ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เรียกว่า “ต่อมน้ำตาแตกนองหน้า” กันเลยทีเดียว หลังจาก “หม่อมเหลน-ม.ล. ปนัดดา ดิศกุล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดวังวรดิศเชิญ 2 คู่ขัดแย้งแห่งศึกน้ำพริกเผาไทยแม่ประนอมคือ “นางประนอม แดงสุภา” ผู้เป็นแม่ และ “นางศิริพร แดงสุภา” บุตรสาวคนโต ให้ไปเจรจาปรับความเข้าใจกัน และจบลงแบบ “แฮปปี้เอนดิ้ง” เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา
ก็น่าดีใจแทนแม่ประนอมที่คนระดับ “ ม.ร.ว.ปนัดดา” ในฐานะผู้กำกับศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ อาสาเป็นกาวใจเกลี้ยกล่อมจนประสบความสำเร็จ และต่อไปนี้ถ้า “ชาวบ้านร้านตลาด” มีปัญหาทุกข์ใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความขัดแย้งในครอบครัว ความไม่เป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ หรือตกอยู่ในภาวะไม่มีข้าวสารกรอกหม้อ ก็ขอเชิญไปร้องทุกข์กับหม่อมเหลนได้ เพราะเชื่อว่าจะได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี เผลอๆ จะมีโอกาสเข้าไปนั่งปรับทุกข์ในวังวรดิศเสียด้วยซ้ำไป
ในวันนั้น ทุกคนต่างดีใจแทนครอบครัวแดงสุภา เพราะถึงจะอย่างไร “แม่ก็คือแม่” คือแม่ผู้ให้กำเนิดชีวิต คือแม่ที่ให้กำเนิดธุรกิจน้ำพริกเผา และคือ แม่ที่ทำให้ลูกมีทุกสิ่งทุกอย่างในวันนี้ อย่างไม่มีวันแปรเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นได้
อย่างไรก็ตาม แม้ฉาก “ภายนอก” ซึ่งปรากฏต่อสาธารณะชนให้เห็นจะเป็นภาพแห่งความงดงาม ในทำนองว่า นางประนอมจะได้รับคืนหุ้นใน “บริษัทพิบูลย์ชัยน้ำพริกเผาไทยแม่ประนอม จำกัด” คดีความทั้งหมดจบสิ้นลงด้วยการถอนฟ้องและกลับไปอยู่บ้านหลังเดิมอีกครั้ง แต่ในความเป็นจริงก็ยังคงมี “เรื่องราวระหว่างบรรทัด” ให้ต้องค้นหาคำตอบ เพราะถือเป็น “ปริศนา” ที่ชวนให้ต้องสงสัยไม่น้อยว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
ที่สำคัญคือ ทำไปทำมา เรื่องที่ทำท่าจะจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง ก็ทำท่าจะไม่ได้จบแบบโลกสวยอีกต่างหาก
ในวันไกล่เกลี่ย นางประนอม แดงสุภา พร้อมด้วยนางสาวศิริวัลย์ แดงสุภา บุตรสาวคนรอง เดินทางมายังวังวรดิศพร้อมด้วยนายพิสิษฐ์ ชุติพรพงษ์ชัย ทนายความ ขณะที่นางศิริพร แดงสุภา บุตรสาวคนโตของนางประนอมเดินทางมาพร้อมกับนางอุรชา พีชาสารานนท์ บุตรสาวคนโตของนางศิริพร จากนั้นทั้ง 4 คนก็ได้พูดคุยกัน โดยมี ม.ล.ปนัดดาเป็นคนกลางและฝ่ายเลขานุการของ ม.ล.ปนัดดาจดบันทึกข้อตกลงในเรื่องทรัพย์สิน และไม่อนุญาตให้บุคคลที่ไม่ใช่บุคคลในครอบครัวเข้าร่วมรับฟัง
