เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี กล่าวในวันอาทิตย์ (29 ก.พ.) ว่า สหภาพยุโรป (อียู) ไม่อาจปล่อยให้กรีซ ประเทศซึ่งเพิ่งได้รับการกอบกู้ช่วยเหลือให้หลุดรอดจากวิกฤตหนี้สินใหญ่โตมโหฬารมาหยกๆ ต้องจมลงไปใน “ความปั่นป่วนวุ่นวาย” สืบเนื่องจากการที่ชาติยุโรปอื่นๆ ปิดพรมแดนไม่ต้อนรับผู้อพยพลี้ภัย
“คุณเชื่อจริงๆ หรือว่าบรรดารัฐยูโรทั้งหมดซึ่งเมื่อปีที่แล้วต้องต่อสู้ดิ้นรนอย่างยากลำบากเพื่อรักษาให้กรีซยังคงอยู่ในยูโรโซนต่อไป โดยที่เรา (เยอรมนี) นี่แหละคือผู้ที่ต่อสู้อย่างเคร่งครัดที่สุด-- พอผ่านไปอีกปีหนึ่งจะยินยอมปล่อยให้กรีซ เรียกได้ว่า ต้องจมลงไปในความปั่นป่วนวุ่นวายหรือ?” แมร์เคิล กล่าวในการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์
แมร์เคิลพูดเช่นนี้ ขณะที่วิพากษ์วิจารณ์ความเคลื่อนไหวของออสเตรีย และหลายประเทศในคาบสมุทรบอลข่าน ซึ่งประกาศใช้มาตรการควบคุมพรมแดน หรือจำกัดจำนวนสูงสุดที่จะยอมให้ผู้อพยพผ่านแดนได้ในแต่ละวัน จนกำลังทำให้มีผู้อพยพติดค้างอยู่ในกรีซเป็นจำนวนมากมาย ในเมื่อเรือขนผู้อพยพจากตุรกียังคงข้ามทะเลเข้ามายังกรีซไม่หยุดยั้ง
“สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือสิ่งที่พวกเราเคยหวาดกลัวกัน ได้แก่การที่ขณะนี้มีประเทศๆ หนึ่งถูกปล่อยให้เผชิญกับปัญหาต่างๆ ของตนไปตามลำพัง เราไม่สามารถยินยอมปล่อยให้เป็นอย่างนี้ได้” ผู้นำเยอรมันกล่าว ในการให้สัมภาษณ์อย่างยาวเหยียดเกี่ยวกับวิกฤตผู้อพยพ ทางสถานีโทรทัศน์สาธารณะ “เออาร์ดี”
แมร์เคิล เป็นผู้ที่ได้เคยต่อสู้ขัดแย้งมาอย่างยาวนานกับนายกรัฐมนตรี อเล็กซิส ซีปราส ของกรีซ สืบเนื่องจากเธอเรียกร้องให้กรีซต้องยอมใช้มาตรการรัดเข็มขัดอย่างเข้มงวดกวดขัน เพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินกู้ช่วยให้รอดพ้นภาวะล้มละลายมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์จากอียู-ไอเอ็มเอฟ แต่มาถึงตอนนี้เธอเผยว่า ขณะนี้เธอมีการติดต่ออย่างใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรีฝ่ายซ้ายของกรีซผู้นี้ เกี่ยวปัญหาการไหลทะลักเข้ามาของผู้ลี้ภัย
ในประเทศกรีซ ซึ่งถือเป็นประตูเข้าสู่ยุโรปสำหรับผู้อพยพจำนวนนับแสนๆ คน เวลานี้กำลังสะสมพอกพูนความขุ่นเคืองโกรธเกรี้ยวมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่ออสเตรียประกาศจำกัดจำนวนสูงสุดของใบขอลี้ภัยที่จะรับไว้พิจารณาในแต่ละวัน ส่วน 4 ประเทศแหลมบอลข่าน ได้แก่ มาซิโดเนีย, เซอร์เบีย, โครเอเชีย, และ สโลวีเนีย ต่างใช้มาตรการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบก่อนให้ผู้อพยพเข้าประเทศ
