xs
xsm
sm
md
lg

ปิดสำนวนเชือด"ประชา"18ส.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (11 ส.ค.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ดำเนินการ กระบวนการถอดถอน นายประชา ประสพดี อดีต รมช.มหาดไทย ออกจากตำแหน่ง กรณีแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการองค์การตลาด (อต.) กระทรวงมหาดไทย ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ประกอบมาตรา 64 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นขั้นตอนซักถามคู่กรณี คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ในฐานะผู้กล่าวหา มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ และ นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการป.ป.ช. เป็นตัวแทน และ นายประชา ประสพดี อดีต รมช.มหาดไทย ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา
ทั้งนี้ กรรมาธิการซักถามได้ถามต่อตัวแทนป.ป.ช.ว่า ความผิดของนายประชา ที่ใช้อำนาจเข้าไปแทรกแซง ก้าวก่ายสั่งชะลอการประชุมคณะกรรมการ อต. มีข้อกล่าวหาอะไร เหตุใดไม่นำคำพิพากษาของศาลปกครอง ที่ระบุว่าคำสั่งในการแต่งตั้งโยก ย้ายบอร์ด อต. เป็นการดำเนินการถูกต้องแล้ว ซึ่งตัวแทนของป.ป.ช. ชี้แจงว่า พฤติกรรมของนายประชา เป็นการก้าวก่ายแทรกแซงการสั่งงานของฝ่ายประจำ โดยได้โทรศัพท์สั่งการไปยังรองประธานบอร์ด อต.ในขณะนั้น ให้ชะลอการประชุมบอร์ด อต.ในวันที่ 12 พ.ย.55 ที่มีวาระการพิจารณาลงโทษ กรณีการทุจริตของนายธีธัช สุขสะอาด อดีต ผอ.อต. ออกไปก่อน แม้นายประชา จะเป็นรมช.มหาดไทย ในเวลานั้น แต่ยังไม่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแล อต. พฤติการณ์ของนายประชา จึงเป็นการเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานของหน่วยงานรัฐ ตามความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 เพราะรัฐมนตรีที่ มีอำนาจเพียงดูแลเฉพาะเรื่องนโยบายเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจสั่งการให้ชะลอ หรือเลื่อนการประชุม อต. ที่เป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของบอร์ด อต.
ขณะที่ คณะกรรมาธิการได้สอบถามต่อ นายประชาว่า ได้โทรศัพท์สั่งให้ชะลอการประชุมคณะกรรมการ อต. ซึ่งจะพิจารณาลงโทษ นายธีธัช สุขสะอาด ผอ.องค์การตลาด และ รมช.มหาดไทย มีอำนาจมากน้อยแค่ไหน ในการกำกับ อต. โดยนายประชา ยืนยันว่า ยอมรับว่าได้โทรศัพท์ให้ชะลอการประชุมบอร์ด อต. เมื่อวันที่ 12 พ.ย.55 โดยไม่ทราบว่าในวันดังกล่าวมีวาระการพิจารณา เรื่องการลงโทษนายธีธัช เจตนาของตนเพียงแค่ให้บอร์ด อต. รอมอบนโยบายจาก รมต.ก่อน เพราะตนได้รับคำสั่งให้กำกับดูแลบอร์ด อต. ในวันที่ 12 พ.ย.55 ตนไม่ได้มีความโกรธแค้นบอร์ด อต. หรือรู้จักกับนายธีธัช มาก่อน
"อำนาจในการกำกับดูแล อต.ตามพ.ร.ฏ.กำกับดูแล อต.ให้อำนาจรัฐมนตรีที่ดูแล หน่วยงานดังกล่าว แตกต่างจากหน่วยงานอื่น โดยให้รัฐมนตรีมีอำนาจเรียกประธาน และรองประธาน รวมทั้งพนักงานอต. มาชี้แจงให้ข้อเท็จจริงหรือทำรายงานได้ และให้อำนาจแต่งตั้ง ถอดถอน ผอ.อต.ได้ ดังนั้นอำนาจของรัฐมนตรีในการกำกับดูแล อต.จึงครอบคลุมทั้งหน่วยงานและตัวบุคคล จึงมีสิทธิ์เรียกประธาน อต. มาให้การหรือชี้แจงใดๆได้ หากเห็นว่าทำหน้าที่ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่มีเฉพาะอำนาจกับดูแลเฉพาะเรื่องนโยบายเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ารัฐมนตรีไม่มีอำนาจไปถึงขั้นสั่งการห้ามประชุม หรือ เลื่อนบอร์ด อต.ได้" นายประชา กล่าว
อย่างไรก็ตาม ประธานในที่ประชุม สนช. ได้นัดให้มีการแถลงปิดสำนวนด้วยวาจาของคดีนี้ ในวันที่ 18 ส.ค. 59 เวลา 10.00 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น