ทั้งนี้ หลังใช้เวลาในการพูดคุยร่วม 2 ชั่วโมง ปมปัญหาความขัดแย้งทั้งหมดก็คลี่คลายลงด้วยดี โดยก่อนการแถลงข่าวนางศิริพรได้หลั่งน้ำตาพร้อมกับยกมือไหว้ขอโทษและสวมกอดผู้เป็นแม่ ก่อนที่นางประนอมจะกล่าวว่า เรื่องความขัดแย้งยุติลงด้วยดี ยังไงพี่น้องก็รักกัน โดยแม่จะได้ทรัพย์สินคืนกลับมา และหลังจากนี้ลูกสาวคนโตจะรับกลับไปอยู่บ้าน ลูกๆ จะช่วยกันดูแลแม่ต่อไป
“สามารถตกลงกันได้แล้ว ขอยุติในเรื่องต่างๆ และจะทำการถอนฟ้องคดีทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้อยากให้สื่อมวลชนช่วยแก้ขาวและยืนยันว่า น้ำพริกแม่ประนอมจะอยู่คู่กับคนไทยชั่วลูกชั่วหลาน สำหรับในส่วนของหุ้นนั้น ได้รับคืนหมดเรียบร้อยแล้ว ไม่ติดใจอะไรแล้ว รักลูกค่ะ และลูกก็รักเรา พี่น้องรักกันดีค่ะ”
ขณะที่นางศิริพรกล่าวว่า “ยังกตัญญูกตเวทีและรักแม่เหมือนเดิม แม่ขออะไรมาก็พร้อมให้แม่หมด” แต่นางศิริพรหลีกเลี่ยงที่จะตอบคำถามเรื่องปัญหาการปลอมแปลงเอกสารและรายละเอียดในข้อตกลงเรื่องทรัพย์สิน
โปรดฟังอีกครั้งกับคำว่า “แม่ขออะไรมาก็พร้อมให้แม่หมด” ซึ่งเป็นคำพูดที่ต้องบอกว่าแฝงความหมายเอาไว้อย่างลึกซึ้ง
รายงานข่าวจากฝั่งแม่ประนอมแจ้งว่า ในระหว่างการพบปะเจรจาเพื่อยุติข้อขัดแย้งระหว่างแม่ประนอมกับลูกสาวในตึกใหญ่วังวรดิศนั้น นางศิริพรได้ขอโทษแม่ประนอมในเรื่องที่เกิดขึ้นและพร้อมรับปากจะคืนทรัพย์สินให้แก่แม่ประนอมหลายรายการ แต่รายละเอียดทรัพย์สินมีอะไรบ้างยังไม่ยุติร้อยเปอร์เซ็นต์ และคงต้องมีการพูดคุยรวมทั้งจัดทำรายละเอียดบัญชีทรัพย์สินให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป
สำหรับคดีความที่นางประนอมฟ้องร้องนางศิริพรบุตรสาวคนโตนั้น มี 2 คดีด้วยกัน โดยคดีแรกฟ้องร้องที่ศาลนครปฐมในเรื่องปลอมแปลงเอกสารโอนที่ดินมรดกไปเป็นของตนเอง คดีนี้เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2559 นางประนอมไปขึ้นศาลด้วยตนเอง ขณะที่นางศิริพรมอบอำนาจให้ทนายความดำเนินการแทน โดยศาลได้ให้ทั้งสองฝ่ายไปไกล่เกลี่ยกันและนัดหมายอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2559 ส่วนคดีที่สองเป็นคดีเกี่ยวกับการเรียกคืนมรดกซึ่งยื่นฟ้องที่ศาลตลิ่งชัน โดยกำหนดนัดหมายไต่สวนในวันที่ 11 เมษายน 2559 ที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ หากทุกอย่างเป็นไปตามที่ชี้แจง การถอนฟ้องทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งจะสามารถกระทำได้ในทันที
