ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ช่วงสายวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา มีข่าวออกสื่อว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้พูดกับ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างร่วมประชุมคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง (กปส.) ที่ จ.เชียงใหม่ ตอนหนึ่งว่า
“ขอฝากประเทศไว้กับผู้ว่าฯ อย่าไปจงรักภักดีกับนายเก่า แล้วอย่าเอาเรื่องต่างๆไปรายงานเพื่อขอความเห็น มันหมดสมัยของนักการเมืองแล้ว ขอให้ถอยออกไป”
“และ ถ้าผมจะไป ผมก็จะไปเมื่อหมดเวลาในการบริหารราชการแผ่นดิน และจะเอาคนไม่ดีออกไปด้วย ผมพร้อมใช้ มาตรา 44 ปรับย้ายทุกวัน ผมพูด ไม่ได้ขู่ แต่ทำจริง”
ค้นดูรายชื่อ นายปวิณ ในสารบบกระทรวงมหาดไทย จบรัฐศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 2 จุฬาฯ ปริญญาโทรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาการปกครอง จุฬาฯ
พบว่า ในยุคคสช.ทำงานมาได้เพียง 1 ปีเศษ ย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดอ่างทอง มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครองสูง) จังหวัดเชียงใหม่ ตามมติ คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ก.ย.58 คราวอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทย เสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 58 ราย ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.58 จำนวน 54 ราย และ ตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค.58 จำนวน 4 ราย เพื่อทดแทนผู้เกษียณอายุราชการ และสับเปลี่ยนหมุนเวียน
พบว่า เมื่อปี 55 สมัยยังเป็นรองผู้ว่าฯ ในเขตภาคกลาง นายปวิณ เคยเป็นรองผู้ว่าฯสมุทรปราการ มีกระแสข่าวว่า จะถูกเด้งไปนั่งผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย บางสายก็ระบุว่า อาจได้มานั่งผู้ว่าฯ นครนายก ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ได้รับแรงหนุนจาก “กลุ่มสมุทรปราการ เพื่อไทย”ที่มี “นายประชา ประสพดี”อดีต รมช.มหาดไทย (มท.2) เป็นแกนนำ จนคำสั่ง มหาดไทย 1 ต.ค. 56 กลับได้แต่งตั้งเป็น “ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง”และจากคำสั่งมหาดไทย 1 ต.ค.58 มาเป็น “ผู้ว่าฯเชียงใหม่”ในปัจจุบัน
ล่าสุด นายกฯออกมาประกาศ พร้อมใช้ มาตรา 44 ปรับย้ายได้ตลอเวลา ต่อหน้าผู้ว่าฯเชียงใหม่
หากย้อนกลับไปดูการโยกย้าย“ผู้ว่าราชการจังหวัด” ในยุค คสช. ที่ทำงานมา 2 ปีเศษ ทั้งแบบปกติ (โยกย้ายตามฤดูกาล) และโยกย้ายตาม คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามาตรา 44 จะพบว่า
ครั้งแรกในวันที่ 27 และ 28 พ.ค. พบว่า 9 จาก 19 ผู้ว่าฯ รายชื่อระดับบิ๊ก เป็นการย้ายสลับลดชั้น (จากจังหวัดเกรด เอ) เข้ากรุผู้ตรวจราชการกระทรวง ตอนนั้น คสช. หวังจะสลายสีเสื้อของทุกกลุ่ม เหลือแต่เพียงชาติ เพื่อสร้างความปรองดอง
นอกจากนั้น เดือนก.ย.57 ครม. ยังเห็นชอบโยกย้ายข้าราชการระดับ 10 ของกระทรวงมหาดไทย (มท.) “ผู้ว่าราชการจังหวัด จำนวน 37 ตำแหน่ง และ ก.ย.58 ครม.อนุมัติ 58 รายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายผู้ว่าราชการ เพื่อแทนผู้ที่เกษียณอายุราชการ และเพื่อความเหมาะสม สองครั้งนั้น มี แม่ทัพภาคต่างๆ จะส่งรวบรวมรายงานความประพฤติ และรายชื่อของผู้ว่าฯ เหล่านี้มายังคสช. ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา หรือ “บิ๊กป๊อก”รมว.มหาดไทย จะประเมินการทำงานทุก 3 เดือน จากนั้นก็เสนอต่อหัวหน้าคสช.ในการพิจารณา ลงนาม
