xs
xsm
sm
md
lg

เสือกับป่ารอยต่อ

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

อย่างที่ได้เขียนไปแล้วในสัปดาห์ก่อน ที่เปรียบเทียบกระบวนการพิเศษตามรัฐธรรมนูญในระยะเปลี่ยนผ่าน กับการมีที่พักระหว่าง “รอยต่อ” ทั้งกรณีของคนที่พ้นคุกมาใหม่ๆ ต้องมีบ้านกึ่งวิถี หรือสัตว์ป่าที่จะต้องเอามาพักในสถานที่พิเศษ เพื่อให้คุ้นเคยกับป่า ก่อนจะปล่อยกับเข้าป่าได้เสรี

กระบวนการดังกล่าวน่าจะเป็นการใช้กลไกของวุฒิสภา แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนเห็นภาพว่าจะออกมารูปแบบใด

ก็ปรากฏความชัดเจนขึ้นในสัปดาห์นี้แล้ว ด้วยการเปิดเผยข้อเสนอของ “แม่น้ำ 4 สาย” ซึ่งแน่นอนว่ามี คสช.และรัฐบาลเป็นเจ้าภาพหลัก

นั่นคือ จะให้มีวุฒิสภาเป็นสภาพี่เลี้ยงที่มาจากการสรรหาโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ยอมรับจำนวนทั้งหมด 250 คน ซึ่งเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรมีวาระ 5 ปี เหลื่อมมากกว่าวาระของ ส.ส.อยู่ 1 ปี

วุฒิสภาช่วง “รอยต่อ” นี้ ไม่มีอำนาจสรรหาตัวนายกรัฐมนตรี แต่มีอำนาจในการตรวจสอบรัฐบาลได้ ผ่านกระบวนการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ

แต่ที่ทำให้เป็นที่ฮือฮาและเรียกเสียงต่อต้าน คือ การแบไพ่ว่า นอกจากจะให้มีวุฒิสภาจากการสรรหาทั้งหมดแล้ว ยังจะขอให้มี “ที่นั่งพิเศษ” ให้บรรดาผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ ร่วมนั่งด้วย อีก 6 ตำแหน่งซึ่งการมานั่งในโควตานี้ ไม่จำเป็นต้องขาดจากตำแหน่งราชการ แตกต่างจากกรณีสมาชิกวุฒิสภาทั่วไป ที่จะต้องไม่ดำรงตำแหน่งราชการหรือทำงานอื่นใดเลย

กับอีกอย่าง คือ ข้อเสนอว่า ที่ กรธ.เสนอว่าให้พรรคการเมืองเปิดเผยชื่อ “นายกฯ” ไว้ล่วงหน้าก่อนการเลือกตั้งนั้น ยังไม่ควรนำมาบังคับใช้ในขณะนี้

นั่นคือ ยอมรับในหลักการให้มีนายกฯ คนนอกได้ ไม่ต้องเปิดเผยชื่อโดยพรรคการเมืองนั่นแหละ

ข้อเสนอ “เรียกแขก” ทั้งสองประการนี้ ทำให้เกิดเสียงอึงคนึงมาจากฝ่ายการเมืองว่า มีลักษณะเป็นการ “สืบทอดอำนาจ”

การที่พรรคการเมืองไม่ต้องเปิดเผยชื่อนายกรัฐมนตรีก่อนการเลือกตั้ง แต่ยอมรับหลักการให้นายกไม่ต้องเป็น ส.ส. ก็ได้ ก็เท่ากับเป็นการเจาะช่องให้คนนอกที่เหนือการคาดหมาย “เซอร์ไพรส์” เข้ามาเป็นนายกฯ ได้

บ้างก็พูดกันไปถึงขนาดว่า ผู้มีอำนาจในขณะนี้อาจจะแอบหวัง แต่ถ้าให้เปิดเผยชื่อกันแต่แรกก่อนการเลือกตั้งก็เหนียมๆ ไปอย่างนั้นเลย

ส่วน ส.ว.แต่งตั้ง พร้อมโควตานั้น ก็ถูกมองว่า เป็นมือไม้สายเส้นของ คสช.ที่จะเข้ามาควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต่อไปอีกอย่างน้อย 5 ปี

ถ้าจะว่าไป หากใครศึกษาทางประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญ คงระลึกได้ทันทีว่า นี่คือรูปแบบของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2522 เราดีๆ นี่เอง ทั้งเรื่อง ส.ว.มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด เรื่องนายกฯ ไม่ต้องเป็น ส.ส.โดยเป็นอิสระของสภาผู้แทนราษฎรที่จะไปเชิญใครเข้ามาก็ได้ และข้าราชการประจำ ก็สามารถควบเป็นข้าราชการการเมืองไปได้พร้อมกัน

รัฐธรรมนูญดังกล่าวถูกใช้มาตลอดช่วงยุคสมัยของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ถูกเรียกกันในขณะนั้นว่าเป็นช่วง “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” และสืบต่อมาจนสมัย พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ก่อนจะถูกรัฐประหารไปในปี 2534

แต่กระนั้น ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่มีอายุการบังคับใช้ยืนยาวที่สุด อย่างที่ ดร.วิษณุ เครืองาม เคยแย้มเอาไว้

หากจะกล่าวไป ว่าที่รัฐธรรมนูญปี 2559 นี้ ก็คือ รัฐธรรมนูญปี 2522 ที่ถูกนำมาReboot ใหม่ให้ทันสมัยมีระบบศาลคู่ (ศาลรัฐธรรมนูญ/ศาลปกครอง) และองค์กรอิสระต่างๆ นั่นเอง

