xs
xsm
sm
md
lg

โคกหนองนาไท

เผยแพร่:   โดย: ไพรัตน์ แย้มโกสุม

หลวงปู่ใบ รตนญาโณ ดูสภาพนาที่ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ของคุณคิม
คุณคิม - กินนี่ เทตะรัตน์ กับวัดชัดแจ้ง พาหลานๆ เข้าวัดเสมอ
ใครๆต่างก็ปรารถนาอิสรภาพด้วยกันทั้งนั้น ถ้าอิสรภาพคือ “โคกหนองนาไท” คุณยังอยากจะได้มันอยู่หรือเปล่า?

โคกหนองนาไท

“ไท”มีภาวะตรงกันข้ามกับ “ทาส” ไท คือ อิสรภาพ เป็นภาวะที่ไร้สิ่งพันธนาการ นั่นคือความเป็นใหญ่ เพราะ เป็นตัวของตัวเอง พึ่งตัวเองได้ เมื่อพึ่งตัวเองได้ ย่อมเป็นที่พึ่งของคนอื่น หรือสังคมประเทศชาติได้

ภาวะแห่งไท ภาวะแห่งอิสรภาพ มีอยู่ด้วยหรือ? มีอยู่สิ/มีอยู่ทุกหนทุกแห่งนั่นแหล่ะ ณ ที่คนเห็นแก่ตัวน้อย จนกระทั่งสูงสุด ไม่เห็นแก่ตัวเลย

คำตอบ เรียบๆ ง่ายๆ สบายๆ อยู่ที่ ... โคก - หนอง - นา –ไท

โคกหนองนาไท เป็นรากเหง้าเหล่ากอของคน คนในเอเชียตะวันออกฉียงใต้ หรือดินแดนสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะ สยามประเทศ หรือไทยแลนด์แดนอิสระ

คำว่า “เกษตร” เป็นคำธรรมดาๆ หมายถึง ที่ดิน ทุ่ง นา ไร่ แดน หรือ โคกหนองนา นั่นเอง

และอีกความหมายหนึ่งของเกษตรก็คือ “พุทธเกษตร” เป็นดินแดนแห่งพระพุทธศาสนาและเป็นชื่อแดนนอกมนุษยภูมิ อันเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ตามคติมหายาน

พระเจ้าอยู่หัว หมายถึงพระเจ้าแผ่นดิน หรือ พระมหากษัตริย์

คำว่า “พระมหากษัตริย์” มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤต

- พระ มาจาก วร แปลว่าประเสริฐ เลิศ ยิ่งใหญ่

- มหา มาจาก มห แปลว่ายิ่งใหญ่

- กษัตริย์ มาจาก เกษตร (บาลีใช้ เขตฺต) แปลว่า ที่ดิน ทุ่ง นา ไร่ ดินแดน

- รวมความแปลว่า ผู้เป็นเจ้าแห่งแผ่นดิน หรือผู้เป็นเจ้าของแผ่นดิน คือ พระเจ้าแผ่นดิน นั่นเอง

ดังนั้น, ใครคิด จะย่ำยีแผ่นดิน คิดขายแผ่นดิน คิดให้ต่างชาติมาฮุบแผ่นดิน ก็ให้รู้จักอาย รู้จักเกรงใจ เจ้าของแผ่นดินบ้าง มิเช่นนั้นอาจจะถูกประณามว่า อกตัญญู ไม่รู้คุณแผ่นดิน

คำว่า “เกษตร” จึงเป็นคำธรรมดา - ที่ไม่ธรรมดา เกษตรกร ผู้มีอาชีพเกษตรกรรม เกี่ยวกับการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ จึงเกรียงไกร ยิ่งใหญ่ มีอิสระ เพราะพึ่งตัวเองได้ เลี้ยงตัวเองได้

“โคกหนองนาไตร เกรียงไกรชีวิต ตนเองลิขิต นิมิตชีวัน” ... (ดูเพิ่มเติมในผู้จัดการออนไลน์ ฉบับวันที่ 27 ตุลาคม 2558)

ประเทศไทย มีเกษตรกรรมเป็นรากเหง้า มีเกษตรกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ การทำงานเกษตรกรรม เพื่อสร้างอุตสาหกรรมตามกระแสทุนนิยม ที่เอาเงินเป็นพระเจ้า จึงเท่ากับทำลายตนเอง ตัดรากถอนโคนตัวเอง แล้วมันจะเหลืออะไร นอกจากความเป็นทาสเท่านั้นแล

ภูมิใจสิ่งนี้

สิ่งนี้ก็คือ ... “ดิน น้ำ ฟ้า” มหาคุณอนันต์ ... (ดูเพิ่มเติมในผู้จัดการออนไลน์ ฉบับ 2 มีนาคม 2557)

ดินน้ำฟ้าก็คือ เกษตรกรรม ดินน้ำฟ้า ก็คือโคกหนองนาไท

คิดถึงเกษตร ก็คือคิดถึง พุทธเกษตร คิดถึงพระมหากษัตริย์ คิดถึงเกษตรกร คิดถึงโคกหนองนาไท

