xs
xsm
sm
md
lg

ปริศนาระยะเปลี่ยนผ่าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

กระแสความกังวลต่อระยะการเปลี่ยนผ่านกระจายตัวอยู่ในกลุ่มบางกลุ่มของสังคมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ปกครองประเทศในปัจจุบัน ทางออกหลักเพื่อลดความกังวลคือความพยายามในการสร้างกลไกบางอย่างในรัฐธรรมนูญเพื่อให้อำนาจเกิดความกระชับตัวในกลุ่มคนที่ “ถูกเลือก” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผู้กุมอำนาจในปัจจุบันมองว่ามีความคิดและพลังอำนาจเพียงพอเพื่อรักษาเสถียรภาพของสังคมในระยะเปลี่ยนผ่านที่กำลังมาถึง

“ระยะเปลี่ยนผ่าน” คืออะไร โดยวลีแล้วคือการที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือระบบหนึ่งกำลังเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงจากสภาวะหนึ่ง ไปสู่อีกสภาวะหนึ่ง เป็นสภาวะที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เพราะว่าองค์ประกอบอันหลากหลายในระบบและพลังที่อยู่ภายในองค์ประกอบของสภาวะเดิมเริ่มหลุดออกจากกัน พลังการยึดเหนี่ยวขององค์ประกอบเดิมจะถูกปลดปล่อยออกมา กระแสพลังจะหมุนเวียนแรงขึ้นภายในระบบนั้นมากขึ้น องค์ประกอบย่อยแต่ละตัวพยายามแสวงหาองค์ประกอบอื่นๆเพื่อยึดเกาะเชื่อมโยงกันเป็นแบบแผนใหม่ และกระบวนการยึดเกาะเชื่อมโยงใหม่ก็จะมีการปลดปล่อยพลังออกมาเช่นเดียวกัน

ภายในสภาวะการเปลี่ยนผ่านจึงมีพลังหลักสองชนิดผสมผสานกัน พลังแรกคือพลังที่เกิดจากการแตกตัวขององค์ประกอบเดิม และพลังที่สองคือพลังของการรวมตัวกันเป็นองค์ประกอบใหม่ หากระบบใดมีการจัดการพลังที่เกิดขึ้นจากระยะการเปลี่ยนผ่านบกพร่อง โอกาสที่ระบบจะล่มสลายก็มีสูง แต่หากการจัดการได้สมบูรณ์ ก็จะทำให้ระบบเข้าสู่สภาวะการสมดุลใหม่อีกครั้ง ระบบก็จะข้ามพ้นระยะการเปลี่ยนผ่านไปสู่สภาวะใหม่ที่มีเสถียรภาพอีกครั้ง

สภาวะการเปลี่ยนผ่านดูจะเป็นปรากฏการณ์ทั่วไปที่เกิดขึ้นกับสรรพสิ่งในจักรวาล บางสิ่งอาจใช้เวลาสั้นในการเปลี่ยนผ่าน บางสิ่งอาจใช้เวลายาวนาน การเปลี่ยนผ่านบางอย่างโดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านทางสังคมอาจเกิดผลลัพธ์แบบสุขนาฏกรรม แต่บางอย่างก็อาจเป็นโศกนาฏกรรมได้การเปลี่ยนผ่านบางอย่างอาจเป็นไปอย่างสมบูรณ์ ปราศจากพลังตกค้างที่ส่งผลกระทบต่อดุลยภาพใหม่ของระบบที่เกิดขึ้น แต่การเปลี่ยนผ่านบางอย่างอาจมีพลังตกค้างที่มีศักยภาพบั่นทอนดุลยภาพของระบบใหม่ในอนาคตได้

การเปลี่ยนผ่านที่มนุษย์ทุกคนเผชิญคือการเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่ หรือที่เราเรียกว่าวัยรุ่น ภายใต้ระยะการเปลี่ยนผ่าน มนุษย์ประสบกับการเปลี่ยนแปลงทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ องค์รวมของมนุษย์ได้พยายามจัดการกับการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว หากประสบความสำเร็จมนุษย์ก็จะก้าวไปสู่สภาวะการเป็นผู้ใหญ่ทั้งร่ายการและจิตใจ พฤติกรรมที่ใช้อารมณ์และความปรารถนาส่วนตนเป็นแรงขับเคลื่อนในช่วงวัยเด็กก็เริ่มลดลง ขณะที่การใช้เหตุผล ปัญญา และความปรารถนาร่วมของสังคมเป็นพลังในการแสดงพฤติกรรมมีมากขึ้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เป็นการเปลี่ยนผ่านจากการมีวุฒิภาวะต่ำ ไปสู่การมีวุฒิภาวะสูงขึ้นนั่นเอง