เพราะถ้าจะว่าไป ข้อเสนอเรื่องรัฐธรรมนูญของ คสช. และ ครม.นี้ ก็ยอมรับกันตรงๆ แหละว่า จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย โดยค่อยๆ ให้มีการเปลี่ยนผ่านไปอย่างเหมาะสม จนกว่าความขัดแย้งหรือกลไกทางการเมืองจะสงบนิ่งกว่านี้ ค่อยปล่อยเต็มตัว

พูดง่ายๆ คือ ขอเป็น “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” เพื่อความจำเป็น ซึ่งการ Reboot รูปแบบ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” นี้ขึ้นมาใน พ.ศ.ปัจจุบัน ก็มีความยากลำบากที่ต้องตระหนักไว้บางอย่างด้วย

กล่าวคือ ความตื่นตัวในเรื่องประชาธิปไตยของผู้คนในยุคสมัยนี้ จะยอมรับรูปแบบการปกครองแบบ “ครึ่งใบ” ได้หรือไม่ อันนี้แน่นอนละว่า มวลชนของฝ่ายกลุ่มอำนาจเก่าเขาไม่เอาอยู่แล้ว แต่มวลชนอีกฝ่ายหนึ่ง ก็ใช่ว่าจะยอมรับได้ง่ายๆ

อย่าว่าแต่กระไรเลย แม้แต่ฝ่าย “ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ” คือ กรธ.เอง ก็ยังไม่ตอบรับข้อเสนอนี้ชัดเจนนัก จนกระทั่งฝ่ายยื่นข้อเสนอต้องแสดงท่าทีแบบขอร้องแกมบังคับกันกลายๆ

อนาคตของร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ. 2559 นี้ จึงยังมีชะตากรรมที่ต้องลุ้นกันทุกขั้น

ทั้งในขั้นว่า ตกลงแล้ว กรธ.จะ “ยอม” รับข้อเสนอของฝ่าย คสช.และ ครม.หรือไม่ ถ้ายอม ยอมแค่ไหน

และก็มาลุ้นกันอีกว่า ถ้า กรธ.เขา “ไม่ยอม” หรือ “ยอมไม่หมด” แล้ว ฝ่าย คสช. ซึ่งเป็นรัฐฏาธิปัตย์ในทางความเป็นจริงจะว่าอย่างไร จะปล่อยผ่านง่ายๆ แบบไม่ซื้อไม่หาไม่ว่ากัน หรือจะใช้กลไกทางกฎหมายและอำนาจรัฐประดามีเพื่อบีบให้มีการแก้ไข ก็เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก

และสมมติว่าทุกอย่างผ่านมาได้ ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะมีการแก้ไขตามข้อเสนอ จะมากจะน้อย ก็ไปสู่ด่านประชามติของประชาชนอีกว่า จะ “เอาด้วย” กับรูปแบบประชาธิปไตยครึ่งใบในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้หรือไม่ ทั้งไม่ว่าจะเป็น “มวลชนของพรรคการเมือง” ที่แสดงท่าทีว่าไม่เอาด้วยแน่ๆ กับพลังเงียบที่คาดเดาไม่ได้

เพราะหากยอมรับตามตรง เวลาผ่านไปสองปี แม้ความไม่ไว้วางใจในตัวนักการเมืองนักเลือกตั้งยังมีอยู่ แต่พร้อมกันนั้น ความนิยมของ คสช.และรัฐบาลก็ลดลงไปเรื่อยๆ เมื่อประชาชนเกิดความรู้สึกว่า ไม่สามารถแก้ปัญหาหรือปฏิรูปอะไรได้เด็ดขาดจริงจังในเรื่องใหญ่ๆ เท่าไร โดยเฉพาะปัญหาเรื่องเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและต้องยอมรับว่าเป็นขาลงอย่างชัดเจน

แต่ต้องยอมรับหลักการประการหนึ่งว่าในการเปลี่ยนผ่านปล่อยวางอำนาจ จากรัฐบาลหรือคณะผู้ปกครองที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จจากรัฐประหาร ให้มีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลตามรูปแบบประชาธิปไตยนั้น ควรมีช่วง “รอยต่อ” เพื่อให้อำนาจเก่าค่อยๆสลายไป และอำนาจใหม่ คือรัฐบาลจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยค่อยๆ ฟื้นขึ้นมา ซึ่งน่าจะดีกว่าการปล่อยมือทีเดียวจนเป็นเรื่องเสียของเหมือนรัฐประหารปี 2549

ยอมรับหลักการว่า เพื่อการประนีประนอมอาจจะต้องยอมมี “ป่ารอยต่อ” ให้เสือได้ถอยออกไปคอยดูอยู่ใกล้ๆ เขตหมู่บ้านหรือเขตมนุษย์ก่อนที่จะตัดใจวิ่งหายเข้าป่าไปได้

เพียงแต่การจัดการอย่างไร การวางรูปแบบการ “เปลี่ยนผ่าน” ทางอำนาจนี้ แค่ไหนที่ทุกฝ่ายจะยอมรับได้ ทั้งผู้ครองอำนาจอยู่ในขณะนี้ ฝ่ายการเมืองที่จะต้องชิงชัยกันเข้าสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้ง ประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจ และผู้ตัดสินใจที่แท้จริง

การออกแบบ “ป่ารอยต่อ” ในภาวะเช่นนี้ยากเย็นจริงๆ.
กำลังโหลดความคิดเห็น