xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปลี่ยนผ่านชาตินี้ ปฏิรูปชาติหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -อีกเพียงเดือนเศษๆ เท่านั้นก็จะครบรอบ 2 ปีที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา แต่ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าใด ก็ยิ่งมีคำถามเกี่ยวกับ “การปฏิรูป” ที่ คสช.ใช้เป็น “ธงนำ” อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในขณะนี้

ภารกิจสำคัญของ คสช.ที่พร่ำบอกว่า จะปฏิรูปประเทศในทุกด้าน ก่อนส่งมอบประเทศสู่รัฐบาลชุดต่อไป โดยทุกอย่างต้องเป็นไปตาม “โรดแมป คสช.” ก็มีเครื่องหมายคำถามติดไปในทุกๆ ด้านเช่นกัน

ขณะที่ความรู้สึกของประชาชนที่เคยศรัทธาและตั้งความหวังกับการเข้ามาของ คสช.ก็ทำท่าจะลดลงไปเรื่อยๆ แง่หนึ่งก็ต้องยอมรับว่าจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังโงหัวไม่ขึ้น อีกแง่หนึ่งก็เป็นเพราะความสิ้นหวังไม่เห็นแสงสว่างจาก “โรดแมป คสช.” อย่างที่คิดไว้

โดยเฉพาะผลงานการปฏิรูปประเทศที่ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งๆ ที่ คสช.มี “อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด” และใช้เวลาควบคุมอำนาจการปกครองประเทศมานานกว่า 2 ปีแล้ว โดยทาง คสช.ก็มี “ข้ออ้าง” ประเภท “แผ่นเสียงตกร่อง” ว่า ปัญหาหมักหมมมานาน เป็นความผิดพลาดของรัฐบาลในยุคก่อนๆ ออกไปในแนว “รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง” ไปเรื่อย
“บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.
อย่างล่าสุดเมื่อ 10 เมษายนที่ผ่านมา ไม่กี่วันก่อน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ก็ยังเพิ่งให้สัมภาษณ์ต่อกรณีที่ฝ่ายการเมืองกังวลเนื้อหาคำถามพ่วงประชามติร่างรัฐธรรมนูญให้อำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี โดยกล่าวโทษไปถึงนโยบายต่างๆ ที่ดำเนินการผิดในสมัยรัฐบาลก่อนๆ ทั้งประชานิยม การทำประมงผิดกฎหมาย ปัญหาน้ำท่วมภัยแล้ง ปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาเกี่ยวกับมาตรฐาน ทางการบิน ตลอดจนการทุจริตคอร์รัปชั่น

นอกจากนี้ยังกล่าวในเชิงตำหนิไปถึง “นักการเมือง-รัฐบาลเลือกตั้ง” ที่ออกมาโจมตี คสช. ว่า เป็นพวกที่สร้างปัญหาไว้ แล้วคิดถ้าปล่อยให้ คสช.ทำจนสำเร็จ ประชาชนจะไม่เลือกนักการเมือง แถมเบรคแตกโทษไปยันสื่อมวลชนว่า ไร้จรรยาบรรณ มีส่วนทำร้ายประเทศด้วย จ้องแต่วิจารณ์การทำงาน คสช.

ว่าไปนู้น... โดยอาจจะลืมคิดไปว่า วันนี้ตัวเองคือ “รัฐฏาธิปัตย์” ที่มี “อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด” และมีอำนาจแบบนี้มานานกว่า 2 ปีแล้ว คอยแต่สร้างวาทกรรมไม่ต่างจากนักการเมืองประเภท “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” สร้างบรรยากาศให้เกิด “ความหวาดกลัว” เพื่อกุมอำนาจต่อไปเรื่อยๆ

คำให้สัมภาษณ์ของ “บิ๊กตู่” ในลักษณะนี้กลายเป็น “ฟอร์แมต” ของทั้งตัวนายกฯและบรรดาคนรอบข้าง สำหรับการตอบโต้ประเด็นปัญหาต่างๆ รวมไปถึงต่อข้อถามในเรื่องการปฏิรูปด้วย

พอถามเรื่องการปฏิรูปที ก็ต้องร่ายยาว “ย้อนอดีต” ว่าใครทำอะไรไว้ ก่อนจะข้าม “ปัจจุบัน” ว่ากำลังทำอะไรอยู่ แล้วก็ข้ามยาวไป “อนาคต” ว่า จำเป็นต้องมีกลไกในช่วง “เปลี่ยนผ่าน”

