xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เบื้องหลัง “แม่ประนอม” ครกแตก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ช็อก!! สังคมกันอีกครั้งกับเรื่องราวความขัดแย้งของครอบครัว “แดงสุภา” ผู้ผลิต “น้ำพริกเผาไทยแม่ประนอม” เมื่อจู่ๆ ตัว “แม่ประนอม” ได้ออกมายื่นหนังสือร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 259 โดยอ้างว่า ถูก “นางศิริพร แดงสุภา” ผู้เป็นลูกสาวคนโต “ฮุบกิจการ” ของตระกูลเอาไว้แต่เพียงผู้เดียว

แน่นอน นี่เป็นเรื่องภายในครอบครัว แต่เป็นเรื่องในครอบครัวที่สังคมให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง

หนึ่ง-เพราะเป็นเหตุที่เกิดกับน้ำพริกเผาไทยแม่ประนอม ซึ่งคนไทย
รู้จักเป็นอย่างดี

สอง-เพราะเป็นความขัดแย้งระหว่าง “แม่กับลูก” ซึ่งสะเทือนอารมณ์ของผู้คนในสังคม

และสาม-เป็นความขัดแย้งที่ไม่จำกัดอยู่แค่การพูดคุยกันในครอบครัว หากลุกลามกลายเป็นคดีความฟ้องร้องกันต่อศาลและมีการออกมาเปิดเผยความขัดแย้งสู่สายตาของสาธารณชนชนิดที่อาจใช้คำว่า “ผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ” เรื่องนี้ ไม่ต้องสืบต้นสายปลายเหตุก็ฟันธงได้ทันทีว่าเป็นเรื่องของ “เงินๆ ทองๆ” ที่ไม่เข้าใครออกใคร แต่สิ่งที่สังคมสงสัยก็คือ “จุดพลิกผัน” ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง “แม่กับลูก” และ “พี่กับน้อง” แตกหักกันนั้น อยู่ที่ตรงไหน

รวมทั้งข้อกล่าวหาของแม่ประนอมนั้น เท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะในวันถัดมาก็มีภาพการมอบดอกกุหลาบให้นางศิริพรผู้เป็นลูกสาวคนโตจากคนในโรงงานทำน้ำพริกเผา พร้อมข้อมูลในอีกชุดหนึ่งเผยแพร่สู่สังคมเช่นกัน

งานนี้ พูดได้เต็มปากเต็มคำว่า “ดรามากว่าที่นึก ลึกกว่าที่คิด” และมี “เบื้องหลัง” ที่ไม่ธรรมดา
แม่ประนอม และ น.ส.ศิริวัลย์ แดงสุภา เดินทางมายังศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ พร้อมกับ “ชายร่างบึ้ก” ที่มีเสียงเล็ดลอดออกมาจากปากของตำรวจละแวกนั้นว่า เป็นคนในยุทธจักร
กำเนิดน้ำพริกเผาไทยแม่ประนอม ก่อน “แม่ประนอม” ออกมา “ประณามลูก”

ก่อนที่จะถึงประเด็นว่า ใครผิด ใครถูก

คงต้องยอมรับกันในเบื้องแรกก่อนว่า น้ำพริกเผาไทยแม่ประนอมจะไม่เป็นที่รู้จัก และกิจการจะไม่เจริญเติบโต จนมีมูลค่าหลายพันล้านบาทดังเช่นทุกวันนี้ หากไม่มีสองสามีภรรยาที่ชื่อ “ประนอม-ศิริชัย แดงสุภา”

ที่สำคัญคือ ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนธรรมดาที่เป็นเพียงแค่แม่ค้าตำน้ำพริกขายกับสามีที่เคยทำงานเป็น “เซลส์” หรือพนักงานขาย “บริษัท ดีทแฮล์ม” จะสามารถฝ่าฝันให้มาถึงจุดนี้ได้

