xs
xsm
sm
md
lg

สตง.ฟัน‘ชายหมู’ ฮั้วประมูลไฟประดับ39ล. ทวง‘บุญทรง’2หมื่นล.โกงข้าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน360 - เชือด! “ชายหมู” เหตุไฟประดับกทม. 39.5 ล้านฉาว ไม่คุ้มค่า “คตง." ส่ง “ปปช.-มท.” ฟัน พร้อม 8 ข้าราชการ -คณะกรรมการทีโออาร์ ยกชุด เผยเตรียมปูพรมเปิดข้อมูลฟัน “โครงการการจัดซื้อเครื่องดนตรี”- “โครงการติดตั้งกล้องซีซีทีวี” ส่อไม่คุ้มค่า มีการทุจริต- ด้าน“พาณิชย์” เผยได้รับหนังสือจากคลัง ให้เรียกค่าเสียหายขายข้าวจีทูจี 2 หมื่นล้านบาทแล้ว “ชุติมา”ส่งทีมกฎหมายดูรายละเอียด ก่อนแจ้งนักการเมืองและข้าราชการ 6 รายที่เกี่ยวข้องให้ชดใช้

วานนี้ (3พ.ค.) มีรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ว่า นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง.ได้แถลงเปิดเผยผลการตรวจสอบโครงการค่าใช้จ่ายในการประดับตกแต่งไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว (Motif of Light) ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งใช้งบประมาณทั้งสิ้นจำนวน 40 ล้านบาท ตามโครงการ

ทั้งนี้ เป็น โครงการประดับตกแต่งไฟเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณลานคนเมือง ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในช่วงเทศกาลปีใหม่รวมระยะเวลา 1 เดือน ในวงเงินงบประมาณ 39.5 ล้านบาท โดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ มีการทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐพ.ศ. 2542 จึง มีมติเห็นชอบที่จะดำเนินการเอาผิดต่อผู้กระทำความผิดทั้งหมด ซึ่งมีผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการมีจำนวน 9 ราย ได้แก่

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. นางปราณี สัตยประกอบ ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว นายธวัชชัย จันทร์งาม ผู้อำนวยการกองการท่องเที่ยว กทม. นายยศศักดิ์ คงมาก ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กทม. นายสิโรตม์ แสงเจริญ คกก.ทีโออาร์ น.ส.วันทนา เตชะสุวรรณ คกก.ทีโออาร์ นายพงษ์พันธ์ ธัญญเจริญ คกก.ทีโออาร์ นายมรกต ภูมิพานิช คกก.ทีโออาร์ และนายสิทธิโชค อภิบาล คกก.ทีโออาร์

ทั้งนี้ผลการตรวจสอบที่สำคัญ คือ 1.กทม.ได้อนุมัติงบกลาง เพื่อดำเนินโครงการอย่างไม่ถูกต้อง 2.การจัดจ้างโครงการส่อพฤติการณ์ฮั้วประมูล โดยการตรวจสอบพบว่าบริษัทดังกล่าวไม่เคยประกอบกิจการในลักษณะงานตามโครงการที่กทม.กำหนดมาก่อนและได้จดทะเบียนเพิ่มวัตถุประสงค์ให้ตรงตามเงื่อนไขการประมูลราคาเพื่อเข้าเสนองาน

ทั้งนี้ การตรวจสอบราคาไฟประดับของกทม. พบว่ามีราคาอยู่ที่ประมาณ 29 ล้านบาทเท่านั้น แต่กทม.ใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการจำนวน 40 ล้านบาท

สำหรับโครงการค่าใช้จ่ายในการประดับตกแต่งไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว (Motif of Light) มีสำนักวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยว เป็นผู้รับผิดชอบ โดยมี บริษัท คิวริโอ ทัวร์ แอนด์ แทรเวิล จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา ด้วยวงเงิน 39,500,000 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2558 โดยโครงการดังกล่าว เริ่มประกาศร่างทีโออาร์ เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2558 ระบุเป้าหมายเพื่อ จัดประดับตกแต่งไฟฟ้าในรูปแบบและเทคนิคพิเศษ (Motif of Light) บริเวณลานคนเมืองศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน ในระหว่างเดือนธันวาคม 2558- มกราคม 2559 ระหว่างเวลา 18.00 - 24.00 น.

ทีโออาร์ กำหนดราคากลาง 40 ล้านบาท มีเอกชนซื้อเอกสารการประมูล จำนวน 9 ราย แต่ยื่นซอง 2 ราย คือ บริษัท คิวริโอ ทัวร์ แอนด์ แทรเวิล จำกัด และ บริษัท สรรค์สร้าง จำกัด

โดยบริษัท คิวริโอ ทัวร์ แอนด์ แทรเวิล จำกัด เสนอราคา 39,619,990 บาท บริษัท สรรค์สร้าง จำกัด 39,749,999.75 บาท (ห่างกัน 130,009 บาท) บริษัท คิวริโอ ทัวร์ แอนด์ แทรเวิล จำกัด เสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง 380,010 บาท ทำให้เป็นผู้ชนะไป และต่อรองราคาเพิ่มช่วงทำสัญญาเหลือ 39,500,000 บาท