บางครั้งการดำรงอยู่ในสภาวะใดสภาวะหนึ่งอย่างยาวนาน อาจทำให้มนุษย์คิดว่าสภาวะดังกล่าวเป็นสภาวะสมบูรณ์แบบ และลืมคิดถึงกฎการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง เมื่อการเปลี่ยนแปลงกำลังย่างกรายเข้ามาก็เกิดความตระหนกและความโกลาหลขึ้นได้ แต่หากมนุษย์มีประสบการณ์กับการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ความตระหนกต่อการเปลี่ยนแปลงในเรื่องดังกล่าวก็มีไม่มากนัก เพราะว่าพวกเขาอาจสรุปบทเรียนและมีแนวทางในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนั้นอยู่บ้าง เมื่อเกิดการเปลี่ยนผ่านในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นอีกครั้ง พวกเขาก็สามารถรับมือได้ตามสมควร

ในช่วงระยะเวลานี้การเปลี่ยนผ่านหลากหลายมิติกำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย ในทางเศรษฐกิจเรากำลังอยู่ในสภาวะการเปลี่ยนผ่านจากประเทศยากจนหรือกำลังพัฒนา ไปสู่ประเทศที่มีฐานะปานกลางและมีการพัฒนาในระดับสูงขึ้น การเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นทั้งในเรื่องโครงสร้างทางเศรษฐกิจและพฤติกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งครอบคลุมหลากหลายเรื่อง เช่น โครงสร้างอุตสาหกรรม การพาณิชย์ ลักษณะอาชีพ ความรู้และทักษะการทำงาน การใช้เทคโนโลยี แบบแผนการจัดการ การปฏิสัมพันธ์กับคู่ค้า การบริโภค เป็นต้น การบริหารเศรษฐกิจในระยะการเปลี่ยนผ่านจึงต้องใช้วิสัยทัศน์ จินตนาการ และพลังการขับเคลื่อนค่อนข้างสูง เพื่อให้ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนผ่านเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาของสังคม

ในด้านสังคม ประเทศไทยก็กำลังย่างเท้าเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” กล่าวสำหรับประเทศไทย เรายังไม่มีประสบการณ์การเปลี่ยนผ่านจาก “สังคมวัยทำงาน” ไปสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่ว่าเราสามารถเรียนรู้แนวทางและวิธีการจัดการสังคมผู้อายุจากประเทศอื่นๆที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาแล้วหลายปีก็ได้ ทั้งในเรื่องระบบสวัสดิการ การประกอบอาชีพ ความสัมพันธ์ทางสังคม การตระหนักในคุณค่าของตนเอง สุขภาพกายและใจ หากเราสามารถจัดการได้ดีก็จะทำให้สังคมไทยสามารถขับเคลื่อนต่อไปอย่างมีกลมกลืนและมีพลังได้ แต่หากไม่เรียนรู้ ปล่อยปละละเลย ไม่เตรียมการในด้านต่างๆให้พร้อม สังคมไทยก็อาจจะเดินเข้าสู่สภาวะสังคมแห่งความหดหู่ และสิ้นหวังได้

หันมาดูการเมืองซึ่งเป็นเรื่องที่เราเผชิญหน้าและมีประสบการณ์ของการเปลี่ยนแปลงมาหลายครั้งแล้ว ดูๆไปเหมือนกับว่าเราเคยชินและไม่น่าจะตระหนกหรือกังวลกันมากมาย ตั้งแต่พ.ศ. 2490 จนถึงปัจจุบัน หรือเกือบ 70 ปี เรามีประสบการณ์เกี่ยวกับการรัฐประหาร การเลือกตั้ง การชุมนุมประท้วงหลายครั้ง ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลทหารมาเป็นรัฐบาลนายทุน ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่สร้างความกังวลหรือความตระหนกอะไรมากมายแก่ผู้ปกครองประเทศหรือประชาชน อย่างล่าสุดในปี 2550 การเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลสุรยุทธ์ ที่มาจากรัฐประหาร ไปสู่รัฐบาลนักเลือกตั้ง ก็เกิดขึ้นตามปกติและคาดการณ์ได้ ไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นอะไรมากมายนัก และเราก็ทราบแบบแผนทางการเมืองไทยร่วมสมัยดีอยู่พอควรว่า หากรัฐบาลนักเลือกตั้งทำอะไรไม่ชอบธรรมมากเข้า สักพักก็จะมีประชาชนออมาประท้วง และทหารก็ใช้เป็นเงื่อนไขในการเข้ามายึดอำนาจรัฐ จากนั้นก็ร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่