“กว่าจะขยายธุรกิจจนเติบโตยิ่งใหญ่ได้ทุกวันนี้ผ่านความยากลำบากอย่างหนัก เริ่มต้นทำน้ำพริกตั้งแต่อายุ 24 กับสามี ตอนแรกต้องไปกู้ยืมตังค์คนอื่นไปซื้อพริก กระเทียม กุ้งแห้ง มาเริ่มทำน้ำพริกเผาซึ่งสมัยนั้น เครื่องกวนก็ไม่มี ต้องใช้ไม้กวนเองกับมือและช่วยกันมา 2 คนกับสามี รวมทั้งต้องเช่าบ้านอยู่ ก่อนเริ่มบุกตลาดภาคใต้แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ น้ำพริกขายไม่ค่อยได้ แต่ยัง โชคดีที่สามีให้นำไม้จิ้มฟันพกติดตัวไปด้วยเผื่อหากขายน้ำพริกไม่ได้ และถือว่า ยังได้ค่ารถกลับกรุงเทพฯ จากการขายไม้จิ้มฟันแทน”แม่ประนอมเล่าชีวิตความยากลำบากเมื่อ 60 ปีก่อนให้ฟัง

กระทั่งในปี 2502 การก่อรูปก่อร่างของธุรกิจก็ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อศิริชัย แดงสุภา สามีของแม่ประนอมมองเห็นว่าในอนาคตข้างหน้าวิถีชีวิตของผู้คนจะออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น จึงปิ๊งไอเดียนำน้ำพริกมาบรรจุใส่ถุงหรือขวด เพื่อให้สามารถรับประท่านได้สะดวก ประหยัดเวลา ไม่ต้องเสียเวลาประกอบนาน จึงเกิดเป็นน้ำพริกเผาไทยแม่ประนอมบรรจุใน “ขวดแก้ว” ขึ้นเป็นครั้งแรก พร้อมทั้งนำรูปแม่ประนอมสมัยสาวๆ มาใช้เป็นสัญลักษณ์ของสินค้านับตั้งแต่นั้นมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

“ซื้อห้องแถวย่านหนองแขม 2 ห้องเพื่อตั้งเป็นโรงงานเล็ก ๆ ทำน้ำพริก แต่ก็ยังขายไม่ดี อาศัยส่งตามร้าน แต่ก็ไม่มีใครซื้อจนต้องเดินเร่ขายน้ำพริกด้วยตัวเอง”

จากธุรกิจครอบครัวเล็กๆ ผลิตกันเองภายในครัวเรือน ปี 2520 ถือเป็นก้าวย่างสำคัญของการขยายกิจการ โดยก่อสร้างโรงงานครั้งแรก หจก.อุตสาหกรรมพิบูลย์ชัย ในหมู่บ้านเศรษฐกิจพื้นที่ 4 ไร่

เมื่อปี 2524 ได้จดทะเบียนเป็นบริษัท ในนามบริษัทพิบูลย์ชัยน้ำพริกเผาไทยแม่ประนอม และต่อมาปี 2537 ได้ขยายโรงงานขนาดมหึมา ตั้งอยู่ที่ ถ.บรมราชชนนี แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กทม.

จากสินค้าน้ำพริกเผาไทยเพียงชนิดเดียวต่อมาจึงได้พัฒนาธุรกิจสู่สินค้า อื่นๆ ที่หลากหลายในกลุ่มเครื่องจิ้ม เครื่องแกงสำเร็จรูป และเครื่องปรุงรสต่างๆ ภายใต้เครื่องหมายการค้าตรา ”แม่ประนอม” และ “ครัวสยาม” ปัจจุบันมีสินค้ามากกว่า 50 ชนิด จำนวนกว่า 100 ขนาด และยังคงเดินหน้าคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
กลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่นำโดย อ้อย-ศิริพร แดงสุภา ลูกสาวคนโตและนายสุชาติ ภาษาประเทศ ลูกเขย
ธุรกิจแม่ประนอมในปี พ.ศ. 2550 มียอดจำหน่ายต่อเดือนที่ประมาณ 1 แสนกล่อง หรือประมาณ 18-20 ล้านบาทต่อเดือน และจำหน่ายไปกว่า 40 ประเทศทั่วโลก

ทว่า จุดพลิกผันอันนำไปสู่การฟ้องร้องจนเป็นคดีความเกิดขึ้นในปี 2556 เมื่อเสาหลักในการทำธุรกิจของครอบครัวคือ ศิริชัย ผู้เป็นสามีและพ่อล้มป่วยและเสียชีวิตในวันที่ 11 กันยายนของปีเดียวกัน