ทั้งนี้ การตรวจสอบพบว่าบริษัทคิวริโอได้นำเข้าโคมไฟฟ้าแอลอีดีครบเซตจากประเทศจีนตั้งแต่วันที่ 10 ธ.ค.58 ก่อนที่จะ มีการประมูลโครงการและเซ็นสัญญาเพื่อดำเนินโครงการกว่า 10 วัน อีกทั้งบริษัทคิวริโอยังได้นำอุปกรณ์เข้าพื้นที่บริเวณลานคนเมืองได้ดำเนินการติดตั้งแผงไฟในโครงการตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค.58 จึงเป็นอีกหนึ่งกรณีที่แสดงให้เห็นถึงพิรุธในการดำเนินโครงการดังกล่าว

“ที่ผ่านมา สตง.ได้มีหนังสือเชิญให้เข้าชี้แจงถึง 2 ครั้ง แต่ผู้ว่าฯกทม.ก็ไม่สะดวกในการเข้าชี้แจงข้อเท็จจริง แต่สตง.ก็ยืนยันว่า การตรวจสอบโครงการเป็นไปตามหน้าที่ ซึ่งโครงการที่เกี่ยวข้องกับกทม.ในโครงการอื่น ที่มีผู้ร้องเรียน อาทิ โครงการการจัดซื้อเครื่องดนตรี โครงการติดตั้งกล้องซีซีทีวี สตง.ก็อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการดำเนินโครงการเช่นกัน ”ผู้ว่าสตง.ระบุ

จากนี้ สตง.จะดำเนินการ แจ้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับผู้ว่าฯกทม. รวมทั้งดำเนินการทางวินัยและอาญาแก่เจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้อง

โดย สตง.จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ภายในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ความผิดกรณีดังกล่าว เบื้องต้นผู้ที่เกี่ยวข้องจะมีความผิดตามคดีอาญา มีโทษปรับไม่เกิน 400,000 บาท และจำคุกไม่เกิน 5ปี

**** “บุญทรง-พวก”โกงขายข้าวจีทูจี

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2559 กระทรวงการคลังได้ส่งหนังสือมายังกระทรวงพาณิชย์ เพื่อบังคับทางปกครองกับนักการเมืองและข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการขายข้าวรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จำนวน 4 สัญญา ปริมาณ 6.2 ล้านตัน เพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับรัฐบาล

โดยเบื้องต้นได้มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินการตามเอกสารที่กระทรวงการคลังส่งมา ซึ่งจะมีการหารือกับฝ่ายกฎหมายถึงขั้นตอนในการดำเนินการ และเมื่อได้ข้อสรุป ก็จะทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายจากสัญญาซื้อขายข้าวจีทูจีต่อไป

“หนังสือที่ได้รับมาเป็นเอกสารลับจากกระทรวงการคลัง ส่งมาเป็นบึก ซึ่งยังไม่ได้อ่านรายละเอียด จึงยังตอบอะไรมากไม่ได้ แต่ได้มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวแล้ว ซึ่งหลักๆ ก็คงต้องทำหนังสือบังคับทางปกครองแจ้งไปยังนักการเมืองและข้าราชการที่เกี่ยวข้องให้ชดใช้ค่าเสียหาย แต่ทางผู้ที่ถูกแจ้งให้ชดใช้ก็มีสิทธิ์ที่จะยื่นอุทธรณ์ และเท่าที่ทราบแต่ละรายจะชดใช้ค่าเสียหายไม่เท่ากัน”น.ส.ชุติมากล่าว

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งทีมกฎหมาย ซึ่งมีอัยการเข้ามาร่วม เพื่อตรวจสอบเอกสารตามที่กระทรวงการคลังส่งมา เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามกฎหมาย เพราะการดำเนินการดังกล่าวจะมีกรอบระยะเวลา เช่น เมื่อส่งหนังสือแจ้งไปยังผู้ชดใช้ให้จ่ายค่าเสียหาย ผู้ชดใช้มีสิทธิ์ที่จะอุทธรณ์ต่อศาลภายในกี่วันนับจากวันที่ได้รับหนังสือ เป็นต้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวต้องดำเนินการอย่างละเอียดตามขั้นตอนของกฎหมาย

ก่อนหน้านี้ นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาเรียกค่าเสียหายทางละเมิดกรณีทุจริตการระบายข้าวแบบจีทูจี 4 สัญญา ปริมาณ 6.2 ล้านตัน ได้สรุปตัวเลขในการชดใช้ค่าเสียหายวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท มีนักการเมืองและข้าราชการที่จะถูกบังคับทางปกครองชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด 6 คน ได้แก่ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และนายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ

สำหรับการชดใช้ค่าเสียหาย แต่ละรายจะชดใช้ค่าเสียหายสัญญาข้าวจีทูจีไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินการขายข้าวจีทูจีดังกล่าวว่ามีมากน้อยแค่ไหน โดยผู้ที่เป็นตัวการจะถูกกำหนดให้ชดใช้ค่าเสียหายมากที่สุด ไล่ลำดับลงมาตามการเข้าไปมีส่วนในการกระทำความผิด
กำลังโหลดความคิดเห็น