คิดถึงแล้วก็เกิดความภูมิใจ อยากดู อยากทำ อยากสานต่อในสิ่งดีงาม สร้างสรรค์ ไม่เป็นอันตรายต่อตนเอง ผู้อื่น สังคม สิ่งแวดล้อม ประเทศชาติ และโลก

ภูมิใจ อิ่มอกอิ่มใจ ที่เกิดในแผ่นดินไทย อันอุดมสมบูรณ์ พระเจ้าอยู่หัวทรงเอาธรรมเป็นที่ตั้ง พสกนิกรมีไทมีอิสรภาพในการดำรงชีวิต ที่ไม่เบียดเบียนใคร

ภูมิใจในพระบรมราโชวาทที่ว่า ... “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

ภูมิใจในพระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถที่ว่า ... “ถ้าในหลวงเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ ... พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า”

และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า ... “ป่าคือต้นน้ำ ... น้ำคือชีวิต”

นั่นคือแสงสว่าง ที่ทำให้เราไม่หลงทาง

ปัญหาภัยน้ำท่วมภัยแล้ง ที่นับวันจะรุนแรง ผู้ขาดภูมิ หรือมีภูมิน้อยทั้งหลาย ไม่มีความกล้าหาญไปแก้ที่ต้นเหตุ ได้แต่แก้ที่ปลายเหตุเมื่อเกิดวิกฤติเท่านั้น

เมื่อมีอำนาจวาสนา ปกบ้านครองเมือง ก็ควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ จะได้เกิดความภูมิใจทั่งทั้งแผ่นดิน
หลวงปู่ใบและคณะ พอใจเกษตรอินทรีย์ของตระกูลเทตะรัตน์
ผลผลิตข้าวไรซ์เบอร์รี่ของคิม พร้อมบริโภค -ขาย - แจกจ่ายกัลยาณมิตร
สวนมะระขี้นก ของผอ.บรรจบ เทตะรัตน์ กับมานพ พี่ชาย
เกษตรอินทรีย์

แต่ก่อนเก่าเนานาน หรือดั้งเดิมมา การเกษตรก็เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่เป็นพิษเป็นภัย

บริเวณสูงๆหรือเป็นโนน เป็นโคก ก็ปลูกพืชปลูกป่า ทำไร่ทำสวน ปลูกบ้าน เลี้ยงสัตว์ บริเวณลุ่มๆก็ทำนา ตรงลุ่มลึกกต่ำสุดก็กลายเป็นบ่อเป็นหนอง เก็บรักษาน้ำและเลี้ยงปลา นั่นคือโคกหนองนาแบบธรรมชาติ แค่นี้ก็ดำรงชีวิตได้

ต่อมาที่ดินแปรสภาพเป็นที่ราบผืนใหญ่ โคกหนองหายไป ก็สร้างขึ้นใหม่ ขุดบ่อ เอาดินไปถมกลายเป็นเนินสูง ปลูกต้นไม้ ทำที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ บ่อหรือหนองกักเก็บน้ำเลี้ยงปลา บริเวณที่ราบรอบๆบ่อ ทำแปลงนาปลูกข้าว ก็กลายเป็นโคกหนองนา เลี้ยงชีวิตได้

เกษตรอินทรีย์ ที่ปลอดสารพิษสารเคมีนั้น มีหลายระดับ เล็ก - กลาง -ใหญ่

เล็ก - กลาง ส่วนมากคนธรรมดา ที่มีภูมิ ทำกัน ทำอยู่ทำกิน เหลือแจก หรือขาย

ส่วนระดับใหญ่ ทำเพื่อขายโดยตรง ลงทุนมาก พวกนายทุนทำกัน

เกษตรอินทรีย์พัฒนามาจากเกษตรไร่นาสวนผสม ปลูกทุกอย่างที่กินได้ กินทุกอย่างที่ปลูกเหลือกิน ค่อยแจก และขาย

เกษตรอินทรีย์ระดับเล็ก - กลาง กำลังแผ่ขยาย มีให้เห็นเป็นตัวอย่างแทบทุกหมู่บ้าน

เกษตรอินทรีย์ระดับเล็ก เกิดขึ้นโดยตัวของมันเอง คือ ความภูมิใจ ที่มีภูมิกับเกษตร แล้วเปล่งรัศมีออกมาเป็นรูปธรรม ให้เห็น คือ... โคกหนองนาไท

คนที่ทำ “โคกหนองนา” จะต้องมี “ไท” หากขาดไท จะไม่สามารถทำ โคกหนองนาได้

ณ วันหนึ่ง มีโอกาสไปดูโคกหนองนาไท ของ คุณคิม -กินนี่ เหตะรัตน์ นักธุรกิจไมโครคุณธรรมจากกรุงเทพฯ ที่บ้านอ้อ ตลิ่งชัน ริมแม่น้ำมูล ต.สระกุด อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ โดยมี ... หลวงปู่ใบรตนญาโณ วัดป่าภูตคาม เป็นผู้นำคณะ

