ผู้จัดการรายวัน360 - "บิ๊กต๊อก" เผยผลสอบดีเอสไอเบื้องต้นยืนยันเบนซ์สมเด็จช่วงฯ ผิดกฎหมายเหตุเลี่ยงภาษี รอแถลงรายละเอียด 18 ก.พ. ย้อน "ม็อบพระ" ไม่ว่าพระสงฆ์หรือฆราวาสล้วนต้องเคารพกฎหมาย "ประวิตร" ชี้ถ้ายังขัดแย้งไม่มีใครกล้าทูลเกล้าฯ สมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ครม.ขอตีความ"ยุ่ง"ศาสนจักร "หลวงปู่พุทธอิสระ" แจ้งความดำเนินคดี "พระเมธีธรรมาจารย์" พร้อมสมาคมนักวิชาการเพื่อพุทธศาสนา และตัวแทนวันพระธรรมกาย ฐานบุกรุกพุทธมณฑล
วานนี้ (16 ก.พ.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงผลการตรวจสอบรถเบนซ์ หมายเลขทะเบียน ขม 99 ที่มีชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วงเจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญและผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเป็นผู้ครอบครอง ว่า ตนได้รับรายงานสรุปผลการตรวจสอบจาก พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้วโดยผลสอบพบว่ารถยนต์ดังกล่าวผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตามต้องรอรายละเอียดการชี้แจงอย่างเป็นทางการจากอธิบดีดีเอสไอในวันที่ 18 ก.พ.นี้อีกครั้ง
ทั้งนี้ในการตรวจสอบจะเป็นอย่างไร ผิดกฎหมายในขั้นตอนใดบ้าง และกรณีรถผิดกฎหมายแล้วผู้ครอบครองจะมีความผิดด้วยหรือไม่ เป็นเรื่องของขั้นตอนที่ต้องดำเนินการหลังจากนี้ว่าได้รู้หรือจงใจหรือไม่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน สำหรับรถเบนซ์คันดังกล่าวเป็นหนึ่งในรถที่มีอยู่ในบัญชีรายชื่อรถจดประกอบที่ดีเอสไอตรวจสอบเกี่ยวกับกรณีการหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งขณะนี้มีการส่งข้อมูลรถยนต์บางส่วนให้กรมศุลกากรประเมินภาษีในส่วนที่ชำระไว้ไม่ครบ
นอกจากนี้ พล.อ.ไพบูลย์ยังกล่าวถึง 5 ข้อเรียกร้องของเครือข่ายคณะสงฆ์และองค์กรภาคีพุทธบริษัท 4 ทั่วประเทศที่ยื่นต่อรัฐบาลวานนี้ (15 ก.พ.) โดยข้อที่ 1 ขอให้หน่วยงานราชการห้ามเข้ามาก้าวก่ายเรื่องทางสงฆ์ โดย พล.อ.ไพบูย์ระบุว่า ตนไม่เข้าใจความหมายที่ไม่ให้หน่วยงานราชการไปยุ่ง แต่หากถามตนเกี่ยวกับหน่วยงาน ดีเอสไอ ซึ่งต้องทำคดี โดยข้าราชการทุกคนทำตามหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นทั้งพระสงฆ์หรือฆราวาสต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันทั้งหมด จะห้ามกระทรวงยุติธรรมและ ดีเอสไอ ทำงานเป็นไปไม่ได้
“การที่มีคนมาบอกว่าไม่ให้เอาเรื่องอาณาจักรยุ่งเกี่ยวกับศาสนจักรนั้นอย่าเอามาผูกกัน ซึ่งผมไม่เข้าใจความหมายที่พูดเพราะเป็นประเด็นกว้างไม่ลงรายละเอียด สำหรับเรื่องคดีเป็นไปไม่ได้เพราะเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการ นอกจากนี้ เหตุการณ์ความวุ่นวายระหว่างพระสงฆ์กับทหารเมื่อวานนี้ หากมีความเชื่อมโยงกับคดีที่ผมรับผิดชอบ ไม่สามารถกดดันผมได้เพราะเป็นงานของกระทรวงยุติธรรมที่ต้องทำเช่นกัน” รมว.ยธ. กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า นายจักรภพ เพ็ญแข อดีตนักการเมืองออกโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเชื่อมโยงระหว่างเรื่องพระสงฆ์และการเมืองนั้น พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า คนที่ออกนอกประเทศและไม่ปฎิบัติตามกฎหมายจะมาบอกคนที่กำลังทำตามกฎหมายได้อย่างไร ตอบได้เพียงเท่านี้ สังคมต้องคิดเอาเอง บอกตัวเองให้เดินตามกฎหมายเสียก่อนแล้วค่อยบอกคนอื่น ทั้งนี้ มองว่าเรื่องพระสงฆ์กำลังถูกดึงเข้าไปยังเรื่องการเมืองต้องช่วยกันให้อยู่ในกรอบกฎหมาย ซึ่งเรื่องคดีสหกรณ์ฯ คลองจั่น ไม่เกี่ยวข้องศาสนจักรแต่ต้องดูว่ามีใครพยายามดึงเข้าไปเป็นเรื่องเดียวกัน โดยตนกำลังดำเนินการกับเฉพาะตัวบุคคลอย่าไปเชื่อมโยงกับวัดพระธรรมกายแต่เป็นบุคคลที่อยู่ในวัดเท่านั้น