นางประนอมให้สัมภาษณ์หลังยื่นหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมว่า ตนเองและสามีคือนายศิริชัย แดงสุภา ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกิจการดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2502 จนกิจการขยายใหญ่ขึ้นในปี 2557 จึงมอบหมายให้ลูกสาวคนโตที่ ได้รับความไว้วางใจจากคนในครอบครัวให้ เป็นกรรมการและบริหารงานต่างๆ แทนครอบครัวเพียงคนเดียวมาตลอด โดยให้ถือครองหุ้น 20,000 หุ้น จากทั้งหมด 59,000 หุ้น ต่อมาปี 2558 พบข้อพิรุธและสงสัยว่าอาจมีการปลอมหนังสือมอบอำนาจจากตนเอง และโอนที่ดินกองมรดกไปเป็นของลูกสาวเอง ซึ่งที่ผ่านมาได้ขอร้องให้โอนคืน แต่กลับถูก เพิกเฉย รวมทั้งยังถูกฮุบกิจการน้ำพริกเผาที่มีมูลค่าถึง 5 พันล้านบาทไปเป็นของลูกสาวร่วมกับลูกเขย

นอกจากนี้ ยังสงสัยว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทใหม่ทั้งหมด พร้อมตัดชื่อนายศิริชัยซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี 2556 ชื่อของตนเอง รวมทั้งบุตรคนอื่นๆ ออกจากรายชื่อผู้ถือหุ้นทั้งหมด ก่อนใส่ชื่อของลูกสาวและลูกเขยเข้าไปแทน

ที่สำคัญนางประนอมอ้างด้วยว่า ต่อมาตนเองถูกขับไล่ออกจากบ้าน ทำให้ต้องออกมาทำร้านอาหารพีเอส เรสเตอรรองต์ กับลูกสาวคนรอง จากนั้นจึงตัดสินใจยื่นฟ้องร้องต่อศาลให้ดำเนินคดีกับทั้ง 2 คน เพื่อขอให้คืนทรัพย์สิน พร้อมขอให้นายกฯพิจารณาช่วยเหลือ เนื่องจากเกรงจะไม่ได้รับความ เป็นธรรม

“เรื่องของดิฉันเป็น เรื่องภายในครอบครัว แต่ถ้าปล่อยไว้อาจมีการฮุบกิจการและทรัพย์สินของครอบครัวไปเป็นของตนเองโดย ง่าย โดยจะเกิดผลเสียหายแก่บรรทัดฐานด้านจริยธรรมและศีลธรรมของสังคมอย่าง ยิ่ง จึงใคร่ขอความกรุณาจากนายกฯ เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับดิฉันและครอบครัวด้วย”

นั่นคือคำให้การต่อสังคมของแม่ประนอมที่ในวันนั้นเดินทางไปร้องเรียนที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล โดยมีทีมงานติดตามเป็นชายฉกรรจ์มาคอยดูแลความปลอดภัยล่วงหน้า ก่อนที่แม่ประนอมจะนั่งมาในรถหรูยี่ห้อ “จากัวร์” พร้อมกับ นางสาวศิริวัลย์ แดงสุภา ลูกสาวคนรอง
นายศิริชัย แดงสุภา สามีของแม่ประนอมในช่วงที่กำลังบุกเบิกน้ำพริกเผาไทยแม่ประนอมให้เป็นที่รู้จัก
ชำแหละ 2 ขั้วความขัดแย้ง แม่+ลูกสาวคนรอง VS ลูกสาวคนโต

จากการตรวจสอบข้อมูลทำให้ได้ข้อเท็จจริงว่า นางประนอมและนายศิริชัย มีบุตรธิดาด้วยกัน 4 คน คือ 1.นางศิริพร แดงสุภา 2.นายศิริพงษ์ แดงสุภา 3.นางสาวศิริวัลย์ แดงสุภา และ 4.นางสาวศิริลักษณ์ แดงสุภา

ทั้งนี้ จากปากคำของแม่ประนอม ทำให้สามารถสรุปเรื่องได้ว่า ความขัดแย้งครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 ขั้วด้วยกันคือ 1.ขั้วของแม่ประนอมกับนางสาวศิริวัลย์ แดงสุภา ลูกสาวคนรอง และ 2.ขั้วของนางศิริพร แดงสุภา และนายสุชาติ ภาษาประเทศ บุตรเขย

ขณะที่บุตรชายคือนายศิริพงษ์ ไม่ได้มาข้องเกี่ยวกับความขัดแย้งครั้งนี้เพราะเสียชีวิตไปแล้ว ส่วนลูกสาวคนเล็กคือนางสาวศิริลักษณ์นั้น แม่ประนอมเป็นผู้ดูแลในฐานะที่พิการ จึงทำให้ถูกลากเข้ามาเกี่ยวข้องในทางอ้อม