คุณคิม - กินนี่ ทำนาข้าวไรซ์เบอร์รี่ ซึ่งเป็นทั้งอาหารและยา ส่วนพี่สาว ผอ.บรรจบ ทำสวนมะระขี้นก โดยมีคุณมานพ พี่ชายเป็นผู้ดูแล และมีพี่สาวอีกคนคือ ผอ.เชอรี่ - สมทบ โสภา ก็ทำเกษตรอินทรีย์ เช่นกัน

ครอบครัวเทตะรัตน์ นี่อัศจรรย์ ลูกๆมีงานมั่นคงทุกคน แต่ก็ไม่ลืมงานเกษตร แม้กระทั่งบ้านพักของ ผอ.บรรจบ และคุณแม่เทิน ก็เต็มไปด้วยผักสวนครัว กิน แจก เหลือขาย กลายเป็นครอบครัวอบอุ่นและเบิกบาน กินข้าวพืชผักปลอดสารพิษ มีสุขภาพดีแข็งแรงกันทุกคน

คุณพ่อคำสิงห์ เทตะรัตน์ อดีตผู้ใหญ่บ้าน ท่านเสียชีวิตแล้ว ท่านรักเกษตรเป็นชีวิตจิตใจ จนได้ตำแหน่งเกษตรอินทรีย์ จังหวัดสุรินทร์ ถึงจุดนี้เลยเข้าใจ ลูกๆเกษตรอินทรีย์ ก็เพราะสายเลือดจากพ่อนี่เอง

หลวงปู่ใบ แห่งหนองสองห้อง รู้สึกภูมิใจที่ได้มาเห็น คงอยากจะนำเกษตรอินทรีย์ไปสานต่อที่หนองสองห้อง ขอนแก่นต่อไป

เกษตรอินทรีย์มีหลายแห่ง ที่อยากไปดูไม่รู้ลืม คือที่ยโสธร ของอาจารย์จุลศักดิ์ มิทราวงศ์ และที่วาปีปทุม มาสารคาม ของอาจารย์คงฤทธิ์ บัวบุญ ซึ่งท่านทั้งสองทำมานานจนมั่นคงหลายปีแล้ว

วิถีพอเพียง

วิถีพอเพียงในที่นี้ เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงคิดทรงกระทำอันเป็นตัวอย่างที่ดีเลิศแล้ว เป็นธรรมดาที่เราต้องเดินตามรอยพระองค์ท่าน มิเช่นนั้นเราก็เป็นคนใจบอด ไม่รู้อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ

พระเจ้าอยู่หัว ตรัสว่า ... “คำว่า พอ คนเราถ้าพอในความต้องการ มันก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย มันก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย” ...

“คำว่า พอเพียง มีความหมายว่า พอกิน ... เศรษฐกิจพอเพียงหมายความว่า ผลิตอะไร มีพอที่จะใช้ ไม่ต้องขอยืมคนอื่นอยู่ได้ด้วยตนเอง”

คำดำรัสเพียงเท่านี้ ก็พอเพียงทีจะทำให้เราเข้าใจและเข้าถึงคำว่า “พอ” และคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” จนสามารถดำรงตนตามวิถีพอเพียงได้

ถ้าไม่เข้าใจ – ไม่เข้าถึง ก็พูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง แต่เพียงลมปาก แต่ส่วนลึกในหัวใจที่เต็มไปด้วยความโลภ จะสำแดงออกมาด้วยการกระทำอันตรงกันข้ามกับพอเพียงจนเกินงาม เช่น โครงการเมกะโปรเจค เป็นแสนล้าน หลายสิบโครงการ อย่างกระเหี้ยนกระหือรือปานไม่มีข้าวไม่มีน้ำจะกิน

ถ้อยคำที่พอจะแก้ความโลภได้ ...

- โลภมาก เท่ากับ เบียดเบียนมาก

- โลภน้อย เท่ากับ เบียดเบียนน้อย

- ไม่โลภ เท่ากับ ไม่เบียดเบียน

- พอเพียง เท่ากับ สุขเย็นเห็นธรรม


ศีลห้าก็ดี ศาสนาพุทธก็ดี ประมวลลงที่คำ – คำเดียว คือ ไม่เบียดเบียดเบียน หรือ พอเพียง นั่นแล

“โคกหนองนาไท

ภูมิใจสิ่งนี้

เกษตรอินทรีย์

วิถีพอพียง”

พอเพียง คือ สุขเย็นเห็นธรรม

สพฺ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย – สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

สพฺ ธมฺนา อนตฺตา – สิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตา หรือ สิ่งทั้งมวลล้วนว่างเปล่า

จึงไม่มีอะไร จะไปยึดอะไร นอกจากละเมอเพ้อหลง เท่านั้นแล.

กำลังโหลดความคิดเห็น