xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊กตู่ทุบโต๊ะเอาส.ว.ลากตั้ง ยังอุบไต๋ให้ร่วมโหวตนายกฯหรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (3มี.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชนา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวถึงแนวคิดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมวงกลาโหม ที่เสนอให้มีส.ว.มาจากการสรรหาทั้งหมด ทำงานในช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นเวลา 5 ปี ว่า มีต่างประเทศหลายประเทศ เขาก็ทำแบบนี้ วันนี้เราต้องดูว่าประเทศเรามีปัญหาหรือไม่
" ผมเคยพูดมาตั้งนานแล้วว่ามันมีปัญหา จึงต้องมาคิดว่าทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลในช่วงเวลาที่เกิดการเปลี่ยนผ่าน ถึงได้พูดตลอดว่ารัฐธรรมนูญก็ว่ากันไป บทเฉพาะกาล ก็แยกออกมาว่าจะทำอย่างไร คำว่า 5 ปี นั้นถ้าเขาอยู่ได้ 5 ปีจริง เขาก็ทำหน้าที่ของเขาในฐานะส.ว. ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาร่วมกับส.ส. ทั้ง 2 สภา เพราะฉะนั้นถ้ามีอะไรที่เป็นประเด็นปัญหา เขาก็แค่ขอเปิดประชุมสภาเพื่อพิจารณาโดยอภิปราย ซึ่งไม่ใช่อภิปรายเรื่องการทุจริตเพียงอย่างเดียว ก็ต้องมาพูดคุยด้วยว่าแผนปฏิรูปที่ทำมาทำไปแค่ไหนแล้ว อย่างไร ถ้ายังไม่ทำก็ต้องไปทำมา ซึ่งผมคิดว่าท่านรองประวิตร ก็ เข้าใจเช่นเดียวกับผม เพราะคิดเหมือนกันอยู่แล้ว ถ้าปล่อยให้เป็นแบบเดิม ส.ว.และ ส.ส.ต่างก็เลือกตั้งเข้ามา มีญาติพี่น้อง มีลูกเมีย มันก็ไปด้วยกันหมด ประเทศชาติมันก็แกว่ง มันไปไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไปจับผิดรัฐบาล แต่เป็นการช่วยในการประเมินผลงานของรัฐบาล หน้าที่ของ ส.ว.เป็นเช่นนี้ หน้าที่อีกอย่างคือ การเปิดประชุม 2 สภา เรื่องนี้คิดว่ามันเป็นหน้าที่อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ส.ว.หรือ ส.ส. หน้าที่แรกคือ การดูเรื่องธรรมาภิบาล ความโปร่งใสในการทำงาน รวมทั้งการเดินยุทธศาสตร์ของประเทศ"
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการเดินยุทธศาสตร์ประเทศว่า สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว ในการทำนั้นก็เป็นเพียงการเขียนข้อหลักๆไว้ เหมือนการนำแผนของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นกรอบใหญ่ๆ มาบรรจุไว้ จะต้องสอดคล้องกับนโยบายความมั่นคงของประเทศ ยุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปี ซึ่งในทุก 5 ปี สภาพัฒนฯ ก็จะมาทำเพื่อเขียนแผนให้สอดคล้อง ซึ่งในเรื่องปฏิรูป ตนเน้นย้ำว่าให้มีความสอดคล้องในระยะเวลา 5 ปี ทั้งนี้ไม่ว่ารัฐบาลไหน เราต้องเดินหน้าอย่างมีขั้นตอน ไม่ได้ไปล็อกอะไรตรงไหนเลย ถ้าทำตามนี้ ไม่ว่าจะมากหรือน้อย แล้วก็ต้องไป
พิจารณาในสภาอยู่ดี ไม่ใช่เปิดอภิปรายก็เอาแต่เรื่องทุจริต ไม่เห็นทำอะไรได้สักอย่าง ก็ได้แต่เปิดอภิปราย ก็แค่นั้น วันนี้เราต้องมาพูดคุยเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ไม่ใช่จะเอาส.ว.มาเพื่อจับผิด ให้ส.ว.ไปทำหน้าที่แทนประชาชน สานต่องานที่เราทำไว้ ตนในฐานะผู้นำรัฐบาล และหัวหน้าคสช. ต้องทำให้เกิดความเข้าใจ และตนต้องรับผิดชอบทั้งหมด
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อเสนอที่จะให้มี ส.ว.สรรหา ในช่วงเปลี่ยนผ่านว่าไม่ขอแสดงความเห็นในส่วนนี้ ส่วนข้อเสนอของสปท. ที่จะให้ส.ว. มีส่วนร่วมในการโหวตเลือกนายกฯนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ตนคงไม่ได้มองไปไกลขนาดนั้น อย่าเอาคำพูดของสปท. เพียงคนเดียวมาถามรัฐบาล แต่ยอมรับว่าในอดีต ส.ว.เคยมีส่วนในการโหวตเลือกนายกฯ แต่เป็นเพียงช่วงหนึ่ง ไม่นาน เพราะตอนนั้นเราถือว่า ส.ว.เป็นสมาชิกรัฐสภา เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย จึงมีส่วนร่วม อีกทั้งประธาน ส.ว.ก็เป็นประธานรัฐสภา
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับการให้ ส.ว. มาจากการสรรหา โดยคณะกรรมการสรรหา เพราะระบบการเลือกไขว้ ที่บัญญัติไว้ ยังมีช่องโหว่ทำให้บล็อกโหวตได้ และทางวิชาการพบว่า ไม่เคยใช้ในประเทศใดเลย โดยการสรรหา อยากให้ยึดหลักการจากกลุ่มสาขาอาชีพเหมือนเดิม ส่วนโครงสร้างคณะกรรมการสรรหา ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง ส่วนข้อครหาเรื่องการสืบทอดอำนาจนั้น ที่ผ่านมาคสช. ก็ยืนยันแล้วว่า จะไม่มีการสืบทอดอำนาจ ส่วนบุคคลที่แม่น้ำ 5 สาย สามารถมาเป็นส.ว.ต่อได้นั้น ต้องรอดูร่างรธน.ฉบับสมบูรณ์ ที่จะออกมาปลายเดือนนี้
สำหรับข้อเสนอสนช. ที่ให้ ส.ว.มีอำนาจตัดสินใจในสถานการณ์วิกฤต จะคล้ายกับ คปป. หรือไม่นั้น นายพรเพชร ยืนยันว่า ไม่เหมือนกัน และไม่เคยรู้จัก คปป. และการเสนอให้ส.ว.มีส่วนร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยนั้น ยังไม่รู้ ต้องรอดูร่าง รธน.ฉบับสุดท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น