และปมปัญหาที่สังคมสงสัยก็เห็นจะหนีไม่พ้นเรื่อง “หุ้น” ของ “บริษัทพิบูลย์ชัยน้ำพริกเผาไทยแม่ ประนอม จำกัด” เพราะในปัจจุบัน มีแต่ชื่อนางศิริพรลูกสาวคนโต นายสุชาติ ภาษาประเทศ บุตรเขย และหลานสาวอีก 3 คน โดยไม่มีชื่อของนางประนอมและลูกๆ คนอื่นๆ ปรากฏแม้แต่เพียงหุ้นเดียว ซึ่งนั่นเป็นที่มาของการที่นางประนอมออกมาร้องเรียนว่าถูกบุตรสาวและบุตรเขยฮุบกิจการ

อย่างไรก็ตาม หากตรวจสอบข้อมูลผู้ถือหุ้นย้อนหลังที่ทาง สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำมาเสนอ ก็จะพบ “เงื่อนงำ” ที่น่าสนใจเช่นกัน

กล่าวคือในช่วงเริ่มต้นจดทะเบียนบริษัทในเดือนกันยายน 2524 ผู้ถือหุ้นจำนวน 500 หุ้นประกอบไปด้วยนายศิริชัย 100 หุ้น นางประนอม 100 หุ้น นางศิริพร ลูกสาวคนโต 100 หุ้น นายศิริพงษ์ ลูกชาย 50 หุ้น นางสาวศิริวัลย์ ลูกสาวคนรอง 50 หุ้น นางสาวศิริลักษณ์ 50 หุ้นและคนอื่น 50 หุ้น
.(ซ้าย) นางศิรพร (กลาง) แม่ประนอม (ขวา) นางสาวศิริวัลย์ ส่วนด้านหลังคือลูกสาวและลูกเขยของนางศิริพร
ทั้งนี้ นางศิริพร แดงสุภา ปรากฏชื่อเป็นผู้เริ่มก่อการ ผู้ขอจดทะเบียนจัดตั้ง ประเดิมทุนครั้งแรก 5 แสนบาท ก่อนจะปรับขึ้นเป็น 2 ล้านบาท ช่วงปี 2531 และเพิ่มเป็น 59 ล้านบาท เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2544

ต่อในในช่วงขยายกิจการขยายโรงงานปี 2537 แม่ประนอมกับศิริชัยผู้เป็นสามี ได้มอบหมายให้นางศิริพร ซึ่งเป็นลูกสาวคนโต เป็นกรรมการบริหารงาน

จากนั้นในเดือนเมษายน 2548 ก็ได้มีการเพิ่มทุนและจัดสรรหุ้นจำนวน 59,000 หุ้นใหม่ โดยเที่ยวนี้ปรากฏผู้ถือหุ้นใหม่คือนายสุชาติ ผู้เป็นลูกเขยซึ่งเข้ามาแทนนายศิริพงษ์ ลูกชายที่เสียชีวิตไป อย่างไรก็ตามนายศิริชัยยังคงถือหุ้นใหญ่จำนวน 20,000 หุ้น นางประนอมถือ 18,200 หุ้น ขณะที่นางศิริพร ซึ่งเป็นลูกสาวคนโตถือในสัดส่วนที่เท่ากับพ่อคือ 20,000 หุ้น นายสุชาติ สามีนางศิริพรถือ 50 หุ้น นางสาวศิริวัลย์ 350 หุ้น นางสาวศิริลักษณ์ 50 หุ้น และคนอื่นๆ 50 หุ้น

กระทั่งในเดือนกันยายน 2548 ความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจก็เกิดขึ้น เมื่อชื่อของ “นางสาวศิริวัลย์ แดงสุภา” ลูกสาวคนรองที่ยืนอยู่ขั้วเดียวกับแม่ประนอมได้หายไปจากโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัท แต่นางสาวศิริลักษณ์ ลูกสาวคนเล็กยังมีชื่อปรากฏเหมือนเดิม โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ปรากฏชื่อ นางสาวอุรชา ภาษาประเทศ และนางสาวธนาภรณ์ ภาษาประเทศ “ลูกสาว 2 คน” ของนางศิริพรซึ่งเป็นลูกสาวคนโตของนายศิริชัยกับแม่ประนอมเข้ามาถือหุ้นแทน นางสาวศิริวัลย์ แดงสุภา และนางฉวีวรรณ วงศ์ประดิษฐ์ ที่ถอนชื่อออกไป

