xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

หุยฮาเจ้าข้าเอ๊ย “จูดี้”ไม่เคยผ่านงานสอบสวน แต่มากำหนดชะตาชีวิตพนักงานสอบสวน !!??

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถ้าจะยกให้เป็นแมวเก้าชีวิต พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. น่าจะเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่เข้าข่ายคำเปรียบเปรยนี้อย่างไม่ต้องสงสัย “พงศพัศ”หรือ “จูดี้” เป็นนายตำรวจที่เข้าถึงง่ายใครๆ ก็เข้าไปพูดคุยได้ ถามได้ ตอบได้ทุกเรื่อง เป็นนายตำรวจที่ใบหน้าเปื้อนรอยยิ้ม มีมนุษยสัมพันธ์ขั้นดีเลิศโดยเฉพาะกับสื่อมวลชน เขารู้จักตั้งแต่นักข่าวภาคสนามยันหัวหน้าในสำนักพิมพ์ ทั้งโทรทัศน์-วิทยุ ไม่มีใครไม่รู้จัก

เส้นทางชีวิตของนายตำรวจผู้นี้ไม่มีอะไรซับซ้อน ทุกเรื่องราวของเขาในฐานะที่เป็นคนดัง สังคมไทยพอทราบประวัติความเป็นมาอย่างดีพล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. เป็นนักเรียนนายร้อย รุ่น 31 รุ่นเดียวกับนายตำรวจชื่อดังหลายคน อาทิ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร. พล.ต.อ.เรืองศักดิ์ จริตเอก พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน พล.ต.ต.พิสัณห์ จุลดิลก พล.ต.อ.ประวุฒิ ถาวรศิริ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธ์ พล.ต.ต.ประยนต์ ลาเสือ พล.ต.ต.พินิจ มณีรัตน์ พล.ต.ต.สรรักษ์ จูสนิท พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาท พล.ต.ต.ประสพ โชคพร้อมมูล พ.ต.อ.ณษ เศวตเลข และ พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง. เป็นต้น

ชีวิตการรับราชการของ พล.ต.อ.พงศพัศ ผ่านศึกเหนือเสือใต้มาอย่างโชกโชน เขาเกิดมาเป็นนายตำรวจนักประชาสัมพันธ์อย่างแท้จริง เริ่มตั้งแต่สมัยเป็นนายเวร พล.ต.ท.แสวง ธีระสวัสดิ์ ช่วงเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ติดต่อกันจนถึง พล.ต.ท.แสวง ได้เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ได้ติดยศ พล.ต.ต. คนแรกของของรุ่น เมื่อปี 2540 ในตำแหน่ง ผบก.สารนิเทศ ท่ามกลางข้อกล่าวหาต่างๆ รวมทั้งคดีขโมยวิทยุที่ซูเปอร์มาร์เก็ต แห่งหนึ่งในสหรัฐฯ

ด้วยภาพลักษณ์น่าเชื่อถือ อบอุ่น เป็นกันเอง และรับฟังทุกปัญหา พร้อมกับเป็นคนสร้างภาพลักษณ์ให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นการร้องเรียนของประชาชน ที่ส่งผลกระทบต่อตำรวจ คดีฆาตกรรมอันโด่งดัง แม้ตำรวจจะยังตามจับใครไม่ได้ แต่จะเห็นนายตำรวจผู้นี้ไปปลอบประโลมญาติผู้เสียหายถึงสถาบันนิติเวชฯ เรื่องแบกโลงศพ หรือส่งหรีดร่วมไว้อาลัย เขาทำได้อย่างไม่มีขาดตกบกพร่อง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เป็นโฆษกติดต่อกัน 5 สมัย

แล้ววันหนึ่งเกิดเรื่องฉาวโฉ่ที่สังคมไทยต้องเงี่ยหูฟังอย่างไม่อยากเชื่อกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น นสพ.หลายฉบับพากันพาดหัวข่าว “บิ๊กขี้หลี” ซึ่งในช่วงนั้นเป็นยุค พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ขึ้นเป็น ผบ.ตร. ข่าวดังกล่าวต่อมาเป็นที่เปิดเผยว่า ผู้เสียหายคือ น.ส.เกวลิน กังวานธนวัฒน์ ผู้ประกาศข่าวสาวสวย ช่อง 9 อสมท. ส่วนคู่กรณีคือ พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ผบ.ตร. โดยมี พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ในฐานะโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมพัวพันอยู่ในเหตุการณ์ด้วย

