xs
xsm
sm
md
lg

กางผังเพจโจมตีคสช. รับเงิน“ตู่-ลายจุด”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน 360 - “จตุพร” วืดเยี่ยม 8 ผู้ต้องหา รับมีทีมงานตัวเองร่วมด้วย ปัดก่อหวอดชน คสช. อ้างรูปเก่าถูกตัดต่อหวังเสี้ยม ทหารหิ้วทีมแอดมินเพจแดงส่ง ตร. ก่อนแจ้งข้อความผิด ม.116-พ.ร.บ.คอมพ์ เผยอีกรายอยู่เมืองนอก เตรียมนำตัวฝากขังผลัดแรกวันนี้ ญาติลุ้น 10 โมง ศาลอาญานัดฟังคำสั่งปล่อยตัวหรือไม่ กองปราบฯกางผังเครือข่ายระบุ 9 ผู้ต้องหาร่วม 4 เพจโจมตี คสช. แฉ “บก.ลายจุด” เคยส่งเงินเหยียบล้านทำเพจแอนตี้ กปปส. “วินธัย” ย้ำทำเป็นขบวนการ มี “ไอ้โม่ง” อยู่เบื้องหลัง ด้าน “กกต.สมชัย” โล่ง กรธ.ไม่ได้บอกว่าทำผิด กม. พร้อมปฏิเสธโดนเพื่อนหมั่นไส้

วานนี้ (28 เม.ย.) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่บริเวณด้านหน้ามณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) อาทิ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานที่ปรึกษา นปช. นพ.เหวง โตจิราการ นายนิสิต สินธุไพร และนายอารี ไกรนรา เป็นต้น ได้เดินทางมาเพื่อขอเยี่ยมผู้ต้องหา 8 คนที่ถูกเจ้าหน้าที่ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ควบคุมตัวตามอำนาจมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2557 เมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ทางเจ้าหน้าที่ทหารไม่อนุญาต โดยระบุว่าเตรียมจะนำทั้ง 8 คน ไปแจ้งข้อหาที่กองบังคับการปราบปราม พร้อมทั้งนำตัวไปขออำนาจศาลทหารกรุงเทพเพื่อฝากขังต่อไป

** “ตู่” รับทีมงานโดนรวบหลายคน

นายจตุพร กล่าวยอมรับว่า รู้จักผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมหลายราย เช่น นายนพเก้า คงสุวรรณ และ น.ส.วรารัตน์ เหม็งประมูล ซึ่งเป็นทีมงานเฟซบุ๊กของตน ขณะที่ นายธนวรรธ์ บูรณศิริ เคยเป็นอดีตพนักงานสถานีโทรทัศน์พีซทีวี แต่ลาออกไปตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา สิ่งที่ตนอยากสื่อสารถึงผู้มีอำนาจคือ การใช้มาตรการอุ้มตัว และให้พนักงานสอบสวนหาความผิดในภายหลังนั้นเป็นการกระทำยิ่งกว่าพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คอมมิวนิสต์ โดยใช้มาตรการอุ้มตัวเสียอีก อยากให้เลิกพฤติกรรมแบบนี้ได้แล้ว ทั้งนี้การใช้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 13/2559 ก็ถูกองค์กรนานาชาติได้ทักท้วงว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ คสช.ยืนยันว่าใช้เพื่อปราบปรามผู้มีอิทธิพล แต่ในความจริงเป็นการบังคับใช้กับบุคคลที่เห็นต่าง

“การจับน้อง ๆ ทั้ง 10 คน ขอให้เป็นกรณีสุดท้าย ในช่วงการทำประชามติ ไม่ควรสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวให้กับประชาชน ผู้มีอำนาจควรใจกว้าง และเปิดโอกาสให้องค์กรนานาชาติเข้ามาสังเกตการณ์การทำประชามติ การออกอาการวิตกมากจนเกินเหตุยิ่งเข้าข่ายน่าสงสัย” นายจตุพร กล่าว