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวถึงความคืบหน้า กรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่อยู่ระหว่างตรวจสอบ พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในคดีรับเงินบริจาค จากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ว่า คาดว่าภายในเดือนนี้จะมีความชัดเจน ซึ่งการฟ้องร้องต่างๆ อัยการได้ส่งเรื่องกลับมาแล้ว และมีการประชุมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ที่เหลือคือการกำหนดฐานความผิด และขั้นตอนการฟ้องร้อง ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย แต่ไม่อยากให้มองเพียง พระธัมมชโย ต้องมองในภาพรวมทั้งระบบ
*** ถ้ายังขัดแย้งก็ไม่กราบบังคมทูล
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมครม. ถึงกรณีที่เครือข่ายคณะสงฆ์ และองค์กรพุทธบริษัท 4 ทั่วประเทศ ยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อให้รัฐบาลดำเนินการ ว่า เดี๋ยวดูทั้งหมด ยกเว้นข้อ 5 ที่เรียกร้องขอให้บรรจุพระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรื่องนี้ อยู่ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ดำเนินการ รัฐบาลไม่เกี่ยว
ส่วนข้อเรียกร้องให้ นายกฯ ดำเนินการตามมติ มส. ที่เสนอ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ทาง มส. ทำมาก็ต้องดูว่า อะไรมีความขัดแย้งกันอยู่ ซึ่งก็มีระเบียบกฎเกณฑ์อยู่แล้ว เมื่อทาง มส. ยื่นหนังสือมา นายกรัฐมนตรีก็ต้องกลั่นกรอง ก่อนกราบบังคมทูล ถ้ายังมีความขัดแย้งกันอยู่ ยังทะเลาะกันอยู่ ใครก็ไม่กล้านำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ
เมื่อถามต่อว่า ทางเครือข่ายพระสงฆ์ ระบุ ถ้ารัฐบาลไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้อง จะชุมนุมอีกรอบหนึ่ง พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่มี ไม่ได้พูดกับตน เมื่อถามต่อว่า นายกฯ กังวลอะไรหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "ถ้าไปห่วงเรื่องเล็กๆน้อยๆ ตามแบบคุณ ตายห่าหมด ไม่ต้องทำอะไร" รองนายกฯ กล่าว
หลังการประชุมครม. พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า ครม.ไม่ได้คุยกันถึงเรื่องเหล่านี้ เพราะเป็นเรื่องที่ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดูแล ไม่มีเรื่องอะไรต้องหารือใน ครม. เพราะทุกอย่างต้องดำเนินการตามขั้นตอน
** ครม.ขอตีความ"ยุ่ง"ศาสนจักร
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนา ได้แจ้งข้อเสนอของ พระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาร จนฺทสาโร) เลขาธิการ ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ในที่ประชุมครม. โดยเฉพาะข้อที่ระบุว่า ห้ามหน่วยงานภาครัฐ เข้ามาก้าวก่ายเรื่องทางสงฆ์นั้น
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า สิ่งต่างๆต้องตีความ คำว่า เข้าไปยุ่งให้ถูกต้อง ในส่วนนี้ตามบทบาทหน้าที่ รัฐบาลจำเป็นต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง จึงต้องตีความหมายว่า ที่อย่าเข้าไปยุ่งนั้น หมายถึงอะไร
ทั้งนี้ ในส่วนการดำเนินคดีตามกฎหมายนั้น ทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย อะไรผิดอะไรถูก มันยึดอยู่บนหลักการของกฎหมาย
**อ้างใส่ศาสนาพุทธในรธน. ต้องฟังทุกส่วน
นายกฤษศญพงษ์ ศิริ อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวว่า ข้อเสนอของเครือข่ายคณะสงฆ์ ที่เรียกร้องให้กำหนดศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาตินั้น ต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องความขัดแย้ง แต่เป็นความเห็นที่แตกต่างกันบ้าง
***ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน
นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้กระทำการเข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินผ่านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้วินิจฉัยการปฏิบัติหน้าที่ของมหาเถรสมาคมและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ว่า ดำเนินการตามพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช จนสิ้นสุดขั้นตอนตามกฎหมายหรือไม่ ในกรณีที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 8 ประกอบกับกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 21 พ.ศ. 2538 มีพระลิขิตทรงวินิจฉัยว่าพระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิกพ้นจากการเป็นสมณเพศไปแล้ว ซึ่งมีผลตามกฎหมายและมหาเถรสมาคมให้การรับรองไว้แล้วในการประชุมเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2542 ซึ่งแม้ว่ามหาเถรสมาคมจะไม่มีมติที่ระบุชัดเจนว่าพระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิกหรือให้พ้นจากการเป็นสมณเพศ แต่การที่มีมติรับรองพระลิขิตดังกล่าวเท่ากับเป็นการรับรองว่าพระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิกพ้นจากสมณเพศซึ่งมีผลทางกฎหมายในทันที แต่จากการตรวจสอบพบว่ามหาเถรสมาคมยังไม่ดำเนินการให้พระธัมมชโยสละสมณเพศตามกฎหมายมหาเถรสมาคมฉบับที่ 21 พ.ศ. 2538 แต่อย่างใด
นอกจากนี้ยังเห็นว่า ข้อเสนอที่ให้รัฐบาลเร่งรัดการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่นั้นก็เป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ถูกต้อง อาจหมิ่นเหม่ต่อการก้าวล่วงพระราชอำนาจ เนื่องจากพระที่ถูกเสนอชื่อยังถูกตรวจสอบในเรื่องคดีความ เช่น คดีรถหรูว่าครอบครองอย่างถูกกฎหมายหรือไม่ และกรณีการช่วยเหลือพระธัมมชโย หากตรวจสอบแล้วมีความผิด แม้กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ชัดเจน แต่ตามประเพณีปฏิบัติก็คงไม่สามารถหน้าที่ได้
**** "พุทธอิสระแจ้งความ"พระเมธีธรรมาจารย์"
วานนี้ (16 ก.พ.59) เวลา 13.20 น.ที่ สภ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม หรือ หลวงปู่พุทธะอิสระ แห่งวัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ) อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ได้เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.วรพล ยิ่งเจริญ ผกก.สภ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เพื่อให้ดำเนินคดีกับพระเมธีธรรมาจารย์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤกษ์ฎิ์ ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สมาคมนักวิชาการเพื่อพุทธศาสนา และตัวแทนวันพระธรรมกาย ซึ่งร่วมกับพวก บุกรุกพุทธมณฑล และร่วมกันชุมนุมโดยผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้มีการขออนุญาตจากทาง คสช. หรือผู้แทนของจังหวัดนครปฐม
การกระทำดังกล่าวถือว่าละเมิด พ.ร.บ.การชุมนุม ผิดข้อบังคับของ คสช.โดยเฉพาะผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนา ซึ่งรู้ดีว่าเมื่อวานมีการชุมนุมเกี่ยวกับอะไร แต่กลับมีข้อมูลว่า เป็นการมาประชุมเพื่อเตรียมงานวันมาฆบูชา และอ้างว่ามีฆราวาสเดินทางมาร่วมเพื่อปฏิบัติธรรม แต่ข้อเรียกร้องของที่ประชุม กลับเป็นเรื่องการเรียกร้องที่ไม่เกี่ยวกับวันมาฆะบูชา ถือว่าเป็นการปกป้องผู้ชุมนุมที่ทำผิดกฏ ถือขาดมาตรฐานในการทำงาน เท่ากับสมรู้ร่วมคิดกับการชุมนุมในครั้งนี้ด้วย
โดยเมื่อช่วงหัวค่ำของคืนวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมามีแกนนำของการชุมนุมได้มีการออกมาเรียกร้องเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐ ห้ามก้าวก่ายกิจการของสงฆ์ โดยรัฐควรสนับสนุนทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา สนับสนุนการปกครองของสงฆ์ ของมติของมหาเถรสมาคม เหมือนเดิม ให้นายกรัฐมนตรี เสนอชื่อพระเถระที่ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช ตามมติของ มส.
พ.ต.อ.วรพล ผกก.สภ.พุทธมณฑล เปิดเผยว่า หลวงปู่พุทธอิสระได้นำเอกสารและหลักฐานมายื่นแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่มาร่วมชุมนุมที่พุทธมณฑล เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ซึ่งหลังตรวจสอบเอกสารแล้วได้ส่งต่อพนักงานสอบสวนทำการสอบปากคำผู้ร้องไว้เป็นหลักฐานเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป