xs
xsm
sm
md
lg

กสม.แจง”อียู”ปมสิทธิฯในไทย เคลียร์ความจำเป็นใช้ม.112

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย กสม. พร้อมด้วยนางภิรมย์ ศรีประเสริฐ เลขาธิการ กสม. ให้การต้อนรับ นายเพียร์ อันโตนิโอ แพซิรี สมาชิกรัฐสภายุโรป ซึ่งมีการปรึกษาหารือ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย อาทิ การแสดงความคิดเห็นในการลงประชามติร่างรธน. ปัญหาการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ร่างรธน.ได้ให้หลักประกันในความเป็นอิสระ และเป็นกลางใน การปฏิบัติหน้าที่ของกสม. หรือไม่ ประเทศไทยมีแนวคิดอย่างไรในการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 และศาลทหารในการพิจารณาคดีพลเรือน กับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน
นายวัส กล่าวว่า ทางกสม.ไ ด้ชี้แจงต่อตัวแทนสภายุโรปเกี่ยวกับการลงประชามติร่างรธน. โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นที่อยู่ภายใต้ มาตรา 61 พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ร่างรธน. ซึ่งในกฎหมายดังกล่าวได้ระบุหลักเกณฑ์ว่า การกระทำใดที่จะเข้าข่ายเป็นความผิด ต้องดูเนื้อหาในการแสดงความเห็นโดยต้องเข้าใจว่า การแสดงความเห็นในช่วงเปลี่ยนผ่านจะมีข้อจำกัด ที่สำคัญการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐต้องเป็นไปตามกฎหมาย ในที่นี่คือ ประกาศและคำสั่งของ คสช. รวมทั้งกฎหมายอาญา ที่ต้องกระทำโดยมีอำนาจหน้าที่ สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ ที่เจ้าหน้าที่รัฐจะใช้อำนาจตามอำเภอใจไม่ได้
ส่วนประเด็นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เราได้ชี้แจงไปว่า กฎหมายนี้ได้มีมานานกว่า 50-60 ปีแล้ว อีกทั้งมีอีกมาตรา ที่คุ้มครองประมุขรัฐต่างประเทศ อย่าง ประธานาธิบดี อย่างไรก็ตาม การดำเนินคดีที่ผ่านมา แม้จะมีข้อสงสัยว่ามีการตั้งข้อกล่าวหา ดำเนินคดี แต่ไม่เคยปรากฏข้อความว่า มีความผิดอย่างไร ซึ่งการเผยแพร่นี้ไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว เพราะถ้าเผยแพร่จะถือว่ามีความผิดซ้ำ แต่หลักฐานทั้งหมด จะไปอยู่ในคำฟ้องที่ศาลจะเป็นผู้วินิจฉัย กสม. จึงเห็นว่ากฎหมายนี้ มีความรัดกุมอยู่แล้ว
นายวัส กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องพลเรือนขึ้นศาลทหาร เราก็ชี้แจงว่า ไม่ใช่ทุกคดีที่จะขึ้นศาลทหาร จะเป็นเพราะคดีหมิ่นฯ หรือคดีความมั่นคง เพียงแต่ผู้ที่ไปสัมผัสอาจมองว่า ศาลทหารมีความเข้มงวดกว่าศาลพลเรือน โดยทุกครั้งที่มีการรัฐประหารนั้น มักจะมีคำสั่งที่ประกาศว่า ให้ศาลยุติธรรมทำหน้าที่เป็นศาลทหาร ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ ทางออกคือ ต้องแก้ไขกฎหมาย
ทั้งนี้ สิ่งที่กสม.ชี้แจง ไม่ได้หมายความว่าชอบในสิ่งที่เป็นอยู่ แต่นี่คือการรายงานข้อเท็จจริง ทีแรกตัวแทนสภายุโรป ก็ไม่เข้าใจ เพราะได้รับฟังข้อมูลเพียงด้านเดียว พอ กสม.มีโอกาสได้ชี้แจง ก็ทำให้สร้างความเข้าใจมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น