ปปง.ผสานกำลังกองทัพภาค 2 บุกยึดอายัดทรัพย์นายทุนฮุบที่สาธารณะเกือบ 4 พันไร่ 4 จุดเป้าหมาย โรงแรมอัมรินทร์ อ.ปักธงชัย อัมรินทร์รีสอร์ท วังน้ำเขียว มูลค่า 50 ล้านบาท
วันนี้ (22 ส.ค.) พ.อ.สมหมาย บุษบา คณะทำงานด้านกฎหมาย กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองทัพภาคที่ 2 ได้รับมอบหมายจาก พล.ท.ชาญชัย ภู่ทอง แม่ทัพภาคที่ 2 ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยภาค 2 ให้ร่วมปฏิบัติการกับ พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พร้อมคณะ โดยมีกำลังนายทหารในพื้นที่ จ.นครราชสีมา กว่า 100 นายร่วมผสานกำลังลงพื้นที่เพื่อยึดอายัดทรัพย์นายอัมรินทร์ อยู่สุขดี นายสมโภช ศรีใหม่ และนายทรงชัย แป้สูงเนิน กับพวก ในความผิดเกี่ยวกับการทำลายทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม ให้เปลี่ยนแปลงไปจากวัตถุประสงค์เดิมที่ทางราชการประสงค์จะประกาศให้เป็นที่ทำเลี้ยงสัตว์ โดยการใช้ ยึดถือ หรือครอบครองที่ดินบริเวณดังกล่าว เพื่อการแสวงหาผลประโยชน์จากที่ดินสาธารณประโยชน์อันเป็นทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันมีลักษณะเป็นการค้า และเข้าข่ายความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 มิย.ที่ผ่านมา มีผู้ร้องเรียนต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่ามีกลุ่มบุคคลหรือนายทุนเข้าบุกรุกและเข้าถือครองที่ดินสาธารณะเพื่อทำประโยชน์ส่วนตัว ในพื้นที่หนองกุง-หนองแก้ว ต.หนองตะไก้ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา รวมพื้นที่กว่า 3,900 ไร่ และจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง จึงนำมาสู่ปฏิบัติการลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา 4 เป้าหมาย ได้แก่ 1) โรงแรมอัมรินทร์ บริเวณสี่แยกทางเข้าเขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย 2) อัมรินทร์โฮมสเตย์ อ.วังน้ำเขียว 3) บ้านเลขที่ 5/1 บ้านเลขที่ 162 บ้านเลขที่ 99 หมู่ที่ 6 ต.หนองตะไก้ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา 4) บ้านเลขที่ 101 หมู่ที่ 6 ต.หนองตะไก้ อ.สูงเนิน
พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง.กล่าวถึงการปฏิบัติการในครั้งนี้ว่ามีเป้าหมาย ทั้งหมด 4 จุด คือ โรงแรมอัมรินทร์ อ.ปักธงชัย อัมรินทร์รีสอร์ท วังน้ำเขียว บ้านพักนายสมโภชน์ ต.หนองตะไก้ อ.สูงเนิน และบ้านนายทรงชัย โดยจุดสำคัญคือบ้านนายสมโภชน์ ที่เก็บรถบรรทุกที่ใช้เพื่อการเกษตรคือเก็บเกี่ยวอ้อย ทั้งนี้ ปปง.ได้ตรวจยึดอายัดไว้รวมทั้งสิ้น 30 คัน จากการตรวจสอบรถดังกล่าวแล้วพบว่าได้มาจากการกระทำความผิดในการเข้าไปทำลายทรัพยากรธรรมชาติซึ่งกรณีนี้ถือเป็นคดีแรกที่ ปปง.ดำเนินการตามมาตรา 3 (15) กับกลุ่มนายทุน ที่แม้ไม่ได้เข้ามาบุกรุกเองแต่เอื้อประโยชน์ชาวบ้านด้วยการให้เช่าซื้อรถเพื่อนำมาใช้ในการเกษตร ทำให้ชาวบ้านเข้าไปบุกรุกทำกินในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ปปง.จะให้ความเป็นธรรมกับกลุ่มนายทุนที่อ้างว่าได้ทรัพย์มาโดยชอบ ด้วยการนำหลักฐานมาพิสูจน์ทรัพย์ หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นทรัพย์ที่ถูกต้องก็จะคืนทรัพย์สินให้ แต่หากชี้แจงไม่ได้ก็ต้องยึดอายัดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดินตามกฎหมาย
สำหรับกรณีที่จะขออนุญาตนำรถบางคันมาใช้เพื่อความจำเป็นในชีวิตประจำวันอาจมีการกำหนดเงื่อนไขเป็นรายไป ส่วนทรัพย์สินที่ยึดอายัดได้ในวันนี้จะนำไปเก็บไว้ที่ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ กองกำลังสุรนารี เบื้องต้นประเมินมูลค่าทรัพย์ที่ยึดอายัดวันนี้กว่า 50 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังได้อายัดบ้านใน อ.วังน้ำเขียว อีก 3 หลัง อาคารใน อ.ปักธงชัย 2 หลัง บัญชีธนาคาร 12 บัญชี รวมมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท
พ.อ.สมหมายกล่าวว่า การเข้ายึดอายัดทรัพย์ของนายทุนกลุ่มดังกล่าว กองทัพภาคที่ 2 ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก 2457 และ ปปง.ใช้อำนาจตามกฎหมายฟอกเงิน เนื่องจากพบว่ากลุ่มทุนได้รับประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรเชิงการค้ามีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท ซึ่งแต่ละปีมีผลผลิตที่ได้จากที่ดิน 1 ไร่จะได้อ้อยประมาณ 80,000 ตัน โดยขายได้ราคาประมาณ 1,000 บาท ดังนั้น แต่ละปีจะมีรายได้จากการขายอ้อยประมาณ 80 ล้านบาท และหากตรวจสอบย้อนหลังการเข้าใช้ประโยชน์ตั้งแต่ปี 2535-ปัจจุบัน จะพบว่านายอัมรินทร์ได้รับผลประโยชน์จากการขายอ้อยมูลค่ามากกว่า 3,000 ล้านบาท โดยโรงงานน้ำตาลครบุรีได้ให้ข้อมูลว่ารายได้ดังกล่าวเป็นการคำนวณจากรายได้จริง ซึ่งทางโรงงานครบุรีอยู่ระหว่างรวบรวมเอกสารหลักฐานการซื้อขายอ้อยมาให้คณะทำงานพิจารณา
นอกจากนี้ พ.อ.สมหมายยังกล่าวถึงการเอาผิดทางวินัยกับนายไพบูลย์ ฐิติกุล นายช่างรังวัดชำนาญงาน สำนักงานที่ดิน จ.นครราชสีมา ในฐานะเป็นผู้รังวัดที่ดินเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มผู้บุกรุก โดยนายไพบูลย์ยอมรับว่าได้ร่วมลงนามจัดทำเอกสารในที่ดินดังกล่าวจริง โดยเป็นการทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา
ต่อมา พ.อ.สมหมายได้เรียกนายอัมรินทร์และเครือญาติที่มีส่วนรับผลประโยชน์จำนวน 22 คน พร้อมทั้งภรรยาอีก 3 คนเข้าให้ปากคำ ทั้งหมดรับว่านายอัมรินทร์ได้เข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินทั้งหมดจริง ขณะที่นายสมโภชน์ที่เช่าใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ใช้ชื่อภรรยาคือนางลำไย ศรีใหม่ เป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินทั้งหมด ทั้งนี้การยึดอายัดทรัพย์นายทุนดังกล่าวถือเป็นรายแรกที่รัฐสามารถเรียกคืนที่ดินและทรัพย์สินที่นายทุนได้รับประโยชน์จากการใช้พื้นที่คืน
ด้านนายอัมรินทร์ อยู่สุขดี อายุ 74 ปี กล่าวว่า ตนเองมีที่ดินทั้งหมดประมาณ 1,800 ไร่ ได้จากการรวบรวมซื้อจากชาวบ้านในราคาไร่ละ 5,000-10,000 บาท แบ่งเป็นที่ดิน น.ส.3 ก. จำนวน 2 แปลง ส.ป.ก.1 แปลง และที่ดินมีเอกสารใบชำระภาษี บทภ.5 ยืนยันว่าได้มาอย่างถูกกฎหมาย
ขณะที่นายสมโภช ศรีใหม่ อายุ 57 ปี เจ้าของบ้านเลขที่ 5/1 ม.6 ต.หนองตะไก้ อ.สูงเนิน กล่าวว่า ไม่ทราบมาก่อนว่าเป็นที่ดินสาธารณะ ตนได้เช่าที่ต่อจากนายอัมรินทร์เป็นพื้นที่ 1,095 ไร่ โดยจ่ายค่าเช่าล่วงหน้า 3 ปี เป็นเงินเกือบ 2 ล้านบาท เพื่อทำเกษตรปลูกไร่อ้อย ตัดส่งให้โรงงานน้ำตาลครบุรี อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา โดยทำสัญญากับทางโรงงาน และโรงงานได้ให้รถบรรทุกอ้อย รถตัดอ้อย และอุปกรณ์อื่นๆ เพื่อการเกษตรมาก่อนแล้วผ่อนจ่ายทีหลัง ทั้งนี้ยืนยันว่าทรัพย์สินรถจำนวนหลายคันและอื่นๆ นั้นเป็นของเจ้าโรงงานที่เอามาให้ไว้ใช้เพื่อตัดอ้อยส่งให้เจ้าของโรงงานน้ำตาลเพื่อตัดลดหนี้