xs
xsm
sm
md
lg

อ่านเอง คิดเองโดยอิสระ : หลักในการรับไม่รับร่าง รธน.

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

“สุ จิ ปุ ลิ” นี่คือหัวใจนักปราชญ์หรือหลักการสำคัญ 4 ประการที่ทำให้ผู้ถือปฏิบัติเป็นนักปราชญ์ ตามนัยแห่งคำสอนในพระพุทธศาสนา

คำย่อ 4 คำดังกล่าวข้างต้น มีคำอธิบายขยายความดังต่อไปนี้

1. สุ ย่อมาจากคำว่า สุตตะ หรือสุตา หมายถึงการฟังในที่นี้รวมความไปถึงการอ่านด้วย ทั้งนี้เนื่องจากว่าในพุทธกาลมีเพียงภาษาพูด จึงมีเพียงการฟังผู้อื่นพูด แต่ในปัจจุบันมีภาษาเขียนจึงหมายความถึงการอ่านข้อเขียนของผู้อื่นด้วย

2. จิ ย่อมาจากคำว่า จิตตะ หมายถึงการคิดพิจารณาหาเหตุผลในสิ่งที่ได้ฟัง และได้อ่านก่อนที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ยอมรับหรือปฏิเสธ

3. ปุ ย่อมาจากคำว่า ปุจฉา หมายถึงการถามเมื่อเกิดความสงสัยในสิ่งที่ได้ฟังหรือได้อ่าน และในการถามควรจะเลือกคนที่จะถามเพื่อให้แน่ใจว่าคำตอบที่ได้ถูกต้อง และครบถ้วนครอบคลุมในสิ่งที่ต้องการรู้

4. ลิ ย่อมาจากคำว่า ลิขิต หมายถึงการเขียน การบันทึกสิ่งที่ได้ฟัง และได้อ่าน ทั้งมีความเข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว อย่าเขียนหรือบันทึกสิ่งที่ตนเองยังมีข้อสงสัยไว้ เพราะจะกลายเป็นการบันทึกความไม่แน่นอนไว้ให้ตนเอง และคนรุ่นหลังได้เรียนรู้และนำไปใช้โดยปราศจากความถูกต้องได้

จากนี้ไปจนถึงวันที่ 7 สิงหาคม เป็นห้วงแห่งเวลาที่คนไทยทุกคนควรจะได้ใช้หัวใจนักปราชญ์ 4 ประการนี้ในการฟังและการอ่านเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อทำความเข้าใจและหาเหตุผลในการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงคำถามพ่วงท้ายในวันที่ 7 สิงหาคม ซึ่งจะมาถึงในอีก 3 เดือนกว่าข้างหน้านี้

ทำไมจึงต้องใช้หัวใจของนักปราชญ์ในการฟัง และอ่านร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนจะตัดสินใจรับหรือไม่รับ?

ก่อนที่จะตอบคำถามดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านอ่านย้อนไปดูความเป็นมาของการเมืองการปกครองของประเทศไทย นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ก็จะพบว่าการเมืองการปกครองของประเทศไทย ไม่พัฒนาและวนเวียนสับเปลี่ยนเป็นวัฏจักรระหว่างระบอบเผด็จการกับระบอบประชาธิปไตย และที่เป็นเช่นนี้อนุมานได้ว่า น่าจะเกิดจากปัจจัยสำคัญซึ่งเป็นองค์ประกอบในการพัฒนาระบอบการเมืองการปกครองดังต่อไปนี้

1. ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในภาคเกษตรกรรม และเป็นสังคมปฐมภูมิไม่มีความตื่นตัวทางการเมืองมากนัก ประกอบกับอุปนิสัยดั้งเดิมเป็นคนรักสงบ ไม่ชอบการแสดงออกทางการเมือง โดยความคิดเห็นอิสระของตนเอง ทั้งโดยพฤติกรรมปกติแล้ว เป็นพวกปัจเจกนิยม และไม่ค่อยใส่ใจระบอบนิยม ดังนั้น จึงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นระบอบนิยม แต่เป็นปัจจัยเกื้อหนุนระบอบเผด็จการซึ่งเป็นปัจเจกนิยมคือยึดตัวผู้นำเป็นหลัก

ด้วยเหตุนี้ เมื่อใดที่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย เข้ามาบริหารประเทศ มีความอ่อนแอ และแก้ปัญหาของประเทศไม่ทันต่อเหตุการณ์ และมีผู้นำออกมาต่อต้านรัฐบาลประชาชน ก็จะออกมาร่วมกันต่อต้านและเรียกหาระบอบเผด็จการให้เข้ามาใช้ความเด็ดขาดในการแก้ปัญหาประเทศทุกครั้งไป

ในทางกลับกัน เมื่อมีรัฐบาลเผด็จการเข้ามาบริหารประเทศ แต่ไม่ใช้ความเด็ดขาดแก้ปัญหาสำคัญๆ ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาอันเป็นเหตุอ้างในการโค่นล้มรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย เช่น ปัญหาการทุจริต อันเกิดจากการใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบให้แก่ตนเองและพวกพ้อง เป็นต้น ประชาชนก็จะเบื่อหน่ายและออกมาเรียกร้องให้รีบแก้ปัญหา ถ้าผู้นำเพิกเฉยไม่นำพาต่อข้อเรียกร้อง การรวมตัวกันขับไล่รัฐบาลก็จะเกิดขึ้น ดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516

2. นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย อาศัยอำนาจเงินก้าวขึ้นสู่อำนาจรัฐ และใช้อำนาจหน้าที่อันเกิดจากการมีตำแหน่งทางการเมืองแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบเป็นการถอนทุนที่จ่ายไป และบวกกำไรอีกหลายเท่าตัว ทำให้การปกครองในระบอบประชาธิไตยเป็นจุดด่างพร้อย ทำลายศรัทธาของประชาชนที่มีต่อระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จนประชาชนทนไม่ไหวลุกขึ้นต่อต้าน และขับไล่รัฐบาลกลายเป็นโอกาสให้ระบอบเผด็จการเข้ามาเป็นรัฐบาลแทนสับเปลี่ยนหมุนเวียนเป็นวัฏจักรการเมืองไทยในระยะเวลา 80 กว่าปีที่ผ่านมา

3. รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศของประเทศไทย ได้มีการร่างใหม่ทุกครั้งที่ระบอบเผด็จการเข้ามาบริหารประเทศแทนระบอบประชาธิปไตยเบ็ดเสร็จรวมแล้ว 20 ครั้งรวมทั้งครั้งนี้ แต่ก็ไม่ช่วยให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศในโลกตะวันตกที่เจริญแล้วอย่างประเทศอังกฤษ เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ น่าจะสรุปได้ว่าลำพังรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว คงมิใช่หลักประกันความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตย

ดังนั้น นักวิชาการในเมืองไทยผู้หลงใหลในรูปแบบประชาธิปไตย ตามแนวทางของประเทศโลกตะวันตก ควรจะได้หาเวลาศึกษาทบทวนว่าเหตุใดประชาธิปไตยของประเทศไทย จึงไม่เจริญก้าวหน้าเยี่ยงประเทศตะวันตก ทั้งๆ ที่นักวิชาการที่ทำการร่างรัฐธรรมนูญล้วนแล้วแต่จบการศึกษาจากประเทศตะวันตกเกือบทั้งสิ้น และที่ยิ่งกว่านี้ นักวิชาการเหล่านี้ได้ยึดรูปแบบและเนื้อหาประชาธิปไตยจากโลกตะวันตกมาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศไทยเกือบจะครบถ้วนเท่าที่จะพึงกระทำได้

แต่ที่นักวิชาการของไทยอาจขาดหรือลืมคิดไปก็คือ ที่นี่ประเทศไทย และคนไทยมิได้มีพฤติกรรมทั้งในแง่ของปัจเจก และพฤติกรรมทางสังคมโดยรวมเป็นเสมือนกับประชากรของประเทศตะวันตก ดังนั้น การทำสิ่งที่เหมือนมาให้คนที่มีพฤติกรรมต่างกันถือปฏิบัติอาจล้มเหลวได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาไม่สอดคล้องกันของประเทศในโลกตะวันตก แต่สอดคล้องกับอัตวิสัย และภาววิสัยของคนไทยและประเทศไทย อาจเอื้อประโยชน์แก่การพัฒนาระบอบการปกครองของประเทศไทยก็เป็นได้

ดังนั้น ในการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม จึงไม่ควรมองข้ามประเด็นนี้

สุดท้ายใคร่ขอฝากแง่คิดด้วยกวีบทนี้

หากไม่มีส่วนดีที่อยากได้
ก็ขอให้เลือกส่วนดีเท่าที่เห็น
แม้ไม่มีส่วนดีที่อยากเป็น
จงเลือกเฟ้นส่วนดีที่ให้มา
กำลังโหลดความคิดเห็น