ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สัปดาห์ก่อนเขียนเรื่องฝ่ายประชาสัมพันธ์“โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา”ได้แจ้งเรื่องที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะที่ปรึกษาโครงการได้ชูแนวคิดหลัก "เจ้าพระยาเพื่อทุกคน" (Chao Phraya for All)และกำหนดไทม์ไลน์ ในระยะเวลาดำเนินการ 210 วัน ต่อโครงการสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 57 กม. และพื้นที่นำร่องสองฝั่งรวม 14 กม. จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า (ฝั่งตะวันออก ประมาณ 36 กม. ฝั่งตะวันตก ประมาณ 21 กม.)
สัปดาห์นี้ มีกลุ่มศิษย์เก่าสจล. ส่งจดหมายเปิดผนึก ถึงอธิการบดี ขอให้ถอนตัวจากที่ปรึกษาโครงการริมฝั่งเจ้าพระยา กลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “กลุ่มศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)”ได้ทำจดหมายเปิดผนึก ถึงฝ่ายบริหารสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เพื่อคัดค้านการเป็นที่ปรึกษางานสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของสจล. และมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีรายชื่อผู้ร่วมลงนามคัดค้านจำนวน 177 คน
เนื้อหาในจดหมายระบุว่า การสำรวจเพื่อศึกษา ออกแบบ โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 57 กม. และพื้นที่นำร่องทั้งสองฝั่งรวม 14 กม.จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ภายในกรอบระยะเวลา 7 เดือน ตามแนวคิด“เจ้าพระยาเพื่อทุกคน”นั้น ปรากฏว่ามีกระแสคัดค้าน เคลือบแคลง และวิพากษ์วิจารณ์การเข้ามารับงานของสจล.อย่างกว้างขวาง และไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายในทางที่ดีได้ จากสถานการณ์ดังกล่าว ทางกลุ่มศิษย์เก่าฯ จึงมีความกังวล และห่วงใย ดังนี้
1. ความสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียความน่าเชื่อถือของสจล. ในฐานะสถาบันการศึกษา เนื่องจากโครงการไม่เคยเปิดเผยเป้าหมายที่ชัดเจน ทั้งๆ ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้งบประมาณสูง และผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีความสำคัญหลายมิติ ทั้งทางประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ การเมืองระดับประเทศ แต่โครงการฯ แสดงออกถึงความต้องการเร่งด่วน ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ก็ยังไม่มีการนำเสนอข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับเป้าหมาย ทำให้สังคมตั้งคำถามถึงความโปร่งใส และความจำเป็นของโครงการ อีกทั้งไม่เคยมีการจัดเวทีสาธารณะที่เปิดเผยให้ประชาคมได้ร่วมอภิปราย แลกเปลี่ยนความเห็น จึงไม่ต่างจากการดึงสถาบันฯ เข้าไปในความเสี่ยงที่ชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือจะถูกสั่นคลอนได้
2. ความเสี่ยงต่อข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของคณะทำงาน อธิการบดี ดำรงตำแหน่งนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์โดยตำแหน่ง จึงเป็นกรรมการโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์เจ้าพระยา ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานด้วย ดังนั้น การเข้าไปรับงานที่ปรึกษาด้วยชื่อ สจล. จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้สังคมตั้งคำถามถึงความโปร่งใส และจรรยาบรรณวิชาชีพ อีกทั้งยังมีแนวโน้มจะต้องจ้างบุคคล หรือเอกชนที่ไม่ได้อยู่ในสังกัดของสจล.เอง แม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ลักษณะการดำเนินการเช่นนี้ย่อมทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงว่า จะเป็นการนำชื่อสถาบันการศึกษาไปใช้เพื่อผลประโยชน์ส่วนบุคคลหรือไม่
3. ความสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียความน่าเชื่อถือของสจล. ในหมู่นักวิชาชีพ เพราะโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบที่ซับซ้อน ในขณะที่ภาคประชาชนก็ยังไม่มีความเห็นเป็นผลสรุปชัดเจนในหมู่นักวิชาชีพ โดยเฉพาะสถาปนิก นักวางผังเมือง ก็ยังมีความเห็นแตกต่างอย่างชัดเจน ในสถานการณ์เช่นนี้ สจล.จึงควรวางตัวเป็นกลาง และระมัดระวังในการเข้าไปเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ส่วนข้ออ้างว่า“แม้ สจล.ไม่ทำ ก็จะต้องมีสถาบันการศึกษาอื่นเข้ามาทำ”หรือ “งานลักษณะนี้ต้องมีคนไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว”นั้น ก็ไม่อยู่ในวิสัยที่จะนำมาสร้างความชอบธรรมให้กับสถาบันฯในการรับงานภายใต้สถานการณ์ที่มความน่าเคลือบแคลงสงสัยเช่นนี้ได้
4. ความไม่น่าเชื่อถือของแนวทางการดำเนินโครงการฯ ของคณะทำงาน แม้มีการแถลงข่าวว่า โครการฯจะมีประโยชน์ต่อประชาชน ชุมชน และเมือง แต่แนวทางที่คณะทำงานสจล.ได้เสนอต่อสังคม ยังไม่อาจเชื่อได้ว่าจะเกิดการรับฟังความคิดเห็นได้อย่างครอบคลุม เพียงพอต่อการตัดสินใจภายใต้กรอบเวลาที่มีจำกัด อาทิ การชี้แจงได้ว่า ให้ความสำคัญกับชุมชนโดยการลงพื้นที่วันละ 3 ชุมชนนั้น สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ดำเนินการยังขาดความเข้าใจพื้นฐานในความหมาย และกระบวนการของการสร้างการมีส่วนร่วมที่แท้จริงในโครงการสาธารณะเช่นนี้ สจล. ควรแสดงท่าทีให้เป็นบรรทัดฐานแก่สังคมบนความคิดที่ไม่มุ่งเน้นแต่เพียงการพัฒนาทางวิศวกรรม โดยละเลย หรือหลีกเลี่ยงการทำความเข้าใจผลกระทบของโครงการที่มีต่อสังคมในมิติอื่นๆ รวมทั้งเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของคนในสังคมด้วย
5. ความสุ่มเสี่ยงต่อการนำสจล. เข้าไปมีส่วนร่วมในการผิดสัญญาประชาคม เนื่องจากข้อมูลปัจจุบัน การดำเนินการยังต้องเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่มีมาก่อนหน้า ซึ่งอาจกลายเป็นข้อกำหนดด้านรูปแบบ ขนาด และความสูงของโครงงสร้างที่จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยังไม่มีหลักประกันว่า เส้นทางริมเจ้าระยาจะไม่ถูกปรับไปใช้เป็นทางรถยนต์ในอนาคต แม้ในขณะนี้ทางรัฐบาลจะยืนยันว่า เป็นเส้นทางจักรยานก็ตาม แต่หากในวันข้างหน้าทางโครงการได้เปลี่ยนแปลงการใช้งานที่ต่างไปจากข้อตกลง และการประชาสัมพันธ์ต่อสังคม อาทิ การเพิ่มเส้นทางรถยนต์เข้าไปในโครงการนี้ด้วย ก็เท่ากับว่าคณะทำงานได้นำพา สจล. เข้าไปมีส่วนร่วมในการผิดสัญญาประชาคมด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ความกังวลของกลุ่มศิษย์เก่าสจล. จึงไม่อาจเพิกเฉยต่อการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำลายช่อเสียงและความเชื่อมั่นที่สังคมมีต่อ สจล.มาอย่างยาวนาน จึงมีมติ “คัดค้าน”การเป็นที่ปรึกษางานสำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และขอให้อธิการบดี ได้พิจารณาทบทวนบทบาทในโครงการนี้ โดยหากยังไม่สามารถชี้แจงความคลุมเครือ ข้อสงสัยต่างๆ ของการดำเนินงานที่ สจล.เข้าไปมีส่วนร่วมครั้งนี้ให้แก่ประชาคม และสาธารณะได้เข้าใจ และเห็นด้วยได้ ก็ควรพิจารณา“ถอนตัว”จากโครงการดังกล่าว ก่อนที่จะสร้างความเสื่อมเสีย
