xs
xsm
sm
md
lg

“พ.ร.บ. กองทุนน้ำมัน” มรดกบุญหรือบาปจากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

รายงานประมาณการฐานะกองทนน้ำมันเชื้อเพลิงสิ้นสุด ณ วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2559 นั้นได้ถูกแบ่งเป็น สินทรัพย์ในส่วนของกองทุนน้ำมันประมาณ 41,045 ล้านบาท ในขณะที่มีหนี้สินจากการชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ 3,680 ล้านบาท เป็นผลทำให้ฐานะกองทุนสุทธิในส่วนของน้ำมันอยู่ที่ 37,294 ล้านบาท ในขณะที่สินทรัพย์ของกองทุน LPG มีอยู่ที่ 9,852 ล้านบาท และมีหนี้สินจากการชดเชยราคาก๊าซ LPG ให้กลุ่มต่างๆ อีก 2,639 ล้านบาท ส่งผลทำให้ฐานะกองทุนสุทธิในส่วนของก๊าซ LPG อยู่ที่ 7,213 ล้านบาท

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ส่งผลทำให้ฐานะกองทุนน้ำมันทั้งส่วนของน้ำมันและก๊าซ LPG ณ วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2559 จึงมีสูงถึง 44,507 ล้านบาท !!! ซึ่งถือว่าเป็นเงินจำนวนไม่น้อยเลยที่ได้เก็บไปจากประชาชนผู้ใช้น้ำมันโดยส่วนใหญ่

ถ้าย้อนกลับไปดูวัตถุประสงค์การมีกองทุนน้ำมันในฉบับดั้งเดิมนั้นก็เพื่อแก้ไขและป้องกันการขาดแคลนน้ำมันในช่วงวิกฤติการณ์น้ำมันของโลก ระหว่าง พ.ศ. 2516-2517 เพราะในเวลานั้นราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และหาซื้อได้ยาก ก่อให้เกิดภาวะการขาดแคลนน้ำมันขึ้นในประเทศไทย รัฐบาลในขณะนั้นจึงได้พยายามแทรกแซงกลไกตลาดน้ำมน โดยได้ออกพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 เพื่อใช้เป็นกลไกในการกำหนดมาตรการในการแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยวัตถุประสงค์ของพระราชกำหนดประกาศไว้ว่า:

“โดยที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ทวีสูงขึ้นเป็นลำดับ และน้ำมันดิบที่จะซื้อได้มีปริมาณน้อยลง ซึ่งจะก่อให้เกิดภาวะการณ์ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศไทย ฉะนั้น เพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของประเทศ และความผาสุกของประชาชน จำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขและป้องกันภาวการณ์ดังกล่าวให้ทันต่อเหตุการณ์ ในการนี้นายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องมีอำนาจในการกำหนดมาตรการต่างๆได้โดยฉับพลัน ไม่จำเป็นต้องให้กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ แยกปฏิบัติการตามกฎหมายที่มีอยู่”

พระราชกำหนดฉบับดังกล่าวนี้มีอายุ 1 ปี แต่ต่อมาก็ได้มีการออกพระราชกำหนดต่ออายุ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2520 จึงได้ตราเป็นพระราชกำหนดให้มีผลบังคับใช้ต่อไปไม่มีกำหนด ซึ่งพระราชกำหนดนี้เองได้กำหนดอำนาจแก่นายกรัฐมนตรีในการออกมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขภาวะขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง

และเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2520 อาศัยอำนาจตามมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว นายกรัฐมนตรีจึงได้มีคำสั่งที่ 178/2520 เพื่อกำหนดให้ผู้ค่าน้ำมันส่งเงินเข้ากองทุนรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและการจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ค้า เพื่อจัดตั้งกองทุนรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยให้โรงกลั่นน้ำมัน และผู้นำเข้านำเข้าน้ำมันที่ได้ประโยชน์จากการที่รัฐบาลลดภาษีน้ำมันเบนซินนำเงินส่วนนี้ส่งเงินเข้ากองทุน และเงินกองทุนนี้นำไปชดเชยให้ผู้ค้าน้ำมันเตา (ซึ่งราคาน้ำมันเตาในเวลานั้นสูงขึ้นมามาก)

ต่อมารัฐบาลในสมัยพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้ประกาศเพิ่มค่าเงินบาทร้อยละ 1 ทำให้ผู้นำเข้าน้ำมันได้กำไรเพิ่มขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยน รัฐบาลเห็นว่ากำไรส่วนนี้มิได้เกิดจากการดำเนินการของผู้ประกอบการ นายกรัฐมนตรีจึงได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 206/2521 ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2521 จัดตั้งกองทุนรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (เงินตราต่างประเทศ) และกำหนดให้ผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงส่งกำไรที่เกิดจากการเพิ่มค่าเงินบาทเข้ากองทุนดังกล่าว เพื่อเก็บไว้ใช้ทดแทนเมื่อราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น

ต่อมาวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2522 (ในสมัยรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์) ประเทศผู้ส่งออกปิโตรเลียมได้ประกาศขึ้นราคาน้ำมันดิบถึง 4 ครั้ง นายกรัฐมนตรีจึงได้ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ สร.0201/9 ลงวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2522 โดยรวมกองทุนรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้เงินจากผู้ประกอบการภายหลังการลดภาษีน้ำมันเบนซิน และกองทุนรักษาระดับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้เงินจากผู้ประกอบการที่ได้กำไรอัตราแลกเปลี่ยน เข้าด้วยกัน เพื่อความคล่องตัวในการบริหาร โดยกำหนดกฎเกณฑ์การกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ และชดเชยจากกองทุนฯ รวมทั้งการปฏิบัติในการส่งเงินเข้ากองทุนฯ และขอรับเงินชดเชยจากกองทุนฯ และกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบในส่วนต่างๆ

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นจัดตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ตามเจตนารมณ์ของพระราชกำหนดคือ ใช้เป็นกลไกของรัฐในการป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง และใช้การรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศ จากกรณีที่ราคาในตลาดโลกสูงขึ้น เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเดือดร้อนของประชาชนให้น้อยที่สุด

ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 รัฐบาลได้ยกเลิกการควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซล และน้ำมันเตา โดยเหลือเพียงก๊าซปิโตรเลียมเหลว LPG ที่ยังคงมีการควบคุมราคาอยู่

ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 2/2546 ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ทำหน้าที่ในการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากจะทำหน้าที่รักษาระดับกองทุนแล้ว ยังใช้เป็นกลไกในการบิดเบือนราคาในการเก็บเงินข้ามประเภทปิโตรเลียมบางชนิด เพื่อชดเชยให้ปิโตรเลียมบางชนิดด้วย เช่น การที่ประชาชนต้องจ่ายน้ำมันเบนซินแพง เพื่อมาช่วยอุ้มน้ำมันที่ผสมเอทานอล (แก๊สโซฮอล) หรือ แม้กระทั่งมีการชดเชยให้กับ LPG รวมถึงการได้ประโยชน์จาก LPG ของกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่แตกต่างจากผู้ใช้ LPG กลุ่มอื่น ฯลฯ

โดยเฉพาะในยามที่ราคาปิโตรเลียมมีราคาดิ่งลงทั่วโลก และมีแนวโน้มที่จะมีราคาลดลงไปในระยะยาวด้วยแล้ว วัตถุประสงค์ของกองทุนน้ำมันก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อเพื่อป้องกันและแก้ไขภาวะขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง อีกต่อไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516

ในยามที่ราคาปิโตรเลียมดิ่งลงทั่วโลก กองทุนน้ำมันกลับกลายเป็นภาระใหม่ของผู้ใช้น้ำมันทุกรายที่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เพื่อมาอุ้มแก๊สโซฮอลที่ผสมเอทานอล ทั้งๆที่เอทานอลไทยมีราคาสูงกว่าราคาน้ำมันเบนซิน และมีราคาสูงกว่าเอทนอลในตลาดโลกด้วย เช่นเดียวกับราคาไบโอดีเซล(จากปาล์ม)ก็มีราคาแพงกว่าน้ำมันดีเซลอย่างมหาศาล

