xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ตำแหน่งใหม่"พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์" สิทธิประโยชน์-เงินเดือนสูงกว่าซี11ลิบลับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สัปดาห์ที่แล้วมีข่าวหลายสำนัก ระบุว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เด้ง“พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์”เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง มาดำรงตำแหน่ง“ที่ปรึกษาประจำสำนักงานป.ป.ง.” (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) ตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค. 59 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป

เดือดร้อนถึง“วิษณุ เครืองาม”รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ต้องออกมาชี้แจงว่า ไม่ใช่การปลด หรือการเด้ง พ.ต.อ.สีหนาท เพราะการที่สื่อไปพาดหัวข่าวอย่างนั้น เหมือนพ.ต.อ.สีหนาท มีความผิด ซึ่งไม่ใช่ แต่กฎหมายป.ป.ง. เขียนไว้ว่า ให้สามารถดำรงตำแหน่งได้เพียง 4 ปี เป็นต่ออีกไม่ได้ และเวลาพ้นจากตำแหน่งต้องไปเป็น“ที่ปรึกษาสำนักงาน ป.ป.ง.”โดยมีสิทธิประโยชน์ไม่ต่ำกว่าเดิม

รองวิษณุ อธิบายอีกว่า วันนี้เลขาธิการป.ป.ง. คือ ซี 11 ซึ่งจะหมดวาระ วันที่ 12 มี.ค.นี้ ครบเทอม 4 ปี เป็นต่ออีกไม่ได้ สรรหาก็ไม่ได้ อยากตั้งอีกก็ไม่ได้ ต้องนำเขาไปเป็นที่ปรึกษาฯ หากเป็นอย่างอื่นก็ยาก เพราะกฎระเบียบห้ามเอาไว้ น่าเห็นใจ เป็นอย่างอื่นได้เหมือนกัน แต่เป็นได้ไม่กี่อัน ยิ่งวันนี้พ.ต.อ.สีหนาท ซี 11 แล้ว จะเอาเขาไปเป็นอธิบดีกรมอะไรซึ่งพอจะไปได้ แต่ก็เป็นการลดซี และบางกระทรวง ก็เอาเข้าไปเป็นไม่ได้

"เพราะเขาล็อกไว้ว่า ห้ามดำรงตำแหน่งในส่วนราชการที่เคยทำงานร่วมกับป.ป.ง. มาก่อน จึงเหลือตำแหน่งเพียง ที่ปรึกษาซี 11 เท่านั้น ส่วนขั้นตอนการสรรหาเลขาธิการ ป.ป.ง. คนต่อไป นายกฯ มอบหมายให้ตนดูแล และจะพิจารณาเพียง 1 รายชื่อ เสนอเข้าครม. ให้ความเห็นชอบ ก่อนส่งให้ สนช.พิจารณารับรอง แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ออกระเบียบการสรรหาใหม่" 

ข้อเท็จจริงก็คือ เนื่องจากพ.ต.อ.สีหนาท ยังไม่ครบเกษียณอายุราชการ ครม.จึงแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาประจำสำนักงานปปง. ทั้งนี้ พ.ต.อ.สีหนาท จะยังคงได้รับเงินเดือนเพิ่มพิเศษ และสิทธิประโยชน์อื่นได้ไม่ต่ำกว่าขณะที่ได้รับในตำแหน่ง เลขาธิการ ปปง. ซึ่งเป็นตำแหน่งเทียบเท่ากับปลัดกระทรวง ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ. ปปง. (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558