ประเด็นที่ต้องตั้งคำถามเอาไว้ในชั้นนี้คือ ทำไมชื่อนางสาวศิริวัลย์จึงหายไป

ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะถัดมาอีกราว 4 ปี คือในเดือนพฤศจิกายน 2552 ได้มีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทอีกครั้งอย่างมีนัยสำคัญ โดยในครั้งนี้ไม่ปรากฏชื่อของนายศิริชัย แม่ประนอม และนางสาวศิริลักษณ์ถือครองหุ้นแม่แต่หุ้นเดียว

หรือแปลไทยเป็นไทยผู้ถือหุ้นของ “บริษัทพิบูลย์ชัยน้ำพริกเผาไทยแม่ ประนอม จำกัด” ล้วนแล้วแต่เป็นคนในครอบครัวของนางศิริพร ซึ่งเป็นลูกสาวคนโตทั้งสิ้น โดยนางศิริพรถือหุ้นใหญ่สุดจำนวน 28,000 หุ้น นายสุชาติ-ลูกเขย 1,000 หุ้น ส่วนที่เหลืออีก 3 หมื่นหุ้นเป็นลูกสาว 3 คนของนางศิริพรและนายสุชาติคนละ 1 หมื่นหุ้น

พ่อ แม่ พี่น้องคนอื่นหายเกลี้ยง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ต้องใช้คำว่า “ผิดปกติ” และ “ชวนให้สงสัย” ไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสัดส่วนผู้ถือหุ้น แต่จากปากคำที่นางประนอมให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนจะเห็นได้ว่า มิได้มีความขัดแย้งใดๆ ในตระกูล และโครงสร้างหุ้นของบริษัทก็เป็นเช่นนี้เรื่อยมา แม้กระทั่งในช่วงที่นายศิริชัยเสียชีวิตจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง

นี่คือปริศนาที่น่าสนใจยิ่ง

สำหรับรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 19 ตุลาคม 2558 (ราคาหุ้นละ 1,000 บาท) มี 5 ราย นาง ศิริพร แดงสุภา ถือหุ้นใหญ่สุด 28,000 หุ้น มูลค่า 28 ล้านบาท นางสาว ธนาภรณ์ ภาษาประเทศ นางสาว สุรพร ภาษาประเทศ นางสาว อุรชา พีชาสารานนท์ ถืออยู่คนละ 10,000 หุ้น มูลค่าหุ้น ที่ถืออยู่คนละ 10 ล้านบาท นาย สุชาติ ภาษาประเทศ ถืออยู่ 1,000 หุ้น มูลค่า 1 ล้านบาท

ส่วนงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ณ 31 ธันวาคม 2557 แจ้งว่า มีรายได้จากการขายสินค้า 802,734,975.11 บาท รายได้อื่น 607,714.07 บาท รวมรายได้ 803,342,689.18 บาท รวมรายจ่าย 772,673,284.76 บาท กำไรสุทธิ 24,502,917.29 บาท

ขณะเดียวกัน สังคมยังได้รับรู้อีกด้วยว่า ความขัดแย้งของน้ำพริกเผา ไทย แม่ประนอมนั้น เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในช่วงราวเดือนมีนาคมถึงกันยายน 2558 หลังศาลมีคำสั่งให้นางประนอมเป็น “ผู้จัดการมรดก” เมื่อผู้เป็นแม่ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางศิริพรและนายสุชาติต่อศาลจังหวัดนครปฐม ฐานร่วมกันปลอมแปลงเอกสารเกี่ยวกับที่ดิน ซึ่งในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลจังหวัดนครปฐมไม่ได้สั่งฟ้องสามีของนางศิริพร แต่ได้รับฟ้องเฉพาะในส่วนของนางศิริพรและทนายความ โดยคดีนี้อยู่ในขั้นตอนการนัดสืบพยานโจทก์

นอกจากนี้ นางประนอมยังได้ยื่นฟ้องนางศิริพรเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดตลิ่งชัน เรื่องเรียกคืนทรัพย์มรดก โดยศาลได้ไกล่เกลี่ยทั้งสองฝ่ายแล้วจำนวน 2 ครั้ง แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ทำให้เรื่องดำเนินต่อไปตามกระบวนการของศาล กระทั่งนางประนอมได้นำผู้ใหญ่ที่นับถือของทั้ง 2 ฝ่ายมาขอคุยไกล่เกลี่ยกันนอกรอบ และเซ็นหนังสือตกลงยอมความกันเกิดขึ้น

