xs
xsm
sm
md
lg

จะเข้าป่าทั้งที่ไม่มีป่าจะเข้า

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

ในช่วงนี้ มีประเด็นร้อนมากมายที่ถกเถียงกันในสังคมออนไลน์เช่นเฟซบุ๊กทางด้านการเมือง เรื่องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญน่าจะเป็นประเด็นร้อนสุด อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้ไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องความร้อนผิดปกติของอากาศ ประเด็นที่มีความเกี่ยวพันกับความร้อนของอากาศโดยตรงคงได้แก่เรื่องการทำลายป่าไม้ในหลายพื้นที่ ในจำนวนนี้ จังหวัดน่านได้รับความสนใจเป็นพิเศษเนื่องจากมีผู้นำภาพใหม่ๆ มาเสนอหลายครั้ง รวมทั้งสองภาพที่แนบมาซึ่งโพสต์ในเฟซบุ๊กว่าถ่ายเมื่อราวสองสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง หลังจากนั้นเกิดการถกเถียงกันอย่างเข้มข้นระหว่างภาคเอกชนกับฝ่ายราชการ ตามด้วยเรื่องผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในสังคมอาสาจะออกไปปลูกป่าทดแทนให้ นอกจากภาพนี้ ยังมีภาพที่ผู้โพสต์อ้างว่ามาจากป่าต้นน้ำนับล้านไร่ในพื้นที่หลายแห่ง ซึ่งน้ำในสายน้ำแห้งเหือดหมดภาพเหล่านั้นไม่น่าจะมีผู้เสแสร้งแกล้งตกแต่งหรือทำขึ้นมาเพื่อเป้าหมายที่ไม่สร้างสรรค์ ฉะนั้น จึงเกิดคำถามมากมายรวมทั้งการทำลายป่าขนาดนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร และอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปในภายภาคหน้า
(เครดิต – ขวัญชัย ดวงสถาพร)
ความเห็นหลากหลายที่ปรากฏในสังคมออนไลน์พอสรุปได้ว่า ถ้าฝ่ายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของบ้านเมืองไม่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ หรือไม่มีส่วนร่วมด้วยโดยตรง การทำลายป่ามากถึงขนาดดังที่เห็นในภาพเหล่านั้นซึ่งคงเกิดต่อเนื่องกันเป็นเวลานานหลายปีจะเกิดขึ้นไม่ได้แน่นอน ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้เสนอให้ยุบกรมป่าไม้ไปเสียเลยเพราะเปลืองเงินภาษีปีละหลายพันล้านบาท

ภาพเหล่านั้นและการนำเสนอเรื่องราวของสื่อต่างๆ ดูจะนำไปสู่การปฏิบัติการของทางฝ่ายราชการจำพวกจับกุมผู้บุกรุกและยึดคืนพื้นที่ป่าสงวนอยู่บ้าง อย่างไรก็ดี การเข้ายึดโดยทั่วไปดูจะทำเพียงเป็นพิธีในพื้นที่ขนาดเล็กๆ เท่านั้น ส่งผลให้เกิดคำถามว่า ทางราชการให้ความสำคัญแก่การทำลายป่ามากแค่ไหน คำถามนี้มีน้ำเสียงไปในทางลบมากขึ้นเมื่อรัฐบาลใช้มาตรการเร่งด่วนเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งส่วนหนึ่งจะให้เอกชนใช้พื้นที่ป่าสงวนตั้งโรงงานและกิจการอื่นๆ คำถามนี้ดูจะยังไม่มีคำตอบตรงๆ จากทางฝ่ายราชการทำให้พอสรุปได้ว่า ป่าไม้ยังจะถูกทำลายต่อไปไม่ว่าผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในสังคมจะออกไปปลูกป่าทดแทนอย่างจริงจัง หรือเพียงออกมาสร้างกระแสเพื่อเรียกความสนใจให้ตัวเองเท่านั้น

ณ วันนี้ เป็นที่ทราบกันดีในหลายภาคส่วนของสังคมโลกแล้วว่าการทำลายป่านำไปสู่การทำลายตัวเองอย่างไร แต่คนไทยส่วนใหญ่คงยังไม่ยอมรับ หรือยังมักง่ายและเห็นแก่ได้มากเกินที่จะหยุดทำลายป่า จึงขอนำเรื่องราวของการทำลายป่าและการปกปักรักษาป่าบางเรื่องมาเสนอสั้นๆ อีกครั้งเรื่องราวเหล่านี้มีรายละเอียดอยู่ในหนังสือชื่อ A Forest Journey : The Story of Wood and Civilization ของ John Perlin และชื่อ Collapse: How Societies Choose to Fail or Succeed ของ Jared Diamond (ทั้งสองเล่มมีบทคัดย่อภาษาไทยอยู่ในเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com)

เรื่องที่อาจไม่มีใครนึกถึงคือครั้งหนึ่งมีป่าไม้อยู่ในเขตทะเลทรายซึ่งเป็นอิรักและซีเรียในปัจจุบัน ย่านนั้นเริ่มก้าวหน้าและมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ก่อนใครในโลก ความก้าวหน้านั้นนำไปสู่การสร้างอารยธรรมต่างๆ ดังที่เราทราบกันจากการเรียนประวัติศาสตร์ พร้อมกันนั้นเกิดการทำลายป่าอย่างต่อเนื่องเพื่อนำพื้นที่มาใช้ผลิตอาหารและนำไม้มาใช้ในการก่อสร้างและทำเชื้อเพลิง เมื่อหมดป่าไม้ ภูมิอากาศก็เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้พื้นที่ในย่านนั้นเริ่มกลายเป็นทะเลทรายตามด้วยความล่มสลายของอารยธรรมโบราณ จากนั้นมา ย่านนั้นก็รบราฆ่าฟันกันอย่างต่อเนื่อง

ความล่มสลายของอารยธรรมขนาดใหญ่คล้ายในย่านตะวันออกกลางเกิดขึ้นกับอารยธรรมมายาในย่านอเมริกากลางด้วยเช่นกัน อารยธรรมมายามีสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่คล้ายพีระมิดของอียิปต์ซึ่งยังมีเหลือให้ดูอยู่ในปัจจุบันอารยธรรมมายาล่มสลายไปเมื่อราวพันปีที่ผ่านมา หลังการตัดไม้ทำลายป่าทำให้ภูมิอากาศเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ จริงอยู่พื้นที่แถบนั้นมิได้กลายเป็นทะเลทรายเช่นเดียวกับในย่านตะวันออกกลาง แต่ความแห้งแล้งติดต่อกันเป็นเวลานานทำให้ผลิตอาหารได้ไม่พอแก่ความจำเป็นของประชาชน ส่งผลให้เกิดการรบราฆ่าฟันกันและการอพยพออกนอกพื้นที่
(พีระมิดของชาวมายา)
มิใช่เฉพาะอารยธรรมใหญ่ๆ เท่านั้นที่ล่มสลายเพราะทำลายป่าไม้ของตนเองจนหมดสิ้น อารยธรรมเล็กๆ ก็เช่นกัน ตัวอย่างแนวนี้มีอยู่ที่เกาะอีสเตอร์ในทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก อารยธรรมขนาดเล็กนั้นไม่มีสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ทำให้เกิดความฉงนของชาวโลกเช่นพีระมิด หากมีอนุสาวรีย์รูปตัวคนขนาดใหญ่ซึ่งเป็นหินที่สกัดออกมาจากภูเขาและตั้งไว้เป็นทิวแถว ณ วันนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านอารยธรรมโบราณยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าชาวอีสเตอร์สกัดอนุสาวรีย์ออกมาจากภูเขาและนำมาตั้งขึ้นได้อย่างไร เรื่องที่พวกเขาแน่ใจคือ ชาวอีสเตอร์ตัดต้นไม้ใหญ่ๆ ในป่าจนหมด เมื่อหมดต้นไม้ขนาดใหญ่สำหรับใช้ทำเรือขุดเพื่อออกไปหาปลาในทะเลลึกห่างไกลจากเกาะ ชาวอีสเตอร์เริ่มขาดอาหารซึ่งนำไปสู่การฆ่าฟันกันจนอารยธรรมล่มสลายลง
(อนุสาวรีย์หินบนเกาะอีสเตอร์)
การศึกษาเรื่องบทบาทของป่าไม้ในความก้าวหน้า และความล่มสลายของสังคมมนุษย์มีอีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งไม่ค่อยมีใครใส่ใจเท่าไรนักทั้งที่มีความสำคัญ นั่นคือ เรื่องของญี่ปุ่น เมื่อพูดถึงการพัฒนาและความก้าวหน้าของญี่ปุ่น ความสนใจโดยทั่วไปมักพุ่งไปที่ความก้าวหน้าทางการอุตสาหกรรมที่ทำให้ญี่ปุ่นเป็นสังคมแรกซึ่งตามฝรั่งทัน แต่ก่อนที่ญี่ปุ่นจะพัฒนาอุตสาหกรรมสำเร็จนั้น ญี่ปุ่นอาศัยเกษตรกรรมเป็นหลัก ภาคเกษตรกรรมมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาของญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ชนชั้นผู้นำของญี่ปุ่นมองเห็นความสำคัญของป่า จึงพยายามปกปักรักษาป่าไว้ให้มากที่สุด ในปัจจุบันนี้ พื้นที่ของประเทศญี่ปุ่นกว่า 70% จึงปกคลุมด้วยป่าไม้ส่งผลให้ญี่ปุ่นชุ่มชื้นตลอดปี

สิ่งหนึ่งซึ่งคนไทยโดยทั่วไปอาจไม่ตระหนักเท่าไรนักคือ หลังเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม ไทยกับญี่ปุ่นเปิดประเทศรับฝรั่งและเทคโนโลยีใหม่พร้อมๆ กัน หลังจากนั้นมา การพัฒนาของสองประเทศเป็นไปคนละแนว ญี่ปุ่นเลิกทำลายป่ามานานแล้ว แต่ไทยยังไม่เลิก

ตอนนี้การพัฒนาของไทยประสบปัญหาสาหัสหลายอย่างทั้งทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ปัญหาเหล่านั้นอาจผลักดันให้ไทยพัฒนาถอยหลังซึ่งครั้งหนึ่งอาจเรียกตามสำนวนชาวบ้านว่า “เข้าป่า” คำนี้ไม่ค่อยมีการใช้กันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน ทั้งนี้คงเพราะในทางความเป็นจริงเมืองไทยแทบไม่มีป่าจะให้เข้าแล้ว จะลืมสำนวนนั้นกันแล้วหรือยังคงไม่สำคัญ แต่หากยังทำลายป่ากันต่อไปโดยทางราชยังให้ความสำคัญเพียงน้อยนิด หรือให้ความสำคัญแต่ปาก เมืองไทยจะไม่พัฒนา หากจะเข้าป่าอย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น