คดี “บิ๊กขี้หลี”ได้รับความสนใจจากสังคมเป็นวงกว้าง ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของ พล.ต.อ.พงศพัศ หมองลงชั่วขณะ คดีนี้สู้กันถึง 3 ศาลปรากฏว่า ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาชนะตั้งแต่ชั้นต้นยันฎีกา ถึงกระนั้นเรื่องราวของ“บิ๊กขี้หลี”เมื่อหยิบมาพูดในแวดวงข่าวอาชญากรรม หรือวงการสีกากีครั้งใด ยังสร้างความฮือฮาได้ทุกครั้งไม่ตกยุค

วันเวลาผ่านไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เกิดการผลัดใบเข้าสู่ยุค พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายสุดเลิฟ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก้าวขึ้นมาเป็น ผบ.ตร.

พล.ต.อ.พงศพัศ ในฐานะแชมป์โฆษก 5 สมัย ถูกปลดด้วยเหตุผลมีคนที่เหมาะสมกว่า และมีการแต่งตั้ง พล.ต.ท.วัชรพล ประสารราชกิจ ผู้ช่วย ผบ.ตร.ในขณะนั้นเข้ามาทำหน้าที่ นายตำรวจสุดหล่อขวัญใจมหาชนเข้าโหมตโลว์โปรไฟล์นับแต่วันนั้น กระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผ่านมาถึงยุค พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงษ์ พล.ต.อ.พงศพัศ ก็กลับมาผงาดอีกครั้ง ขยับขึ้นเป็น รอง ผบ.ตร. ติดยศ พล.ต.อ. และสยายปีกไปรับตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ( ปปส.)

ปี 2556 พรรคเพื่อไทย เสนอชื่อลงสนามเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเจ้าตัวประกาศเป็นสัญญาประชาคมว่า ถ้าเขาได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯกทม. จะสามารถทำงานกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย อย่างไร้รอยต่อ ซึ่งในจังหวะนั้น ทุกสำนักโพลที่ออกสำรวจความคิดเห็นประชาชน พล.ต.อ.พงศพัศ ติดอันดับ 1 ได้รับความนิยมสูงสุด แต่พอวันเลือกตั้งจริงกลับพ่ายแพ้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อย่างเฉี่ยวฉิว แต่เขาก็ได้คะแนนสูงลิ่วทำลายสถิติ นายสมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่าฯกทม. ที่เคยทำไว้ โดยได้ถึง 1,077,899 คะแนน

วันที่ 22 พ.ค.57 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำการยึดอำนาจ และมีคำสั่งย้าย พล.ต.อ.พงศพัศ จากเลขธิการ ปปส. กลับคืนรั้วปทุมวัน และตลอดปี 2557 -2558 ยังคงนับเป็น “ขาขึ้น”ของนายตำรวจผู้นี้อย่างต่อเนื่อง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ได้รับความไว้วางใจจาก พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ในฐานะเพื่อนร่วมรุ่นให้รับผิดชอบงานสำคัญต่างๆ มากมาย จนบางช่วงบางตอน เกิดกระแสข่าวว่า “บิ๊กอ๊อด”มีความพยายามจะผลักดัน พล.ต.อ.พงศพัศ ให้ขึ้นมาเป็น ผบ.ตร. “ขัดตาทัพ” เป็น ผบ.ตร. คนที่ 11 ด้วย

ตุลาคม 2558 พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ได้รับการเสนอชื่อให้เป็น ผบ.ตร. คนที่ 11 และ พล.ต.อ.พงศพัศ ถูกเลือกให้เป็น รอง ผบ.ตร. ที่มีบทบาทมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการมอบหมายงานปราบปรามให้คุมพื้นที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล และกองบัญชาการตำรวจภาค 1 ขณะที่ รอง ผบ.ตร. คนอื่นๆ แม้จะได้รับมอบหมายอย่างสมน้ำสมเนื้อ แต่ไม่มีใครเป็นเงาตามตัวเฉกเช่น “พงศพัศ” นายตำรวจรุ่นพี่ที่ไม่ถือสา ยังคงทำหน้าที่ต่างๆ อย่างเข้มแข็ง แม้บางครั้งเข้าขั้นเป็น “หนังหน้าไฟ”อีกทั้งคำสบประมาทที่ลอยลมมาว่า เป็นจิ้งจกเปลี่ยนสี

