xs
xsm
sm
md
lg

ไฟเขียวทีวีจัดถกร่างรธน. ไม่มีเซ็นเซอร์-ห้ามจัดสด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (18 พ.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. กล่าวถึง การเปิดเวทีให้พรรคการเมืองแสดงความเห็นเกี่ยวกับการจัดทำประชามติร่างรธน. ในวันนี้(19 พ.ค.) ว่า เป็นการเชิญพรรคการเมืองทั้ง 77 พรรค มาพบกัน โดยให้โควต้าแต่ละพรรคส่งตัวแทนมาได้ 3 คน ซึ่งจะมี กกต. สนช. และครม.เป็นฝ่ายชี้แจง เท่ากับเป็นการหารือ 4 ฝ่าย ใช้เวลาตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป ให้โอกาสซักถามได้เต็มที่
"มีสัญญาณมาจากรัฐบาลว่า ต้องการให้เปิดเวทีเช่นนี้ แล้วเราเห็นว่าเป็นประโยชน์ เราก็ดำเนินการ แต่ถ้ามีสัญญาณมาแล้วไม่เป็นประโยชน์ ก็ไม่ทำ และเชื่อว่าการจัดเวทีนี้ จะช่วยให้การจัดทำประชามติราบรื่นขึ้น"
ส่วนรายการโทรทัศน์ของกกต.ที่จะเริ่ม วันที่ 27 มิ.ย. ก็เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับร่างรธน. และคำถามพ่วง ด้วยการเปิดโอกาสให้คนที่เห็นด้วย และเห็นต่าง มาแสดงความเห็น โดยจัดเป็นรายการที่มีความยาว 30 นาที รวม 3 ครั้งต่อเนื่องกัน ทุกวันจันทร์ถึงวันพุธ ออกอากาศทางทีวีพูล 25 ช่อง เวลา 18.20 น. เป็นต้นไป และเชื่อมสัญญาณไปยังสถานีวิทยุของรัฐอีก 616 สถานี ซึ่งจะแบ่งเป็น กกต.จัดสองครั้ง โดยครั้งสุดท้ายกำหนดในวันที่ 6 ส.ค. รวมทั้งให้เวลากรธ.ชี้แจง 3 ครั้ง สนช. 2 ครั้ง อีก 6 ครั้ง ให้สถานีโทรทัศน์ช่อง 3-5-7-9-11 และไทยพีบีเอส เป็นแม่งาน ช่องละครั้งโดยสามารถกำหนดหัวข้อ พิธีกร บุคคลร่วมรายการได้เอง แต่ต้องจัดทำเป็นเทป ไม่ใช่รายการสด โดยไม่ต้องผ่านการเซ็นเซอร์จากกกต.
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่า ในส่วนรัฐบาลที่มอบหมายให้ตนไปร่วมชี้แจงนั้น เพราะเผื่อเกิดมีคำถาม ตนจะได้ตอบ และหากมีการถามในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับกฎหมาย ก็ได้เชิญให้เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปร่วมเวทีดังกล่าวด้วย โดยคำถามที่คาดว่าจะมี คือ การแก้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรธน. ที่มีการเสนอมา หรือจะทำอย่างไรถ้าร่างรธน.ไม่ผ่าน ตรงนี้ตนคงต้องตอบ แม้จะตอบไม่ได้ แต่ต้องมีคนไปนั่งเพื่อบอกว่า ไม่รู้ ซึ่งประเด็นว่าถ้าร่างรธน.ไม่ผ่าน จะแก้รธน.ชั่วคราว ปี 57 อย่างไรจะยังคงไม่มีคำตอบ
ในวันนี้
นายวิษณุ กล่าวว่า การจัดเวทีครั้งนี้ เป็นแนวคิดของนายกรัฐมนตรี เพื่อต้องการผ่อนคลายสถานการณ์ โดยเริ่มต้นในประเด็นการลงประชามติ ที่จะได้ทำความเข้าใจกัน รวมถึงทำความเข้าใจกับนักการเมืองในสิ่งที่เขาสงสัยกัน
ซึ่งเวทีนี้ไม่ต้องการที่จะโต้เถียงจนมีฝ่ายชนะ แต่ต้องการชี้แจงในสิ่งที่คนยังสงสัย
"เชื่อว่าจะไม่มีความวุ่นวาย และเวทีนี้ ไม่ใช่ให้มาเย้ยฟ้าท้าดิน แต่ให้พูดจากันธรรมดา ต่อไปจะได้คิดขยับไปเวทีอื่น ซึ่งการแสดงออกของนักการเมืองในเวทีนี้คือ การเปิดโอกาสให้สอบถามสิ่งที่สงสัย เพราะเห็นโวยกันว่า พูดนอกรอบแล้วเสี่ยงต่อความผิด เห็นกลัวกัน แต่มาพูดในเวที ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่เสี่ยง มันไม่มีภูมิคุ้มกันอะไรขนาดนั้น ถ้าพูดขัด มาตรา 66 ของกฎหมายประชามติ แม้แต่ กรธ. ก็อาจมีความผิดได้ เวทีนี้ไม่ใช่เวทีนิรโทษกรรม" นายวิษณุ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น