สอดคล้องกับที่ “ราชกิจจานุเบกษา”เมื่อวันที่ 2 มี.ค.59 เผยแพร่ กฎก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจําตําแหน่ง (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2559 ที่ลงนามโดยนายวิษณุ เครืองาม ในฐานะประธาน ก.พ. ประกาศใช้กฎก.พ. กําหนดให้ตําแหน่ง เลขาธิการปปง. เป็นตําแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ให้ได้รับเงินประจําตําแหน่ง ในอัตรา 21,000 บาท เนื่องจากเป็นตําแหน่งหัวหน้าส่วนราชการ ซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี มีลักษณะการเข้าสู่ตําแหน่ง และวาระการดํารงตําแหน่งแตกต่างจากหัวหน้าส่วนราชการโดยทั่วไป ตลอดจนหน้าที่ และความรับผิดชอบตามบทบาทภารกิจ และลักษณะงานของสํานักงาน ปปง. มีความสําคัญในระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่น ขององค์กรระหว่างประเทศ และได้กําหนดให้ตําแหน่ง รองเลขาธิการปปง. เป็นตําแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ให้ได้รับเงินประจําตําแหน่งในอัตรา 14,500 บาท

เนื้อหาระบุว่า อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 8(5) และมาตรา 50 วรรคสาม และวรรคสี่ แห่งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ก.พ. โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี จึงออกกฎก.พ. ไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 กฎ ก.พ. นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 3 (2) (ฉ) แห่งกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ ได้รับเงินประจําตําแหน่ง พ.ศ. 2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(ฉ) รองหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรม ไม่สังกัดสํานักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง และอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ได้แก่ รองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงาน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ และรองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน”

ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในข้อ 3 (3) (ค) แห่งกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ ได้รับเงินประจําตําแหน่ง พ.ศ. 2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(ค) หัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมไม่สังกัดสํานักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง และอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ได้แก่ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดําริ และเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน” ให้ไว้ ณ วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2559

สำหรับ เหตุผลในการประกาศใช้กฎก.พ. ฉบับนี้ คือ โดยที่ก.พ.ได้กําหนดให้ตําแหน่งเลขาธิการปปง. เป็นตําแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ให้ได้รับเงินประจําตําแหน่งในอัตรา 21,000 บาท เนื่องจากเป็นตําแหน่งหัวหน้าส่วนราชการ ซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี มีลักษณะการเข้าสู่ตําแหน่งและวาระการดํารงตําแหน่งแตกต่างจากหัวหน้าส่วนราชการโดยทั่วไป ตลอดจนหน้าที่ และความรับผิดชอบตามบทบาทภารกิจและลักษณะงานของสํานักงาน ปปง. มีความสําคัญในระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่น ขององค์กรระหว่างประเทศ และได้กําหนดให้ตําแหน่งรองเลขาธิการ ปปง. เป็นตําแหน่งประเภทบริหาร ระดับสงู ให้ได้รับเงินประจําตําแหน่งในอัตรา 14,500 บาท จึงจําเป็นต้องออก กฎก.พ. นี้

 ดังนั้น“พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์”นอกจากจะได้นั่งทำงานให้กับป.ป.ง. ต่อ แม้จะเป็นในฐานะอื่น ก็มีบทบาทเทียบเท่าเลขาธิการอยู่แล้ว ยังจะได้รับเงินประจําตําแหน่ง เพิ่มในอัตรา 21,000 บาท จากเดิม เงินประจำตำแหน่ง เดือนละ 14,500 บาท แถมยังจะได้รับ เงินเดือนสูงกว่า มติครม.เมื่อปี 2543 ที่ให้ไว้ เดือนละ 57,190 บาท ค่าตอบแทน เดือนละ 6,500 บาท เงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ เดือนละ 30,000 บาท ค่าตอบแทนกรรมการ ป.ป.ง. เดือนละ 4,000 บาท ค่าตอบแทนประธานกรรมการธุรกรรม เดือนละ 20,000 บาท รวม เดือนละ 117,690 บาท

