xs
xsm
sm
md
lg

‘สังคมก้มหน้า’ ดีกว่า ‘ไทยเฉย’…

เผยแพร่:   โดย: โสภณ องค์การณ์

ช่วงนี้มีปัญหาหลายเรื่อง บ้านเมืองยังติดอยู่ในกับดักเรื่องการแต่งรัฐธรรมนูญ กฎหมายสูงสุดของประเทศ ผู้รู้มากรู้น้อยแสดงความคิดเห็นเพราะไม่อยากให้ใครมาผูกขาดแต่งกฎหมายมาบังคับใช้โดยตัวเองไม่มีส่วนรับรู้ด้วย จัดอยู่ในพวกขอมีส่วนร่วมด้วยนั่นเอง

การมีส่วนร่วมเป็นไปด้วยความกระตือรือร้น ตัวเองสนใจความเป็นไปของบ้านเมือง หรือรับงานกลุ่มผลประโยชน์มาขับเคลื่อนเพื่อปกป้องพวกพ้อง เจ้านายหรือไม่นั้น ก็สุดแล้วแต่ ตัวเองรู้อยู่แก่ใจ ประชาธิปไตยน้ำเน่าแบบไทยๆ ย่อมมีความหลากหลายมิติเสมอ

พวกที่สนใจเหตุการณ์บ้านเมืองส่วนหนึ่งมาจาก “สังคมก้มหน้า” ซึ่งมักถูกมองด้วยสายตาตำหนิ โดนพูดถากถางว่าสนใจเฉพาะการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ไม่ชอบพูดคุยกับใคร สมาชิกครอบครัวเดียวกัน นั่งเปิบในร้านอาหารก็ไม่พูดจากัน เพ่งมองแต่โทรศัพท์มือถือ

กางไอแพด แท็บเล็ต เสพข้อความข่าวสาร สื่อสาร เล่นเน็ต เล่นไลน์ อย่างจริงจัง! ร้านกาแฟ เครื่องดื่ม หลายแห่งยินดีต้อนรับสมาชิกสังคมก้มหน้า นั่งนานๆ ไม่คุยส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น เป็นการแสวงหาความรู้นอกสถาบันศึกษา แต่ละคนมีห้องสมุดเคลื่อนที่

“สังคมก้มหน้า” มีมิติเชิงบวก นอกจากการอ่าน ยังกระตุ้นในคนสนใจในการเขียนข้อความ บทความ การแสดงความคิดเห็นมากกว่าที่เป็นอยู่ การเขียนถือว่าเป็นสุดยอดของการแสดงออก นอกจากการพูด หรือการสื่อสารด้วยวิธีอื่นๆ ต้องใช้เวลาคิด เรียบเรียง

การอ่าน ไม่ว่าจะอ่านจากสื่ออะไร ถือว่าเป็นบ่มเพาะนิสัยรักการอ่าน สื่อดิจิตอลฉับไวได้เปลี่ยนพฤติกรรมของคนไทยอย่างมาก แปรสภาพของไทยเฉยให้เป็นกลุ่มที่มีปฏิกิริยาต่อสภาพสังคม รู้สึกเดือดร้อนเมื่อรู้ว่าสิทธิ ชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเองถูกละเมิด

การนั่งก้มหน้าอ่านข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ ย่อมดีกว่านั่งเหม่อลอย ไร้กิจกรรม พวกก้มหน้าเล่มเกมอย่างเดียวอาจด้อยค่าในการใช้เวลา แต่ได้เป็นการฝึกสมองให้คิดเร็ว มีผลร้ายแน่ถ้าหากเล่นอย่างหมกมุ่น ข้ามวันข้ามคืนไม่พักผ่อนหลับนอน จนตายคาหน้าจอ

พฤติกรรมรักการอ่านมิติใหม่เป็นภาพที่เราเห็นแล้วควรดีใจ คนในสังคมก้มหน้า ใช้เวลาส่วนใหญ่ เวลาว่างเพื่อเสพข่าวสาร ข้อมูล รับรู้ความเป็นไปต่างๆ ในโลก มีความทันสมัย ทันเหตุการณ์ รู้เรื่องราวต่างๆ มากกว่าคนทั่วไปที่ไร้อุปกรณ์เข้าถึงสื่อยุคดิจิตอล

นอกจากรับรู้ข้อมูลยังโต้ตอบ สื่อสาร แสดงความเห็นต่างๆ ด้วยความรวดเร็ว!

