xs
xsm
sm
md
lg

ต้นเหตุแรงงานประเทศไทยที่ถูกเบี่ยงเบน

เผยแพร่:   โดย: สุทธิพงษ์ ปรัชญพฤทธิ์

สุทธิพงษ์ ปรัชญพฤทธิ์
https://www.facebook.com/suthipong.prachayapruit
https://www.facebook.com/indexthai2.capitalworld

เงินเฟ้อ (ราคาสินค้า-บริการสูง) เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของทุกประเทศรวมทั้งของประเทศไทย เป็นเรื่องไม่ยากที่จะเข้าใจต้นเหตุของเงินเฟ้อ เมื่อรู้ต้นเหตุก็จะสามารถบริหารจัดการได้ถูกต้อง พระพุทธเจ้าไม่ได้ให้ไปแสวงหาสุข แต่ให้รู้จักทุกข์โดยอริยสัจ 4 และให้ใช้สัมมามรรค 8 กับชีวิตประจำวัน จะทำให้เกิดสุขแก่ตนเองและผู้อื่น รวมทั้งสังคม ประเทศชาติ และชาวโลก ประเทศไทยสามารถใช้หลักการของพระพุทธเจ้า คืออริยสัจ4 และสัมมามรรค 8 มาบริหารจัดการเรื่องเงินเฟ้อได้

เงินเฟ้อที่เป็นไปตามเหตุและผล เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เงินเฟ้อบางครั้งเกิดจากมิจฉาทิฐิของคน ที่จะนำความเดือดร้อนทุกข์เข็ญลำเค็ญ นำความเสียหายมาสู่ประเทศชาติประชาชนอย่างเหลือคณานับ


ประเทศไทยควรจะรู้ อะไรเรื่องใหญ่ อะไรเรื่องเล็ก บริหารจัดการได้แต่เรื่องเล็กๆ เรื่องใหญ่จัดการไม่ได้ จะทำให้ประเทศชาติแย่ลงไปอีก ขณะนี้เรื่องพลังงานเป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ กลับจัดการอะไรไม่ได้ ปล่อยให้คนที่อยู่ในกิจการพลังงานออกสื่อโฆษณาชวนเชื่อมอมเมาเรื่องพลังงานในทางที่เบี่ยงเบน

เงินเฟ้อ ถ้าสูงขึ้นไม่มาก ก็ทำให้เกิดเงินเฟ้ออ่อนๆ แต่ถ้าสูงขึ้นมาก ก็ทำให้เกิดเงินเฟ้ออย่างรุนแรง

เงินเฟ้ออย่างรุนแรงเกิดจาก 2 สาเหตุ

1. ความเสียหายของค่าเงิน(บาท)เช่นเกิดขึ้นเมื่อปี 2540 ค่าเงินบาทเสียหายจนต้องลอยค่าเงินบาทตกไปที่ 45-55 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทำให้เงินเฟ้อสูงถึงเลข 2 หลัก

2. การสูงขึ้นของราคาพลังงาน จะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นด้วย การสูงขึ้นของราคาพลังงาน แบ่งเป็น 2 อย่าง อย่างแรกสูงขึ้นจากปัจจัยภายนอก จากต่างประเทศดังเช่นการสูงขึ้นของราคาพลังงานที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2550 2551 อันนี้อยู่นอกเหนือการบริหารจัดการของประเทศไทยอย่างที่สอง คือการสูงขึ้นของราคาพลังงานในประเทศเองซึ่งเป็นเรื่องที่จะนำมาวิจารณ์ในบทความนี้

ลองพิจารณาความสัมพันธ์ต่อไปนี้

1. ราคาพลังงานสูง
(อย่างผิดปกติ) ทำให้เงินเฟ้อสูง (อย่างผิดปกติ)

2. เงินเฟ้อ (ราคาสินค้า-บริการ) สูงทำให้คนเงินเดือนน้อยเดือดร้อน ทำให้ต้องขึ้นเงินเดือนและค่าแรงสูงอย่างผิดปกติ

3. เงินเดือนและค่าแรงสูงทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ชาวนาชาวไร่ก็ได้รับความเดือดร้อน