โดยเฉพาะเหตุผลความจำเป็นเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คณะกรรมการร่างรับธรรมนูญ (กรธ.) ที่มี มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ซึ่งถูกจับตามองในเรื่องของ “สืบทอดอำนาจ” ที่ทั้งองคาพยพ คสช.ต่างปฏิเสธอย่างพร้อมเพรียง

แต่ด้วยเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่ กรธ.ร่างไว้ ผนวกกับข้อเสนอแนะหรือ “ใบสั่ง คสช.” ตลอดจนคำถามพ่วงประชามติที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติให้ถามเกี่ยวกับอำนาจของ ส.ว.ในการเลือกนายกฯในช่วงเปลี่ยนผ่าน ต่างๆ เหล่านี้ถูกมองว่าเป็นกลไกสำหรับการ“สืบทอดอำนาจ” อย่างชัดเจน

ทาง คสช. ทั้งตัว “บิ๊กตู่” เอง หรือ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ ก็พูดในทำนองเดียวกันว่า ว่าต้องมีกลไกใน “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” เพื่อขับเคลื่อนงานด้านการปฏิรูป

เอะอะๆ ก็ย้ำว่าต้องมี “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” ถึงจะปฏิรูปได้ จนสงสัยว่า สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่พ้นสภาพไป หรือ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ตั้งขึ้นมาให้เปลืองไฟ เปลืองแอร์ เปลืองภาษีประชาชนเช่นนั้นหรือ

อย่างการ “ปฏิรูปตำรวจ” ที่เป็นประเด็นฮอตตั้งแต่สมัยการชุมนุมมวลมหาประชาชน และแทบจะเป็นฉันทามติของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามพรรคเพื่อไทยเท่านั้น สังคมเองรับรู้ถึงความเน่าเฟะใน “ยุทธจักรสีกากี” มาอย่างยาวนาน หัวหน้า คสช.ผู้มีอำนาจล้นมือกลับเลือกโยนลูกไปให้รัฐบาลสมัยหน้าทำแทน
ธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการชื่อดัง แสดงความเห็นว่า การปฏิรูปของคสช.ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ
เมื่อประเด็นปฏิรูปที่เป็นหัวใจสำคัญของภารกิจ คสช.ค้างเติ่งไม่ไปไหนขนาดนี้ ไม่เพียงแต่ประชาชนตาดำๆ ตั้งคำถามไว้เท่านั้น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดงานวันสัญญา ธรรมศักดิ์ โดยเชิญ ธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการชื่อดัง ที่ได้ฤกษ์ออกจากห้องสมุด มากล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “กฎหมาย คนจน ความเหลื่อมล้ำ และการพัฒนา” โดยสาระสำคัญอยู่ที่ประโยคสั้นๆ ได้ใจความที่ว่า “ส่วนตัวผมมองว่าการปฏิรูปของคสช.ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ”

เรียกว่าแทงไปที่ “ใจดำ” ของ “บิ๊ก คสช.”

“ธีรยุทธ” สาธยายตามสไตล์นักวิชาการด้วยว่า “คณะรัฐประหาร” มีวิธีคิด-วิธีทำงานตาม “แบบทหาร” ตั้งแต่ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) จนมาถึง คสช.ในปัจจุบัน แล้วทุกคณะก็ยังเลือกใช้บริการ “นักกฎหมายหน้าเดิม” มาร่างรัฐธรรมนูญ หรือกติกาต่างๆ ในสังคม การปฏิรูปประเทศที่พูดกันมานับสิบๆ ปีจึงไม่เห็นผล

ได้ใจกองเชียร์ที่สุดคงเป็นท่อนที่ “ธีรยุทธ” พูดประมาณว่า “ถ้าทหารจะโยนภาระให้รัฐบาลสมัยหน้า ทำไมตอนนี้ที่รัฐบาลมีอำนาจมาก ซึ่งถือเป็นอำนาจเชิงเดี่ยว ไม่มีการถ่วงดุล หลายอย่างสามารถทำได้ ทั้งเรื่องการศึกษา การบังคับใช้กฎหมายของตำรวจ แต่ทำไมถึงไม่ทำ ดังนั้น จะขอเวลาไปดูแลอีก 5 ปี จะขอไปทำไม ในเมื่อมีอำนาจเต็มที่แต่ไม่จัดการ เป็นการให้เหตุผลที่ขัดแย้ง ไม่สร้างความเชื่อมั่น และเกรงว่าจะนำไปสู่ปัญหาในที่สุด”

