xs
xsm
sm
md
lg

แฉพิรุธประมูลสุวรรณภูมิเฟส2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน 360 - คมนาคมเร่งออกงานประมูลก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 แต่ส่อเค้าส่งกลิ่น มีพิรุธ แบ่งสัญญามาแปลก ทำให้งานก่อสร้างเกิดปัญหาล่าช้า หวั่นทำรัฐเสียค่าโง่เหมือนการก่อสร้างรัฐสภาใหม่

จากกรณีที่ นายประสงค์ พูนธเนศ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำเงื่อนไขการประกวดราคา(ทีโออาร์) เพื่อเตรียมเปิดประกวดราคาในเดือน มี.ค.59 และก่อสร้างโครงการในเดือน มิ.ย.59 โดยโครงการนี้จะประกวดราคาก่อน 3 กลุ่มงาน วงเงินประมาณ 18,000 ล้านบาท จากทั้งหมด 7 กลุ่มงาน มีวงเงินลงทุนรวม 51,000 ล้านบาท 3 กลุ่มงานประกอบด้วย 1. งานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค 2,693 ล้านบาท 2. งานลานจอดอุโมงค์และโครงสร้างใต้ดิน 14,900 ล้านบาท และ 3. งานที่ปรึกษาควบคุมโครงการ 1,200 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมี อีก 4 กลุ่มงานอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดทีโออาร์ ประกอบด้วย 1.งานจ้างก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 รวมส่วนเชื่อมใต้ดินทางทิศใต้ วงเงิน 17,400 ล้านบาท 2. งานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) หรือรถไฟฟ้าใต้ดิน 2,800 ล้านบาท 3. งานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า (BHS) และระบบตรวจจับวัตถุระเบิด (EDS) 6,100 ล้านบาท และ 4. งานก่อสร้างส่วนขยายอาคารผู้โดยสารทิศตะวันออกและอาคารจอดรถ 4,680 พันล้านบาท คาดว่าจะจัดทำรายละเอียดโครงการและจัดทำทีโออาร์เสร็จเพื่อเริ่มประกวดราคาได้ทั้งหมดในปี 2559 และก่อสร้างเสร็จในปี 2562 ช่วยขยายความจุสนามบินสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มจาก 45 ล้านคน เป็น 60 ล้านคน

ขณะที่ นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ชี้แจงว่า เนื่องจาก ทอท.มีการปรับร่างทีโออาร์กลุ่มงานที่ 1 คือ งานออกแบบและสิ่งก่อสร้างกลุ่มงานอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 วงเงินรวมประมาณ 40,744 ล้านบาท ซึ่งเดิมเป็นงานรวมทั้งการออกแบบและก่อสร้างก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 งานก่อสร้างลานจอดอากาศยานประชิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 จำนวน 28 หลุมจอด, งานออกแบบและก่อสร้างส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ และระบบขนส่งผู้โดยสาร (APM), งานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า (BHS) และระบบตรวจจับวัตถุระเบิด (EDS) แต่บอร์ด ทอท. สั่งการให้แยกทีโออาร์งาน APM งาน BHS และงาน EDS ออกจากงานก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และส่วนเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ เพื่อให้ ทอท.สามารถต่อรองราคากับผู้ผลิตงานดังกล่าวเอง กระทรวงคมนาคมจึงได้เร่งรัดการออกทีโออาร์ดังกล่าวเพื่อให้สามารถเปิดประกวดราคาได้โดยเร็ว

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า การพัฒนาโครงการสนามบินสุวรรณภูมิเป็นโครงการสำคัญของประเทศ เป็นหน้าตาของรัฐบาล การขยายสนามบินมีความจำเป็นเพื่อรองรับผู้โดยสารที่มากขึ้นเนื่องจากการขยายตัวทางธุรกิจและการท่องเที่ยวซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมาการดำเนินการล่าช้ามาก ตั้งแต่รัฐบาลที่แล้วจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถประมูลได้ รัฐบาล คสช.รู้ดีว่าเรื่องนี้ช้ามากมากแล้ว จึงสั่งให้ให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดแก้ปัญหาโดยด่วน