** ปัดเตรียมปลุกม็อบชน คสช.

นายจตุพร กล่าวด้วยว่า การเรียกร้องให้ปล่อยตัวประชาชนยังลุกลามเป็นไฟลามทุ่งรวดเร็ว เพราะไม่เห็นด้วยกับการลุแก่อำนาจ และใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. แสดงความเห็นตอกย้ำเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ราวกับว่า ประชาชนผิด ไม่เคารพกฎหมายจึงต้องเสียชีวิตถึง 100 ศพ ขอบอกว่า ถ้าท่านเคารพกฎหมาย และการตัดสินของศาลแล้ว ท่านนิรโทษกรรมให้ตัวเองทำไม เมื่อความตายของประชาชนได้รับการพิสูจน์จากศาลแล้ว เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำไมไม่ให้กระบวนการยุติธรรมชี้ขาด ใครโกหก ใครพูดความจริง ประชาชนและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในประเทศนี้ย่อมรู้ดี ไม่ทราบว่านายกฯพูดเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อต้องการอะไร เป็นการพูดที่เหยียบย่ำคนตาย และญาติคนตาย

นายจตุพร ยังได้กล่าวปฏิเสธกระแสข่าวที่ระบุว่า กลุ่ม นปช.จะนัดชุมนุมเพื่อประท้วงการลุแก่อำนาจของ คสช.ด้วยว่า ไม่เป็นความจริง ไม่มีการนัดชุมนุมใดๆ ข่าวที่ออกเป็นการนำภาพเก่าที่ได้นัดชุมนุมที่ ถ.อักษะ เมื่อช่วงปี 2557 มาตัดต่อแล้วเผยแพร่ในสถานการณ์นี้ จึงอยากฝากไปยังหน่วยข่าวของฝ่ายรัฐบาลต้องมีสติให้มาก เพราะยังมีขบวนการเสี้ยมให้เกิดเรื่องอยู่

“ผมยืนยันได้ถ้า นปช.จะทำอะไร จะเคลื่อนไหวอะไร ต้องแถลงข่าวให้รับรู้กันตรงไปตรงมา” นายจตุพร ระบุ

** แจ้งข้อหาผิด ม.116-พ.ร.บ.คอมพ์

จนเมื่อเวลา 16.30 น. กองบังคับการปราบปราม เจ้าหน้าที่ กกล.รส. ได้คุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 8 ราย ได้แก่ นายหฤษฏ์ มหาทน, น.ส.ณัฎฐิกา วรธันยวิชญ์ หรือนัท, นายนพเก้า คงสุวรรณ, นายวรวิทย์ ศักดิ์สมุทรนันท์ หรืออ้วน, นายโยธิน มั่งคั่งสง่า หรือโย, นายธนวรรธน์ บูรณศิริ, นายศุภชัย สายบุตร หรือ ตั๋ม และนายกัณสิทธิ์ ตั้งบุญธินา หรือ ที ซึ่งเป็นทีมงานแอดมินเพจเฟซบุ๊ก "เรารัก พลเอกประยุทธ์” และร่วมทำหน้าที่ตรวจสอบการโพสต์เพจเฟซบุ๊ก “UDD Thailand" มาส่งมอบให้กับพนักงานสอบสวน กองปราบปราม เพื่อแจ้งความดำเนินคดี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 หลังมีการโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ และการทำประชามติ ทั้งนี้ นายชัยธัช รัตนจันทร์ ผู้ต้องหาในคดีเดียวกัน เบื้องต้นทราบข้อมูลว่าอยู่ต่างประเทศ

โดยมี พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) พร้อมด้วยนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายนาย มาร่วมสอบปากคำด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่มีการจัดชุดคณะพนักงานสอบสวนไว้รวม 8 ชุดเพื่อสอบปากคำผู้ต้องหา พร้อมกับแจ้งข้อกล่าวหาตามหมายจับของศาลทหารกรุงเทพ ทั้งนี้ได้มีบรรดาญาติๆ และทีมทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมาร่วมสังเกตการณ์ ซึ่งหนึ่งในทนายความระบุว่าต้องการให้ผู้ต้องหานั้นได้ใช้สิทธิ์ในการเลือกทนายความด้วยตนเอง ไม่ใช่ทนายความที่ทางพนักงานสอบสวนจัดหาไว้ให้

ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนกองปราบปรามฯ จะได้นำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดไปยื่นฝากขังผลัดแรกต่อศาลทหาร ในวันที่ 29 เม.ย.นี้ เวลา 09.00น.