มติ ครม.เมื่อปี 2543 ระบุว่า ครม. เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง เสนอแนวทางการกำหนดค่าตอบแทนกรรมการป.ป.ง. กรรมการธุรกรรม และอนุกรรมการในคณะกรรมการ ป.ป.ง. เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินที่มีภารกิจความรับผิดชอบสูง และปริมาณงานมาก และจะต้องปฏิบัติราชการเป็นปกติประจำวัน รวมทั้งมีโอกาสเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตร่างกายและทรัพย์สินที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ กับเห็นควรให้กระทรวงการคลังพิจารณาค่าตอบแทนย้อนหลังให้กับกรรมการ ป.ป.ง. ที่ได้มีการประชุมครั้งแรกเมื่อ
วันที่ 4 พ.ค.43

ระบุว่า การกำหนดอัตราค่าตอบแทนให้แก่คณะกรรมการป.ป.ง. สมควรเทียบเคียงกับอัตราเงินสมนาคุณคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการ ป.ป.ส. แต่เนื่องจากทางราชการมีนโยบายในการประหยัดค่าใช้จ่าย คณะรัฐมนตรี จึงมีมติเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 41 ให้ปรับลดอัตราเงินสมนาคุณคณะกรรมการลงกึ่งหนึ่ง ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดความเหลื่อมล้ำ สมควรให้คณะกรรมการ ป.ป.ง. ได้รับค่าตอบแทนในอัตราที่ปรับลดลงเช่นเดียวกันตามที่กระทรวงการคลังได้เคยเสนอความเห็นไว้แล้ว อย่างไรก็ดี ในโอกาสต่อไปหากสถานการณ์ทางการเงินของประเทศอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2541 แล้ว ก็เห็นควรให้คณะกรรมการ ป.ป.ง. ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นตามอัตราที่สำนักงาน ป.ป.ง. เสนอให้กำหนดเงื่อนไขและอัตราค่าตอบแทนคณะกรรมการธุรกรรม ดังนี้ กรรมการที่เป็นบุคคลภายนอกให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราตามที่สำนักงาน ป.ป.ง. เสนอ เดือนละ 15,000 บาท กรรมการที่เป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากเป็นการปฏิบัติงานในเวลาราชการ และเสียสละเวลาจากการปฏิบัติงานในหน้าที่ประจำของตน สมควรให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราสองในสามของอัตรา ค่าตอบแทนที่กรรมการบุคคลภายนอกได้รับ เดือนละ 10,000 บาท

สำหรับการกำหนดค่าตอบแทนให้แก่“เลขาธิการ ป.ป.ง.”ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ “ประธานกรรมการธุรกรรม”นั้น ทางราชการได้กำหนดให้เงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตามนัย มาตรา 33 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ในอัตราเดือนละ 30,000 บาท แล้ว โดยพิจารณาเห็นว่าเป็นตำแหน่งที่มีภาระหน้าที่ความรับผิดชอบสูง ผู้ดำรงตำแหน่งต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากตำแหน่งอื่นในระดับเดียวกัน ประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการธุรกรรม เป็นส่วนหนึ่งของการ

ปฏิบัติงานในตำแหน่ง เลขาธิการ ป.ป.ง. เมื่อเทียบกับกรรมการที่เป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจจากหน่วยงานอื่นแล้ว เห็นควรกำหนดให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตรากึ่งหนี่งของอัตราค่าตอบแทนสำหรับกรรมการที่เป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจได้รับ คือ 5,000 บาท และบวกเพิ่มในฐานะตำแหน่งประธานกรรมการอีกหนึ่งในสี่ของอัตราค่าตอบแทนที่ข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจอื่นได้รับอีก 2,500 บาท รวมได้รับเดือนละ 7,500 บาท
 
ซึ่งเมื่อรวมกับอัตราเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและค่าตอบแทนรายเดือนต่างๆ แล้ว ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการป.ป.ง. จะได้รับประโยชน์ตอบแทนในอัตรา รวมเดือนละ 117,690 บาท ที่สำคัญ รองนายกฯ บอกว่าพ.ต.อ.สีหนาท จะมีสิทธิประโยชน์ไม่ต่ำกว่าเดิม.



กำลังโหลดความคิดเห็น