สำหรับทรัพย์สินที่มีการตกลงกันว่าจะมีการโอนคืนให้นางประนอมนั้น นายพิสิษฐ์ ชุติพรพงษ์ชัย ทนายความของนางประนอมแจกแจงเอาไว้ในเบื้องต้นว่า ประกอบไปด้วย หุ้นบริษัท พิบูลย์ชัยน้ำพริกเผาไทยแม่ประนอม จำกัด ที่นางประนอมโอนให้นางศิริพรเมื่อปี 2548 จำนวน 18,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท คิดเป็นเงิน 18,900,000 บาท ที่ดินโรงงานเก่าที่ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านเศรษฐกิจ เนื้อที่กว่า 2 ไร่ มูลค่าราว 55,000,000 บาท ที่ดินที่นครชัยศรี จังหวัดนครปฐม 9 แปลง บ้านและที่ดิน 1 ไร่ที่เขาใหญ่ รวมถึงนางศิริพรต้องชดใช้หนี้ที่นางประนอมไปหยิบยืมเงินมาเพื่อซื้อที่ดิน 1 ไร่เพื่อสร้างร้านอาหารพีเอส เรสเตอรองต์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณถนนพุทธมณฑลสาย 3 แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ในราคา 20 ล้านบาท เพราะขณะที่นางประนอมออกจากบ้านมาไม่มีเงินติดตัวออกมา
นอกจากนั้น นางศิริพรต้องให้เงินเดือนนางประนอมเดือนละ 1 ล้านบาทเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวด้วย
รวมแล้วทรัพย์สินที่นางศิริพรต้องคืนให้กับนางประนอมจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 ของทรัพย์สินในกองมรดกของนายศิริชัย แดงสุภาที่มีอยู่ทั้งหมดในขณะนี้
กระนั้นก็ดี แม้สีหน้าของนางศิริพรในวันนั้นจะเต็มไปด้วยความวิตกกังวลและมีท่าทีที่ไม่สบายใจตลอดเวลา แต่ก็ต้องถือว่า เรื่องของ “แม่กับลูก” จบลงด้วยดีในเบื้องต้นอย่างที่ควรจะเป็น
แต่ “เรื่องที่ยังไม่จบ” และมีเหตุต้องให้ค้นหาคำตอบก็คือเรื่องราวระหว่าง “พี่กับน้อง” หรือเรื่องราวระหว่างนางศิริพร บุตรสาวคนโตของแม่ประนอมกับนางศิริวัลย์ บุตรสาวคนรองของแม่ประนอม เพราะนางศิริวัลย์ซึ่งอยู่ขั้วเดียวกับแม่ในช่วงที่เกิดความขัดแย้งและมีการออกมาเปิดเผยผ่านสื่อหลังจากการเจรจาที่วังวรดิศจบลง โดยระบุชัดเจนว่า “ในข้อตกลงดังกล่าว ตนไม่ได้หุ้นจำนวน 350 หุ้นคืน”
เกิดอะไรขึ้น ทำไมนางศิริวัลย์ถึงไม่ได้หุ้นคืนจากนางศิริพรเหมือนกับนางประนอมผู้เป็นแม่ และการที่นางศิริวัลย์ออกมาพูดในลักษณะนี้จะตีความได้หรือไม่ว่า นางศิริวัลย์ไม่พอใจ?