การใช้กองทุนน้ำมันที่อุ้มเอทานอล และไบโอดีเซล โดยไม่ได้สนใจต้นเหตุว่ามีราคาสูงกว่าเนื้อน้ำมัน และมีราคาสูงกว่าตลาดโลกนั้นเกิดจากสาเหตุใด ( เช่น ผลิตผลต่อไร่ของเกษตรกรต่ำ หรือ โรงงานน้ำตาลหรือโรงงานเอทานอลประสิทธิภาพต่ำ หรือ โรงงานน้ำตาลขายกากน้ำตาลเอากำไรเกินควร ฯลฯ ) ได้ส่งผลทำให้คนไทยยากที่จะมีโอกาสใช้ราคาน้ำมันถูกตามราคาตลาดโลก และอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศได้ด้วย

ในขณะเดียวกันจะบอกว่ารัฐบาลสนับสนุนสิ่งแวดล้อมก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะที่ผ่านมามาการใช้กองทุนน้ำมันส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอลนั้น กองทุนน้ำมันกลับทำให้ราคาขายปลีกแก๊สโซฮอล E85 ยังมีราคาแพงเมื่อเทียบกับประสิทธิภาพของน้ำมันแก๊สโซฮอลทุกชนิด ถือได้ว่าเป็นการ “ใช้กองทุนน้ำมันที่มีความสับสนในนโยบาย” ว่า รัฐบาลต้องการใช้กองทุนน้ำมันเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนใช้ราคาน้ำมันถูกลงตามตลาดโลก หรือต้องการรักษาสิ่งแวดล้อมโดยการสนับสนุนน้ำมันที่ผสมเอทานอลมากๆกันแน่?

และก็ยังสรุปสาเหตุที่เอทานอลไทยแพงนั้นเพื่อสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อย และมันสำปะหลังนั้นก็ยังไม่ได้เช่นกัน เพราะจะต้องตอบให้ได้ว่าผู้ที่ได้ประโยชน์ที่แท้จริงนั้นคือ โรงงานเอทานอล(ซึ่งส่วนใหญ่โรงงานน้ำตาลถือหุ้นอยู่) โรงงานน้ำตาล หรือเกษตรกรกันแน่ เพราะที่ผ่านมาก็เห็นเกษตรกรก็ยังยากจนอยู่ดี จริงหรือไม่?

นอกจากความสับสนในเรื่องนโยบายกองทุนน้ำมันแล้ว เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2559 คณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.)ภายใต้พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ออกประกาศฉบับที่ 1/2559 ให้ใช้กองทุนน้ำมัน ซึ่งได้เงินจากผู้ใช้น้ำมันส่วนใหญ่ที่ต้องจ่ายเพิ่มให้กองทุนน้ำมันไปชดเชยแปรรูปขยะพลาสติกเข้าโรงกลั่นอีกลิตรละ 6.63 บาท

ทำไมกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อป้องกันและแก้ไขภาวะขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง จึงไปใช้จ่ายชดเชยไปไกลเกินขอบเขตเดิมได้มากเช่นนี้?

คำตอบหนึ่งคือคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 2/2546 ได้กำหนดรายจ่ายของกองทุนน้ำมันดังต่อไปนี้

1.เป็นเงินจ่ายชดเชยตามอัตราที่คณะกรรมการฯกำหนด

2.ค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามหมวดรายจ่ายภายในวงเงินงบประมาณการจ่ายประจำปีที่คณะกรรมการอนุมัติ ดังนี้ ค่าจ้างชั่วคราว ค่าตอบแทนใช้สอยและวัสดุ ค่าครุภัณฑ์ ค่าใช้จ่ายอื่นๆตามที่คณะกรรมการเห็นชอบ

3.ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการใดๆ เพื่อแก้ไขและป้องกันภาวการณ์ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง

4.ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการใดๆเพื่อให้การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือการจ่ายเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นไปอย่างครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ

5.ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการเห็นชอบ

คำว่า “ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการเห็นชอบ” แม้จะเป็นไปตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 2/2546 แต่ก็มีคำถามว่าการใช้อำนาจดังกล่าวจะเกินขอบเขตตามพระราชกำหนด แก้ไขและป้องกันการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 หรือไม่?