แต่ต่อมาไม่ทราบว่าอะไรเกิดขึ้น นางประนอมได้ตัดสินเข้าร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี พร้อมกลับยื่นคำร้องใหม่ต่อทั้งสองศาล โดยเหตุผลว่าสาเหตุที่ถอนฟ้องเพราะไม่เกิดจากเจตนาที่แท้จริง ศาลจังหวัดนครปฐมจึงนัดไต่สวนนางประนอมกรณียื่นคำร้องใหม่ในวันที่ 4 เมษายนนี้ ส่วนศาลจังตลิ่งชันนัดไต่สวนนางประนอมในวันที่ 11 เมษายนนี้เช่นกัน

“เมื่อ 2-3 เดือนก่อนได้มีผู้ใหญ่คนหนึ่งจะเคลียร์เรื่องดังกล่าวให้ โดยมาพูดคุยกับนางประนอน ซึ่งนางประนอมได้เซ็นหนังสือฉบับหนึ่งโดยไม่ได้รับการอธิบายว่าเป็นหนังสืออะไร แต่มาทราบภายหลังว่าเป็นหนังสือให้ยกฟ้องเรื่องต่างๆ และขอไม่รับสมบัติอะไรทั้งนั้น จึงเกรงว่า ผลที่ออกมาจะเป็นโมฆะจึงมาร้องเรียนให้สังคมได้ทราบเรื่องดังกล่าวยืนยันว่า การออกมาครั้งนี้ไม่ได้มีอะไรแอบแฝง”นางสาวศิริวัลย์ แดงสุภา บุตรสาวคนรอง ซึ่งยืนอยู่ข้างเดียวกับผู้เป็นแม่ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวทางโทรศัพท์ถึงต้นสายปลายเหตุที่เกิดขึ้น

ขณะที่นางศิริพร บุตรสาวคนโตไม่ตอบโต้อะไร มีเพียงนายทวิชา หวังโภคา ที่ปรึกษากฎหมายออกมาบอกว่า นางศิริพรจะไม่มีการแถลงข่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการก้าวล่วงอำนาจศาล รวมทั้งมีผลต่อรูปคดีได้ พร้อมทั้งระบุด้วยว่า “ความเป็นลูกจะไปตั้งโต๊ะแถลงโต้แย้งสิ่งที่แม่พูดถือเป็นเรื่องไม่สมควร ในฐานะความเป็นลูก สังคมจะว่าอย่างไร ฐานนะความเป็นแม่ยิ่งใหญ่ เวลานี้จึงขอก้มหน้ารับไปก่อน เชื่อว่าที่สุดแล้วจะได้ข้อเท็จจริง หากคนที่มีสติ มีความยั้งคิด มีเหตุผลจะต้องรอดูว่ามีเบื้องหลังอะไรไหม มีอะไรที่มากกว่านั้นหรือไม่”
แม่ประนอมกับหลานสาวทั้ง 3 คน
สงครามดรามาในโลกโซเชียล

ความน่าสนใจของศึกสายเลือดแดงสุภาในครั้งนี้ ยังไม่หมดเท่านั้น เพราะหลังจากแม่ประนอมออกมาแฉพฤติกรรมของบุตรสาวคนโตและบุตรเขยที่รวมหัวกันฮุบกิจการที่ผู้เป็นแม่สร้างมากับมือ ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง “ความอกตัญญู” ซึ่งเป็นเรื่องที่คนไทยรับไม่ได้ รวมทั้งมีผู้คนจำนวนมากเข้าไปแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในแฟนเพจของผลิตภัณฑ์น้ำพริกเผาแม่ประนอม facebook.com/Maepranom

บางรายหนักถึงขั้นจะเลิกอุดหนุนผลิตภัณฑ์ของแม่ประนอมกันเลยทีเดียว


กระนั้นก็ดี ในช่วงที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์นางศิริพรดำเนินไปอย่างเชี่ยวกราก ก็ได้ปรากฏข้อมูลข่าวสารในอีกทางหนึ่งเผยแพร่ออกมาในโลกออนไลน์และมีการแชร์หรือส่งต่อๆ กันไปเป็นจำนวนมาก