การโยกย้ายครั้งนั้น ผู้ว่าฯ หลายคนเกษียณอายุราชการแล้ว บางท่านยังอยู่ในกระทรวงฯ ที่เพิ่งมีข่าวว่าเมื่อสัปดาห์ก่อนเพียงรายเดียวที่ขอ “ลาออกจากราชการ”ตาม ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ข้าราชการพลเรือนพ้นจากตําแหน่ง ด้วยกระทรวงมหาดไทยได้มีคําสั่งอนุญาตให้ นายสมศักดิ์ ขําทวีพรหม ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตําแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สํานักงานปลัดกระทรวง ลาออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.59 เพื่อไปประกอบอาชีพอื่น โดยมีผลในวันที่ 10 เม.ย.59 เป็นผู้ว่าฯ 1 ใน 58 ราย ที่ถูกคำสั่งของปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ลงนาม
ในคำสั่งที่ 282/2557 เรื่อง แต่งตั้งโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย. 57 โดยสั่งให้ย้ายจาก “ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด” มาประจำสำนักผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ถือเป็นการย้ายสลับลดชั้น นอกจากนั้น ยังพบว่านายสมศักดิ์ ถูกสอบสวนจากกระทรวงมหาดไทย ในเรื่องบประมาณในจังหวัดร้อยเอ็ดด้วย
ส่วนผู้บริหารระดับ ผู้ว่าฯ ที่ถูกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พบว่า ตามคำสั่ง ที่ 16/2558 เรื่อง มาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบ และการกําหนดกรอบอัตรากําลังชั่วคราว (ม.44 พักข้าราชการอบแรก) มีชื่อ “นายนพวัชร สิงห์ศักดา” ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ที่ถูกพักงานตาม คําสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 19/2558 เรื่องแต่งตั้งและให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดํารงตําแหน่งและปฏิบัติหน้าที่อื่น พบชื่อ “นายไชยวัฒน์ พันธ์นรา”รองผู้ว่าฯ กําแพงเพชร แม้จะไม่ได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ก็ถูกระงับการปฏิบัติราชการในตําแหน่งเดิมเป็นการชั่วคราว และไปปฏิบัติราชการในตําแหน่งประจําสํานักงานปลัดกระทรวงที่สังกัด โดยไม่ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิม และให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ รัฐมนตรีเจ้าสังกัดมอบหมาย
ส่วนคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 12/2559 เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดํารงตําแหน่ง ลงวันที่ 29 มี.ค.59 ให้ข้าราชการ 4 รายที่ขาดจากตําแหน่งหน้าที่ และอัตราเงินเดือนเดิม เพื่อโอนไปแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งตามกรอบอัตรากําลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ที่จัดให้มีขึ้นในสํานักนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย นายยุทธนา วิริยะกิตติ นายสมชัยฐ์ หทยะตันย์ติ นายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ และ นายวีรพงศ์ แก้วสุวรรณ มาดํารงตําแหน่ง “ผู้ตรวจราชการพิเศษประจําสํานักนายกรัฐมนตรี”
ล่าสุด แต่งตั้ง นายธวัช สุระบาล รองผู้ว่าฯ ราชบุรี มาเป็น ผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ รองผู้ว่าฯ ลําพูน เป็น ผู้ว่าฯ ตาก นายวิทูรัช ศรีนาม รองผู้ว่าฯ พิษณุโลก เป็น ผู้ว่าฯ จันทบุรี และ นายสุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็น ผู้ว่าฯ ปัตตานี
สรุปแล้ว “2 ปีเศษ ยุคคสช.” โยกย้าย ผู้ว่าฯ และระงับปฏิบัติหน้าที่แล้ว 105 ราย เป็นคำสั่งโยกย้ายตามฤดูกาล 95 ราย ถูก ม.44 ระงับปฏิบัติหน้าที่-โยกย้าย 10 ราย รวมถึง ลาออกจากราชการ 1 ราย