4. ต้นทุนการผลิตสูง ทำให้โอกาสการแข่งขันต่ำลง ทำให้ไม่มีการลงทุนเพิ่ม ทำให้มีการย้ายฐานการผลิต

5. ขายสู้ไม่ได้ ขายไม่ออก ขายขาดทุน ไม่มีลงทุนเพิ่ม ย้ายฐานการผลิต ทำให้รายได้ลดลง หรือไม่มีรายได้ เก็บภาษีได้ลดลง ต้องกู้เงินมาจ่ายเงินเดือน คนงานตกงาน หนี้สาธารณะที่สูงอยู่แล้ว ก็จะสูงมากขึ้นไปอีก


นั่นคือ พลังงานเป็นต้นเหตุของปัญหาหลักของประเทศ

ระหว่างปี 2544-2549 มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมากเป็นประวัติการณ์ มันคือเอกชนปล้นรัฐวิสาหกิจ (ของรัฐหรือของประเทศชาติประชาชน) ไปเป็นของตนเอง

ตัวเลขส่วนแบ่งผู้ถือหุ้น ปตท.ระหว่างกระทรวงการคลัง (รัฐหรือประเทศชาติ-ประชาชน) กับเอกชน-ประชาชนไทย-เทศผู้ถือหุ้น ปตท. 51:49 แตกต่างกันไม่มาก และเพียงแค่ทำให้ดูว่ารัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่ตัวเลขผู้ถือหุ้นแตกต่างกันมาก

เอกชน ประชาชนไทย-เทศ ถือหุ้น ปตท. 49% มี 53,818 คน

ประชาชนทั่วไปถือหุ้น ปตท.ผ่านกระทรวงการคลัง 51% มี 64,817,182 คน

ทั้งกลุ่มกิจการพลังงานที่เห็นนี้ เอกชน-ประชาชนไทย-เทศมีจำนวนผู้ถือหุ้นรวมกัน 243,757 คนคิดเป็น 0.38 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ

ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่า คนส่วนน้อยที่เป็นเจ้าของกิจการพลังงาน ที่ได้ประโยชน์จากกิจการพลังงานของประเทศ นำความเดือดร้อนทุกข์เข็ญลำเค็ญมาให้คนทั้งประเทศ

ความล้มเหลวเรื่องแรงงานเริ่มมาหลายปีแล้ว เริ่มเมื่อปี 2544 เมื่อมีการแปรรูปปตท.(ที่เป็นบริษัทแม่ของกิจการพลังงาน) ปตท.แปรรูปเข้าตลาดหุ้นเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2544 หรือในปีแรกที่ทักษิณ ชินวัตรได้เป็นรัฐบาล แปรรูปในช่วงที่ตลาดหุ้นตกต่ำมาก ทำการแปรรูป (IPO) ได้ราคาต่ำมาก หุ้นละ 35 บาท ผู้อุปการคุณได้หุ้นละ 10 บาท คนจองซื้อเหมือนได้เปล่า อีก 6 ปีต่อมา ราคาหุ้น ปตท.ขึ้นไปสูงกว่าหุ้นละ 400 บาท

มูลค่ากิจการพลังงานในส่วนของปิโตรเคมีสูงถึง 2.18 ล้านล้านบาท (23/3/2555) หรือคิดเป็นส่วนแบ่ง 22.22 เปอร์เซ็นต์มูลค่าตลาดรวม ซึ่งเป็นกลุ่มที่ส่วนแบ่งมูลค่าสูงสุดในตลาดหลักทรัพย์ สร้างความมั่งคั่งให้เอกชนผู้รับการแปรรูป แต่นำความเดือดร้อนมาสู่ประเทศชาติประชาชนทั้งประเทศ

ก่อนการแปรรูป ปตท.ราคาพลังงานของไทยแตกต่างกับประเทศเพื่อนบ้านไม่มาก หลังการแปรรูปราคาพลังงานของไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านเท่าตัว หรือเกือบเท่าตัว

เดือนสิงหาคม 2557 (หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557) ราคาเบนซิน 95 ของไทยสูงกว่าของประเทศเพื่อนบ้านมากถึง 132 เปอร์เซ็นต์ รัฐประหารแล้วราคากลับสูงมากขึ้นไปอีก