นอกจากนี้ยังพบว่า ทอท. มีปัญหาภายในทั้งเรื่องบุคลากรและการบริหารสัญญา โดยมีการว่าจ้างกลุ่มที่ปรึกษาที่ไม่มีคุณภาพเกี่ยวโยงกับกลุ่มการเมืองเก่ามาเป็นผู้ออกแบบและบริหารโครงการ ทำให้เมื่อปีที่แล้ว ทอท.มีการยกเลิกสัญญาว่าจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการ (PMC) ต่อมามีการปรับวงเงินค่าก่อสร้างและรูปแบบการก่อสร้างต่างๆ จนสุดท้าย มีการแบ่งงานเป็น 7 กลุ่มงานซึ่งการแบ่งงานลักษณะนี้เป็นสิ่งที่แปลกมาก ไม่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม โดยเฉพาะงานอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 กลับแบ่งเป็น 2 สัญญา ก่อสร้างตามจำนวนชั้น แบ่งเป็นส่วนใต้ดิน 3 ชั้น และบนดิน 4 ชั้น ไม่เคยเห็นว่ามีใครสร้างอาคารกันแบบนี้ นอกจากจะไม่เหมาะสมตามหลักวิศวกรรมแล้วยังทำให้การก่อสร้างเกิดปัญหา หากชั้นล่างยังไม่แล้วเสร็จ ก็ไม่สามารถเดินหน้าชั้นบนได้ สุดท้ายก็เกิดปัญหางานล่าช้า เกิดการฟ้องร้อง

ทั้งที่จริงการก่อสร้างอาคารมักจะมีผู้รับเหมารายเดียว หรือถ้าเป็นงานใหญ่ๆก็จะแบ่งเป็นงานโยธา งานระบบ หรือแบ่งงานเป็นโซน 1 2 3 เป็นส่วนเหนือใต้ โดยกำหนดให้ใช้วัสดุที่มีมาตรฐานเดียวกัน และยังมีส่วนงานอื่น เช่น งานระบบขนส่งผู้โดยสาร (APM) งานระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า (BHS) งานตรวจจับวัตถุระเบิด (EDS) ก็แยกประมูลต่างหาก ซึ่งจริงๆแล้วควรรวมอยู่ในงานก่อสร้างกลุ่มงานอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 เพื่อให้ผู้รับเหมาดูแลเบ็ดเสร็จทั้งในเรื่องจัดหาและการต่อเชื่อมระบบ พอแยกประมูล การทำงานก็ไม่ต่อเนื่องกัน ล่าช้าออกไปอีก มีค่าดำเนินการมากขึ้น สุดท้ายหากสัญญาใดล่าช้ากระทบกับอีกสัญญาหนึ่งก็จะเกิดการเรียกร้องค่าใช้จ่าย ฟ้องร้องกัน ซึ่งเป็นผลเสียต่อ ทอท.ในที่สุด

นอกจากนี้ในส่วนของการกำหนดคุณภาพวัสดุและอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในโครงการ ทราบว่ามีการล๊อกสเปคไว้ให้ผู้ผลิตหลายๆราย เช่น ระบบป้องกันไฟไหม้ (Fire Protection) และมีการตั้งราคาไว้ให้สูง เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้ผลิตเหลานั้น และที่สำคัญที่สุด การแบ่งกลุ่มงานในลักษณะนี้ไม่ได้มีแผนงานที่ชัดเจนว่า แต่ละหมวดงานจะทำเมื่อไหร่ อย่างไร และ ทอท.จะแก้ปัญหาอย่างไรหากมีปัญหาสัญญาล่าช้ากระทบกับอีกสัญญาหนึ่ง ทั้งหมดนี้เป็นการทำงานที่ขาดการวางแผน ทำให้เกิดปัญหา ทั้งที่เห็นตัวอย่างจากการก่อสร้างรัฐสภาใหม่ ที่ก่อสร้างไม่เสร็จ มีฟ้องร้องกันอยู่ในปัจจุบัน

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวเสริมว่า การดำเนินการแบ่งสัญญาสุวรรณภูมินี้เป็นเรื่องแปลกที่ไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย เข้าใจว่ามีกลุ่มคนใน ทอท.ร่วมมือกับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาที่โยงกลุ่มการเมืองเก่าชัดเจน ที่ ทอท.ได้ยกเลิกสัญญาไปแล้วซึ่งยังคงทำงานช่วย ทอท.อยู่เบื้องหลัง มีการตกลงกันเรียบร้อยแล้วว่าระบบนี้ของใคร จึงต้องจับตา ดู ต่อไปว่า ทอท. และกระทรวงคมนาคมจะเดินหน้าได้โครงการอย่างไร

ในช่วง ที่ผ่านมา การก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเก่า ใช้เวลาก่อสร้างกว่า 6-7 ปีกว่าจะเปิดให้บริการได้ หากเป็นเช่นเดิมปัญหาก็จะแย่กว่าเดิม และหากเกิดปัญหา ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมต้องลงมาดูแลใกล้ชิด หากปล่อยให้เดินหน้าต่อไป งานเหล่านี้คงไม่เกิดจริงในปีนี้ และจะกระทบถึงความเชื่อมั่นของรัฐบาลเองด้วย ยอมให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศขั้นรุนแรง เพราะทราบอยู่แล้วว่าทำให้การดำเนินการล่าช้า เกิดความเสียหาย เกิดการฟ้องร้อง งบประมาณบานปลาย และเสียค่าโง่แบบรัฐสภาใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น