หากย้อนหลังกลับไปตรวจสอบข้อมูลการถือหุ้นก็จะพบความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย กล่าวคือในช่วงเริ่มต้นจดทะเบียนบริษัทในเดือนกันยายน 2524 นางสาวศิริวัลย์ ถือหุ้นอยู่จำนวน 50 หุ้น จากนั้นในเดือนเมษายน 2548ได้มีการเพิ่มทุนและจัดสรรหุ้นจำนวน 59,000 หุ้นใหม่ นางศิริวัลย์ได้รับจากจัดสรรหุ้นให้เพียง 350 หุ้น ขณะที่นายศิริชัยถือหุ้นใหญ่จำนวน 20,000 หุ้น นางประนอมถือ 18,200 หุ้น และนางศิริพร ซึ่งเป็นลูกสาวคนโตถือในสัดส่วนที่เท่ากับพ่อคือ 20,000 หุ้น
และถัดจากนั้นไม่นานนักคือ ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน นางศิริวัลย์ได้หายไปจากโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัท แต่นางสาวศิริลักษณ์ ลูกสาวคนเล็กยังมีชื่อปรากฏเหมือนเดิม โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ปรากฏชื่อ นางสาวอุรชา ภาษาประเทศ และนางสาวธนาภรณ์ ภาษาประเทศ “ลูกสาว 2 คน” ของนางศิริพรซึ่งเป็นลูกสาวคนโตของนายศิริชัยกับแม่ประนอมเข้ามาถือหุ้นแทน นางสาวศิริวัลย์ แดงสุภา และนางฉวีวรรณ วงศ์ประดิษฐ์ ที่ถอนชื่อออกไป
คราวนี้ก็เช่นเดียวกัน
เพราะในความเป็นจริงแล้ว ในขณะที่นางศิริพรยอมคืนหุ้นให้กับแม่ ก็สมควรที่จะต้องคืนหุ้นให้กับนางศิริวัลย์ผู้เป็นน้องสาวด้วย แต่กลับไม่คืน และนางประนอมที่เคยออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้กับลูกก็ไม่ได้มีท่าทีอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้
นั่นย่อมหมายความว่า มีข้อตกลงบางประการเกิดขึ้น ส่วนจะตกลงอะไรกันนั้น ไม่มีใครทราบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ และก็ไม่มีใครรับประกันได้อีกเช่นกันว่า จะไม่มีเรื่องมีเรื่องในทำนองนี้เกิดขึ้นตามมาอีก
เพราะก่อนหน้าที่การเจรจาระหว่างนางประนอมกับนางศิริพรจะจบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้ง ดูเหมือนว่า นางศิริวัลย์จะไม่พอใจพี่สาวอย่างหนัก โดยให้สัมภาษณ์เอาไว้อย่างหนักหน่วงและรุนแรงว่า “เป็นไปได้ยากที่แม่และน้องๆ จะกลับมาอยู่กับนางศิริพรอีก เพราะปัญหาที่แท้จริงยังไม่ได้แก้ไข สิ่งที่ทำให้แม่ต้องออกจากบ้านที่พ่อสร้างให้ก็เพราะแม่ทวงถามเรื่องสินสมรสของแม่และทรัพย์สินในกองมรดกของพ่อไม่ใช่หรือ ที่แม่และตนร้องขอต่อนายกรัฐมนตรีและร้องขอความเป็นธรรมกับสังคมคือ ต้องการทรัพย์สินที่ถูกต้องชอบธรรมกลับคืนมา ไม่ใช่ร้องขอกลับบ้าน ดังนั้นอย่ามาสร้างภาพด้วยการเอาแม่และน้องจิ๋ม(นางสาวศิริลักษณ์ แดงสุภา น้องสาวคนสุดท้อง) กลับไปทำร้ายจิตใจอีก”
ขณะเดียวกันในวันถัดมานายพิสิษฐ์ ชุติพรพงษ์ชัย ทนายความของนางประนอมก็ออกมาให้สัมภาษณ์ตอกย้ำในประเด็นเรื่องการกลับไปอยู่กับนาง ศิริพรว่า “อยู่ระหว่างการพิจารณา เพราะที่ผ่านมานางประนอมก็ยอมรับว่ารู้สึกอึดอัด และเกรงว่าถ้ากลับไปอยู่แล้วจะไม่เหมือนเดิม” ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้นางประนอมเป็นคนพูดออกมาจากปากเองว่าจะกลับไปอยู่บ้านกับนางศิริพร เหมือนเดิม
ดังนั้น จึงบอกได้ว่า งานนี้หลายคนสงสัยว่า ต้องมีอะไรในกอไผ่อย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างนางศิริพรและนางสาวศิริวัลย์???