ความล้มเหลวเรื่องแรงงาน เริ่มเมื่อปี 2544 หรือปีที่เริ่มต้นของราคาพลังงานที่สูงผิดจริง

หลังการแปรรูปกิจการพลังงานไปเป็นของเอกชน ข้าราชการเข้าไปเป็นกรรมการ เข้าไปกำหนดราคาพลังงานแบบไม่มีหลักการเป็นราคาที่ขูดรีดต่อภาคการผลิต ภาคการขนส่งและความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ

ช่วงที่ราคาน้ำมันไทยลดลง เช่นในปี 2558 เพราะราคาน้ำมันโลกลดลงราคาน้ำมันของประเทศเพื่อนบ้านก็ลดลงเช่นกัน แต่ราคาน้ำมันของประเทศไทยจึงยังสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านมากเหมือนเดิม

เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องที่ไม่ผิด ราคาพลังงานที่ไหนต่ำ คนก็จะไปซื้อใช้ที่นั่น จะทำให้ต้นทุนการผลิต ต้นทุนการบริหารจัดการ ต้นทุนความเป็นอยู่ต่ำลง

ราคาพลังงานของไทยแพงกว่าของประเทศเพื่อนบ้านมาก ทำให้เกิดปัญหาน้ำมันเถื่อน ตลาดมืดน้ำมัน และส่วยน้ำมัน ทางภาคใต้ของประเทศไทย ทำให้ต้องมีงบประมาณในการปราบปรามน้ำมันเถื่อนด้วย

ประเทศไทยทำไมฝีมือจึงด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศเพื่อนบ้านเขาสามารถผลิตพลังงานออกมาขายราคาต่ำได้ แต่ของประเทศไทยผลิตออกมาแล้ว ราคาแพงกว่าของประเทศเพื่อนบ้านเท่าตัว

มี AEC แล้ว ทำไมจึงยังมีการกีดกันทางการค้าอยู่อีก ต้องเปิดเสรีการค้าพลังงาน ยกเลิกกำแพงภาษีนำเข้าพลังงาน ให้เอกชนไทยและประชาชนคนไทย สามารถนำเข้าพลังงานสำเร็จรูปได้ จะได้ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประเทศชาติประชาชนคนไทยดีขึ้น วิธีนี้ก็จะช่วยให้มีการพัฒนาฝีมือการผลิต การบริหารจัดการกิจการพลังงานของประเทศไทยด้วย จะได้ไม่พากันดักดานเหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้


การขึ้นเงินเดือน ขึ้นค่าแรง ก็ไม่ทันกับราคาสินค้าบริการที่สูงขึ้นตลอดเวลา แม้บางช่วงราคาพลังงานจะลดลงแต่ราคาสินค้าที่ขึ้นไปแล้ว ก็ไม่ลดลงตามราคาพลังงานที่ลดต่ำลง

ราคาพลังงานที่สูงแบบผิดปกติ ให้เกิดความเหลื่อมล้ำเอกชนเจ้าของพลังงานไม่กี่คนได้ประโยชน์ มีกำไรจากการถือหุ้นกิจการพลังงาน แต่ส่งผลให้ราคาสินค้าบริการสูงขึ้น ทำให้ภาคการผลิต การขนส่ง และภาคประชาชนเดือดร้อนทั้งประเทศ ทำให้ค่าแรงต้องปรับตัวสูงขึ้นด้วย

จากบางตอน รายการคืนความสุขให้คนในชาติ วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม 2559 พูดถึงปัญหาแรงงาน และจะให้ความสำคัญเรื่องของสมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย

“ …

พิธีกร : ขออนุญาตมาถึงอีก 1 วันสำคัญที่เพิ่งผ่านไปนะคะ วันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม กลุ่มพี่น้องประชาชนผู้ใช้แรงงานก็จะมีการยื่นขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลเป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นทุกๆ ปี ครั้งนี้ 15 ข้อเรียกร้อง ท่านนายกฯ รับมาดูแล้วเป็นอย่างไรบ้าง

