xs
xsm
sm
md
lg

“ตลาดหุ้น” ของใคร

เผยแพร่:   โดย: สุนันท์ ศรีจันทรา

แผนการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใต้แนวคิด กระทรวงการคลังเข้าไปถือหุ้นใหญ่ อาจต้องสะดุดลง เพราะถูกกระแสต่อต้านอย่างหนัก

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ซึ่งประกอบด้วยองค์กรธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้น ได้ลุกขึ้นมาประกาศจุดยืนคัดค้านการที่กระทรวงการคลังจะเข้ามาถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยอ้างว่า การเมืองจะแทรกแซงตลาดหุ้น กระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน และทำให้ตลาดหุ้นขาดความเป็นอิสระ

วัตถุประสงค์ของกระทรวงการคลังในการเข้าไปถือหุ้นนั้น อาจพุ่งไปที่รายได้ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งล่าสุดมีกำไรสะสมตกค้างอยู่ประมาณ 20,000 ล้านบาท

ส่วนสภาธุรกิจตลาดทุนไทยที่ออกมา “ตีกัน” เพราะไม่ต้องการให้ตลาดหุ้นตกอยู่ภายใต้การครอบงำของอำนาจรัฐอย่างเต็มรูปแบบ หรือถูกเปลี่ยนฐานะเป็นบริษัทมหาชนกึ่งหน่วยงานรัฐ ซึ่งบั่นทอนอำนาจการต่อรองของภาคเอกชนที่หากินในตลาดหุ้น

อนาคตตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับการเจรจาตกลงระหว่างกระทรวงการคลังกับองค์กรธุรกิจเอกชนในตลาดหุ้นเท่านั้น ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง

เพราะตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นองค์กรมหาชน ไม่ใช่สัมปทานของใครคนใดคนหนึ่ง ประชาชนจึงควรมีส่วนร่วมกำหนดชะตากรรม

ตลาดหุ้นเป็นแหล่งระดมทุนและลงทุนใหญ่ที่สุดของประเทศ การซื้อขายหุ้น เป็นการค้าที่มีมูลค่าสูงที่สุด ยอดซื้อขายหุ้นวันละ 3-4 หมื่นล้านบาท และเคยซื้อขายกันสูงกว่าวันละ 1 แสนล้านบาท

มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมกว่า 13 ล้านล้านบาท สูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และมีนักลงทุนเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นกว่า 1 ล้านบัญชี

ความเป็นไปในตลาดหุ้น เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจของประเทศ เกี่ยวข้องกับภาพลักษณ์การลงทุนทั้งระบบ และส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศ รัฐบาลจึงต้องกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด

สมาชิกสภาธุรกิจตลาดทุนไทยอย่าสำคัญผิด คิดว่าตลาดหุ้นเป็นสมบัติส่วนตัวของโบรกเกอร์ อย่าเหมาว่า เป็นองค์กรของภาคเอกชน และอย่าอ้างสิทธิผูกขาดการเป็นผู้กำหนดความเป็นไปของตลาดหุ้น

ตลาดหุ้นที่เติบใหญ่ขึ้นมาได้เพราะการส่งเสริมจากภาครัฐ โดยยกเว้นการเก็บภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้น ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้บริษัทจดทะเบียน มอบสิทธิการลดหย่อนภาษีเงินที่นำมาลงทุนผ่านกองทุนหลายประเภท

และอนุญาตให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เก็บค่าธรรมเนียมการซื้อขายหุ้น เก็บค่าธรรมเนียมจากบริษัทจดทะเบียน โดยกำไรไม่ต้องนำส่งเข้ากระทรวงการคลังอีกด้วย

สภาธุรกิจตลาดทุนไทยอาจต้องการให้ตลาดหุ้นมีความเป็นอิสระมากที่สุด แต่จุดยืนของประชาชนแตกต่างไป เพราะต้องการให้มีการกำกับดูแลตลาดหุ้นอย่างเข้มงวดที่สุด

ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะแปรรูปหรือไม่ จะปรับโครงสร้างบริหารจัดการตลาดหุ้นอย่างไร ประชาชนไม่ใส่ใจเท่าไหร่นักเพราะสนใจแต่เพียงว่า ทำอย่างไรการลงทุนในตลาดหุ้นจึงเกิดความโปร่งใส ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบ ไม่มีการโกง ไม่มีแก๊งต้มตุ๋น ไม่มีพฤติกรรมการปั่นหุ้น

แต่ปัจจุบันตลาดหุ้นยังมีภาพลักษณ์เป็นบ่อนพนันที่เต็มไปด้วยพฤติกรรมโกง และนโยบายสร้างธรรมาภิบาลในตลาดหุ้นยังไปไม่ถึงไหน

องค์กรธุรกิจที่ต้องการสร้างความเชื่อมั่นในตลาดหุ้น ควรเริ่มจากการเก็บกวาดบ้านตัวเองให้สะอาดเสียก่อน โดยควบคุมดูแลบุคลากรในกลุ่มวิชาชีพให้ยึดมั่นในจริยธรรมจรรยาบรรณ ไม่แหกกฎธรรมาภิบาล ไม่สมคบคิดกับผู้บริหารจดทะเบียนและนักลงทุนขาใหญ่ ร่วมขบวนการปั่นหุ้น

ถ้าองค์กรธุรกิจเอกชนช่วยคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ลงทุน ช่วยสอดส่องดูแลไม่ให้คนกลุ่มใดเข้ามาก่ออาชญากรรม ช่วยป้องกันไม่ให้นักลงทุนถูกเอารัดเอาเปรียบได้ จะเรียกร้องขอความอิสระในระดับไหนคงไม่มีใครโต้แย้ง

โครงสร้างตลาดหุ้น อาจไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงใดๆ โดยเป็นองค์กรภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)เหมือนเดิม แต่ต้องกำกับดูแลเข้มข้นขึ้น ต้องปรับโครงสร้างคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้มีความหลากหลาย

ไม่ผูกขาดเฉพาะตัวแทนจากบริษัทโบรกเกอร์และตัวแทนจาก ก.ล.ต.เท่านั้น แต่เปิดให้ตัวแทนนักลงทุน และตัวแทนภาคประชาชนร่วมกำหนดทิศทางด้วย

ตลาดหุ้นสร้างความมั่งคั่งให้คนจำนวนมากมาย แต่ประชาชนผู้ลงทุนกลับเป็นกลุ่มคนที่เก็บเกี่ยวความร่ำรวยน้อยที่สุด ถูกเอาเปรียบมากที่สุด ได้รับการดูแลปกป้องน้อยที่สุด ทั้งที่มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของตลาดหุ้นมากที่สุด

ถ้าไม่มีนักลงทุน ก็ไม่มีองค์กรธุรกิจใดทำมาหากินในตลาดหุ้นได้

สภาธุรกิจตลาดทุนไทยต้องสำนึกถึงบุญคุณนักลงทุนให้มากหน่อย จะวางแผนพัฒนาตลาดหุ้นไปทางไหน ต้องตระหนักถึงเจตนารมณ์ของประชาชน ซึ่งไม่ต้องการให้คำว่า ธรรมาภิบาล ความโปร่งใส ไร้โกง เป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อในตลาดหุ้นเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น