ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สัปดาห์ก่อน ฝ่ายประชาสัมพันธ์ “โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา”ได้แจ้งความคืบหน้างานสำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 57 กม. และพื้นที่นำร่องสองฝั่งรวม 14 กิโลเมตร จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า
หลังจาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะที่ปรึกษาฯ ได้ชูแนวคิดหลัก "เจ้าพระยาเพื่อทุกคน" (Chao Phraya for All) โดยมีแผนฟื้นฟูแม่น้ำ พัฒนาภูมิทัศน์ และทางเดิน-ปั่นจักรยานซึ่งบางส่วนเลียบแม่น้ำ บางส่วนวกเข้าพื้นดินริมฝั่ง เชื่อมต่อนันทนาการ วัฒนธรรม พื้นที่สีเขียวและระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนทุกคนและคนพิการสามารถเข้าถึงแม่น้ำได้อย่างเท่าเทียมกัน เผยลงพื้นที่พบปะ 31 ชุมชน ส่วนใหญ่สนับสนุนและจะออกแบบร่วมกันโดยแตกต่างไปตามอัตลักษณ์และสะท้อนคุณค่าวิถีวัฒนธรรมของแต่ละย่าน
ตามแผนของคณะที่ปรึกษาฯ ได้กำหนดไทม์ไลน์ ในระยะเวลาดำเนินการ 210 วัน หลังเทศกาลสงกรานต์นี้
ปลาย เม.ย.59 คณะที่ปรึกษาฯ จะลงพื้นที่ชุมชนเพื่อสำรวจสองฝั่งแม่น้ำและทำความเข้าใจกับชุมชน รับฟังและแก้ไขปัญหาของชุมชนริมฝั่ง ร่วมแสดงข้อคิดเห็นในการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำ ตามแผนงานจะสรุปการออกแบบเบื้องต้นของเส้นทางริมแม่น้ำเจ้าพระยาว่าจะมีรูปแบบลักษณะใดความกว้างเท่าใด ซึ่งการออกแบบเบื้องต้นจะกำหนดพื้นที่การพัฒนาภูมิทัศน์และทางเดิน-ปั่นจักรยาน ระยะช่วงนำร่องตลอด 2 ฝั่งแม่น้ำระยะทาง 14 กม.ก่อน
ทำการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 57 กม. เริ่มตั้งแต่ สะพานพระราม 7 ถึง สุดเขตกรุงเทพมหานคร (ฝั่งตะวันออก ประมาณ 36 กม. ฝั่งตะวันตก ประมาณ 21 กม.) ทำการสำรวจออกแบบรายละเอียดและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียด ( EIA )14 กม. พื้นที่ศึกษา จะเริ่มจากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า
ในเดือน ก.ค.59 คณะที่ปรึกษาฯ จะจัดทำรายงานผลกระทบทางชลศาสตร์และอุทกวิทยา ของริมน้ำตลอดระยะทาง 57 กม.(แผนแม่บท) จะแล้วเสร็จในเดือน ส.ค.59 คณะที่ปรึกษาฯ จะได้รูปแบบรายละเอียดและประเมินราคาก่อสร้างในเดือน ก.ย.59 ระยะตามแผนแม่บท 57 กม. คณะที่ปรึกษาฯ จะสรุปรายงานการสำรวจและออกแบบ รวมทั้งรายงาน EIA แล้วเสร็จ และใน เดือน ม.ค. 60 กทม.และคณะทำงาน จึงจะเริ่มงานก่อสร้างได้ทันที
ทีนี้มาดูว่ากทม. และทีมงานที่ปรึกษาฯได้ทำอะไรกันแล้วบ้าง ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา ในเวที “งาน 234 ปี กรุงเทพฯ”ตอนหนึ่งของการเสวนา “นายพีระพงษ์ สายเชื้อ”ปลัดกรุงเทพมหานคร ระบุไว้ว่า กทม.จะใช้ “โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา” เป็นแผนหลักในงาน 234 ปี กรุงเทพฯ
ขณะนี้ยังมีประชาชนบางส่วนยังเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับโครงการว่าจะทำถนนรถวิ่ง มีเสาตอม่อในน้ำ 400 ต้น เหมือนกันหมด ทำลายระบบนิเวศ หรือ สูงจนบดบังทัศนียภาพ หรือใช้งบประมาณ 14,000 ล้านบาท สำหรับ 14 กม.นั้น ขอให้หายกังวลใจ เพราะการศึกษาสำรวจโดย สจล. จะเริ่มทำใหม่ทั้งหมดโดยมุ่งเน้นความยั่งยืน และสืบสานวัฒนธรรมริมฝั่งน้ำ การออกแบบจะทำร่วมกับชุมชนโดยสะท้อนคุณค่าของแต่ละย่าน ส่วนค่าก่อสร้างจริงจะทราบเมื่อแบบแล้วเสร็จเสียก่อน ความร่วมมือร่วมใจจากประชาชนทุกกลุ่มจะสนับสนุนให้โครงการก้าวสู่ความสำเร็จ ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และมีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์แห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร”
ด้านศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สจล. กล่าวว่า มีความจำเป็นในการเพิ่มพื้นที่สาธารณะสีเขียวสำหรับการพักผ่อนและสร้างแรงบันดาลใจของคนเมืองและคุณภาพของเมือง จากสัดส่วนพื้นที่สาธารณะสีเขียวต่อประชากร 1 คนตามมาตรฐานสากล คือ 15 ตารางเมตร แต่กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่สาธารณะสีเขียวต่อประชากร 1 คน เพียง 4.47 ตารางเมตร ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานโลก (ที่มา:www.bangkokgreencity.bangkok.go.th)
โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จะให้ประโยชน์รอบด้าน คือ ประชาชน ชุมชน และเมือง
1. ประโยชน์ต่อประชาชน ทำให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงพื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำได้สะดวก ปลอดภัย เพื่อพักผ่อนหย่อนใจและใช้ประโยชน์ด้านนันทนาการสุขภาพ วัฒนธรรม และกิจกรรม รวมถึงมีโอกาสได้พบปะและสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในบรรยากาศที่สร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังช่วยฟื้นความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของประชาชนกับแม่น้ำเจ้าพระยา และยังสร้างทางเลือกใหม่ในการเดินทางที่เชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ รถ เรือ ราง เดิน ปั่นมากขึ้น
