xs
xsm
sm
md
lg

จีนลดเป้าหมายจีดีพีปีนี้เหลือ 7% แถมยอมขาดดุลงบประมาณสูงลิ่ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - จีนประกาศลดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ลงมาอยู่ที่ระดับ 7% พร้อมให้คำมั่นเปิดอุตสาหกรรมรับนักลงทุนต่างชาติเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะยอมให้งบประมาณแผ่นดินปี 2015 มียอดขาดดุลสูงที่สุด

เป้าหมาย 7% คราวนี้ ซึ่งลดลงจากเป้าหมาย 7.5% ที่กำหนดออกมาสำหรับปีที่แล้ว และถือเป็นอัตราต่ำสุดนับจากปี 2004 นั้น สอดคล้องกับความพยายามในการสร้าง “สังคมที่มั่งคั่งอย่างค่อยเป็นค่อยไป” ตามที่นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง รายงานต่อที่ประชุมเต็มคณะของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ หรือรัฐสภาของแดนมังกร เมื่อวันพฤหัสบดี (5 มี.ค.)

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีนในปี 2014 นั้น ทำได้จริงอยู่ที่ 7.4% นับเป็นอัตราเติบโตต่ำสุดนับจากปี 1990 อีกทั้งยังเป็นการต่ำกว่าเป้าเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1998 ซึ่งเป็นช่วงที่เอเชียเผชิญวิกฤตการเงิน

พรรคคอมมิวนิสต์จีนขณะนี้อยู่บนเส้นทางยาวไกลแห่งการลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก โดยที่จะต้องปรับเปลี่ยนหันมาสร้างการเติบโตจากการบริโภคและบริการภายในประเทศ แทนที่โมเดลเดิมซึ่งขับเคลื่อนด้วยการค้าและการลงทุนในภาคก่อสร้างและอุตสาหกรรม อันส่งผลให้เกิดมลพิษทางน้ำและอากาศอย่างรุนแรง

หลี่กล่าวย้ำระหว่างการรายงานกิจการรัฐบาล หรือก็คือการแถลงนโยบายประจำปีต่อรัฐสภาในวันพฤหัสบดีว่า จีนจำเป็นต้องรักษาสมดุลระหว่างการเติบโตที่มั่นคงและการปฏิรูป

บรรดาผู้นำคอมมิวนิสต์ของจีนต่างยอมรับแนวทางการชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ระบุว่าเป็นการก้าวไปสู่ “ดุลยภาพใหม่” (new normal) อย่างไรก็ดี ผู้นำเหล่านี้ยังกังวลว่า อัตราว่างงานจะพุ่งขึ้นรุนแรงซึ่งถือเป็นอันตรายทางการเมือง ดังนั้น ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีนซึ่งเป็นแบงก์ชาติของแดนมังกร จึงมีการลดอัตราดอกเบี้ยถึง 2 ครั้งตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

นอกจากนั้น จีนยังวางแผนเพิ่มงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในปี 2015 นี้ขึ้นเป็น 17.15 ล้านล้านหยวน (2.74 ล้านล้านดอลลาร์) สูงขึ้น 10.6% จากปีที่แล้ว

นี่ยังหมายความว่ายอดขาดดุลงบประมาณในปีนี้จะเป็น 1.62 ล้านล้านหยวน หรือราว 2.3%ของจีดีพี เปรียบเทียบกับ 2.1% ของจีดีพีในปี 2014 และถือว่าขาดดุลมากที่สุดนับจากปี 2009 เมื่อปักกิ่งต้องประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมโหฬารเพื่อต่อสู้กับวิกฤตภาคการเงินทั่วโลก

เงินงบประมาณที่เพิ่มขึ้นมานี้ บางส่วนจะถูกใช้ในโครงการทางรถไฟและโครงการด้านน้ำ ตลอดจนการปรับปรุงการเกษตรให้ทันสมัย ถึงแม้ สีว์ เซ่าสือ ประธานสำนักงานวางแผนเศรษฐกิจของรัฐบาลจะระบุว่า แผนการลงทุนเหล่านี้ไม่ควรมองว่าเป็น “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมโหฬาร”

ระหว่างการกล่าวรายงานคราวนี้ นายกฯหลี่ยังให้คำมั่นเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนต่างชาติมีบทบาทในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น หลังจากการปฏิรูปตามแนวทางตลาดตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมาถูกครอบงำโดยธนาคาร บริษัทน้ำมัน และกิจการอื่นๆ ที่ล้วนเป็นของรัฐ

หลี่ระบุว่า จะลดจำนวนบริการและอุตสาหกรรมการผลิตที่ต่างชาติถูกจำกัดลงครึ่งหนึ่ง แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมแต่อย่างใด

เศรษฐกิจจีนนั้นชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องนับจากอัตราเติบโตขึ้นถึงจุดสูงสุดที่ 14.2% ในปี 2007 โดยที่สำคัญแล้วเป็นไปตามที่ปักกิ่งจงใจ เพราะต้องการหันมารับมือทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง และชะลอความร้อนแรงในภาคก่อสร้างและการลงทุนซึ่งกระตุ้นให้เกิดภาระหนี้สินพุ่งสูงจนสร้างความวิตกกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ กระนั้น ความพยายามในการส่งเสริมการใช้จ่ายของผู้บริโภค ยังคงมีอันต้องล่าช้าลง เมื่อคนงานจำนวนมากกลับเกิดความกังวลกับอนาคตทางการเงินของตนเอง

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่าจีดีพีจีนจะลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ 7% ในปีนี้ และศูนย์วิจัยและการพัฒนา ซึ่งเป็นทีมคลังสมองของคณะรัฐมนตรีจีน ระบุว่า เศรษฐกิจอาจลดลงแตะระดับ 6% ในปีหน้า

การชะลอตัวของจีนที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อทั่วโลก เนื่องจากไปลดความต้องการในสินแร่เหล็กและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ของบราซิล ออสเตรเลีย และอีกหลายๆ ประเทศ แต่ถ้าหากปักกิ่งสร้างตลาดผู้บริโภคภายในประเทศอันใหญ่โตมหึมาขึ้นมาได้สำเร็จ ก็จะกระตุ้นดีมานด์การนำเข้าสินค้าและบริการที่มีความสลับซับซ้อนจากประเทศอื่นๆ ตั้งแต่อาหารคุณภาพสูงไปจนถึงหนังฮอลลีวูด

นายกรัฐมนตรีจีนยังประกาศลดเป้าหมายการเติบโตของการค้าอยู่ที่ 6% จากเป้าหมาย 10% เมื่อปีที่แล้วซึ่งทำได้จริงแค่ 3.4% เนื่องจากอุปสงค์ชะลอตัวที่ส่งผลให้มีการปิดโรงงานมากมาย และเกิดความตึงเครียดด้านแรงงานในภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่มุ่งเน้นการส่งออก

หลี่ให้สัญญาอนุญาตให้นักลงทุนเอกชนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมตั้งธนาคารขนาดกลางและเล็ก รวมทั้งสร้างระบบรับประกันเงินฝากสำหรับแบงก์

นอกจากนี้ ผู้นำแดนมังกรยังให้คำมั่นลดมลพิษ ส่งเสริมการศึกษา แก้ปัญหาความยากจน และปราบปรามการทุจริต


กำลังโหลดความคิดเห็น