xs
xsm
sm
md
lg

หยุดถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

หลังการรัฐประหารเพียง 2 วัน โครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ถูกหยิบขึ้นมาเป็นวาระเร่งด่วนบรรจุในแผนพัฒนาประเทศแบบบูรณาการ ราวกับว่า รัฐประหารเพื่อการนี้เลยก็ว่าได้

จนกระทั่งวันที่ 12 พ.ค. 2558 ครม.มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แผนงานก่อสร้างถนนเลียบริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 2 ฝั่งๆ ละ 7 กิโลเมตร รวม 14 กิโลเมตร ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระปิ่นเกล้า วงเงิน 14,006 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังให้กรมที่ดินรังวัดและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้พื้นที่เขตของโครงการ และให้กรมทางหลวงชนบทขอใช้พื้นที่สะพานพระราม 7 สะพานกรุงธน และสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า สำหรับกรุงเทพมหานคร ให้ดำเนินการในส่วนท่าเรือสาธารณะและท่าเรือเอกชนในการรื้อถอน ย้าย สร้างใหม่ และค่าชดเชย และให้กระทรวงมหาดไทย ขอพระราชทานอนุญาตก่อสร้างโครงการผ่านสำนักพระราชวัง วังศุโขทัย ท่าเทเวศน์ และท่าวาสุกรี

ว่ากันว่า พล.อ.ประยุทธ์เอาแรงบันดาลใจมาจาก “ชองกเยชอนโมเดล” ริมแม่น้ำฮัน ใจกลางกรุงโซลของเกาหลีใต้

โดยตลอดระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร จะสร้างตอม่อลงไปในน้ำตลอดเส้นทางโดยยกสูงจากผิวน้ำประมาณ 2 เมตร ประกอบด้วยทางเดินติดริมแม่น้ำกว้าง 7 เมตร สวนหย่อม 3 เมตร ทางจักรยานกว้าง 7 เมตร ทางเท้า-บันได 2.50 เมตร ส่วนคอนกรีตที่ยื่นลงไปในแม่น้ำข้างละ 20 เมตร โครงการนี้เป็นเพียงเฟสแรก เพราะในแผนการที่ผ่านความเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรีไปแล้วนั้น ระบุว่าการก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา 2 ฝั่งจะมีระยะทางรวมกัน 50 กิโลเมตร (ฝั่งละ 25 กิโลเมตร) เริ่มจากสะพานพระราม 3 สิ้นสุดที่สะพานพระนั่งเกล้า ด้วยงบก่อสร้าง 30,000 ล้านบาท

โครงการนี้ถูกคัดค้านอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะภาคีพัฒนาริมพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา (พพพ.) นำโดยผังเมืองจุฬาฯ ผังเมืองธรรมศาสตร์ ผังเมืองเกษตรศาสตร์ ผังเมืองศิลปากร แถลงการณ์ 4 ข้อคัดค้านระบุถึงผลกระทบด้านลบของโครงการต่อสิ่งแวดล้อม นิเวศวิทยา และภูมิทัศน์วัฒนธรรมของพื้นที่ริมน้ำ เสริมด้วยข้อมูลว่าการออกแบบยังขาดความเชื่อมโยงกับโครงข่ายการสัญจรของเมือง และภูมิสัณฐานของตลิ่ง โดยขอให้มีการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชน สร้างความเข้าใจต่อสาธารณะ เพื่อให้โครงการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ นำไปสู่การสร้างความเป็นเจ้าของพื้นที่ร่วมกัน แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่รับฟังเสียงท้วงติงยังคงเดินหน้าต่อไป

ศ.ดร.ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดี ถึงกับบอกว่า โครงการลักษณะนี้เป็นความคิดที่เลว ทำลายชีวิตของผู้คนริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้หมดสิ้น

“หากโครงการนี้เป็นโครงการที่รัฐบาล คสช.จะทำ ก็เรียกได้ว่าเป็นอนันตริยกรรม และเป็นโครงการที่จะทำลายชาวบ้านชาวเมืองนับไม่ถ้วน เป็นโครงการที่ทำลายรากเหง้าประวัติศาสตร์ แม้แต่จะคิดก็ไม่ควรคิดด้วยซ้ำ” ศ.ดร.ศรีศักร กล่าว

ว่าไปแล้วโครงการนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีความพยายามมาแล้วทั้งจากรัฐบาลประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย โดยพรรคเพื่อไทยเคยบรรจุโครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ว่ามีโครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา 17 กม.ในทำนองเดียวกัน แต่ก็พับไปก่อนเพราะผู้สมัครสอบตก ส่วนฝั่งประชาธิปัตย์โครงการดังกล่าวในสมัย พันเอกวินัย สมพงษ์ เป็น รมว.คมนาคม ในรัฐบาลชวน 1 และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ก็เคยผลักดันโครงการนี้

ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มีนาคม กทม.ร่วมด้วยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ได้ออกมาตั้งโต๊ะแถลงชี้แจงโครงการดังกล่าวว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงพื้นที่และใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ ทำกิจกรรม พักผ่อน ออกกำลังกาย และเป็นโครงข่ายคมนาคมที่สมบูรณ์เชื่อมต่อการเดินเรือทางบกและทางน้ำในอนาคต ภายใต้แนวคิด “เจ้าพระยาเพื่อทุกคน” (Chao Phraya for All) พร้อมกับเน้นย้ำว่า โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ใช่โครงการก่อสร้างถนนสำหรับรถวิ่ง แต่จะเป็นทางเดินและทางจักรยานเท่านั้น

ส่วนการจัดทำแผนแม่บท กทม.ได้ลงนามสัญญาจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นที่ปรึกษางานสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ภายในระยะเวลา 7 เดือน จากนั้นจะมีการจ้างผู้รับเหมาและใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 18 เดือน ซึ่งคาดว่าโครงการฯ จะแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2561

ส่วนผลกระทบที่มีต่อชุมชนริมน้ำราว 200 ครอบครัว ใน 31 ชุมชน ที่หลายฝ่ายเป็นกังวล กทม.และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) อ้างว่าได้เตรียมการช่วยเหลือด้านการจัดหาที่อยู่อาศัยสำหรับชุมชนรุกล้ำแล้ว อีกทั้งทีมที่ปรึกษาฯ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็ได้ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อพบปะและพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินโครงการ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็น ความต้องการ และข้อเสนอแนะเพื่อนำมาเป็นแนวคิดในการออกแบบ

สรุปว่าเดินหน้าแน่ โดยจะไม่มีการนำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ และไม่ฟังเสียงคัดค้านจากประชาชน

ลองหลับตานึกนะครับว่า ถ้าเราล่องเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านมาถึงสะพานพระปิ่นเกล้าไปจนถึงสะพานพระราม 7 สิ่งที่เราจะเห็นสองฟากฝั่งต่อไปนี้ก็คือ ตอม่อและถนนที่กว้าง 20 เมตรตลอดแนว 7 กิโลเมตรทั้งสองฝั่งแม่น้ำ จากเดิมที่เราเคยเห็นบ้านเรือน วิถีชีวิตของชุมชนริมน้ำ สิ่งปลูกสร้าง เวียงวัง วัดวาอาราม ซึ่งเป็นรากเหง้าประวัติศาสตร์ของกรุงเทพมหานครที่ในอดีตเคยใช้เส้นทางน้ำเป็นเส้นทางคมนาคมมาก่อน และแม่น้ำจะหดแคบลงมาข้างละ 20 เมตร

แนวความคิดของรัฐบาลที่จะจัดพื้นที่สาธารณะริมน้ำเจ้าพระยาในลักษณะพื้นที่สันทนาการสำหรับประชาคมเมืองเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ใช่บนเส้นทาง 14 กิโลเมตรของสองฝั่งระหว่างสะพานปิ่นเกล้ากับสะพานพระราม 7 ซึ่งมีกลิ่นอายของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ถ้าจะทำโครงการนี้เลียบแม่น้ำเจ้าพระยาควรจะทำบนทำเลที่อยู่นอกจากใจกลางกรุงเทพฯ ไม่ใช่ใจกลางประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ แบบนี้ ในเมื่อเรามีเป้าหมายแค่เป็นทางเดิน พักผ่อน และทางจักรยานเท่านั้น นักท่องเที่ยวเขาคงอยากดูเมืองมากกว่ามาออกกำลังกายแน่

ผมไม่รู้จะพูดอย่างไรดีกับรัฐบาลนี้ ดูเหมือนเขาจะไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม วิถีชุมชน เพราะเพิ่งจะสั่งให้ยกเลิกการบังคับกฎหมายผังเมืองในหลายโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สั่งให้ลัดขั้นตอนของการทำอีไอเอในโครงการขนาดใหญ่

ก็คงได้แต่วิงวอนพล.อ.ประยุทธ์ว่า ให้ทบทวนพิจารณาโครงการนี้ โดยฟังเสียงคัดค้านจากนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี นักสถาปัตยกรรม นักผังเมือง และเสียงของประชาชน ผมคิดว่าแม้รัฐบาลนี้จะเป็นรัฐบาลทหาร แต่ก็น่าจะมีสายตาที่แยกแยะได้ว่าอะไรที่ “สวยงาม” อะไรที่ “น่าเกลียด” คงไม่ถึงกับมองความอัปลักษณ์เป็นสิ่งที่สวยงาม

แน่นอนว่า ยุคนี้เป็นยุคที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ ประชาชนไม่สามารถไปคัดง้างกับกำปั้นเหล็กและปากกระบอกปืนได้ แต่พล.อ.ประยุทธ์ครับ อย่าทำในสิ่งที่ศ.ดร.ศรีศักรเรียกว่า “ความคิดที่เลว” เลยครับ

มีคนบอกว่าโครงการนี้จะเป็นทัศนะอุจาดที่ทำลายความสวยงามของกรุงเทพมหานคร แต่สำหรับผมอยากเรียกว่าทัศนะอุบาทว์มากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น