นายกรัฐมนตรี : คือ 15 ข้อ ปีที่แล้วก็ 15 ข้อ ซึ่งมันก็คล้ายกัน หลายอันก็เรื่องเกี่ยวกับประกันสังคม ซึ่งหลายอย่างเราก็ทำไปแล้ว บางทีเขาก็เสนอขึ้นมา เพราะว่าทุกปีมันก็จะต้องมีการเสนอขึ้นมาแบบนี้ เราก็เอามาทำต่อซิ อันไหนที่มันยังทำไม่สำเร็จก็ทำมันสำเร็จซะ

มันมีอยู่อันเดียวเท่านั้นแหละ ก็คือค่าแรงนะผมก็เคยบอก เมื่อสักครู่ผมพูดไปแล้วไง ถ้าสมมติเราขึ้นค่าแรงมากๆ การลงทุนก็จะลดลงในช่วงนี้

เพราะว่าการแข่งขันเรื่องต้นทุนการผลิต วันนี้ถ้าค่าแรงเราสูงอีกแล้วก็เทคโนโลยีเรายังไม่ทันสมัย คนของเราก็ยังไม่พร้อม การศึกษายังผลิตคนไม่ตรงกับความต้องการ และแรงงานเหล่านี้ก็จะมาจากแรงงานต่างประเทศ แรงงานเพื่อนบ้านบ้างอะไรบ้าง แล้วก็ AEC เขาบอกมาว่า ห้ามอาชีพต่อไปนี้ ห้ามสงวนไว้ ต้องสามารถจะแลกเปลี่ยนแรงงานร่วมกันได้หลายอาชีพนะที่มันเป็นอาชีพหลักๆ และเราพร้อมหรือยังคนเหล่านี้เรามีไหม ถ้าไม่มีกีดกันเขาไม่ได้นะ เขาก็มาทำงานในประเทศไทย

อันที่ 2 ก็คือ คนไทยเราจะไม่มีงานทำใช่ไหม วันนี้ก็ไปต่างประเทศและเรามีพอหรือยัง ความรู้ที่จะไปเป็นหัวหน้างาน ไปทำงานในองค์กรใหญ่ๆ เหล่านี้ ภาษาอังกฤษ ภาษาเพื่อนบ้าน ภาษาต่างประเทศเรียนรู้หรือยัง ก็ไม่พร้อมหมด ผมก็ให้กระทรวงแรงงานเขาเร่งรัดตรงนี้ ถ้าสถานการณ์อย่างที่ว่า เศรษฐกิจมันตกใช่ไหม แข่งขันกันเรื่องของการลงทุนในประเทศต่างๆ ที่มีการมองระยะยาว

วันนี้ถ้าสมมติว่า เราตั้งขึ้นมา เขาไม่มา และแถมเขาจะย้ายของเดิมที่มีอยู่แล้วไปต่างประเทศ ที่ว่าน้อยอยู่แล้วมันจะไม่ได้เลยและเราจะดูแลกันยังไง

รัฐบาลก็ไม่มีสตางค์ที่จะไปจ่ายแทนเขานะ ณ วันนี้ก็อยากจะให้รับทราบว่ารัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจนะ หลายอย่างก็ให้คณะกรรมการ มันมีคณะกรรมการของแรงงานเหล่านี้อยู่แล้ว ทั้งรัฐวิสาหกิจด้วยเขาคุยกันอยู่แล้ว ว่าเออเมื่อไรยังไงควรจะทำแค่ไหน ก็ขอให้ฟังกันบ้าง ฟังเหตุผลกันบ้าง

อย่างน้อยวันนี้เราก็ถือว่าเราได้ค่าแรงค่อนข้างจะสูงนะในภูมิภาคแถบนี้ แต่ในขณะเดียวกันต้องเข้าใจเรื่องการเป็นเจ้าของร่วมของบริษัทเขาด้วย เห็นใจเขาซิ ถ้าเขาอธิบายกันมาว่า ขอเวลาหน่อยนะ ปรับหน่อยอะไรหน่อย น่าจะเป็นไปได้