ข้อสงสัยดังกล่าวนี้ก็คงกำลังจะสิ้นสุดไป หากมีการตรากฎหมายเป็นพระราชบัญญัติให้มีความชัดเจน และมีความรัดกุมรอบคอบ ซึ่งปรากฏว่ากระทรวงพลังงานได้จัดทำ “ร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ....” ขึ้นมาใหม่ ซึ่งกำหนดวัตถุประสงค์ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ดังต่อไปนี้

1.รักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีพของประชาชน ในกรณีเกิดวิกฤติน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานและเศรษฐกิจ

2.สนับสนุนให้เชื้อเพลิงชีวภาพให้มีส่วนต่างราคาที่สามารถแข่งขันกับน้ำมันเชื้อเพลิงได้

3.บรรเทาผลกระทบจากการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส

4.สนับสนุนการลงทุนการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ สำหรับสนับสนุนการป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อนำมาใช้ในกรณีวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิง และเพื่อประโยชน์ความมั่นคงทางด้านพลังงาน

5.สนับสนุนการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานน้ำมันเชื้อเพลิงในกิจการของรัฐสำหรับความมั่นคงทางด้านพลังงาน

6.ดำเนินการอื่นใดเกี่ยวกับการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามพระราชบัญญัตินี้

สำหรับการรักษา “เสถียรภาพราคา”นั้นไม่มีปัญหา แต่ก็ควรกำหนดวงเงินเอาไว้ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาน้ำมันที่ประชาชนต้องใช้จ่ายอย่างไร้ขีดจำกัด

สำหรับการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพนั้น ก็น่าจะไปรวมกับการจัดตั้งกองทุนพลังงานหมุนเวียน หรือกองทุนพลังงานทดแทน ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติกำลังดำเนินการอยู่เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน แต่ก็ควรจะมีหลักเกณฑ์ไม่ใช่เพื่อให้น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพแข่งขันกับน้ำมันเชื้อเพลิงได้ แต่ควรยึดหลักการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนพลังงานหมุนเวียนจากพลังงานใดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากก็เก็บเงินเข้ากองทุนมาก เพื่อมาสนับสนุนชดเชยพลังงานที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยตามหลักเกณฑ์สูตรคำนวณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามจริง เมื่อมีหลักเกณฑ์แล้วจะแข่งขันได้หรือไม่ได้ก็ให้ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของเอกชน และการควบคุมราคาที่เป็นธรรมโดยรัฐ ไม่เช่นนั้นจะไม่มีทางแก้ไขปัญหาซ่อนเร้นผลประโยชน์ที่มากเกินไปของพลังงานจากชีวภาพได้

สำหรับบรรเทาผลกระทบจากการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาสนั้นไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือราคาพลังงานไทยที่สูงเกินไปโดยรวมซึ่งน่าจะแก้ไขในประเด็นนั้นน่าจะถูกต้องกว่า

ส่วนการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงทางพลังงานั้น ปัจจุบันสามารถทำได้อยู่แล้วโดยรัฐสามารถกำหนดการสำรองน้ำมันขั้นต่ำของผู้ค้าตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง จึงไม่จำเป็นที่รัฐบาลกองทุนน้ำมันจะไปลงทุนสำรองน้ำมันแทนเอกชน โดยเฉพาะองค์กรที่เป็นหน่วยราชการนั้นขาดความคล่องตัวในการบริหารคลังน้ำมัน แต่รัฐบาลมีความคิดจะมีคลังน้ำมันสำรองเพื่อความมั่นคงก็ควรจะต้องมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติที่มีทั้งการตรวจสอบในกลไกของรัฐและภาคประชาชน ตลอดจนต้องมีความคล่องตัวทัดเทียมกับเอกชนเสียก่อน ไม่ใช่มาให้กองทุนน้ำมันเป็นผู้ดำเนินการใช้จ่ายงบประมาณเองโดยปราศจากการตรวจสอบจากกลไกของฝ่ายนิติบัญญัติ

