xs
xsm
sm
md
lg

ผักแพงขึ้น40%รับภัยแล้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน 360 - ผู้บริโภคอ่วมหนัก ราคาผักช่วงภัยแล้ว ปรับราคาขึ้นกว่า 30-40% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านภัยแล้งลามหนักทั่วประเทศ ชัยนาทประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉิน 4 อำเภอ รวม 12 ตำบล ส่วนสตูลต้องขนภาชนะมารอน้ำที่เทศบาลขนมาแจกจ่ายเพียงวันละ 1 รอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า จากการสำรวจราคาสินค้าอาหารในตลาดสดกรุงเทพฯ พบ ราคาผักสดได้ปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนกันของปีที่ผ่านมา 30-40% เพราะภัยแล้งทำให้ผลผลิตเสียหาย โดยราคาผักคะน้าคละเดือน ก.พ. 59 กิโลกรัม (กก.) ละ 22 บาท จากเดือนก.พ.58 กก.ละ 14.85 บาท, ผักชีคละกก.ละ 6.95 บาท จากกก.ละ 4.60 บาท, ถั่วฝักยาว กก.ละ 42.30 บาท จาก กก.ละ 31.30 บาท, มะนาว ลูกละ 3.73 บาท จาก ลูกละ 3.63 บาท, หมูเนื้อแดงสะโพก กก.ละ 132.50 บาท จาก กก.ละ 127.50 บาท, หมูเนื้อแดงไหล่ กก.ละ 132.50 บาท จาก 127.50 บาท, ไข่ไก่ ฟองละ 3.23 บาท จาก ฟองละ 2.76 บาท เป็นต้น

ขณะเดียวกัน สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้สำรวจราคาผักสดเพื่อจัดทำดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วประเทศ (เงินเฟ้อ) พบว่า ราคาผักสดเดือนก.พ.59 เทียบเดือนม.ค.59 เพิ่มขึ้นมามาก เช่น ผักบุ้งเพิ่มขึ้น 41.29% แตงกวาเพิ่ม 34.66% ถั่วฝักยาวเพิ่ม 31.84% ผักคะน้าเพิ่ม 7.27% ไข่ไก่ เพิ่ม 1.38% มะนาวเพิ่ม 4.32% และคาดว่าราคามะนาวจะแพงขึ้นเป็นเท่าตัวในภายในเดือนเม.ย.-พ.ค. เพราะเป็นช่วงที่ผลผลิตออกน้อยที่สุด

**ชัยนาทประกาศพื้นที่ภัยแล้ง 4 อำเภอ

ขณะที่ภัยแล้วได้กระจายในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ล่าสุดวานนี้ (10มี.ค.) น.ส.สุพัตรา คล้ายทิม หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 มี.ค.นายคณิต เอี่ยมระหงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท ได้ประกาศให้พื้นที่ 4 อำเภอประกอบด้วย อ.มโนรมย์ อ.หนองมะโมง อ.วัดสิงห์ และ อ.เนินขาม รวม 12 ตำบล 121 หมู่บ้านเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง)

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา ประชาชน จำนวน 47,025 คน 17,305 ครัวเรือน ได้รับความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายและภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน จึงจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือเป็นกรณีเร่งด่วน

**"ชาวคลองน้ำเวียน"สตูลทุกข์หนัก

ด้านชาวบ้านในพื้นที่บ้านคลองน้ำเวียน ม. 3 ต.คลองขุด อ.เมือง จ.สตูล ต่างขนภาชนะเก็บกักน้ำมานั่งรอรถขนน้ำจากเทศบาลตำบลคลองขุด ที่เข้ามาแจกจ่ายน้ำวันละ 1 รอบ ยังจุดแท่งน้ำ ฝอ.30 ภายในหมู่บ้าน โดยทุกคนเกรงว่าหากเดินทางมาช้าก็จะไม่ได้น้ำกลับไปใช้ เนื่องจากน้ำที่ทางท้องถิ่นนำมาแจกจ่ายเพียง 6,000 ลิตร ในขณะที่ชาวบ้านที่มีมากกว่า 120 คน ที่น้ำประปาเข้าไม่ถึง เมื่อน้ำในโอ่งที่เก็บกักไว้หมด ก็จะชวนกันมารองรับน้ำจากแท่งน้ำ ฝอ.30 แห่งนี้ แต่ไม่รวมชาวบ้านในละแวกข้างเคียงที่ประสบปัญหาจากน้ำประปาที่ไม่ไหลก็จะมาแบ่งปันน้ำจากที่นี่ด้วย นายโชติ ชินอรรถพร นายกเทศมนตรีตำบลคลองขุด ยอมรับว่า ภัยแล้งมาเร็วมากเริ่มตั้งแต่ธันวาคมที่ผ่านมา โดยมาส่งน้ำให้ชาวบ้านพื้นที่คลองน้ำเวียนได้เพียงวันละ 1 รอบทุกวัน เนื่องจากรถน้ำมีเพียง 2 คัน ต้องหมุนเวียนขนส่งน้ำช่วยเหลือทั้ง 7 หมู่บ้าน อีกทั้งต้องไปช่วยไฟไหม้ทุ่งที่เกิดเหตุบ่อยครั้งในพื้นที่คลองขุด ขณะนี้เตรียมจะเสนองบประมาณในการจัดหารถน้ำเพิ่ม ซึ่งพื้นที่บ้านคลองน้ำเวียน เป็นพื้นที่แล้งซ้ำซาก เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้ป่าชายเลน การสนับสนุนงบทำประปาไม่สามารถทำได้ จึงต้องประสบปัญหาอยู่ทุกปี อีกทั้งประชากรที่เพิ่มขึ้น และชาวบ้านใกล้เคียงที่ประปาไม่ไหลก็จะมาช่วยใช้น้ำชาวบ้านที่คลองน้ำเวียนด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น