ถ้าขึ้นทั้งหมดมันไม่มีเงิน เขาไปหมดเลยทำไงต้องหาทางออกตรงนี้ไว้ด้วย

คราวนี้รัฐบาลก็คิดไว้ขั้นต้นนะ ว่าจะขอเจรจากับเขา ผมถามจากกระทรวงแรงงานมานะ ว่าจะเป็นพื้นที่ก่อนได้ไหม บางกิจการได้หรือเปล่า อะไรทำนองนี้ คือต้องไปอย่างนั้น ถ้าขึ้นทั้งหมดมันไม่มีทางเป็นไปได้แล้วมันจะหายไปหมดเลย

ไอ้ที่เราวางไว้ คือ S Curve อีก 5 อุตสาหกรรมที่เขาจะเริ่มลงทุนในโลกใบนี้หายหมดเลย เราก็จะเหลือแต่อุตสาหกรรมเดิม 5 อย่างของเราและเขาไม่พัฒนาด้วย เมื่อมันไม่มีราคา มันไม่มีการแข่งขัน การแข่งขันไม่ได้เขาก็ยุบเลิกไปเลยเดือดร้อนไหมล่ะ เดือดร้อนทั้งเก่า แล้วก็ทั้งใหม่ไม่มา และผมถามว่า มันจะมีเงินค่าจ้างเพิ่มขึ้นได้อย่างไร ก็ไม่มี

พิธีกร : เหมือนที่ท่านนายกฯ บอกว่าผู้ใช้แรงงานต้องอดทนต้องเข้าใจด้วย

นายกรัฐมนตรี : ผมก็เข้าใจ

ที่เขาบอกว่าอดทนมาเยอะแล้ว วันนี้เขาไปมองเรื่องของค่าครองชีพมันสูงขึ้น ก็ลองไปมองดูตัวเองซิว่า ใช้จ่ายกันอย่างไรบ้างวันละ 300 ดูซิว่าจะประหยัดลงอีกได้ไหม อะไรที่เขามาบอกว่าต้องเท่าเทียมเป็นธรรม ไปกินถั่วฝักยาวหรอ มันก็ไม่ได้ มันต้องพัฒนาตัวเองนะ ผมพยายามช่วยเขาอยู่นี้ไง หลายอย่างผมก็สนับสนุนให้มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนในเรื่องของการก่อสร้างอะไรต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการจ้างแรงงานทั้งสิ้น แต่ถามว่าแรงงานเรา ส่วนใหญ่แรงงานไทยไม่ทำ ไปต่างประเทศหมด ไปสร้างตึกสูงๆ ต่างประเทศหมดเลยนะ ในประเทศตะวันตก ตะวันออก ในประเทศเหลือแต่แรงงานต่างด้าวเป็นหลัก อันนี้ คือ สิ่งที่เราต้องมาใคร่ครวญให้ดีนะ แต่เราต้องดูแลเขาไง เพราะว่ากติกาสากล UN ต้องดูแลแรงงานทุกประเทศในประเทศของตัวเองให้เหมือนกัน ให้เท่าเทียมกัน ไปคิดพิจารณาเอาแล้วกันนะ

พิธีกร : อีกหนึ่งสิ่งที่ท่านนายกรัฐมนตรีพูดไปเมื่อสักครู่นี้ที่ท่านนายกฯ ให้ความสำคัญเรื่องของสมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย ท่านได้พูดถึงในหลายครั้งนะคะ ตอนนี้มีความคืบหน้ายังไงบ้างคะ

นายกรัฐมนตรี : ก็อย่างที่บอกไปแล้ว เขากำลังพิจารณากฎหมายตรงนี้อยู่ในสภาบอกว่า สิ่งที่มันควรจะเกิดมาหลายสิบปีมาแล้วมันได้เกิดซักที ผมก็มองในแง่ของที่ UN เขาพูดคุยกันมาเรื่องของ Public Health เรื่องการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชน จะทำอย่างไรให้เขาเข้าถึง บางทีอยู่บนเขามาโรงพยาบาลไม่ได้ ก็ต้องมีสมุนไพร มียาเหล่านี้ที่ราคาถูก ปลูกเองก็ได้ บางอย่างต้มกินก็ได้
...”