2. ประโยชน์ต่อชุมชน คือส่งเสริมคุณค่าวิถีวัฒนธรรมจุดเด่นในชุมชน พัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในชุมชนครอบครัว และผู้สูงวัยในชุมชน มีพื้นที่ส่วนกลางเพิ่มขึ้น เยาวชนมีพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจ เชื่อมต่อการสัญจรในชุมชนกับพื้นที่สาธารณะและระบบขนส่ง ช่วยให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
3. ประโยชน์ต่อเมือง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาพื้นที่ในภาพรวมให้เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน มีการขยายตัวและเติบโตของกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ริมน้ำ สร้างโครงข่ายทางเดิน-ปั่นเชื่อมต่อพื้นที่สีเขียว นันทนาการ วัฒนธรรม และระบบขนส่งรถ-เรือ-ราง อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการปรับปรุงคุณภาพน้ำและสภาพแวดล้อม ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์รวมถึงสนับสนุนระบบป้องกันน้ำท่วมของกทม.ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
รศ.ดร.สกุล ห่อวโนทยาน ผู้จัดการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บอกว่า จากการลงพื้นที่ศึกษา สำรวจชุมชน โดยระดมทีมการมีส่วนร่วมของประชาชนในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
มีข้อสรุปเบื้องต้นของ 32 ชุมชนใน 4 เขต ในพื้นที่นำร่องระยะทาง 14 กม. คือ เขตพระนคร เขตบางซื่อ เขตบางพลัด และเขตดุสิต พบว่า เมื่อพบปะชี้แจง แล้วชุมชนก็เข้าใจและให้ความร่วมมือกับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นอย่างดี ปัญหาของชุมชนต่างๆ มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ได้แก่ ปัญหาน้ำเสีย น้ำท่วมขังกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เขื่อนเดิมบังทิวทัศน์และทางลม ปัญหาการรุกล้ำลำน้ำซึ่งรอการเยียวยาและช่วยเหลือจากรัฐบาล เส้นทางสัญจรภายในชุมชนคับแคบ มืด และไม่ปลอดภัย ชุมชนขาดพื้นที่สาธารณะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ นอกจากประชาชนจะสนับสนุนประชาชนจะสนับสนุนโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
ยังมีข้อเสนอแนะว่า ต้องการให้เพิ่มพื้นที่สาธารณะและปรับปรุงภูมิทัศน์โดยคำนึงถึงประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงความปลอดภัยชุมชนริมน้ำ
สำหรับรายงานการออกแบบเบื้องต้น และแบบเบื้องต้น (Preliminary Drawing)ทางเดิน-ปั่นระยะนำร่อง 14 กม. จะแล้วเสร็จในช่วงปลายเดือนเม.ย. ส่วนรายงานการศึกษาผลกระทบด้านชลศาสตร์และอุทกวิทยาและการป้องกันน้ำท่วม และรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) ระยะทาง 2 ฝั่ง 57 กม. จะแล้วเสร็จประมาณปลายเดือนก.ค. ด้านรูปแบบรายละเอียด (Detailed Design Drawings)และเอกสารประมาณราคาค่าก่อสร้างจะแล้วเสร็จปลายเดือนส.ค. และแบบเชิงหลักการ(Conceptual design drawings) 57 กม. , รายงานแผนแม่บทการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานครฉบับสมบูรณ์, รายงานขั้นสุดท้ายและรายงาน EIA ฉบับสมบูรณ์ จะแล้วเสร็จในเดือนก.ย. พร้อมนำเสนอต่อกทม. และคณะอนุกรรมการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเป็นทางการ
ส่วนความหลากหลายของงานสถาปัตยกรรมกับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา“ผศ.นพปฎล สุวัจนานนท์”สถาปนิกโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บอกไว้ว่า เนื่องจากภูมิทัศน์วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของพื้นที่ตลอดแม่น้ำเจ้าพระยามีความแตกต่างกัน ทั้งเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินและวิถีชีวิตของผู้คน นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงความเสี่ยงจากอุทกภัย ระบบนิเวศ ที่ต้องให้ความสำคัญในการออกแบบด้วย เพื่อให้พื้นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกันนั้น สอดคล้องกับบริบทพื้นที่และวิถีชีวิตชุมชน
กล่าวคือ การออกแบบต้องมองอย่างรอบด้าน โดยคำนึงถึง ประวัติศาสตร์, วัฒนธรรม, ความต้องการของชุมชน, ประโยชน์ การใช้งาน และความสวยงามเข้ากับอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ โดยทีมสถาปนิกโครงการได้เข้าร่วมลงพื้นที่กับทีมมีส่วนร่วมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและศึกษาวิถีชุมชน นำมาซึ่งกระบวนการร่วมออกแบบกับชุมชนเพื่อประโยชน์ยั่งยืน.