เยอรมนีเองเมื่อปีที่แล้วได้รับผู้ขอลี้ภัยเอาไว้กว่า 1 ล้านคน กว่าครึ่งหนึ่งมาจากประเทศที่ย่อยยับด้วยภาวะสงครามอย่างซีเรีย, อิรัก, และอัฟกานิสถาน ทว่านโยบายเรื่องนี้ของแมร์เคิล ทำให้เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากภายในประเทศและจากเพื่อนรัฐสมาชิกอีกยูจำนวนมาก
แมร์เคิลยืนกรานว่า การลดจำนวนผู้ลี้ภัยที่ไหลทะลักเข้ามาเหล่านี้ ควรต้องกระทำโดยการเพิ่มความเข้มงวดที่บริเวณชายแดนด้านนอกของอียู เป็นต้นว่าการใช้เรือขององค์การนาโต้คอยเฝ้าตรวจตราหยุดยั้งเรือผู้ลี้ภัยที่ออกมาจากตุรกี ตลอดจนการที่อียูต้องไปทำข้อตกลงกับตุรกี
“แต่คนจำนวนมากไม่เชื่อในวิธีนี้ และพวกเขากำลังพูดกันว่า 'ใครจะรู้ได้ว่าวิธีอย่างนั้นจะได้ผลหรือเปล่า?'” นายกรัฐมนตรีหญิงเยอรมันกล่าว พร้อมกับตำหนิพวกที่คิดอย่างนี้ว่า ถ้าใช้ท่าทีแบบนี้ในการแก้ไขปัญหาแล้ว วิธีไหนก็จะไม่ได้ผลทั้งสิ้น
แมร์เคิลพูดถึงประเทศทางยุโรปตะวันออกหลายๆ ประเทศ ซึ่งพากันเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมพรมแดน โดยเธอชี้ว่า “ปัญหาอยู่ที่ว่าพวกเขากระทำไปตามอำเภอใจโดยไม่ได้ปรึกษาหารือกับคนอื่น เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่ดีเลยถ้ามีประเทศที่ไม่ยอมติดต่อพูดจากับคนอื่น”
เธอกล่าวต่อไปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือกรีซถูกปล่อยเอาไว้ให้อยู่ข้างนอก ขณะที่พรมแดนถูกปิดถูกเข้มงวดในช่วงตั้งแต่ชายแดนมาซิโดเนีย โดยที่ไม่ได้มีใครหารือกับกรีซก่อนเลยว่า กรีซต้องการปิดต้องการเข้มงวดพรมแดนของตนด้วยหรือไม่
แมร์เคิลบอกว่า เยอรมนีเห็นว่า ความรับผิดชอบ “ไม่ใช่การเข้าไปแก้ไขปัญหาเพื่อให้กลายเป็นภาระของอีกประเทศหนึ่ง แต่ต้องร่วมกันแก้ปัญหากับประเทศอื่นๆ นี่คือสิ่งที่พวกเราทำกันในวิกฤตยูโร และนี่ก็ต้องเป็นสิ่งที่เราควรทำในวิกฤตผู้ลี้ภัยเช่นกัน”
เธอยืนยันด้วยว่า เธอยังคงมองโลกแง่ดีว่าจะสามารถรับมือคลี่คลายวิกฤตผู้ลี้ภัยอันใหญ่โตนี้ได้ พร้อมกับประกาศอย่างมีอารมณ์ความรู้สึกชนิดผิดธรรมดาของเธอว่า “มันเป็นหน้าที่และความผูกพันเจ้ากรรมของดิฉัน ที่จะต้องทำทุกๆ อย่างที่สามารถทำได้เพื่อให้ยุโรปค้นพบเส้นทางเดินแห่งความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกัน”