดินทางมายื่นเอกสารการรักษาอาการอาพาธเพิ่มเติมแก่พนักงานสอบสวน ดีเอสไออีกครั้ง พร้อมเปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าเวลา 08.00 น. แพทย์ผู้ทำการรักษาได้ให้ยารักษา พระธัมมชโย และพบว่ามีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง ส่งผลให้คลื่นไส้ อาเจียนและเวียนศีรษะอย่างหนัก จึงได้เตรียมเอกสารใบรับรองแพทย์และหนังสือมอบอำนาจจาก พระธัมมชโย มาให้เพื่อขอความเมตตาจากพนักงานสอบสวนเลื่อนการแจ้งข้อกล่าวหาออกไปก่อน ซึ่งทีมแพทย์เห็นสมควรให้พักรักษาอาการอีกประมาณ 2 เดือนตามใบรับรองแพทย์ครั้งล่าสุด
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของพระธัมมชโยที่ยังคงสร้างความคลางแคลงใจแก่สังคมรวมทั้งดีเอสไอก็คือ ใบรับรองแพทย์ เพราะนับเนื่องตั้งแต่ครั้งแรกที่มีการอ้างเรื่องอาพาธ สถานที่ออกใบรับรองแพทย์ก็ยังคงเป็น “สหคลินิกรัตนเวช” ซึ่งตั้งอยู่ภายในวัดพระธรรมกาย
คำถามคือถ้าพระธัมมชโยอาพาธจริงทำไมถึงไม่ขอใบรับรองแพทย์จากสถานพยาบาลอื่นๆ ที่มิใช่สหคลินิกรัตนเวช
แถมยังมีผู้พบเห็นพระธัมมชโยเดินทางไปปล่อยนกปล่อยปลาเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ด้วยใบหน้าที่มิได้มีวี่แววของผู้ที่ป่วยหนักจนไม่สามารถเดินทางไปรับข้อกล่าวหาจากดีเอสไอแต่ประการใด ซึ่งไม่ว่าจะเป็นภาพขณะเดินทางไปร่วมงานวันคล้ายวันเกิดของ "เทอดชาติ ศรีนพรัตน์" ซึ่งเป็นลูกศิษย์และจัดขึ้นเมื่อช่วงเช้าวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา และวัดพระธรรมกายปฏิเสธว่าเป็นภาพที่เกิดขึ้นในวันที่ 3 พฤษภาคม ก็มิอาจทำให้สังคมหายคลางแคลงใจได้
ดังนั้นในเที่ยวนี้ ทางทนายความจึงได้นำเอกสารเวชระเบียนมาสำแดงเพิ่มเติม โดยคราวนี้นอกจากสหคลินิกรัตนเวชแล้วยังมีใบรองรองจากสถานพยาบาลของรัฐ ซึ่งนายสัมพันธ์อ้างว่าลงนามโดยรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายภาณุรังษี จ.ราชบุรี และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา
สิ่งที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ตรงนี้ก็คือ ทำไมถึงเป็นโรงพยาบาลค่ายภาณุรังษีซึ่งเป็นโรงพยาบาลทหาร และเอกสารเวชระเบียนนี้ดำเนินการในลักษณะใด เพราะไม่น่าจะเป็นไปได้ที่พระธัมมชโยเดินทางไปตรวจหรือรักษายังจังหวัดราชบุรี หรือแพทย์ซึ่งนายสัมพันธ์กล่าวอ้างว่าเป็นรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายเดินทางมาตรวจพระธัมมชโยที่คลองหลวง จังหวัดปทุมธานีและออกเอกสารรับรองให้
รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายภาณุรังษีซึ่งให้การรับรองอาการอาพาธของพระธัมมชโยก็คือคือ พ.ท. นพ.สิริพงศ์ พัฒนธนาวิสุทธิ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โลหิตวิทยา ซึ่งเคยร่วมตั้งโต๊ะแถลงข่าวชี้แจงอาการอาพาธของพระธัมมชโยเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา
รายงานข่าวจาก ร.พ.ค่ายภาณุรังษี ระบุว่า ใบรับรองแพทย์และเวชระเบียนที่ออกจาก ร.พ.ต้องผ่านการรับรองจาก ผอ.ร.พ.ด้วย เบื้องต้นมณฑลทหารบกที่ 16 จ.ราชบุรี (มทบ.16) ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดรับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว พร้อมตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อนำเสนอรายงานทั้งหมดต่อผู้บังคับบัญชา โดยได้มีการประสานขอความร่วมมือกับดีเอสไอ เพื่อขอหลักฐานไปประกอบการตรวจสอบด้วย ส่วนจะมีแพทย์รายอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกใบรับรองแพทย์หรือไม่นั้น กำลังอยู่ระหว่างต้นสังกัดสอบสวนทางวินัย หากพบกระทำผิดจริงจะเสนอแพทยสภาเพิกถอนใบประกอบโรคศิลป์และลงโทษทางวินัยต่อไป
ทั้งนี้ ล่าสุดดีเอสไอได้รับการตอบกลับกรณีการออกใบรับรองแพทย์ของ พ.ท.ศิริพงศ์ว่าไม่ถือเป็นเอกสารทางราชการ เพราะเป็นการกระทำส่วนตัวที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก ร.พ. เนื่องจากข้อเท็จจริงพระธัมมชโยไม่เคยเข้ารับการตรวจรักษากับ ร.พ. พร้อมพบว่า พ.ท.ศิริพงษ์มีการนำต้นขั้วใบรับรองไปดำเนินการเองด้วย
ที่น่าสนใจไม่แพ้กันอีกประเด็นหนึ่งอยู่ตรงที่นายสัมพันธ์ตอกย้ำเรื่อง การ ไม่ไปรักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาลว่าเป็นเพราะในวัดมีเครื่องมือที่สะดวกเช่นเดียวกับโรงพยาบาล รวมถึงมีคณะแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งได้ทำให้เกิดคำถามตามมา 2 ข้อคือ ทางวัดพระธรรมกายมีเครื่องไม้เครื่องมือในการรักษาขนาดนั้นเชียวหรือ หรือเป็นเพราะอาการอาพาธของพระธัมมชโยมิได้รุนแรงอย่างที่ได้มีการเผยแพร่ออกมาจริงๆ
เพราะถ้าดูจากที่พระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย ลำดับอาการอาพาธของพระธัมมชโยแล้วจะเห็นว่า น่าเป็นห่วงไม่น้อย
“เมื่อวันที่ 22 เมษายนได้ร่วมพิธีในวันคุ้มครองโลกเป็นเวลานานทำให้มีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน ขาบวม ต่อมา วันที่ 3 พฤษภาคม ได้นั่งรถไปปล่อยนกที่หน้ากุฏิใกล้ๆ ภายในวัด วันที่ 4 พฤษภาคม มีอาการขาบวม ปวดขามากขึ้น วันที่ 8 พฤษภาคม คณะแพทย์วินิจฉัยว่า เป็นโรคหลอดเลือดดำ ส่วนลึกของช่องท้องและขาซ้ายอุดตันเฉียบพลัน และเส้นเลือดดำสายรองที่ขยายใหญ่ขึ้นมาแทนที่ เกิดการอุดตันเฉียบพลัน ทำให้เลือดจากขาข้างซ้ายไหลกลับหัวใจได้ยาก ความดันในช่องเนื้อเยื่อขาข้างซ้ายสูงขึ้น เสี่ยงต่อการขาดเลือดและสูญเสียขาซ้าย สั่งห้ามนั่งห้อยขา ให้นอนยกขาสูงกว่าหัวใจ ห้ามการเดินทางที่จะทำให้เกิดการกระทบกระเทือน ซึ่งอาจทำให้ลิ่มเลือดหลุดไปอุดตันที่เส้นเลือดดำปอด ซึ่งจะทำให้เสียชีวิตได้ทันทีวันที่ 16 พฤษภาคม พระธัมมชโย มีอาการปวดขาซ้ายมากจนจำวัดไม่ได้ หลังจากที่ได้ยาก็มีอาการผะอืดผะอม คลื่นไส้ มึนงงศีรษะและง่วงซึมมาก เนื่องจากอาการปวดยังมีมากอยู่ แพทย์จึงต้องปรับยาในปริมาณที่เพียงพอ และเฝ้าดูอาการอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ภาวะร่างกายโดยรวมอ่อนแอมาก มีโรคแทรกซ้อนทั้งเบาหวานและภูมิแพ้ แพทย์จึงให้พักรักษาตัวเป็นระยะเวลา 2 เดือน”พระสนิทวงศ์แจกแจง
แต่จะอย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่การขอเลื่อนรับทราบข้อกล่าวหาครั้งแล้วครั้งเล่าเต็มไปด้วยข้อพิรุธ ดีเอสไอจึงตัดสินใจยื่นคำร้องต่อศาลออกหมายจับเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 หลังยื่นขอหมายจับครั้งแรกแต่ศาลไม่อนุมัติ ซึ่งในที่สุดศาลอาญาก็มีคำสั่งออกหมายจับ เนื่องเพราะเชื่อได้ว่ามีพฤติการณ์หลีกเลี่ยงไม่มารับทราบข้อกล่าวหาหลังมีหมายเรียกออกไปแล้ว 3 ครั้ง
กระนั้นก็ดีดูเหมือนว่า ดีเอสจะยังไม่ดำเนินการแบบหักด้ามพร้าด้วยเข่า โดย พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า จะทำหนังสือแจ้งไปยังวัดพระธรรมกายถึงพระธัมมชโย ขอให้เดินทางมาพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 26 พ.ค.นี้ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยเมื่อรับทราบข้อกล่าวหาและมอบตัว ทางพนักงานสอบสวนก็ยินดีปล่อยตัวชั่วคราวหรือประกันตัวออกไปตามกระบวนการกฎหมาย ทั้งนี้ หากครบกำหนดแล้วไม่เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนก็จะร่วมประชุมกับอัยการและที่ปรึกษาฝ่ายคดีพิเศษ พร้อมกำหนดมาตรการดำเนินการต่อไป
สิ่งที่จะต้องติดตามกันต่อไปก็คือ ในเมื่อพระธัมมชโชประกาศขอตายในวัด ขณะที่บรรดาสานุศิษย์ก็พร้อมใจกันเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ในเฟซบุ๊กโดยมีข้อความว่า “เราเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของหลวงพ่อธัมมชโย” พร้อมทั้งรวมตัวกันโหมกระหน่ำลงชื่อเพื่อร้องเรียน “ประธานาธิบดีบารัค โอบามา” แห่งสหรัฐอเมริกาให้ช่วยเหลือ ดีเอสจะทำอย่างไรต่อไปเมื่อถึงกำหนดเส้นตายในการมอบตัวและรับทราบข้อกล่าวหา
ถ้าพระธัมมชโยไม่ออกมามอบตัวนอกวัดจะทำอย่างไร
จะนำกำลังเข้าไปจับกุมถึงยานแม่หรือไม่
นี่คือสิ่งที่ท้าทายกระบวนการยุติธรรมของไทยยิ่งนัก