** กองปราบฯเปิดผังโยง “จตุพร-หนูหริ่ง”

เวลาต่อมา เจ้าหน้าที่กองปราบปรามฯได้เผยแพร่แผนผังเครือข่ายกลุ่มผู้กระทำผิดต่อความมั่นคงตาม ม.116 โดยมีรายชื่อผู้ต้องหาทั้ง 9 ราย ที่ได้ร่วมดำเนินการเพจเฟซบุ๊ค มุ่งโจมตีการบริหารงานของรัฐบาลจำนวน 4 เพจ ประกอบด้วย เพจ “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์” เพจ “uddthailand” เพจ”Red Democracy ประชาธิปไตยในทัศนะของคนเสื้อแดง” และเพจ “Peace TV” โดยระบุว่า นายชัยธัช เป็นผู้รับคำสั่งจากผู้สั่งการ และรับเงินค่าตอบแทนจ่ายให้แก่ทีมงานที่เกี่ยวข้อง นายหฤษฏ์เป็นที่ปรึกษาในการดูแลเนื้อหา ก่อนสั่งการไปยัง น.ส.ณัฎฐิกา หรือนัท ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมแอดมิดเพจต่างๆ ทั้งยังระบุด้วยว่า น.ส.ณัฎฐิกา รับจ้างทำเวบเพจให้แก่นายจตุพร และนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ด้วย

ในแผนผังที่เผยแพร่ออกมานั้นได้ระบุพฤติกรรมของผู้ต้องหาทั้ง 9 รายโดยละเอียด โดยแต่ละรายได้รับเงินค่าจ้างตั้งแต่ 16,000 - 18,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป เนื้อหาตอนหนึ่งยังระบุด้วยว่า น.ส.ณัฎฐิกาได้รับเงินจากนายสมบัติ เพื่อทำเพจต่างๆในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.56 - 31 มี.ค.57 รวมจำนวน 992,500 บาท เพื่อนำไปสนับสนุนแอดมินเพจต่างๆให้ร่วมกันโจมตีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ด้วย

** “ศาลอาญา” นัดฟังคำสั่งขอปล่อยตัว

อีกด้าน ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.00 น. น.ส.ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และบิดา-มารดา กับญาติของผู้ต้องหารวม 4 คน ที่ถูกเจ้าหน้าที่ กกล.รส.คุมตัวไว้ ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทหารปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญามาตรา 90 เกี่ยวกับการคุมขังโดยมิชอบ ภายหลังถูกคุมตัวไปที่ เรือนจำชั่วคราว มทบ.11

ต่อมา เวลา 15.00 น.ศาลได้ไต่สวนพยานผู้ร้อง โดยทนายความผู้ร้อง แถลงต่อศาลว่า ขณะนี้ญาติของผู้ถูกควบคุมตัวได้เดินทางไปยังกองบังคับการปราบปราม เนื่องจากทราบว่า จะมีการนำตัวผู้ถูกควบคุมไปแถลงข่าว จึงขอให้ศาลไต่สวนทนายความผู้ร้องแทน ศาลพิจารณาแล้ว จึงได้ไต่สวนทนายผู้ร้องทั้ง 2 ปาก โดยนัดฟังคำสั่ง ในวันที่ 29 เม.ย.นี้ เวลา 10.00 น.

** โฆษก คสช.ยันทำกันเป็นขบวนการ

ด้าน พ.อ.วินธัย สุวารี ทีมโฆษก คสช.เปิดเผยว่า ขณะนี้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหากลุ่มผู้กระทำความผิดในการโพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์แล้วจำนวน 9 คน ซึ่งในจำนวนนี้อยู่ต่างประเทศจำนวน 1 คน โดยเมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่มีการควบคุมตัว 10 คนนั้น ได้ปล่อยตัวไปแล้ว 2 คนเพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดย 1 คนที่ควบคุมมาจาก จ.ขอนแก่น สำหรับข้อกล่าวหาทั้ง 9 รายคือมีกระทำความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และผิดกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีการยุยง ปลุกปั่น ทั้งนี้ไม่ใช่การกระทำในลักษณะของบุคคล แต่เป็นขบวนการ ซึ่งมีพฤติกรรมการปรากฏชัดเจนจากการโพสต์ข้อมูล ประกอบกับคำให้การ ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถตั้งข้อกล่าวหาและดำเนินคดีได้ ส่วนจะมีความสัมพันธ์กับทาง นปช.หรือไม่นั้น ทางคดียังไม่ชัดเจน ซึ่งการที่ นายจตุพร ระบุว่า เป็นผู้บริหารเพจของเขานั้น เป็นเพียงความเชื่อมโยงส่วนบุคคล แต่ไม่ใช่การเชื่อมโยงทางคดี