แค่นั้นยังไม่พอ รางวัลในฐานะเป็นผู้ปรองดองสมานฉันท์หันจากขั้วสีแดงมาเป็นขั้วสีเขียว ด้วยคำสั่งวันที่ 27 ต.ค. 58 แต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีบทบาททางการเมืองระดับประเทศ เรียกว่าปูนความชอบ ปลอบความผิดหวัง ที่พลาดจากเก้าอี้ใหญ่สีกากีกันอย่างจุใจ

วันนี้อารมณ์ของแวดวงสีกากีกำลังหยุดอยู่ที่ คำสั่ง คสช.ที่ 7/2559 รวมทั้งการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจระดับ รอง ผบก.- สารวัตร ที่หลายๆ คนหมดอาลัยตายอยาก แต่อีกไม่น้อยที่ยังอยากได้ใคร่ดี ล้อกับท่อนหนึ่งของเพลงมาร์ชตำรวจที่ว่า “ถึงตัวจะตายก็ช่างมัน”กลายเป็น “ถึงใครจะตายก็ช่างมัน”

เพราะการตัดสินใจผูกคอลาโลกของ พ.ต.ท.จันทร์ ชัยสวัสดิ์ พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ สน.เทียนทะเล หรืออีกหมวกหนึ่งในฐานะเลขาธิการสหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งประเทศไทย มิได้ทำให้ผู้มีอำนาจ หรือผู้หลักผู้ใหญ่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะอินังขังขอบแม้แต่น้อย

การ“ยุบแท่ง”พนักงานสอบสวนยังคงเดินหน้าต่อไป โดยมี พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. เข้ามาทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะทำงานกำหนดตำแหน่งข้าราชการตำรวจที่ทำหน้าที่สอบสวน ท่ามกลางภาวะวิกฤติ มีการต่อต้านขนาดใช้ชีวิตเป็นเดิมพัน

อนาคตสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะเป็นเช่นไร อนาคตพนักงานสอบสวนจะออกมาในรูปแบบใด แม้ผู้มีอำนาจจะยืนยันว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และจะได้ตัว ผกก.หัวหน้าสถานี ที่ครบเครื่อง มีความเข้นข้นมากขึ้น แต่ทว่าเมื่อกลับไปดูปูมหลังตำรวจนักประชาสัมพันธ์อย่าง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ น่าประหลาดใจยิ่งนัก ที่ สตช.กล้าแต่งตั้งคนที่ไม่เคยผ่านงานด้านการสอบสวน ไม่เคยมีประกาศณีบัตรของสถาบันสอบสวน มากำหนดชะตากรรมขององค์กร

เช้าวันที่ 18 ก.พ.59 หรือไม่กี่วันที่ผ่านมา เกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นที่ตู้คอมเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศ ซึ่งตั้งอยู่ขอบระเบียงชั้น 5 อาคาร 1 อันเป็นสำนักงานของ พล.ต.อ.พงศพัศ แม้จะเกิดความเสียหายเพียงเล็กน้อย แต่ความตระหนกตกใจ รวมทั้งเสียงวิพากษ์ที่ตามหลังมาอาจจะไม่เล็กตามค่าความเสียหาย บางคนมองว่า หรือเป็นสัญญาณอะไรบางอย่างจากความไม่พอใจของตำรวจส่วนหนึ่งที่ถูก "ข่มเขาโคขืนให้กลืนหญ้า" หรือความอาเพศจากวิญญาณบรรพบุรุษ “พ่อเผ่า” พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ ผู้ไม่ยอมก้มหัวให้ใคร

 สารพัดที่จะวิพากษ์วิจารณ์กันไป พร้อมๆ กับการหน้าที่ของตำรวจสันติบาล 3 นอกจากจะต้องระแวดระวังตำรวจด้วยกันเองพกปืนเข้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต่อแต่นี้ไปคงต้องสอดส่องการเคลื่อนไหวเพื่อนร่วมงานอีกหลายพันชีวิต ภายในรั้วปทุมวันอย่างไม่กระพริบตา


กำลังโหลดความคิดเห็น