ส่วนการสนับสนุนการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานน้ำมันเชื้อเพลิงในกิจการของรัฐสำหรับความมั่นคงทางด้านพลังงานนั้น ก็มีช่องโหว่อยู่มาก เพราะเป็นการใช้เงินลงทุนอย่างมหาศาล รัฐบาลควรจะต้องดำเนินการผ่านองค์กรที่มีการจัดตั้งให้มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ เช่น การจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ และเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมการตัดสินใจจากทุกภาคส่วนรวมถึงการตรวจสอบการใช้งบประมาณโดยฝ่ายนิติบัญญัติ

ซึ่งหลักคิดจะมีทรัพย์สินของชาติที่ผูกขาดนั้นควรเริ่มต้นจากการจัดตั้งองค์กรที่เข้ามาบริหารอย่างโปร่งใสในรูปของบรรษัทพลังงานแห่งชาติและสร้างกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลจากฝ่ายนิติบัญญัติอีกชั้นหนึ่ง และทางที่ดีก็ควรจะต้องเริ่มต้นจากท่อก๊าซธรรมชาติทั้งหมด (รวมถึงที่ ปตท.ยังถือครองอยู่) ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ผูกขาดตามธรรมชาติดำเนินการโอนให้บรรษัทพลังงานแห่งชาติที่รัฐถือหุ้น 100% ดูแลทั้งหมดแทน

ข้อสำคัญ การจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาตินั้นก็ควรจะมีรายได้จากการประมูลแข่งขันการให้สิทธิสำรวจและผลิตหรือปิโตรเลียมอย่างโปร่งใส เพื่อให้มีรายได้มากมาพอมาสร้างสาธารณูปโภค และคลังสำรองน้ำมัน ไม่ใช่มาจัดเก็บผ่านกองทุนน้ำมันสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน เพื่อมาสร้างโครงการนั้นโครงการนี้ จริงหรือไม่?

เพราะการขยายวัตถุประสงค์ของกองทุนน้ำมันเช่นนี้ อาจทำให้เกิดแรงจูงใจจัดเก็บกองทุนน้ำมันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อเป็นแหล่งงบประมาณของกองทุนน้ำมันที่มีกลุ่มบุคคลคณะเดียวตัดสินใจเองได้โดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบและกลั่นกลองโดยฝ่ายนิติบัญญัติ

ถ้าเงิน 44,000 ล้านบาทจากกองทุนน้ำมัน ถูกนำมาละเลงจนขาดความโปร่งใส ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดนี้หรือชุดหน้าประเทศชาติและประชาชนก็ย่อมได้รับผลเสียหายไปด้วย ยิ่งเป็นนักการเมืองที่มาจากการซื้อเสียงคิดหวังจะถอนทุนคืนนั้น กองทุนน้ำมันจะมีความเสี่ยงกลายเป็นแหล่งทำมาหากินแห่งใหม่ของนักการเมืองเหล่านั้นได้อย่างไร้ขีดจำกัด

แต่ที่อาจจะเสียหายไปยิ่งกว่านั้น คือ กองทุนน้ำมันซึ่งเป็นภาระของประชาชนที่ต้องจ่ายเพิ่มไปในราคาน้ำมันนั้นจะไม่มีวันสิ้นสุด เพราะแรงจูงใจในการปั้นโครงการและใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่ผ่านกลไกการตรวจสอบอย่างที่ควรจะเป็น นั่นหมายถึงราคาน้ำมันอาจจะต้องแพงต่อไปเพื่อสนองประโยชน์คนบางกลุ่มเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ส่งผลทำให้ประเทศชาติสูญเสียความสามารถในการแข่งขันเลวร้ายยิ่งกว่าเดิมได้

และข้อสำคัญจะผิดต่อหลักการและวัตถุประสงค์ของเจตนารมณ์เดิมในการมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ของรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ที่มองประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ว่า “เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเดือดร้อนของประชาชนให้น้อยที่สุด” จะกลับกลายมาเป็น “เพื่อให้เกิดการลงทุนและการใช้จ่ายตัดสินใจได้โดยคนไม่กี่คน และเป็นภาระกับประชาชนหนักที่สุด”จะถูกต้องหรือไม่?

ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะทำให้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นมรดกบุญ หรือ มรดกบาป มอบให้กับประชาชน ก่อนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในปี พ.ศ. 2560?


กำลังโหลดความคิดเห็น