สังคมไทยเคยถูกประเมินด้วยถ้อยคำเหยียดหยามว่า “อ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด” เป็นสังคมไม่รักการอ่าน ประชากรมีเกือบ 70 ล้านคน แต่หนังสือพิมพ์รายวันมีจำหน่ายวันละไม่ถึง 2 ล้านฉบับ ไม่นับจากเหลือจำหน่าย อ่านน้อยกว่าประชากรในประเทศอื่นๆ

ก่อนยุคสื่อดิจิตอลผ่านโทรศัพท์มือถือ ในสังคมตะวันตก ญี่ปุ่น ประชาชนจะอ่านหนังสือพิมพ์ตามป้ายรถบัส นั่งรถขนส่งมวลชน สถานีรถไฟ ในสวนสาธารณะ ขณะที่ภาพเช่นนั้นไม่ปรากฏในสังคมบ้านเรา ห้องสมุด ร้านหนังสือ หาได้ยากยิ่งกว่าแหล่งค้ากาม

ทุกวันนี้ คนไทยมีโทรศัพท์มือถือ มีอินเทอร์เน็ต เล่นไลน์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และสื่อโซเชียลมีเดียอื่นๆ รับรู้ข้อมูลข่าวสาร 24 ชั่วโมง บางครั้งเป็นการหมกมุ่น ทำให้เสียการงาน แต่คนทั่วไปมีความรับผิดชอบตัวเอง จัดสรรเวลาได้ เกิดความตื่นตัว คนไทยรักการอ่าน

ในร้านอาหารของชาวสังคมก้มหน้า เสพข้อมูล สื่อสารด้วยข้อความเป็นปฏิสัมพันธ์ ย่อมดีกว่า น่าพิสมัยกว่าในร้านอาหารซึ่งมีแต่วงเหล้า คนเสพน้ำเมาคุยกันเอะอะเสียงดังไม่เกรงใจใคร พร้อมจะมีเรื่องกัน ถ้าสายตาประสานกันจนเกิดอาการเขม่นอยากได้เลือด

การอ่านจากโทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต ฯลฯ ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ดีกว่าไม่อ่านอะไรเลย อุปกรณ์ดิจิตอลเหล่านี้ไม่ต่างจากหนังสือพิมพ์ หรือสื่อสิ่งพิมพ์ แต่ดีกว่า รวดเร็วกว่ามีความหลากหลาย เหนือกว่าห้องสมุดด้วยซ้ำ เพราะสามารถค้นหาข้อมูลได้เต็มที่

การเข้าถึง รับรู้ข้อมูลเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยความรวดเร็วทำให้คนฉลาดขึ้น มีความรอบรู้มากกว่าเดิม กระตุ้นให้สนใจสภาพสังคมการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ลดจำนวนประชากร “ไทยเฉย” เมื่อตัวเองต้องรับรู้เรื่องราวความเป็นไปต่างๆ โดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

การชุมนุมทางการเมือง การส่งข้อความเรื่องสำคัญให้การรับรู้ของสังคมเป็นไปด้วยความรวดเร็ว กว้างขวาง เป็นช่องทางสำหรับป้องกันเหตุร้ายต่างๆ การรณรงค์ต่อต้านพฤติกรรมชั่วร้ายของนักการเมือง หรือคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคม ถือว่าเป็นการสร้างประโยชน์

ไม่มีใครโดนต้มง่ายๆ หรือถูกหลอกง่ายๆ ถ้าใส่ใจ แลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ต่างๆ กับคนในสังคมก้มหน้า แต่ต้องมีความรอบคอบเพียงพอ เพราะเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ยังมีอยู่ ตราบใดที่สังคมยังมีความหลากหลายของคนฉลาด โง่เกิดมาในแต่ละนาที

สังคมก้มหน้าเพื่ออ่านข้อความ สื่อสาร ย่อมดีกว่าพวกที่ต้องก้มหน้าหลบสังคมด้วยความอัปยศอดสูเพราะพฤติกรรมชั่วร้ายเลวทราม ถูกประจานด้วยโซเชียลมีเดีย ดังที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน นับเป็นยุคที่สังคมรับรู้ความเป็นไปต่างๆ ยากในการซ่อนเร้นความชั่ว

คนในสังคมก้มหน้าพร้อมเสมอที่จะเงยหน้าลุกขึ้นยืน จ้องตาพวกประสงค์ร้ายต่อผลประโยชน์ของสังคม และมีความเชื่อมโยงโดยข้อความ การรับรู้ โดยไม่จำเป็นต้องรู้จักกันมาก่อน เพียงแต่มีทัศนคติ แนวความคิด จิตวิญญาณในการรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน

การชุมนุมทางการเมือง หรือการเรียกร้องของกลุ่มต่างๆ มีพลัง ความฉับไว ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลแนวเผด็จการ ทรราช จึงกระสันอยากควบคุมระบบการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต และใครก็ตามที่มุ่งแต่เรื่องนี้ถูกมองได้ว่าเป็นกลุ่มวางแผนชั่วร้ายต่อผลประโยชน์ของชาติ

สังคมก้มหน้าไม่รบกวนใคร การรับรู้ข้อมูลข่าวสารถูกต้องเป็นการใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ในระยะยาวจะละลายพฤติกรรมของคนในสังคมไทยเฉยโดยความจำเป็นบังคับ
กำลังโหลดความคิดเห็น