xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สกัด“คนรัฐ-เอกชน”สร้างเครือข่าย ปิดช่อง“หลักสูตรฝึกอบรม”สุ่มเสี่ยงทุจริต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์ที่ผ่านมา (10 พ.ค.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย ได้นำแนวทางจัดการกับหลักสูตรฝึกอบรมของหน่วยงานรัฐ กว่า 30 หน่วยงานในประเทศไทย“โดยตรง” เสนอที่ประชุมเพื่อ ออกเป็น“แนวทางปฏิบัติในการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ”หลังจากตกผลึกกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่ให้ความเห็นชอบตามแนวทางนี้แล้ว
 
แนวทางดังกล่าวนี้ยังต่อเนื่องมาจากที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”นายกรัฐมนตรี เคยพูดในครม. เมื่อวันที่ 23 ก.พ.59 ว่าได้รับเสียงวิพากวิจารณ์ด้วยตัวเอง เกี่ยวกับการเข้ารับการฝึกอบรมของบุคลากรภาครัฐหลายเรื่อง และต่อมาก็ได้สั่งการไว้เป็นมติครม. 23 ก.พ. 59 หลังจากได้รับการร้องเรียนว่า ภาคเอกชนนิยม“ล็อบบี้”ขอเข้าเรียน

วันนั้น ครม.รับทราบว่า มีหน่วยงานที่เปิดหลักสูตรอบรมเพื่อคนในหน่วยงานรัฐ และจากภาคเอกชน เช่น วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.), ผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บยส.) ของสำนักงานศาลยุติธรรม, หลักสูตรนิติธรรมทำเพื่อประชาธิปไตย (นธป.) ของศาลรัฐธรรมนูญ, หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) ของสถาบันพระปกเกล้า,หลักสูตร "นักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง”(นยปส.) ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), หลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นต้น

โดยเฉพาะ โครงการอบรมหลักสูตร "นักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง”ของ นยปส. ตามหนังสือเอกสาร มติครม. ระบุว่า เนื่องจากในปัจจุบันเป็นช่วงเตรียมการเข้าสู่การปฏิรูปประเทศ และมีความจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาบุคลากรภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงขอให้หน่วยงานของรัฐที่จัดหลักสูตรการฝึกอบรมต่างๆ โดยใช้งบประมาณของทางราชการ “ชะลอการรับภาคเอกชนและข้าราชการที่เกษียณอายุไว้ก่อน” ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ข้าราชการได้เข้ารับการอบรมและพัฒนาตนเองอย่างเต็มที่เพื่อรองรับการปฏิรูปให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
 
ต่อมา เมื่อวันที่ 10 พ.ค.59 ครม. มีมติให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี (23 ก.พ. 59) เรื่อง การพัฒนาบุคลากรในภาครัฐเพื่อรองรับการปฏิรูปประเทศ โดยให้เหตุผลว่า ที่ผ่านมาเกิดปัญหา อาทิ ข้าราชการบางคนเรียนติดต่อกันจนไม่ได้ทำงาน ทำให้ประชาชนเดือดร้อน, ข้าราชการบางคนใช้การเข้าอบรมหลักสูตรเหล่านี้ในการสร้างเครือข่าย สุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่การทุจริต, ข้าราชการบางคนวิ่งเต้นเข้าอบรมหลักสูตรต่างๆ จนไปตัดโอกาสบางคนที่เหมาะสมกว่า หรือจำเป็นต้องใช้ในการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง ฯลฯ 

ขณะที่นายกรัฐมนตรี เห็นว่า “สมควรรวบรวมมติคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับการการพัฒนาบุคลากรในภาครัฐเพื่อรองรับการปฏิรูปประเทศ ประมวลเข้าด้วยกัน และกำหนดแนวทางในเรื่องนี้ขึ้นใหม่ให้ชัดเจน”โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้