ทั้งนี้ หากอธิการบดียังคงเดินหน้าโครงการต่อไป โดยไม่ฟังเสียงทัดทานในจดหมายเปิดผนึกนี้แล้ว ทางกลุ่มฯ และศิษย์เก่าอีกจำนวนหนึ่งก็พร้อม และจำเป็นที่จะต้องยุติการให้การสนับสนุน สจล. ในทุกทางทันที
ต่อกรณีดังกล่าว “ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์”อธิการบดี สจล.ได้มอบหมายให้ “อาจารย์อันธิกา สวัสดิ์ศรี”ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในฐานะโฆษกโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ชี้แจงแทนว่า เนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกของศิษย์เก่าฯ อาจมีความเข้าใจคาดเคลื่อน เพราะการเป็นที่ปรึกษาให้กับโครงการของรัฐ ก็ถือว่าเป็นภารกิจของสถาบันการศึกษา ส่วนข้อสงสัยต่อโครงการ ก็อยากให้กลุ่มศิษย์เก่าฯ เข้ามาพูดคุยเพื่อความเข้าใจ
ดังนั้น การเข้าไปมีบทบาทเป็นที่ปรึกษาโครงการนี้ของสจล. เกิดขึ้นหลังผู้บริหารกรุงเทพฯ ตัดสินใจว่าจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ร่วมกันเสนอ สำรวจ ศึกษา ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงเปิดรับฟังความเห็นประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ในกรอบระยะเวลา 7 เดือน โดยโครงการนี้จะนำร่องปรับปรุงภูมิทัศน์ 2 ฝั่ง รวม 14 กม. จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า
ทั้งนี้ เวทีรับฟังความคิดเห็น ในวันที่ 22 เม.ย.นี้ เป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) ซึ่งต้องจัดทั้งสิ้น 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 จะเป็นการนำข้อมูลที่ได้ไปทบทวนโครงการและการพูดคุยกับชุมชนมานำเสนอ ทั้งนี้คณะทำงานไม่มีธงที่จะสร้างถนนขนาด 19.5 เมตร และไม่ใช้งบประมาณก่อสร้างมากถึง 1.4 หมื่นล้านบาท หรือสร้างกำแพงสูง 3 เมตร อย่างแน่นอน คาดว่าปลายเดือนเม.ย. จะได้ต้นแบบไปเสนอกับชุมชน
ก่อนหน้านี้ นายสกุล ห่อวโนทยาน รองอธิการบดี สจล. ในฐานะผู้จัดการโครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งเจ้าพระยา เปิดเผยว่า เตรียมเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งเจ้าพระยาครั้งที่ 1 ในวันที่ 22 เม.ย.นี้ เวลา 09.00-12.00 น. ที่โรงแรมเอส.ดี.อเวนิว ถ.ปิ่นเกล้า ซึ่งที่ผ่านมา ได้ศึกษาข้อมูลด้านชลศาสตร์ตลอดริมฝั่งเจ้าพระยาระยะทาง 57 กม. แล้ว และได้ส่งคณะทำงานสำรวจความต้องการของชุมชนในพื้นที่นำร่อง 14 กม. ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า โดยได้รับผลตอบรับในระดับดีมาก
จากโครงการดังกล่าว ทำให้สังคมสงสัยว่า จดหมายของ 177 กลุ่มศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่ต้องการให้ ฝ่ายบริหารถอนตัว “คัดค้าน”การเป็นที่ปรึกษางานสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บท กับฝ่ายบริหารสจล. ที่ต้องการเดินหน้าหลังจาก ผู้บริหารกทม.ว่าจ้างด้วยงบประมาณของกทม. วงเงิน 120 ล้านบาท และถือภารกิจของสถาบันฯ ตรงนี้ ใครเข้าใจผิด ???