ในยุคแรกๆ กลุ่มผู้ยึดอำนาจมักจะประสงค์สืบทอดอำนาจต่อไปโดยเขียนรัฐธรรมนูญให้เปิดช่องไว้และดำเนินการโดยร่วมมือกับพรรคการเมืองบางพรรค ต่อมาในยุคหลัง (ปี2549)กลุ่มผู้ยึดอำนาจเหนียมอายมากขึ้นก็เลยไม่ทำการสืบทอดอำนาจอย่างโจ่งแจ้งนัก ปล่อยให้การร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปตามเจตนารมณ์ของคณะผู้ร่าง แต่ในยุคถัดมา(2559) กลุ่มผู้ยึดอำนาจดูเหมือนละทิ้งความเหนียมอาย และสั่งการให้คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญปรับแก้ตามความประสงค์ของตนเองเพื่อที่จะให้กลุ่มตนเองสามารถมีอำนาจและอิทธิพลต่อไปอีกระยะหนึ่ง เท่าที่ประกาศต่อสาธารณะคือ 5 ปี

ดูเหมือนการกระทำของกลุ่มผู้ยึดอำนาจมีความกล้าหาญพอสมควร ทำให้ต้องมาคิดว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้พวกเขายอมกระทำต่อสิ่งที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมเช่นนี้ ระยะเปลี่ยนผ่านที่พวกเขาอ้างคือระยะเปลี่ยนผ่านในเรื่องใดกันแน่ หากบอกว่าเป็นระยะเปลี่ยนผ่านเพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิรูปประเทศ ก็ดูเหมือนไม่ค่อยมีน้ำหนักสักเท่าไรนัก เพราะว่าหากพวกเขามีเจตจำนงปฏิรูปประเทศจริง พวกเขาก็ต้อง ทำเสียตั้งแต่วันแรกของการยึดอำนาจ จนถึงวันก่อนที่จะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งมีช่วงที่พวกเขามีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด คุมทั้งอำนาจบริหารและนิติบัญญัติ ทั้งยังมีมาตรา 44 จะปรับเปลี่ยนอะไรก็ทำได้ง่าย ไม่ใช่ไปฝากความหวังลมลมๆแล้งๆกับอนาคตที่พวกเขามีอำนาจลดน้อยลง

ดังนั้น ระยะเปลี่ยนผ่านที่ว่าคงไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านการปฏิรูปอย่างแน่นอน แต่จะเป็นการเปลี่ยนผ่านเรื่องอะไร ที่ทำให้ต้องรักษาอำนาจผ่านทางวุฒิสมาชิกในอนาคตเอาไว้ โดยให้พวกตนเองเป็นผู้ตั้งวุฒิสมาชิกและต้องการให้วุฒิสมาชิกมีอำนาจเปลี่ยนรัฐบาลได้ ความประสงค์ในการควบคุมอำนาจต่อไปอีก 5 ปีเช่นนี้มีนัยว่าผู้มีอำนาจในปัจจุบันไม่เชื่อว่านักเลือกตั้งที่จะมาเป็นรัฐบาลในอนาคตจะจัดการระยะเปลี่ยนผ่านที่กำลังเกิดขึ้นได้ดีเท่ากลุ่มตนเอง

ปริศนาคือองค์ประกอบสำคัญใดในสังคมที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องในรอบ 70 ปีและกำลังจะเข้าสู่สภาวะเปลี่ยนผ่านตามการคาดการณ์ของกลุ่มผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ผมคิดว่าสภาวะการเปลี่ยนผ่านที่กำลังเกิดขึ้นน่าจะต้องเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและมีผลกระทบต่อเสถียรภาพของสังคมอย่างใหญ่หลวง หากจัดการไม่เหมาะสมอาจนำไปสู่ความโกลาหลของสังคมได้

ด้วยเหตุนี้คณะผู้มีอำนาจในปัจจุบันจึงมีความกังวลและประสงค์ที่จะควบคุมอำนาจต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพราะพวกเขาเชื่อว่ามีแต่กลุ่มและเครือข่ายของพวกเขาเท่านั้นที่มีศักยภาพในการจัดการระยะเปลี่ยนผ่านที่กำลังเกิดขึ้นได้เรียบร้อย

หลายคนที่ติดตามสถานการณ์บ้านเมืองอย่างใกล้ชิดคงพอจะคาดเดาได้ว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านที่จะทำให้สังคมสั่นคลอนได้ หากจัดการไม่เหมาะสมคือเรื่องอะไร แต่หากใครที่ยังไม่ทราบก็ต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปอย่างใกล้ชิด ปริศนาดังกล่าวคงจะได้รับการเปิดเผยออกมาในเวลาอีกไม่นาน



กำลังโหลดความคิดเห็น