xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ปลดล็อกอีก ชง 3 ธุรกิจให้ต่างชาติทำ แย้มแก้กฎหมายคนต่างด้าวแน่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเตรียมชงบอร์ดต่างด้าวไฟเขียวปลดล็อก 3 ธุรกิจบริการออกจากบัญชีแนบท้าย 3 ทั้งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและจำเป็นต่อธนาคาร สำนักงานผู้แทนและสำนักงานภูมิภาค ธุรกิจบริการเป็นคู่สัญญาภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ หลังให้อนุญาตเป็นประจำอยู่แล้วเพื่ออำนวยสะดวกในการทำธุรกิจ พร้อมเดินหน้าศึกษาแก้ไขกฎหมายคนต่างด้าว ปิดช่องโหว่ปัญหานอมินีและเปิดเสรีเพิ่มขึ้น

น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ที่มี น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ในเดือน มี.ค.นี้ พิจารณาปลด 3 ธุรกิจบริการในบัญชีแนบท้าย 3 ของ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ออก ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและจำเป็นต่อธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจบริการเป็นสำนักงานผู้แทนและสำนักงานภูมิภาค ธุรกิจบริการเป็นคู่สัญญาภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ เพื่อเปิดเสรีธุรกิจบริการให้เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ในปัจจุบันธุรกิจบริการทั้ง 3 ธุรกิจ ถ้าคนต่างด้าวจะเข้ามาประกอบธุรกิจต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการฯ ก่อน และโดยทั่วไปจะได้รับการอนุญาตอยู่แล้ว จึงมีความเห็นว่าควรจะเอาออกจากบัญชีแนบท้ายเพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจมากขึ้น โดยหากได้รับความเห็นชอบก็จะออกเป็นกฎกระทรวงพาณิชย์กำหนดให้คนต่างด้าวที่จะเข้ามาทำธุรกิจทั้ง 3 ในไทยไม่ต้องมาขออนุญาตอีกต่อไป

ส่วนธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือในกลุ่ม กรมฯ ตั้งเป้าหมายจะปลดออกจากบัญชีแนบท้าย 3 เช่นเดียวกัน แต่ต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อน เพราะเป็นธุรกิจที่ยังอ่อนไหว เนื่องจากการให้บริการบริษัทในเครือ ในกลุ่มนั้นสามารถทำได้หลากหลาย เช่น การให้บริษัทในเครือในกลุ่มเช่าพื้นที่, หรือให้กู้ยืมแก่บริษัทในเครือ ซึ่งกรณีนี้อาจมองได้ว่าบริษัทที่ให้บริการกู้ยืมไม่ยอมจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นและเลี่ยงภาษี จึงเอาเงินส่วนที่จะจ่ายเงินปันผลและเสียภาษีไปให้บริษัทในเครือกู้ยืมแทน

ก่อนหน้านี้ รมว.พาณิชย์ได้ลงนามในกฎกระทรวงฉบับใหม่ กำหนดให้ 4 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจสำนักงานผู้แทนธนาคาร ธุรกิจประกันชีวิต และธุรกิจประกันวินาศภัย ซึ่งอยู่ในบัญชี 3 เป็นธุรกิจที่ไม่ต้องขออนุญาตต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพราะมีหน่วยงานและกฎหมายเฉพาะดูแล คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อเป็นการลดความซ้ำซ้อน และอำนวยความสะดวกในการเข้ามาประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทย

น.ส.ผ่องพรรณกล่าวว่า สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 กรมฯ ได้มีการศึกษาเพื่อทำการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายมาโดยตลอด และยังได้ของบประมาณปี 2561 จำนวน 6 ล้านบาท ซึ่งจะนำมาใช้ว่าจ้างที่ปรึกษาให้ดำเนินการศึกษาการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงทำให้มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้มากขึ้น

“ในการแก้ไขกฎหมายต่างด้าว ต้องศึกษาผลดี ผลเสีย ที่จะเกิดขึ้นรอบด้าน เพราะถ้าแก้ไขให้กฎหมายเข้มงวดมากก็อาจปิดกั้นการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ถ้าเปิดเสรีมากเกินไปจะกระทบต่อผู้ประกอบการไทยได้ โดยแนวทางในการปรับปรุงจะดูทั้งหมด ดูกฎหมายทั้งฉบับว่าจะแก้ตรงไหน นิยามคนต่างด้าวในปัจจุบันเป็นอย่างไร เหมาะสมหรือไม่ และบัญชีแนบท้าย ทั้ง 1, 2 และ 3 จะต้องปรับแก้อย่างไร ซึ่งต้องทำให้เป็นสากลให้ได้” น.ส.ผ่องพรรณกล่าว

ส่วนการแก้ไขปัญหาคนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี) เพื่อหลีกเลี่ยงหรือประกอบธุรกิจต้องห้ามในไทยโดยไม่ต้องขออนุญาตนั้น ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมากรมฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง เช่น ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ธุรกิจนายหน้า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในจังหวัดท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต กระบี่ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาพบพฤติกรรมเข้าข่ายนอมินีจำนวนมาก และส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี รวมทั้งส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สืบสวนในเชิงลึก และส่งกรมสรรพากรตรวจสอบภาษีแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น