ภาษาบ้านคงประมาณอยู่มา 2 ปีมัวแต่นั่งทำอะไรอยู่ ยังมีหน้าจะมาขออยู่อีก 5 ปี
ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊คเชิงตำหนิ คสช.ที่ภารกิจปฏิรูปไม่คืบหน้า
ดูกระแสแล้วก็คงโดนใจใครหลายๆ คน พอสิ้นคำเจ้าของสมญานาม “เสื้อกั๊กขาประจำ” ทำเอาบรรดากลุ่ม “แอนตี้ทักษิณ” ที่น่าจะเป็น“แนวร่วม คสช.” จนไลค์จนแชร์กันสั่นโซเชี่ยลฯ ตัวท็อปๆ อย่าง ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ แห่งมหาวิทยาลัยรังสิต กดแชร์ข่าวพร้อมแนบข้อความว่า“ถูกต้องที่สุด ไม่น่าจะไม่รู้ แต่ทำไมไม่รู้ อ๋อ เพราะไม่รู้ว่า ปฏิรูปคืออะไร”

ก่อนที่ อดีตประธานรัฐสภา ผู้ฝ่าวิกฤตการเมืองเดือนพฤษภาคม 2535 จนได้รับฉายา “วีรบุรุษประชาธิปไตย” จะโพสต์ข้อความแสดความเป็นห่วงสถานการณ์บ้านเมืองอีกว่า “ประเทศไทย ล้มเหลว เหลวแหลก ไร้ทิศทาง และไร้สาระ ในแทบทุกเรื่อง ทั้ง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ศาสนา ธรรมาภิบาล ผู้นำที่ขาดวิสัยทัศน์ ผู้ตามที่ขาดจริยธรรม หากปล่อยไปอย่างนี้ ประเทศไทยคงสูญสิ้นความเป็นชาติ ในความเป็นจริงอีกไม่ช้า”

เช่นเดียวกับ สุริยะใส กตะศิลา นักเคลื่อนไหวคนดัง ที่ปัจจุบันผันตัวไปเป็นอาจารย์ที่ ม.รังสิต ก็เรียกร้องไปถึง คสช.มาอย่างต่อเนื่องว่า“เราเห็นโรดแมปของการเขียนรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เคยเห็นโรดแมปของการปฏิรูป จึงอยากให้ คสช.ประกาศโรดแมปของการปฏิรูปที่เป็นวาระเร่งด่วนเสียที”

เป็นน้ำเสียงของ “แนวร่วม คสช.” ที่แปร่งออกไป หลังจากที่เริ่มเห็นเค้าลางว่า การปฏิรูปจะไม่เกิดในระยะอันใกล้นี้ ตามที่ คสช.เคยส่งสัญญาณและให้คำมั่นสัญญาไว้ แต่ก็ยังมีแนวร่วมบางส่วนที่เห็นดีเห็นงามกับ คสช.ในทุกๆ เรื่อง อย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. และบรรดาบุคคลที่มีตำแหน่งแห่งที่ในองคาพยพของ คสช.เท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น “ธีรยุทธ” ยังกล่าวช่วงหนึ่งเปรียบสภาพสังคมไทยในปัจจุบันด้วยว่า “คนจน” คือ “เบี้ย” ในกระดานที่ถูกเสียสละเพื่อให้“เม็ด ม้า เรือ โคน” อยู่ในตำแหน่งที่ดีขึ้นมั่นคงขึ้น

“เบี้ย” หรือ “คนจน” ในที่นี้ก็คงเป็นประชาชนส่วนใหญ่ ขณะที่ “เม็ด ม้า เรือ โคน” ถ้าในอดีตคงเป็นบรรดานักการเมือง แต่ในยุค“รัฐบาล คสช.” ก็คงหนีไม่พ้น “ทหาร” และพลพรรค “คนมีสี” ทั้งหลาย ดูได้จากการจัดวางตัวบุคคลในองค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ ที่แต่ก่อนใครจะได้ดิบได้ดีต้องใช้เส้นสายนักการเมือง-ผู้มีอิทธิพล แต่มาวันนี้ดูกันแค่ “ยศนำหน้า - บั้งบนบ่า” ยิ่งพะยี่ห้อ “นายพล” ไม่ว่าเหล่าไหน บก อากาศ เรือ ตำรวจ ก็ยิ่งผ่านฉลุย

ไล่ตั้งแต่ สนช.ที่ไม่ใช่ก็ใกล้เคียงกับคำว่า “สภานายพล” มีคนในเครื่องแบบทั้งใน-นอกราชการเดินกันเกลื่อนกลาดมากกว่าครึ่ง

ชัดเจนกว่านั้นก็คงเป็นเก้าอี้กรรมการ (บอร์ด) ในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งตามธรรมเนียมเมื่อมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจก็จะมีผลัดเปลี่ยนไปตามขั้วอำนาจใหม่ เมื่อครั้งที่ คสช.เข้ามาคุมอำนาจก็เช่นกัน มีการ “ล้างบาง” บอร์ดรัฐวิสาหกิจยกใหญ่ บ้างก็ลาออกตามมารยาท บ้างก็ถูกคำสั่ง คสช.เขี่ยออกไป ส่วนผู้ที่เข้าไปเสียบแทน ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็น “คนมีสี” ทั้งสิ้น บวกกับบรรดา “นายพล” ที่นั่งอยู่เดิมแล้ว สิริรวมแล้วรัฐวิสาหกิจไทยที่มีอยู่ 56 แห่ง มีนายทหาร-นายตำรวจระดับสูงเข้าไปมีตำแหน่งอยู่ 44 แห่ง ทั้งหมด 96 ราย ซึ่งเป็นข้อมูลที่ถูกรวบรวมและเผยแพร่กันอยู่ในสังคมออนไลน์

ทั้งนี้ บางบุคคลเข้าใจได้ว่า มีความรู้ความสามารถเฉพาะ แต่เผอิญรับราชการทหาร-ตำรวจ จึงมียศนำหน้าชื่อ แต่โดยรวมแล้วเป็นที่รู้กันว่าเป็น “โควตา” จากหน่วยงาน หรือจาก “คนใหญ่คนโต” ส่งมานั่งกินตำแหน่ง ที่ได้ทั้งเบี้ยประชุม สวัสดิการ สิทธิประโยชน์อีกเพียบ ทั้งที่บางคนก็ยังมีตำแหน่งในทางราชการ หรือข้าราชการการเมือง

ยกตัวอย่างหน่วยงานและบุคคลที่น่าสนใจ อาทิ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มี “บิ๊กตู่” พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 1 พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกลาโหม ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) สมาชิก สนช. และรองเลขาธิการ คสช. เป็นกรรมการอิสระ พล.อ.อ.ศิวเกียรติ์ ชเยมะรองปลัดกระทรวงกลาโหม และ “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นกรรมการ

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) มี พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง เสนาธิการทหารอากาศ (เสธ.ทอ.) เป็นกรรมการ “บิ๊กโชย”พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช.ผบ.ทบ.) และสมาชิก สนช. เป็นกรรมการอิสระ
“บิ๊กเบี้ยว” พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ.) ควบ 3 เก้าอี้รัฐวิสาหกิจ เป็นประธานบอร์ด ปตท. ประธานบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)และกรรมการ อสมท.
บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) มี “บิ๊กเบี้ยว” พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ.) เป็นประธานกรรมการพล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ สมาชิก สนช. เป็นรองประธานกรรมการ

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มี “บิ๊กเบี้ยว” พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสธ.ทบ. และ พล.อ.ท.บุญสืบ ประสิทธิ์ เจ้ากรมช่างอากาศ เป็นกรรมการอิสระ

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) มี พล.ร.อ.ธนะรัตน์ อุบล รองเสนาธิการทหาร และ พ.อ.นิมิตต์ สุวรรณรัฐ นายทหารฝ่ายเสนาธิการ ของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นกรรมการอิสระ

บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด มี “บิ๊กแม็ก” พล.อ.สาธิต พิธรัตน์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก เป็นประธานกรรมการ พล.ต.ท.อติเทพ ปัญจมานนท์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ผบช.ปส.) เป็นกรรมการ
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) “บิ๊กโชย” พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผช.ผบ.ทบ.และสมาชิก สนช. และ “บิ๊กอู๊ด”พล.อ.วลิต โรจนภักดี รอง ผบ.ทบ. เป็นกรรมการ

การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มี พล.อ.อ.อานนท์ จารยะพันธุ์ อดีตรอง ผบ.ทอ. “บิ๊กหมู” พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. และพล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) เป็นกรรมการ

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มี พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกลาโหม ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) สมาชิก สนช. และรองเลขาธิการ คสช. เป็นกรรมการ

การประปานครหลวง (กปน.) มี พล.ร.ท.ณเดโช เกิดชูชื่น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือ และ พล.อ.วีรัณ ฉันทศาสตร์โกศล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก เป็นกรรมการ

การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) มี พล.อ.วิชิต ศรีประเสริฐ รองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ไตรรัตน์ รังคะรัตน อดีตผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า และสมาชิก สนช. และ “บิ๊กเข้” พล.ท.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ แม่ทัพภาคที่ 1 และสมาชิก สนช. เป็นกรรมการ

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มี “บิ๊กตี๋” พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) และสมาชิก สนช. เป็นประธานกรรมการ “บิ๊กจุก” พล.อ.อ.ถาวร มณีพฤกษ์ รอง ผบ.สส. และสมาชิก สนช. และ “บิ๊กตี๋” พล.อ.ปราการ ชลยุทธ รองเสนาธิการทหาร และสมาชิก สปท. เป็นกรรมการ

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มี พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ อดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ กองทัพบก (นปอ.ทบ.) และเตรียมทหารรุ่น 12 (ตท.12) รุ่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานกรรมการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) มี พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ พล.ท.วราห์ บุญญะสิทธิ์ รอง เสธ.ทบ. และสมาชิก สปท.เป็นกรรมการ

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มี พล.อ.วิวรรธน์ สุชาติ รอง เสธ.ทบ. เป็นประธานกรรมการ พล.อ.อ.ยุทธนา สุกุมลจันทร์ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพอากาศ “โจ๊ก หวานเจี๊ยบ” พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

การท่าเรือแห่งประเทศไทย มี พล.ร.อ.อภิวัฒน์ ศรีวัฒนะ อดีตประธานคณะที่ปรึกษากองทัพเรือ และสมาชิก สปท. เป็นประธานกรรมการพล.ร.อ.จักรชัย ภู่เจริญยศ อดีตรองผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เป็นกรรมการ

บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) มี พล.ท.สมชาย ชัยวณิชยา ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และ พล.ต.อ.อำนาจ อันอาตม์งาม ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นกรรมการ

บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด มี “บิ๊กณะ” พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ประธานกรรมการ พล.ร.ท.พิทักษ์ พิบูลทิพย์รองประธานกรรมการ พล.ร.ท.พลเดช เจริญพูล พล.ร.ท.ฐานันดร์ เข็มเพ็ชร พล.ร.ท.ไพฑูรย์ ประสพสิน พล.ร.ต.สิงขร ธีระสินธุ์ และพล.ร.ต.สุพจน์ สายวงศ์ปัญญา เป็นกรรมการ น.อ.พิชเยนทร์ ตันประเสริฐ เป็นกรรมการผู้จัดการ

การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มี พล.ท.ชาญชัย ภู่ทอง อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 เป็นกรรมการและประธานคณะกรรมการฝ่ายทรัพย์สิน

บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงค์ มี “บิ๊กเยิ้ม” พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร อดีตแม่ทัพภาคที่ 2คณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการ และการบริหารงาน (ซูเปอร์บอร์ด) ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสมาชิก สปท. เป็นประธานกรรมการ พล.อ.ดรัณ ยุทธวงษ์สุข กรรมการและรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่

โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง มี “บิ๊กอ้อ” พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และสมาชิก สนช. เป็นประธานกรรมการ

สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มี “เสธ.แดง” พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพน้อยที่ 1 และสมาชิก สนช.เป็นประธานกรรมการ พล.ต.ต.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) พ.ท.หนุน ศันสนาคม อดีตผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.11 พัน 2 รอ.) พ.ต.ท.อมร หงษ์ศรีทอง ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารทรัพยากรบุคคล กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และ พล.ต.ฉลองรัฐ นาคอาทิตย์ อดีตนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชาสำนักงานผู้บัญชาการทหารบก เป็นกรรมการ โดย พล.ต.ฉลองรัฐ เป็น ผอ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลอีกตำแหน่งด้วย

บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มี “บิ๊กปุ้ย” พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ เสนาธิการทหาร เป็นประธานกรรมการ

องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ มี “บิ๊กติ่ง” พล.อ.ชวลิต ชุนประสาน ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย มี พล.ต.ณัฏฐิพงษ์ เผือกสกนธ์ เจ้ากรมการเงินทหารบก เป็นกรรมการ

ธนาคารกรุงไทย มี พล.ท.เทียนชัย รับพร ปลัดบัญชีทหารบก เป็นกรรมการ

สำนักงานธนานุเคราะห์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ มี พล.ร.ท.วิพากษ์ น้อยจินดา ผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ เป็นกรรมการ

การเคหะแห่งชาติ มี “บิ๊กชาติ” พล.อ.สุชาติ หนองบัว ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก สมาชิก สนช. และรองหัวหน้าฝ่ายกิจกรรมพิเศษ คสช. และ “บิ๊กแกละ” พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร เสธ.ทบ. ผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป และสมาชิก สนช. เป็นกรรมการ

การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) มี “บิ๊กดำ” พล.อ.อ.ทรงธรรม โชคคณาพิทักษ์ อดีตผู้ช่วย ผบ.ทอ.และสมาชิก สนช. เป็นกรรมการ “บิ๊กเบิ้ม” พล.ท.สุรไกร จัตุมาศ อดีตเจ้ากรมสวัสดิการทหารบก เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

องค์การสะพานปลา มี “บิ๊กแร้ง” พล.ร.อ.เริงฤทธิ์ บุญส่งประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพเรือ เป็นกรรมการ
องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) มี “บิ๊กเจี๊ยบ” พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผช.ผบ.ทบ. และสมาชิก สนช. เป็นกรรมการ

บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) มี “บิ๊กเฟื่อง” พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ อดีต ผบ.ทอ. ที่ปรึกษา คสช. และสมาชิก สนช. เป็นประธานกรรมการ “บิ๊กอ๊อด” พล.อ.คณิต สาพิทักษ์ อดีตประธานที่ปรึกษากระทรวงกลาโหม และอดีตแม่ทัพภาคที่ 1 เป็นรองประธานกรรมการ พ.อ.พีรวัส พรหมกลัดพะเนาว์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการกรมกิจการพลเรือนทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย เป็นกรรมการ

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มี “บิ๊กเบี้ยว” พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสธ ทบ. และสมาชิก สนช. เป็นประธานกรรมการ

และ องค์การจัดการน้ำเสีย มี พล.อ.อ.ปรีชัย หาญเจนลักษณ์ หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา เป็นกรรมการ

นอกจากนี้ยังมีประเภทพลเรือน “นามสกุลดัง” เข้าไปเป็นบอร์ดแบบค้านสายตา โดยเฉพาะรายของ ปฏิคม วงษ์สุวรรณ น้องชาย พล.อ.ประวิตร เป็นกรรมการอื่นในคณะกรรมการ กฟภ.ซึ่ง คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งอนุมัติไปไม่นานมานี้

ทั้งหลายทั้งปวงสะท้อนให้เห็นการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จของ คสช.ใน “ยุคปฏิรูป” ว่าใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์ แล้วหากปล่อยไปถึง “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” อีก 5 ปี ที่วางกลไกกดทับภาคส่วนอื่นๆ ผ่านทั้งร่างรัฐธรรมนูญและบุคคลตามองค์กรสำคัญต่างๆ คงใช้อำนาจกันสนุกสนานกว่านี้แน่ๆ

ยิ่งฟัง “บิ๊กตู่” กล่าวในระหว่างพา ครม.และ คสช.เข้ารดน้ำขอพร “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เนื่องในโอกาสวันสงกรานต์ประจำปี 2559 ว่า จะขอยึดถือเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติหน้าที่

ก็กลัวว่า “บิ๊กตู่” และ “ทีม คสช.” จะคิดอยู่ในอำนาจยาวๆ เหมือน “ป๋า”

แค่คิดก็ขนลุกแล้ว.
ปฏิคม วงษ์สุวรรณ น้องชาย พล.อ.ประวิตร เพิ่งได้เก้าอี้กรรมการ กฟภ.


กำลังโหลดความคิดเห็น