ฟังที่นายกฯ พูด ทำให้ทราบว่าไม่ได้อยู่ในหลักอริยสัจ 4 เมื่อไม่รู้ว่าต้นเหตุอะไรที่ทำให้เงินเฟ้อสูง ทำให้ต้องขึ้นเงินเดือนและค่าแรงสูงไปด้วย เป็นเรื่องยากที่จะนำสัมมามรรค 8 มาช่วยในการแก้ปัญหา

ก็ได้แต่แก้ปัญหาแบบข้างๆ คูๆ ต่อไปเรื่อง Public Health ราคายา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์สูง ค่าการรักษาก็สูงไปด้วย ก็ไม่แก้ที่ต้นเหตุเหมือนกัน แต่ไปแก้โดยส่งเสริมเรื่องของสมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย

ราคาพลังงานที่สูงแบบผิดปกติ เป็นผลเสียต่อประเทศทุกด้านทั้งเรื่องอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค การรักษาโรคคน การรักษาโรคสัตว์ เครื่องจักร ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ค่าการศึกษาเล่าเรียน สูงขึ้นทุกอย่าง

การแก้ปัญหาแรงงาน ด้วยการกดหรือจำกัดค่าแรงไม่ให้เป็นไปตามภาวะเงินเฟ้อที่เป็นจริง อันเนื่องมาจากราคาพลังงานสูงแบบผิดปกติ บอกให้ผู้ใช้แรงงานอดทน เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่รับผิดชอบ ทำให้ผู้ใช้แรงงานเดือดร้อน

ราคาพลังงานแพงแบบผิดปกติ แพงผิดจากประเทศเพื่อนบ้านมาก เป็นต้นเหตุของเงินเฟ้อสูง เป็นต้นเหตุทำให้ค่าแรงต้องสูงตามขึ้นไปด้วยเป็นความล้มเหลวในนโยบายแรงงานของประเทศ

การแก้ปัญหาแรงงาน จึงต้องแก้ที่ราคาพลังงาน ไม่ให้ราคาพลังงานสูงแบบผิดจริง ไม่ให้มีการขูดรีดเอารัดเอาเปรียบประเทศชาติประชาชน ราคาพลังงานที่เป็นจริงต้องใกล้เคียงกับของประเทศเพื่อนบ้าน


ราคาพลังงานที่ต่ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำ ต้นทุนความเป็นอยู่ของคนในประเทศต่ำ ไม่มีความเหลื่อมล้ำ คือความสุข คือความมั่นคงของประเทศที่แท้จริงเพิ่มโอกาสการดำรงชีวิต เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ เพิ่มโอกาสการลงทุน

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ถ้าจะต้องวางแผนเรื่องแรงงานทั้งระบบ จะต้องพิจารณาเรื่องต้นเหตุที่ทำให้ราคาพลังงานสูงผิดจริงเป็นสำคัญ

ความผิดพลาดเรื่องแรงงานเกิดขึ้นมาเป็นเวลา 15 ปีแล้ว ดังนั้นปัญหาแรงงานต้องมองทั้งวันนี้ วันพรุ่งนี้ และเมื่อวานนี้ด้วย

เมื่อวานนี้เรื่องแรงงานล้มเหลว วันนี้ก็ยังล้มเหลว วันพรุ่งนี้ก็จะล้มเหลวต่อเนื่องเช่นเดียวกัน หากกระบวนการยังเป็นอยู่เช่นทุกวันนี้ อีก 20 ปีประเทศจะล้มเหลวต่ออย่างแสนสาหัสยิ่งขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หากไม่แก้ไขราคาพลังงานยังสูงผิดปกติเช่นนี้ ไม่แน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด ก็จะเป็นการสานต่อความล้มเหลวด้านแรงงานของประเทศต่อไปอีก ความล้มเหลวที่มีมาเป็นเวลา 15 ปี ทำให้ประเทศชาติล้มลุกคลุกคลานแบบทุกวันนี้ แทบจะไม่เหลืออะไรแล้ว แล้วจะให้มันเป็นต่อไปถึง 20 ปีหรือ จะไม่เป็นการเดินประเทศแต่อย่างใด จะเป็นการเดินหน้าตกหน้าผาสูงชันอย่างเดียว จะนำความทุกข์เข็ญลำเค็ญมาสู่ประเทศชาติประชาชนมากขึ้นๆ ต่อไปอีก

กำลังโหลดความคิดเห็น