เรื่องแรกเป็นเรื่องมีชื่อว่า “เรื่องเล่าข้างบ้านทำน้ำพริกขาย” โดยผู้ใช้ชื่อเฟซบุ๊กว่า “Pat Hemasuk” ซึ่งผู้ที่เป็นคอการเมืองจะคุ้นชื่อกันเป็นอย่างดี และสามารถสรุปรวมความได้ประมาณว่า “ลูกสาวคนโต” ไม่ต้องการให้เซ้งแผงขายน้ำพริกที่ตลาดเพื่อดูแลลูกจ้างให้มีงานมีเงินใช้ แต่ “น้องสาว” อยากได้เงินก้อนเลยยุ “แม่” ออกสื่อสร้างเรื่องดรามาขึ้น

แน่นอน ไม่มีใครรู้ข้อเท็จจริงเหล่านี้ แต่ก็เป็นข่าวสารที่ได้รับความสนใจจากผู้คนในสังคมเป็นอย่างมาก

ส่วนเรื่องที่สองเป็นการแชร์ข้อความจากเฟซบุ๊กหนึ่งซึ่งอ้างว่าเป็นพนักงานของบริษัท พิบูลย์ชัยน้ำพริกเผาไทยแม่ประนอม จำกัด ที่ได้โพสต์ข้อความและรูปภาพในทำนองให้กำลังใจ โดยระบุว่า นางศิริพร แดงสุภาต้องตกเป็นจำเลยของสังคม ทั้งๆ ที่หลายคนไม่ได้รู้เรื่องจริง แต่กลับเอาไปวิพากษ์วิจารณ์กันสนุกปาก

เจ้าของเฟซบุ๊กบรรยายว่า นางศิริพรผู้เป็นเจ้านายนั้นเป็นคนดี มีเมตตาและช่วยเหลือพนักงานทุกๆ คนที่มีเรื่องเดือดร้อน ซึ่งตัวเขาเองก็ได้รับความช่วยเหลือจากเธอเช่นกัน นอกจากนี้ยังได้ขอให้สังคมหยุดประณามและโจมตีเจ้านาย พร้อมทั้งยังท้าให้รอดูว่า เรื่องจริงเป็นอย่างไรในอีกไม่ช้านี้

ที่สำคัญคือ ได้มีการโพสต์ภาพตนเองและพนักงานกลุ่มใหญ่กำลังยืนถือดอกกุหลาบแดงที่หน้าบริษัทแม่ประนอม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พนักงานของบริษัทจะขอร่วมเป็นกำลังใจให้เจ้านายซึ่งก็คือนางศิริพรเสมอ

แน่นอน หลายคนมองว่า นี่คือการจัดฉากเพื่อตอบโต้ข้อมูลข่าวสารเชิงลบ

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลข่าวสารที่ออกมาในทำนองว่า แม่ประนอมเป็น “คนในยุทธจักร” ซึ่งคนในวงการรู้ดีว่าคืออะไร รวมทั่งกระแสข่าวเรื่องการขายหุ้นให้กับนางศิริพร โดยในประเด็นหลังแม่ประนอมออกปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง

แต่จะอย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่เผยแพร่ออกมารวมทั้งตัวแม่ประนอมเอง ทำให้สรุปข้อเท็จจริงในเบื้องต้นได้ว่า นางศิริพรคือลูกสาวที่แม่ประนอมรักมาก และบุคคลสำคัญในการบริหารกิจการของตระกูล ดังที่นางประนอมเปิดแถลงข่าวในครั้งที่ 2 ที่ร้านพีเอส เรสเตอรอง อาหารไทยตำรับแม่ประนอมว่า “ยอมรับว่าบุตรสาวคนโตเป็นคนที่ทำงานมากกว่าลูกคนอื่น ย่อมต้องได้รับมากกว่าลูกคนอื่น แต่ไม่ใช่เอาไปทั้งหมด”

ประเด็นเรื่องหุ้นนั้น นางประนอมแถลงต่อสื่อมวลชนว่า ที่ผ่านมาบุตรสาวคนโตเป็นที่ไว้วางใจของคนในครอบครัว จึงได้ให้ดูแลและบริหารงานต่างๆ แทนครอบครัวคนเดียวมาโดยตลอด จนต่อมาปี 2558 บุตรสาวคนโตได้ฮุบกิจการโดยปลอมหนังสือมอบอำนาจจากนายศิริชัย แดงสุภา สามี ซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อปี 2556 โอนที่ดินกองมรดกมาเป็นของตัวเอง ต่อมาจึงทราบว่าบุตรสาวคนโตและบุตรเขยฮุบกิจการน้ำพริกเผาแม่ประนอมไปเป็นของตัวเอง โดยได้เปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทใหม่ทั้งหมด โดยตัดนายศิริชัย ตน และบุตรคนอื่นๆ ออกจากรายชื่อผู้ถือหุ้น แล้วใส่ชื่อของตัวเองและบุตรเขยเข้าไปแทน