1. แนวทางนี้ใช้กับการพัฒนาบุคลากรภาครัฐที่จัดในรูปแบบของหลักสูตร หรือการฝึกอบรมไม่ใช้กับโครงการและไม่ใช้กับการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ได้มาซึ่งปริญญา ประกาศนียบัตรวิชาชีพ และการศึกษา อบรมในต่างประเทศซึ่งต้องปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการนั้น ๆ

2. แนวทางนี้ใช้กับหลักสูตรฝึกอบรมที่จัดโดยหน่วยงานของรัฐในสังกัดฝ่ายบริหาร ได้แก่ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหาร ซึ่งใช้งบประมาณของรัฐบางส่วนหรือทั้งหมดในการจัดการอบรม ในกรณีเป็นหลักสูตรหรือการอบรมที่จัดโดยหน่วยงานอื่นที่ไม่อยู่ในสังกัดของฝ่ายบริหาร เช่น รัฐสภา สถาบันพระปกเกล้า สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลปกครอง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง สำนักงานอัยการสูงสุด องค์กรอิสระอื่น ๆ ให้หน่วยงานดังกล่าวพิจารณาดำเนินการตามแนวทางนี้โดยอนุโลม

3. คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และเงื่อนไขเกี่ยวกับผู้เข้ารับการอบรม บุคลากรภาครัฐที่เข้ารับการอบรมตามหลักสูตรใดแล้ว จะลาไปรับการอบรมตามหลักสูตรอื่นได้ต่อเมื่อได้เว้นระยะเวลาอย่างน้อยสองปี เว้นแต่เป็นการอบรมตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ หรือเป็นการอบรมตามเงื่อนไขในการเข้าดำรงตำแหน่ง หรือผู้เข้ารับการอบรมเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งหมดและไม่ต้องลาหรือไม่ใช้เวลาราชการในการอบรม หรือดูงาน

4. การพัฒนาบุคลากรต่างหน่วยงาน ให้กำหนดหลักสูตรหรือการอบรมที่มุ่งหมายพัฒนาบุคลากรภาครัฐภายในหน่วยงานนั้นเป็นหลัก (in-house training) หากจะรับบุคลากรภาครัฐจากหน่วยงานอื่นและบุคลากรภาคเอกชนเข้าร่วมการอบรม จำนวนบุคลากรอื่นดังกล่าวจะต้องมีจำนวนรวมกันไม่เกินร้อยละสิบห้าของจำนวนผู้ศึกษาอบรมทั้งหมด โดยมีความสำคัญแก่จำนวนบุคลากรภาครัฐจากหน่วยงานอื่นมากกว่าจากภาคเอกชนหลักสูตรและการอบรมที่จัดแก่บุคคลทั่วไปหรือบุคลากรนอกหน่วยงาน เป็นหลัก เช่น หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร หากจะรับบุคลากรภาคเอกชน ต้องมีจำนวนไม่เกินร้อยละสิบห้าของจำนวนผู้เข้ารับการอบรมทั้งหมดหลักสูตรและการอบรมที่จัดในลักษณะภาครัฐร่วมกับเอกชน หรือมุ่งหมายจะให้การอบรมแก่ภาคเอกชนเป็นหลัก เพื่อสร้างความร่วมมือ ความรับรู้ความเข้าใจในลักษณะประชารัฐ เช่น หลักสูตรวิทยาลัยตลาดทุน ให้จัดสรรสัดส่วนระหว่างจำนวนบุคลากรภาครัฐกับภาคเอกชนตามความเหมาะสม แต่ต้องประกาศจำนวนของผู้รับการอบรมแต่ละภาคส่วนให้ทราบล่วงหน้า

“บุคลากรภาครัฐ” หมายความถึง ข้าราชการประจำ ข้าราชการการเมือง ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานราชการ และบุคลากรอื่นของหน่วยงานรัฐในกำกับของฝ่ายบริหาร บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และให้หมายความรวมถึง สมาชิกรัฐสภา ผู้บริหารและสมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เว้นแต่หลักสูตรนั้นจะมีวัตถุประสงค์เป็นอย่างอื่น)