“การกระทำของขบวนการนี้ มีบุคคลอยู่เบื้องหลัง แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานที่เจ้าหน้าที่ในการสืบสวนและขยายผลต่อไป ยืนยันว่า เมื่อเจ้าหน้าที่พบผู้กระทำผิดหรือ ผู้ต้องสงสัยนั้น ได้ปฏิบัติด้วยแนวทางสุภาพและเปิดเผย ไม่ได้เป็นไปตามที่มีการกล่าวหาว่าดำเนินการในรูปแบบกระทำต่อคนที่ผิด พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ และที่ผ่านมายังไม่พบเจ้าหน้าที่กระทำเกินกว่าเหตุ” พ.อ.วินธัย กล่าว

** “สมชัย” ปัดโดน กกต.คนอื่นเขม่น

ขณะที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงข่าวว่า ตนได้คุยโทรศัพท์กับนายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) หลังมีข่าวว่าออกมาระบุว่า ตนทำผิดกฎหมายในกรณีที่ไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่โพสต์ข้อความเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ประชามติ โดยได้รับการยืนยันจากนายอุดมว่าไม่ได้พูดตามที่เป็นข่าว ทั้งนี้การแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษนั้นสามารถแยกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มแรกการคัดค้านการออกเสียงประชามติเนื่องจากมีการทุจริต กรรมการไม่เป็นกลาง มีการดำเนินการที่ไม่เหมาะสม เพื่อให้จัดการออกเสียงใหม่ในบางพื้นที่ ซึ่งจะต้องเข้าสู่ที่ประชุม กกต. ส่วนเรื่องทำผิดอาญาไม่จำเป็นต้องเข้าสู่ที่ประชุม กกต. ดังนั้นการที่ตนไปแจ้งความจึงไม่ผิดกฎหมายตามที่มีการกล่าวหา และประชาชนก็สามารถใช้สิทธิดำเนินคดีได้ด้วยตัวเองเช่นเดียวกัน

“ส่วนข่าวที่ว่า ผมถูก กกต.คนอื่นตำหนิว่าออฟไซด์ ก็ไม่เป็นความจริง เพราะไม่มีการพูดเรื่องนี้ โดยยืนยันว่า กกต.ทุกคนเข้าใจตรงกัน” นายสมชัย กล่าว

นายสมชัย กล่าวต่อว่า หลังการประชุม กตต. ในวันที่ 29 เม.ย. จะมีการพิจารณาร่างประกาศ กกต.เกี่ยวกับแนวทางที่สามารถทำได้หรือไม่ได้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนต่อสังคม และ นายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย จะได้ชี้แจงเกี่ยวกับกระบวนการร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำความผิดผ่าน กกต.ว่าสามารถทำในช่องทางใดได้บ้าง ส่วนกรณีที่ได้ดำเนินคดีผู้กระทำผิดเมื่อวันที่ 27เม.ย.นั้น ถือว่าจบหน้าที่แล้ว เพราะผู้กระทำผิดรับสารภาพว่าโพสต์ข้อความด้วยตัวเองเนื่องจากไม่พอใจกับบรรยากาศทางการเมือง และไม่รู้ว่าผิดกฎหมาย แต่กระบวนการสอบสวนต้องดำเนินการต่อเพื่อส่งฟ้องต่อศาล ซึ่งถือเป็นคดีตัวอย่างว่าการแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญว่าจะรับหรือไม่รับหากใช้เหตุผลสามารถทำได้ แต่ถ้าใช้ถ้อยคำหยาบคาย รุนแรงก็เข้าองค์ประกอบความผิด สำหรับกรณีที่มีข่าวว่าทหารจังหวัดนครสวรรค์แจกใบปลิวรณรงค์ให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องตรวจสอบก่อนโดยจะรวบรวมข้อมูลเข้าสู่ที่ประชุมพิจารณาว่าเป็นการกระทำผิดหรือไม่.
กำลังโหลดความคิดเห็น