“ไม่คิดว่าลูกสาวที่ตนเองกับสามีรักและไว้ใจมากที่สุด กลับตัดพ่อตัดแม่และน้องสาวแท้ๆ ออกจากรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท แล้วใส่ชื่อสามีกับลูกสาวแทน วันนี้ อ้อย(ศิริพร) เอาทรัพย์สินที่เป็นกองมรดกและของส่วนตัวแม่กับพ่อไปเป็นของตัวเองหมด รวมทั้งบ้านหลังใหญ่ที่โรงงานที่นายห้างศิริชัยสร้างให้แม่ ก็กลายเป็นของอ้อย แม่ไม่เหลืออะไรแล้ว แทบไม่มีจะกิน ที่อยู่ได้ต้องขายเพชรขายทองที่เก็บสะสมไว้ รวมทั้งต้องเอาร้านพีเอส เรสเตอรองค์ไปจำนองกับเพื่อนของนายศิริชัยเพื่อเอาเงินมาใช้จ่ายดูแลจิ๋ม(นางสาวศิริลักษณ์) ลูกสาวคนเล็ก”

ขณะที่นางสาวศิริวัลย์ลูกสาวคนรองระบุเอาไว้ว่า “มีหุ้นในบริษัทประมาณ 350 หุ้น แต่มาทราบเมื่อปี 2557 พร้อมกับคุณแม่ว่าหุ้นหายไป พร้อมทั้งทราบว่า แม่ถูกถอดจากกรรมการบริษัท โดยเปลี่ยนมือเป็นของพี่สาว ซึ่งแม่และดิฉันได้ทักท้วง แต่พี่สาวอ้างว่าเป็นคำสั่งเสียของคุณพ่อ จึงทำให้เกิดการฟ้องร้องขึ้น น้องๆ ไม่มีสิทธิ์จะทะเลาะกับพี่สาว เพราะพี่สาวอยู่เหนือมาตลอด”

จากคำให้สัมภาษณ์ของนางสาวศิริวัลย์มีประเด็นเพิ่มเติมที่น่าสนใจเพิ่มเติมตรงที่ “คำสั่งเสียของพ่อ”

คำถามมีอยู่ว่า นายศิริชัยผู้เป็นพ่อสั่งเสียอย่างนั้นจริงหรือไม่ และทำไมถึงสั่งเสียเช่นนั้น

คำถามมีอยู่ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นางศิริพร บุตรสาวคนโต ซึ่งบัดนี้ถูกสังคมพิพากษาว่าเป็นลูกอกตัญญูไปแล้ว ได้ดูแล “แม่และน้องๆ” อย่างไร เหมาะสมหรือไม่ เพราะก็ไม่มีใครรู้ว่า “ระบบกงสี” ของตระกูลแดงสุภาที่กำหนดเอาไว้ตั้งแต่ผู้เป็นพ่อมีชีวิตอยู่นั้นดำเนินไปในลักษณะใด

และเชื่อว่า ยังมีเบื้องหลังของศึกสายเลือดในครั้งนี้ที่ยังไม่เปิดเผยออกมาอยู่อีกไม่น้อย

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครจะผิด ใครจะถูก ท้ายที่สุดแล้ว “ความเป็นแม่” ย่อมอยู่เหนือสิ่งอื่นใด ผู้เป็นลูกจำต้องเลี้ยงดูให้ถึงที่สุดไม่ว่าจะมีเหตุผลอื่นใดเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มีการยืนยันว่า นางศิริพรยินยอมที่จะเข้าเจรจากับผู้เป็นมารดาเรียบร้อยแล้ว

และสุดท้ายของสุดท้ายจริงๆ ที่คนในตระกูลแดงสุภาต้องตระหนักให้มากก็คือ ตราบใดที่เรื่องยังไม่จบ ธุรกิจของบริษัทย่อมได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้



กำลังโหลดความคิดเห็น