ส่วน “การรับบุคลากรภาคเอกชน”เข้ารับการอบรมให้พิจารณาจากผู้ที่องค์กรเอกชนตามกฎหมายหรือองค์กรเอกชนซึ่งเป็นที่ยอมรับแพร่หลายได้คัดสรรตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้แล้วเสนอชื่อมาเป็นหลักและควรให้บุคลากรดังกล่าวเสียค่าใช้จ่ายบางส่วนหรือทั้งหมดตามความเหมาะสม สำหรับการดูงาน ณ ต่างประเทศ หลักสูตรและการอบรมที่กำหนดให้มีการดูงานให้ดำเนินการดังนี้

1) ควรเน้นการดูงานภายในประเทศตามสถานที่และกิจกรรมเป้าหมายที่เหมาะสม เช่น โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการปิดทองหลังพระ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การค้าชายแดน การพัฒนาตามแนวทางประชารัฐ เศรษฐกิจพอเพียงการเรียนรู้จากปราชญ์ชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน (มติครม.วันที่ 3 มี.ค.58)

2) หากเป็นการดูงานในประเทศเพื่อนบ้านบริเวณพื้นที่ชายแดน ควรพิจารณาการพักค้างในประเทศไทยเพื่อสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยและผู้ประกอบธุรกิจตามแนวชายแดนได้ดำเนินธุรกิจชุมชนและได้ประโยชน์จากการดูงาน (มติครม.วันที่ 21 ก.ค.58)

3) ในกรณีจำเป็นต้องดูงาน ณ ต่างประเทศเพื่อประโยชน์ในเชิงเปรียบเทียบหรือศึกษาจากต้นแบบ ให้คณะกรรมการหลักสูตรพิจารณาการเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนหรือบวกสาม ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นลำดับแรก

4) ในกรณีมีความจำเป็นต้องเดินทางไปดูงานในประเทศอื่น ๆ นอกจาก ข้อ 3) หรืออยู่ภายในกรอบวงเงินงบประมาณค่าใช้จ่ายเพื่อการดูงาน ณ ต่างประเทศตามที่หน่วยงานเจ้าของหลักสูตรได้ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ ซึ่งใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปดูงานตามข้อ 3) ให้แสดงเหตุผล ความจำเป็น แผนการดูงาน ประโยชน์ที่จะได้รับ และขออนุญาตจากรัฐมนตรีหรือผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานเจ้าของหลักสูตรเป็นรุ่น ๆ หรือคราว ๆ ไป

5) การเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายของบุคลากรภาครัฐที่เดินทางไปดูงาน ณ ต่างประเทศ ให้คำนึงถึงกฎเกณฑ์ทั่วไปที่หน่วยงานเจ้าของหลักสูตรกำหนดยิ่งกว่าการเบิกจ่ายตามสิทธิของบุคลากรภาครัฐ ซึ่งอาจมากกว่ากฎเกณฑ์ตามหลักสูตร

6) ความใน (ข้อ 5) ไม่ใช้ในกรณีผู้เข้ารับการอบรมออกค่าใช้จ่ายในการดูงาน ณ ต่างประเทศด้วยตนเองทั้งหมด

7) เมื่อเสร็จสิ้นการดูงานแล้ว หากมีการจัดทำรายงานการดูงาน ให้หน่วยงานเจ้าของหลักสูตรเผยแพร่รายงานนั้นทางเว็บไซต์ของหน่วยงาน เว้นแต่จะเป็นเอกสารที่ระบุชั้นความลับ (มติครม. วันที่ 12 พ.ค.58)

ส่วน หน้าที่ของหน่วยงานเจ้าของหลักสูตร ทั้ง 30 แห่ง ตามแนวทางนี้ ระบุว่า

1) การจัดเนื้อหาของแต่ละหลักสูตรให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตร แต่ควรพิจารณาสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับหลักธรรมาภิบาล เศรษฐกิจพอเพียง ยุทธศาสตร์ชาติแนวทางประชารัฐ การปฏิรูป การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบด้วยตามสมควร และให้กำกับดูแลการทำกิจกรรมของผู้เข้ารับการอบรม มิให้ฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น ผิดวินัยข้าราชการ ผิดกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น หรือใช้เวลาราชการไปทำกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม

2) ในกรณีมีการจัดทำรายงานหรือเอกสารการวิจัยส่วนบุคคลหรือเป็นหมู่คณะ หากหน่วยงานเจ้าของหลักสูตรเห็นว่ารายงานหรือเอกสารการวิจัยนั้นมีคุณภาพดีเด่น และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อทางราชการ ให้เสนอเอกสารดังกล่าวต่อส่วนราชการที่เกี่ยวข้องหรือคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบด้วย

3) หน่วยงานของรัฐควรมีการวางแผนพัฒนากำลังคนเพื่อให้ใช้ประโยชน์ จากบุคลากรที่ได้รับการพัฒนาแล้ว โดยการวางแผนการให้บุคลากรของหน่วยงานเข้ารับการอบรมตามหลักสูตรต่างๆ ล่วงหน้า ให้เหมาะสมกับความจำเป็น งบประมาณและการให้บริการประชาชนโดยมิให้บุคลากรหลายคนจากหน่วยงานเดียวกันเข้ารับการอบรมตามหลักสูตรต่าง ๆ พร้อมกัน จนกระทบต่อประสิทธิภาพ ในการปฏิบัติราชการและการให้บริการประชาชน นอกจากนั้น หน่วยงานของรัฐควรพิจารณาใช้ประโยชน์จากผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรต่าง ๆ มาแล้วให้เหมาะสมด้วย

สรุปคร่าวๆ แนวทางแก้ไข คือ “ให้ออกเป็นระเบียบสำนักนายกฯ”เพื่อให้มีผลบังคับใช้กับหน่วยงานราชการทุกแห่ง แม้จะไม่มีผลกับศาลหรือองค์กรอิสระ แต่จากการประสานงาน หน่วยงานเหล่านั้นพร้อมที่จะแก้ไขหลักสูตรการอบรมของตัวเองให้สอดคล้องกับระเบียบสำนักนายกฯ ที่จะออกมา “กำหนดให้ข้าราชการที่เข้าอบรมหลักสูตรต่างๆ ต้องเว้นวรรค” การเข้าอบรมหลักสูตรต่อไปอย่างน้อย 2 ปี เว้นแต่เป็นการเข้าหลักสูตรอบรมที่จำเป็นต้องการเลื่อนตำแหน่ง

“กำหนดสัดส่วนการรับคนนอกหรือเอกชน”เข้าอบรมหลักสูตรต่างๆ หากเป็นหลักสูตรการอบรมภายในหน่วยงานนั้นๆ ให้รับคนนอกได้ไม่เกิน 15% แต่หากเป็นหลักสูตรการอบรมทั่วไป เช่น ของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ให้รับเอกชนได้ไม่เกิน 20%

สำหรับ “การดูงาน ให้เน้นการดูงานภายในประเทศ” หากจำเป็นต้องไปต่างประเทศ ก็ให้ไปประเทศในกลุ่มอาเซียน+3 แต่ต้องพักภายในประเทศไทย และหากจำเป็นต้องไปประเทศนอกเหนือจากนั้น ก็ให้ทำเหตุผลความจำเป็นเสนอรัฐมนตรีต้นสังกัดอนุมัติ
 
สุดท้าย “ค่าใช้จ่ายในการเข้าอบรม”สำหรับเอกชนให้ออกค่าใช้จ่ายเอง ส่วนข้าราชการให้เบิกจ่ายได้ตามหลักสูตร ไม่ให้เบิกจ่ายได้ตามสิทธิที่ข้าราชการคนนั้นดำรงตำแหน่งอยู่

 แก้ปัญหา ภาคเอกชน“ล็อบบี้”ขอเข้าเรียน และคนภาครัฐ “สร้างเครือข่าย”สุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่การทุจริต



กำลังโหลดความคิดเห็น