ขณะเดียวกันเมื่อตรวจสอบคำให้สัมภาษณ์ของนายทวิชา หวังโภคา ทนายความของนางประนอมก็จะพบว่า มูลเหตุแห่งความขัดแย้งครั้งนี้คือเรื่อง “มรดก” เป็นสำคัญ โดยแบ่งเป็น มรดกที่มีการแบ่งกันไปแล้วกับมรดกส่วนที่ยังไม่มีการแบ่งเพราะเกิดความไม่เข้าใจกัน และในวันเจรจาได้ตกลงที่จะให้นางประนอมเป็นผู้จัดการมรดกเหมือนเดิม
และนั่นคือปัญหาใหญ่อย่างไม่อาจปฏิเสธความจริงได้ เว้นเสียว่าจะมี “อะไร” มาทำให้การแบ่งมรดกจบลงด้วยดี
นอกจากนี้ ในระหว่างที่การพบกันของ 2 แม่ลูกและพี่น้องตระกูลแดงสุภายังไม่เกิดขึ้น ศึกน้ำพริกเผาแม่ประนอมก็ปรากฏตัวละครตัวหนึ่งโผล่ขึ้นมา และทำให้สังคมให้ความสนใจใค่รรู้เป็นอย่างยิ่งว่าเข้าไปเกี่ยวข้องได้อย่างไร
ตัวละครคนนั้นมีชื่อว่า “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” นักการเมืองชื่อดังและขาใหญ่ย่านฝั่งธน ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญของบ้านนี้เมืองนี้มาแล้วหลายต่อหลายกระทรวง
เหลิม บางบอน ผู้กว้างขวางย่านฝั่งธนคือบุคคลที่นายศิริชัยและนางประนอมให้ความเคารพนับถือ
ร.ต.อ.เฉลิมตอบคำถามในเรื่องนี้โดยยอมรับว่า “ มีความสนิทสนมกับครอบครัวนายศิริชัยมานานหลายสิบปี รู้จักทุกคนในครอบครัวเป็นอย่างดี ที่ผ่านมานางประนอมเคยมาพบและขอให้ช่วยไกล่เกลี่ยความขัดแย้งกับลูกสาวในเรื่อง ทรัพย์สินมรดก แต่ผมปฏิเสธ เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัวแดงสุภา จึงไม่ขอเข้าไปยุ่งเกี่ยว”
จะเห็นได้ว่า งานนี้ ร.ต.อ.เฉลิมถึงขั้นใช้คำว่าสนิทสนมกับครอบครัวนี้เลยทีเดียว ซึ่งก็ทำให้เกิดคำถามตามมาในฉับพลันทันทีว่า ไปสนิทสนมกันได้อย่างไรและไปสนิทสนมกันด้วยเรื่องอะไร ซึ่งก็แน่นอนว่า หลายคนอาจต่อจิ๊กซอว์ จินตนาการหรืออาจจะใช้คำว่า “มโน” เรื่องราวทั้งหมดไปกันต่างๆ นานาโดยเฉพาะการเชื่อมโยงไปถึงภาพความเป็น “คนในยุทธจักร” ใน “เวทีมวยอ้อมน้อย” ของ “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร” ซึ่งมักปรากฏกายให้เห็นอยู่เสมอๆ
ส่วนต่อจิ๊กซอว์ จินตนาการหรือมโนแล้วจะถูกทั้งหมด ถูกเพียงบางส่วนหรือผิดทั้งหมด ซึ่งก็คงจะมีแต่ ร.ต.อ.เฉลิมและครอบครัวแดงสุภาเท่านั้นที่จะรู้ได้
....เอาเป็นว่า เรื่องนี้ลึกลับซับซ้อนและยังคงมีความจริงที่ไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณชนอยู่อีกไม่น้อยเช่นกัน